21 มี.ค. 2559 จากรณีหนังสือด่วนที่สุด จากคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (คสช.) ลงวันที่ 16 มี.ค. 2559 ลงนามโดย พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท รองเลขาธิการ คสช.ทำการแทนเลขาธิการ คสช. ถึงผู้อำนวยการการเลือกตั้งนายกและกรรมการสภาทนายความ ให้ชะลอการจัดการเลือกตั้งนายกและกรรมการสภาทนายความชุดใหม่ที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 เม.ย. 2559 ออกไปก่อน อ้างเป็นการชุมนุมทางการเมืองซึ่งขัดต่อประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557
ภาพ: เอกสารที่เผยแพร่ในเฟซบุ๊ก
นักกฎหมายและทนายความ กว่า 70 ราย รวมลงชื่อแถลงการณ์ ‘เรียกร้องให้สภาทนายความพิทักษ์ความเป็นอิสระขององค์กรวิชาชีพ’ ดังนี้
แถลงการณ์ เรียกร้องให้สภาทนายความพิทักษ์ความเป็นอิสระขององค์กรวิชาชีพ สืบเนื่องจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยพล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท รองเลขาธิการ คสช.ทำการแทนเลขาธิการ คสช. มีหนังสือด่วนที่สุดลงวันที่ 16 มีนาคม 2559 ถึงผู้อำนวยการการเลือกตั้งนายกและกรรมการสภาทนายความ เพื่อให้ชะลอการจัดการเลือกตั้งนายกและกรรมการสภาทนายความชุดใหม่ที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 เมษายน 2559 ออกไปก่อน เนื่องจากการเลือกตั้งนายกและกรรมการสภาทนายความ ซึ่งมีสมาชิกเป็นจำนวนมาก รวมทั้งการกำหนดหน่วยเลือกตั้งในแต่ละจังหวัดตามเขตอำนาจศาลเป็นการดำเนินกิจกรรมที่ขัดแย้งกับประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 (ห้ามชุมนุมทางการเมือง) ที่บังคับใช้กับทุกกลุ่มทุกฝ่าย เพื่อประโยชน์ในการรักษาความเรียบร้อยของประเทศเป็นส่วนรวมในห้วงเปลี่ยนผ่าน เช่นเดียวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามประกาศ คสช.ที่ 85/2557 พร้อมทั้งกำหนดให้คณะกรรมการสภาทนายความที่พ้นจากตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อน ในระหว่างที่ยังไม่มีการเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ ทั้งนี้ ตามนัยมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 องค์กรสิทธิมนุษยชน นักกฎหมาย ทนายความ และนักกิจกรรมทางสังคม ตามรายนามแนบท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ มีความเห็นต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังต่อไปนี้ 1.เสรีภาพในการแสดงความเห็นและการรวมตัวเป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ทางวิชาชีพนักกฎหมาย โดยหลักการพื้นฐานสหประชาชาติว่าด้วยบทบาทของทนายความข้อ 24 ได้วางหลักการว่า “ทนายความมีสิทธิที่จะก่อตั้งและเข้าร่วมสมาคมทางวิชาชีพที่กำกับดูแลตัวเอง เพื่อเป็นตัวแทนปกป้องผลประโยชน์ของตน และคุ้มครองเกียรติศักดิ์ทางวิชาชีพของตน ฝ่ายบริหารของสมาคมทางวิชาชีพจะต้องได้รับการเลือกตั้งโดยสมาชิกของสมาคม และจะปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากการแทรกแซงจากภายนอกองค์กร” หลักการนี้กำหนดขึ้นเพื่อประกันความเป็นอิสระของวิชาชีพทนายความ ซึ่งจะมีความสำคัญต่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและพิทักษ์หลักนิติธรรม ดังนั้น การที่ คสช. มีหนังสือให้ชะลอการเลือกตั้งกรรมการบริหารสภาทนายความ จึงถือเป็นการแทรกแซงองค์กรวิชาชีพ ทำให้รัฐกลายมาเป็นผู้ควบคุมสมาคมวิชาชีพทนายความ ผ่านการต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาลในการปฏิบัติงานใดๆ ของสมาคม ซึ่งย่อมทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของทนายความตามหลักวิชาชีพอย่างเป็นอิสระตกอยู่ในภาวะเสี่ยง และย่อมส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชนตามมา 2.