ที่มาภาพ: Somlak Hutanuwatr
26 เม.ย. 2559 เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. กลุ่มประชาชนจากพิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ร่วมกับนักวิชาการ นำโดยสมิทธ์ ตุงคะสมิต นักวิชาการด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต สมลักษณ์ หุตานุวัตร นักเคลื่อนไหวกรณีเหมืองแร่ทองคำพิจิตร รวมตัวกันบริเวณทำเนียบรัฐบาลเพื่อเข้ายื่นหนังสือ พร้อมรายชื่อผู้ลงนามกว่า 20,000 รายชื่อจากการรณรงค์ผ่านเว็บไซต์ Change.org ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
การยื่นหนังสือดังกล่าว เพื่อคัดค้านการต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมเหมืองแร่ทองคำ ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ในพื้นที่ จ.พิจิตร ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 13 พ.ค.นี้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงอุตสาหกรรม และให้เร่งรัดตรวจพิสูจน์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อฟื้นฟูเยียวยาประชาชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มประชาชนได้ยื่นหนังสือภายในรั้วศูนย์รับเรื่องร้องเรียน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสั่งห้ามเคลื่อนย้ายการชุมนุม โดยระบุว่าจะเข้าข่ายการกระทำความผิด พ.ร.บ.ชุมนุม หลังจากที่ภาคประชาชนจะเคลื่อนขบวนเข้าไปยื่นหนังสือที่ฝั่งทำเนียบรัฐบาล
รมว.อุตฯ ฟังผลตรวจเหมืองทองคำ พบได้มาตรฐาน ไม่มีไซยาไนด์รั่ว
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2559 ไทยรัฐออนไลน์ รายงานข่าวว่านางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม ได้เรียกประชุมเพื่อรับฟังข้อมูลการตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงานเหมืองแร่ทองคำชาตรี ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ในเขตพื้นที่ จ.พิจิตรและเพชรบูรณ์ หลังจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้พิจารณาเลือก บริษัท แบร์ โดแบร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ลิมิเต็ด (Bhere Dolbear International Limited) ให้เป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบและประเมินผลอย่างละเอียด
จากรายงานผลการตรวจสอบปรากฏว่า เหมืองแร่ทองคำดังกล่าว มีการดำเนินงานที่ได้มาตรฐานสากลในทุกๆ ด้าน มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในทุกขั้นตอน ทำให้เกิดความปลอดภัยต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม เทียบเท่าเหมืองแร่ชั้นนำทั่วโลก
นอกจากนี้ ยังไม่พบการรั่วไหลของไซยาไนด์ออกจากบ่อกักเก็บกากแร่สู่ชุมชนแต่อย่างใด โดยลักษณะของไซยาไนด์ในบ่อกักเก็บการแร่ของบริษัทฯ กับไซยาไนด์ที่พบในนาข้าวและมีผู้อ้างว่าเกิดจากการรั่วไหลมาจากในเหมืองนั้น มีลักษณะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง จึงทำให้เชื่อได้ว่าเหมืองแร่ทองคำชาตรี ไม่ได้เป็นสาเหตุการพบไซยาไนด์ดังกล่าวในนาข้าวตามที่กล่าวอ้าง
รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า บริษัทที่ปรึกษาได้รายงานในที่ประชุมว่า บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) มีการจัดการเรื่องสารไซยาไนด์ตามมาตรฐานสากล มีการจัดการที่ดี ตั้งแต่การขนส่ง การใช้ และเมื่อใช้เสร็จแล้วได้มีกระบวนการทำให้สารมีความเข้มข้นน้อยลง ก่อนนำไปไว้ที่บ่อกักเก็บกากแร่ ถือเป็นเรื่องที่ดีที่มีอีกหนึ่งหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ เป็นที่ปรึกษาระดับโลกมาทำการศึกษาให้
อย่างไรก็ตาม จะต้องนำมาเทียบกับคณะทำงานว่ามีความสอดคล้องหรือไม่ แล้วนำมาคุยกันและจะนำผลรายงานดังกล่าวพิจารณาประกอบกับข้อมูลที่รัฐมนตรี ทั้ง 4 กระทรวง คืออุตสาหกรรม สาธารณสุข วิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะลงพื้นที่รับฟังข้อมูลจากประชาชนทั้งผู้สนับสนุน และผู้คัดค้านใน จ.พิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก พร้อมตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของเหมืองแร่ทองคำชาตรี เพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำควบคู่ไปพร้อมกัน ในวันเสาร์ที่ 23 เม.ย. 2559 นี้
รัฐมนตรีฯ 4 กระทรวง ลงพื้นที่จังหวัดพิจิตร ตรวจเข้มเหมืองทองอัคราฯ
thaigov.go.th รายงานความเคลื่อนไหวเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2559 ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมรับฟังความคิดเห็นประชาชนทั้งฝ่ายคัดค้านและฝ่ายสนับสนุนบริเวณเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เพื่อร่วมพิจารณากำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และเพื่อรวบรวมข้อมูลในการพิจารณาต่อหรือไม่ต่ออายุใบอนุญาตของบริษัทดังกล่าวในขั้นตอนต่อไป
กรณีการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) นั้น นายศักดา พันธ์กล้า รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงว่า การพิจารณาคำขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมนั้น ขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยคณะกรรมการประมวลผลข้อเท็จจริงและผลการตรวจสอบประกอบการพิจารณาคำขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมของบริษัทฯ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจะพิจารณาข้อมูลและข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน
รวมทั้งจะได้มีการนำผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหา ข้อขัดแย้ง และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) มาประกอบการพิจารณาด้วย ขณะนี้จึงยังไม่มีการตัดสินใจต่ออายุหรือไม่ต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมของบริษัทฯ แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตประกอบโลหกรรมที่ 1/2551 กำหนดให้บริษัทฯ ต้องนำเงินเข้ากองทุนพัฒนาท้องถิ่นตามสัดส่วนปริมาณโลหะทองคำที่ผลิตได้ในอัตรา 3 บาทต่อกรัม หรือไม่น้อยกว่า 15 ล้านบาทต่อปี ตลอดระยะเวลาที่มีการประกอบโลหกรรม ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ นำเงินเข้ากองทุนมียอดเงินสะสมรวม 45 ล้านบาท โดยกองทุนจะถูกนำไปใช้ในการพัฒนาท้องถิ่นในเขตพื้นที่ 3 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 29 หมู่บ้านบริเวณโดยรอบเขตเหมืองแร่ทองคำของบริษัทฯ ได้แก่ ต.เขาเจ็ดลูก และต.เขาทราย อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ต.ท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ และต.วังโพรง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก
สำหรับการบริหารกองทุนจะเป็นในรูปแบบของคณะกรรมการ โดยให้ จ.พิจิตรแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุน มีผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรเป็นประธานกองทุน มีผู้แทนจังหวัดเพชรบูรณ์และพิษณุโลก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเหมาะสมร่วมเป็นกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการจะช่วยกันบริหารกองทุนให้เกิดประโยชน์ตรงตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่และมีความยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้ นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ส่งมอบเงินกองทุนพัฒนาท้องถิ่นของบริษัทฯ ดังกล่าว ให้กับจ.พิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลกด้วยแล้วในวันนี้