วันนี้ (6 ม.ค.2559) ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเผยแพร่เอกสารลงวันที่ 14 ธ.ค. 2558 ที่บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จํากัด ผู้ประกอบกิจการสำรวจและการทำเหมืองแร่ทองและเงิน จ.พิจิตร ส่งถึงคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มมส. ให้ตักเตือนเรื่องการแสดงความเห็นในเฟซบุ๊กกรณีเหมืองทองในพื้นที่ จ.พิจิตร
“จดหมายจากเหมืองทองพิจิตรให้คณบดีตักเตือนผม กรณีการโพสต์เฟสบุ๊คของผม
นอกจากจดหมายนี้แล้ว ยังมีเอกสารแนบเป็นข้อมูลและภาพที่ผมโพสต์ซึ่งส่วนใหญ่คือการแจ้งความคืบหน้า การระดมทุนช่วยชาวบ้าน และมีภาพชาวบ้านบรรยายให้นิสิตฟัง ฯลฯ
ผมถือว่าการทำจดหมายเช่นนี้คือการคุกคามอีกวิธีหนึ่งเพื่อไม่ให้นักวิชาการได้พูดถึงปัญหาของชาวบ้านคนตัวเล็กตัวน้อย ทั้งที่ประเด็นผลกระทบจากเหมืองทองเป็นประเด็นสาธารณะ และผมขอประกาศว่าผมจะยืนหยัดทำหน้าที่วิชาการเพื่อรับใช้สังคมต่อไป” ไชยณรงค์ ระบุ
ด้าน ประชาไท รายงานบทสัมภาษณ์ ไชยณรงค์ ได้ข้อมูลว่า ได้รับจดหมายเมื่อ 19 ธ.ค. 2558 โดยทางคณะไม่ได้ว่าอะไร และส่วนตัวเขาได้ชี้แจงต่อคณบดีเกี่ยวกับการที่เขาและนิสิตไปพบกับประชาชนที่คัดค้านเหมืองว่า เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาสิทธิมนุษยชน และเป็นสิทธิในการรับฟังความเดือดร้อนของชาวบ้าน
ส่วนเนื้อหาที่โพสต์ในเฟซบุ๊กนั้น เขาชี้แจงว่า ส่วนใหญ่เป็นการแจ้งความคืบหน้าจากชาวบ้าน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารให้สังคมรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับชาวบ้านบ้าง พวกเขามีความเป็นอยู่อย่างไร และเพื่อสื่อสารให้สังคมช่วยสนับสนุนชาวบ้าน เช่น ระดมทุน นำเงินไปเป็นค่าเดินทางในการร้องเรียนต่อหน่วยงานรัฐและไปรักษาพยาบาล รวมถึงมอบเงินให้กับครอบครัวของชาวบ้านที่เสียชีวิต ส่วนตัวไม่เข้าใจว่าเรื่องเหล่านี้เป็นการโพสต์ใส่ร้ายบริษัทตรงไหน พร้อมยืนยันว่าจะโพสต์ต่อไป
ไชยณรงค์ กล่าวด้วยว่า การแสดงความเห็น การนำเสนอข้อมูลต่อสาธารณะกรณีเหมืองทองเป็นบทบาทของนักวิชาการที่ต้องพูดถึงปัญหาเหล่านี้ หลังจากชาวบ้านสู้อย่างโดดเดี่ยวมาเป็นสิบๆ ปี
“การส่งหนังสือแบบนี้ ถือเป็นการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการ เป็นความพยายามไม่ให้ชาวบ้านมีพันธมิตร ถือว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง” ไชยณรงค์กล่าว
ไชยณรงค์กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา บริษัทไม่เคยติดต่อมาโดยตรง มีเพียงเวลาลงพื้นที่ จะมีนายอำเภอมาถามว่าจะเข้าเหมืองหรือไม่ ซึ่งมองว่าไม่จำเป็น เนื่องจากเกรงว่าชาวบ้านซึ่งอยู่อย่างเดือดร้อนลำบากจะไม่ไว้ใจ และข้อมูลเกี่ยวกับเหมืองถูกนำเสนอจำนวนมากแล้ว จึงอยากได้จากชาวบ้านมากกว่า ส่วนที่บริษัทบอกว่าอยากชี้แจงนั้นก็ยินดีที่จะจัดเวที ให้บริษัทและชาวบ้านมาชี้แจงร่วมกัน เพื่อให้นักศึกษาและคณาจารย์รับรู้ข้อมูลทั้งสองฝ่าย
ไชยณรงค์ ตั้งคำถามด้วยว่า การทำหนังสือถึงผู้บังคับบัญชาให้มาตักเตือน หากข้อมูลที่โพสต์ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ บริษัทคงต้องพิสูจน์ว่าข้อมูลจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ซึ่งตรวจเลือดชาวบ้านกว่า 700 ราย แล้วพบว่ามีแมงกานีส 401 ราย ไม่เป็นวิทยาศาสตร์อย่างไร
“วิธีการของทุนตอนนี้ ต้องการไม่ให้ประเด็นของชาวบ้านเป็นประเด็นสาธารณะ พอเป็นข่าว หรือในโซเชียลมีเดียก็ต้องหาทางปิดปากให้ได้” ไชยณรงค์กล่าว พร้อมยกตัวอย่างกรณีเหมืองแร่เมืองเลยที่มีการฟ้องหมิ่นประมาทเด็ก ม.4 ที่พูดถึงปัญหาในพื้นที่ว่าเป็นการทำให้หวาดกลัว และไม่กล้าพูดหรือเขียน อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเขาจะเดินหน้าต่อไป