13 พ.ค. 2559 จากเหตุการณ์น้ำมันดิบของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (PTTGC) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ปตท. ราว 50,000 ลิตร รั่วไหลสู่ทะเล จ.ระยอง เมื่อปลายเดือน ก.ค. 2556 สมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็กระยอง ชาวประมงพื้นบ้าน และกลุ่มแม่ค้าผู้ได้รับผลกระทบจากรวม 429 ราย ได้ยื่นฟ้อง บริษัท พีทีทีจีซี ในฐานะผู้ก่อมลพิษ ต่อศาลจังหวัดระยอง โดยขอให้มีการชดใช้ค่าเสียหายจากการสูญเสียรายได้ในการประกอบอาชีพและขอให้มีการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติจากปัญหาน้ำมันรั่ว
ต่อมาเมื่อเดือน เม.ย. 2559 ศาลจังหวัดระยองนัดสืบพยานและเห็นควรให้มีการหารือเรื่องการทำแผนฟื้นฟูทรัพยากรทะเล ตามข้อเสนอของโจทก์ผู้เสียหาย ซึ่งบริษัท พีทีทีจีซี เห็นตามข้อเสนอ ชาวบ้านผู้เสียหายจึงระดมความคิดร่างแผนฟื้นฟูทรัพยากรทะเลระยองขึ้น เพื่อให้ทรัพยากรทะเลซึ่งปัจจุบันอยู่ในสภาวะเสื่อมโทรมกลับมาสมบูรณ์
มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน รายงานว่า เมื่อวานนี้ (12 พ.ค. 2559) เวลา 10.00 น. สมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็กระยอง และตัวแทนเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีน้ำมันดิบของบริษัท PTTGC รั่วไหลเข้ายื่นแผนฟื้นฟูทรัพยากรทะเลระยองต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยมีนางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร เป็นผู้รับมอบ
จากนั้นช่วงบ่ายตัวแทนชาวบ้านได้เดินทางต่อไปยังบริษัท ปตท. จำกัด ในฐานะบริษัทแม่ของบริษัท PTTGC เพื่อยื่นแผนฟื้นฟูทรัพยากรทะเลระยองด้วย โดยมีนายประเสริฐ สลิลอำไพ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อสังคม บริษัท ปตท. จำกัด เป็นผู้รับแผนฟื้นฟูฯ
นอกจากนี้ สมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็กระยอง และตัวแทนเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีน้ำมันดิบรั่วไหลลงทะเลระยอง ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง “ขอให้รับแผนฟื้นฟูทะเลระยองและดำเนินการฟื้นฟูเพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรทะเล” รายละเอียด ดังนี้
แถลงการณ์ขอให้รับแผนฟื้นฟูทะเลระยองและดำเนินการฟื้นฟูเพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรทะเล จากเหตุการณ์น้ำมันดิบของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) รั่วไหลลงทะเลระยองเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2556 มาจนถึงปัจจุบัน ทะเลระยองเริ่มเสื่อมโทรมรุนแรงขึ้น ทั้งในด้านทรัพยากรสัตว์น้ำและระบบนิเวศ โดยมีสัตว์น้อยใหญ่ เช่น เต่า ปลาโลมา ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลหายากล้มตายในหลายพื้นที่ ทั้งที่เก็บได้และที่พบเห็นลอยตายกลางทะเล หลังจากเหตุการณ์น้ำมันรั่ว บริษัทฯ และหน่วยงานได้เข้าฟื้นฟูทะเลระยองในระดับหนึ่ง แต่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ เช่น มุ่งแก้ปัญหาเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวบริเวณเกาะเสม็ดและอ่าวพร้าว ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งที่มีน้ำมันเล็ดรอดไปติดอ่าว ขณะที่ก้อนน้ำมันส่วนใหญ่ซึ่งถูกสารสลายคราบน้ำมันฉีดพ่นจมลงจากจุดเกิดเหตุยังคงตกค้าง โดยยังคงมีการตกค้างของคราบน้ำมันในเส้นทางที่น้ำมันไหลผ่าน ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีทั้งหินธรรมชาติ ปะการังเทียม ซึ่งบางแห่งเป็นเขตน้ำตื้น โดยพื้นที่ที่ห่างจากจุดเกิดเหตุนั้นอยู่ห่างจากเกาะเสม็ดไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 36 กิโลเมตร ยังไม่ได้มีการแก้ไขหรือจัดเก็บคราบน้ำมันแต่อย่างใด ซึ่งถือเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุดกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ด้วยเหตุนี้ ทรัพยากรในทะเลระยองที่เคยมีจึงลดน้อยและล้มตายลงตามลำดับ ส่วนสัตว์น้ำ ต่อมาในวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2559 บริษัทฯ มีข้อเสนอที่จะรับแผนฟื้นฟูทะเลระยองจากสมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็กระยอง สมาคมฯ จึงได้จัดทำแผนฟื้นฟูทะเลระยองร่วมกับชุมชนชายฝั่งเพื่อเสนอต่อบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด โดยหวังว่าบริษัทฯจะได้ดำเนินการฟื้นฟูทรัพยากรทะเลเพื่อความยั่งยืนสืบไป เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีน้ำมันดิบรั่วไหลลงทะเลระยอง |