ยูเอ็นแนะไทยหยุดตัดไม้ยาง เลิกคำสั่ง คสช.ที่กระทบสิทธิในที่ดิน-ทรัพยากรของประชาชนในนามแผนแม่บทป่าไม้ฯ และการลดภาวะโลกร้อน คุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองทั้งด้านสิทธิในที่ดิน การศึกษา และวัฒนธรรม ทั้งเสนอให้นำหลักการสิทธิมนุษยชนตามพันธกรณีทุกฉบับที่ประเทศไทยลงนามและให้สัตยาบันบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างอยู่
9 มิ.ย. ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.) ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่นและมูลนิธิผสานวัฒนธรรมเผย แพร่ข้อมูลจากการเข้าร่วมรับฟังการประชุมทบทวนรายงานคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ESCR) องค์การสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 4-5 มิ.ย. 2558 ณ นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ จากการที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights: ICESCR)
เวทีการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย มีตัวแทนหน่วยงานราชการไทยเดินทางมาร่วมเวที จำนวนกว่า 20 คน ในวันที่ 4 มิ.ย.มีเวลา 3 ชั่วโมง และในวันที่ 5 มิ.ย.มีเวลาทั้งหมด 6 ชั่วโมง ทั้งนี้ รูปแบบเวทีเป็นการถามตอบกับคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจำนวน 18 คน สรุปใจความสำคัญของสถานการณ์สิทธิเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรมว่า ประเทศไทยส่งรายงานต่อยูเอ็นช้ามากคือ 16 ปี หลังจากการเข้าเป็นรัฐภาคี และรายงานก็ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันจริงๆ ในประเทศไทย
ประเด็นสำคัญหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาตั้งคำถามมากที่สุด คือประเด็นสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง โดยเฉพาะเรื่องที่ดินทำกินและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิทางการศึกษาและวัฒนธรรม อีกทั้งเมื่อถูกละเมิดก็ไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรมและการรับรองสิทธิภายใต้กฎหมายภายในประเทศ จากสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการบังคับไล่รื้อตัดฟันพืชผล โดยคณะกรรมการฯ เสนอให้ยุติการตัดฟัน และยกเลิกคำสั่ง คสช. รวมทั้งยกเลิกคำสั่งต่างๆ ที่ส่งผลต่อสิทธิในที่ดินและทรัพยากรของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำสั่งให้ตัดต้นไม้ยางพาราจำนวนมากในช่วงเวลานี้ในนามแผนแม่บทป่าไม้แห่งชาติและการลดภาวะโลกร้อน
นอกจากนี้ ทางคณะกรรมการฯ เสนอให้ประเทศไทยนำหลักการสิทธิมนุษยชนตามพันธกรณีทุกฉบับที่ประเทศไทยลงนามและให้สัตยาบันบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างอยู่เวลานี้ เพื่อให้สามารถนำหลักการสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ไปใช้เป็นกฎหมายภายในประเทศ และสามารถทำให้เกิดการคุ้มครองสิทธิด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม อย่างเป็นรูปธรรมโดยเฉพาะกับชนเผ่าพื้นเมือง ชนกลุ่มน้อย และกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอัตลักษณ์วัฒนธรรมประเพณีเฉพาะที่ต้องการการยอมรับความเสมอภาค และเท่าเทียมภายในหลักการสิทธิมนุษยชน ในที่นี้รวมถึงการคุ้มครองผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย แรงงานอพยพนอกระบบ
คณะกรรมการฯ ระบุว่าการไม่ให้การคุ้มครองกลุ่มประชากรกลุ่มนี้เป็นปัญหาในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติโดยรวมที่รัฐบาลไทยต้องแก้ไขโดยเร่งด่วนเพื่อยุติกระบวนการค้ามนุษย์ อีกทั้งได้ระบุว่าเป็นหน้าที่ของรัฐในการคุ้มครองสิทธิด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ทั้งจากการกระทำของบริษัทในประเทศไทยและบริษัทไทยในต่างประเทศด้วย
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะทำข้อเสนอแนะเชิงสรุปอย่างเป็นทางการและเผยแพร่ในวันที่ 22 มิ.ย. 2558 นี้ และจะมีการส่งถึงรัฐบาลไทยผ่านคณะทูตไทยประจำนครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ รวมทั้งเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ของสหประชาชาติต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
‘6 ประเด็น’ ห่วงใยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทย ภาคประชาสังคมแถลงต่อ UN เร่งคืน ปชต.
เปิดรายงานคู่ขนาน ‘สิทธิที่ดินป่าไม้-สุขภาพกลุ่มชาติพันธุ์’ องค์กรสิทธิฯ ไทยส่งถึงยูเอ็น