มูลนิธิบูรณะนิเวศลงพื้นที่หาดตากวน ติงด่วนสรุป ‘แพลงก์ตอนบลูม’ ทำปลาตายเกลื่อนหาด ชี้อาจเกี่ยว อก.

มูลนิธิบูรณะนิเวศลงพื้นที่หาดตากวน ติงด่วนสรุป ‘แพลงก์ตอนบลูม’ ทำปลาตายเกลื่อนหาด ชี้อาจเกี่ยว อก.

20161703130051.jpg

16 มี.ค. 2559 เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ให้สัมภาษณ์ภายหลังลงพื้นที่เก็บข้อมูลกรณีพบปลาตายจำนวนมาก บริเวณหาดตากวน ต.มาบตาพุด จ.ระยอง  จากการประสานงานของชาวบ้านชุมชนปากน้ำระยองและชุมชนตากวน ซึ่งมีความกังวลใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เมื่อไปถึงเวลาประมาณ 4 โมงเย็นวันนี้ (16 มี.ค. 2559) ในพื้นที่หาดตากวนได้มีการฝังกลบปลาที่ตายอยู่เกลื่อนชายหาดแล้ว  แต่ก็ยังมีหลงเหลือกระจายอยู่บางจุด โดยปลาที่เห็นมีหลายชนิด ทั้งปลาสลิดหิน ปลาเก๋า ปลาปักเป้า และลูกปลาต่างๆ รวมทั้งปลาตัวใหญ่ขนาดราวหนึ่งศอก 

ชาวบ้านได้เก็บตัวอย่างปลาที่ตายและน้ำมาส่งให้มูลนิธิบูรณะนิเวศ เพื่อให้ช่วยตรวจสอบหาสาเหตุว่าเกิดขึ้นจากอะไร เพราะที่ผ่านมาเคยเกิดเหตุการณ์ปลาตายมาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่ได้มากมายเช่นครั้งนี้ ซึ่งก็ยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่เกิดขึ้นได้ ส่วนครั้งนี้ชาวบ้านบอกว่าเริ่มพบปลาตายตั้งแต่คืนวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา  

20161703130120.jpg

เพ็ญโฉมกล่าวว่า จากการสังเกตน้ำทะเลบริเวณนั้นพบว่าความผิดปกติ โดยเป็นสีน้ำตาลเข้มและมีกลิ่นเหม็น ซึ่งเป็นกลิ่นของสารเคมีผสมกับกลุ่มปลาเน่า นอกจากนี้หากดูจากแผนที่จะมีส่วนของพื้นดินที่ถมยื่นไปในทะเลซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมและคลังน้ำมัน โดยหาดตากวนอยู่ไม่ไกลจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และอยู่ห่างจากคลองซากหมากซึ่งเป็น คลองระบายน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงงานต่างๆ ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ประมาณ 1 กิโลเมตร 

20161703130402.jpg

ดังนั้น จึงยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูมตามที่ศูนย์วิจัยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออกระบุ เพราะหากเป็นแพลงก์ตอนบูมน้ำจะมีสีเขียวเข้มไม่ใช่น้ำตาล และแพลงก์ตอนบลูมเป็นปกติปรากฏการณ์ปกติที่ชาวประมงจะรู้ แต่ครั้งนี้ชาวประมงแตกตื่นมาก อีกทั้งยังพบว่าเหงือกของปลาที่ตายเกลื่อนหาดมีคราบสีดำติดอยู่ อาจมาจากสารพิษบางอย่างที่ตอนนี้ยังไม่อาจระบุได้ชัดเจน จึงควรรอผลจากการตรวจพิสูจน์ก่อนจึงจะสรุปได้ ซึ่งก็ต้องใช้เวลา

เพ็ญโฉมกล่าวด้วยว่า การตายของปลาอาจมีได้หลายสาเหตุ เช่น สารพิษร้ายแรงที่ทำให้ตายเฉียบพลัน และการปล่อยน้ำที่มีอุณหภูมิสูงมากลงสู่ทะเล จะทำให้ปลาช็อคตายได้ ทั้งนี้ เธอคิดว่าเหตุการณ์ผิดปกตินี้อาจสัมพันธ์ยึดโยงมลพิษทางน้ำที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมในพื้นที่ 

20161703130228.jpg

สำหรับการเฝ้าระวังของชาวประมงในพื้นที่ เพ็ญโฉมกล่าวว่า สิ่งที่ชาวประมงทำได้ คือเฝ้าดูปรากฎการณ์ แต่ไม่สามารถปกป้องตัวเองได้เลย เพราะพื้นที่แถบนี้แม้เป็นพื้นที่สาธารณะ แต่ในทางปฏิบัติ การพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นเรื่องสำคัญของในพื้นที่นี้ แม้ประมงพื้นบ้านจะมีการรวมตัวกัน แต่ก็มีอำนาจต่อรองน้อยกว่าอุตสาหกรรม ไม่สามารถเจรจาเรียกร้องการชดเชยต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นได้

ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อประมงพื้นบ้านจากเหตุการณ์ครั้งนี้ นอกจากจำนวนปลาที่อาจลดลง จับปลาไม่ได้ หรือหากจับได้ก็ไม่กล้านำไปขาย เพราะคนไม่กล้าซื้อปลาที่จับได้จากพื้นที่แถบนี้ เนื่องจากในพื้นที่มีปัญหาเรื่องมลพิษซึ่งนอกจากกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ยังเป็นปัญหาเรื่องภาพลักษณ์ที่กระทบต่อเศรษฐกิจของชาวประมง 

20161703130433.jpg

นอกจากนั้นจากการพูดคุยกับชาวประมงยังพบว่าเมื่อเกิดนิคมอุตสาหกรรมขึ้นในพื้นที่ทำให้พวกเขาหากินลำบาก ไม่สามารถเข้าไปจับสัตว์น้ำใกล้กับเขตนิคมฯ เพราะจะถูกเจ้าหน้าที่ไล่ ถือเป็นการถูกละเมิดสิทธิในการทำมาหากิน

ในส่วนข้อเสนอ เพ็ญโฉมกล่าวว่า การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยควรตรวจสอบและสอบสวนสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะจุดที่เกิดปลาตายอยู่ใกล้นิคมอุตสาหกรรมที่มีโรงงานจำนวนมาก และรายงานผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำแต่ละจุดของคลองซากหมากให้สาธารณะได้รับรู้ เพื่อให้มั่นใจว่ากระบวนการในการบำบัดน้ำเป็นไปอย่างถูกต้อง

ด้าน ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักสมุทรศาสตร์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ได้โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นถึงสาเหตุที่ปลาตายต่อคำถามว่า ปลาในอ่าวไทยตอนในอาจตายเป็นระยะ ส่วนใหญ่ปัญหามาจากแพลงก์ตอนบลูม ครั้งนี้ก็เป็นไปได้เพราะกรมทะเลลงไปเช็คแล้วเจอแพลงก์ตอนบางกลุ่มมีปริมาณเยอะเป็นพิเศษ อาจทำให้ออกซิเจนในน้ำลดจนปลาตาย

ส่วนคำถามว่า เป็นไปได้ไหมที่จะเป็นสารพิษจากโรงงาน ธรณ์ระบุว่า สาเหตุมีหลายประการ แต่ถ้าเป็นสารพิษโดยตรงอาจยากหน่อย เพราะต้องเป็นสารแรงมาก น่าจะตรวจเจอ และปลาน่าจะหนีได้ อีกทั้งกลุ่มปลาที่ตายบางกลุ่มก็เป็นปลาหน้าดิน หากให้คิดน้ำเสียอาจเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ซึ่งน้ำเสียที่มีธาตุอาหารมาก ทำให้เกิดแพลงก์ตอนบลูมได้ง่าย โดยเฉพาะช่วงต้นฤดูร้อน ฟ้ายังเปิดเหมือนหน้าหนาว แต่อุณหภูมิสูงขึ้นอย่างเร็ว ทั้งแสงและอุณหภูมิเป็นปัจจัยสำคัญในการเร่งแพลงก์ตอนบลูม

 

 

มีคนถามมาเรื่องปลาตายที่ระยอง ผมก็บอกว่าปลาในอ่าวไทยตอนในอาจตายเป็นระยะ ส่วนใหญ่ปัญหามาจากแพลงก์ตอนบลูม ครั้งนี้ก็เป็นไ…

Posted by Thon Thamrongnawasawat on Tuesday, March 15, 2016

 

ทั้งนี้ เมื่อ 15 มี.ค. 2559 กรมกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) โดย ศูนย์วิจัย ทช.อ่าวไทยฝั่งตะวันออก(ระยอง) ตรวจสอบกรณีพบปลาตายจำนวนมาก บริเวณหาดตากวน ต.มาบตาพุด จ.ระยอง พบมีปลาตายตลอดระยะทางประมาณ 700 เมตร น้ำทะเลมีตะกอนสีแดงกระจายอยู่ในมวลน้ำ ชาวประมงในพื้นที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าเกิดเหตุตั้งแต่เมื่อวานนี้ และเกิดขึ้นในช่วงนี้ทุกปี โดยพบปลาตายในลำคลองใกล้เคียงตั้งแต่สัปดาห์ก่อน 

ตรวจสอบคุณภาพน้ำเบื้องต้นพบอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลประเภทที่ 3 เพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ยกเว้นค่าความเป็นกรด-ด่าง มีค่าสูงกว่าเกณฑ์ สาเหตุที่ปลาตายคาดเกิดจากการสะพรั่งของแพลงก์ตอนพืชกลุ่มไดอะตอม สกุล Skeletonema ซึ่งพบเป็นจำนวนมาก และดึงก๊าซออกซิเจนไปใช้ทำให้ออกซิเจนในน้ำต่ำลงมาก

 

 

“ทช.เร่งตรวจสอบกรณีปลาตาย ระยอง”วันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๙ กรม ทช. โดย ศูนย์วิจัย ทช.อ่าวไทยฝั่งตะวันออก(ระยอง) ตรวจสอบกรณีพ…

Posted by กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง on Tuesday, March 15, 2016

 

ภาพโดย: กานต์ ทัศนภักดิ์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