การกล่าวอ้างว่าการเลือกตั้งนายกและกรรมการสภาทนายความซึ่งมีสมาชิกเป็นจำนวนมากและมีการกำหนดหน่วยเลือกตั้งในแต่ละจังหวัดตามเขตอำนาจศาลถือเป็นการชุมนุมทางการเมืองซึ่งขัดต่อประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 นั้น เป็นการตีความประกาศดังกล่าวอย่างกว้างขว้างและตามอำเภอใจ อีกทั้งคำสั่งให้ชะลอการเลือกตั้งที่ไม่มีฐานใดๆ ทางกฎหมายมารองรับนั้นย่อมขัดต่อพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 ละเมิดต่อเสรีภาพในการสมาคมของทนายความและขัดต่อหลักการประชาธิปไตย ที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของตัวเองของสมาชิก และตรวจสอบอย่างมีส่วนร่วมโดยสมาชิก อีกทั้งย่อมทำให้การแข่งขันและการพัฒนาวิชาชีพและการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายหยุดชะงักตามไปด้วย องค์กรสิทธิมนุษยชน นักกฎหมาย ทนายความ และนักกิจกรรมทางสังคม ตามรายนามแนบท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ จึงขอเรียกร้องดังต่อไปนี้ 1.ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติยุติการแทรกแซงความเป็นอิสระการดำเนินการตามวิชาชีพของทนายความโดยการยกเลิกหนังสือดังกล่าวทันที เพราะทนายความเป็นกลไกสำคัญในการช่วยเหลือให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิในทางกฎหมาย 2.ให้สภาทนายความพิทักษ์ความเป็นอิสระขององค์กรจากการถูกแทรกแซงที่มิชอบ โดยดำเนินการจัดการเลือกตั้งไปตามกำหนดการเดิมตามกฎหมายต่อไป เพราะหากดำเนินการชะลอการเลือกตั้งตามความเห็นของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ นอกจากจะเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยเหตุผลแล้ว ยังเป็นการดำเนินการตามคำสั่งที่ไม่มีอำนาจทางกฎหมายใดๆ รองรับ ดังนั้น การปฏิบัติตามคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อยุติกระบวนการขั้นตอนตามพระราชบัญญัติสภาทนายความ พ.ศ.2528 และให้คณะกรรมการบริหารชุดเดิมรักษาการต่อไปโดยไม่มีกำหนดเวลา ย่อมถือว่าสภาทนายความปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อเจตนารมณ์ขององค์กรวิชาชีพทนายความและเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ 3.ให้สภาทนายความยุติการดำเนินการใดๆ อันเป็นการเอื้อให้เกิดการแทรกแซงจากอำนาจที่มิชอบธรรม อีกทั้ง ต้องแสดงความกล้าหาญเพื่อยืนหยัดคุ้มครองและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ความเป็นอิสระของวิชาชีพ เพื่อประกันว่าทนายความจะสามารถปฏิบัติงานตามหลักวิชาชีพของตนได้อย่างเต็ม ไม่ถูกข่มขู่ คุกคาม หรือฟ้องร้อง ทั้งนี้ เพื่อทำให้มั่นใจว่าสภาทนายความยังมีความสามารถที่จะประกันความอิสระของการปฏิบัติงานของทนายความตามวิชาชีพอันมีผลต่อการเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน จึงขอให้สมาชิกทนายความและสังคมร่วมกันสนับสนุนการดำเนินการเลือกตั้งของสภาทนายความตามกำหนดการเดิมต่อไป ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 1. สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน |
ที่มาภาพ: thailawyerelection.com/