มีเดียมอนิเตอร์ศึกษาทีวีเพื่อสาธารณะในการรายงานสถานการณ์การชุมนุมพบ
ช่อง 5 ยังทำหน้าที่สื่อสาธารณะไม่เต็มที่ ช่อง 11 อาจเข้าข่ายเป็นสื่อเพื่อรับใช้รัฐบาล
การชุมนุมทางการเมืองเพื่อต่อต้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมที่เริ่มจากช่วงต้นเดือน พฤศจิกายน 2556 ที่ต่อมายกระดับเป็นการชุมนุมใหญ่ที่เรียกว่า”การชุมนุมของมวลมหาประชาชน” ในวันที่ 25 พฤศจิกายน ตามด้วยครั้งที่ 2 ในวันที่ 9 ธันวาคม ปีเดียวกัน สิ่งที่น่าสนใจคือ มีการตั้งคำถามกับสื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ ในเรื่องการให้พื้นที่กับวิธีการนำเสนอ รวมทั้งมีเหตุการณ์ที่ผู้ชุมนุมไปแสดงความเห็น ความต้องการต่อสื่อโทรทัศน์ โดยเฉพาะช่อง TPBS ที่เป็นสื่อเพื่อสาธารณะ ดังนั้น ในสองเหตุการณ์สำคัญของการชุมนุมใหญ่ องค์กรวิชาชีพสื่อจึงได้ออกแถลงการณ์ เพื่อขอให้สื่อมวลชนทุกแขนง ทำหน้าที่อย่างไม่มีการเซ็นเซอร์ตัวเอง (self – censorship) และขอให้ผู้ชุมนุมทุกกลุ่มให้สื่อได้ทำหน้าที่อย่างอิสระและไม่ทำให้สื่อถูกเข้าใจว่าเป็นฝ่ายเดียวกับผู้ชุมนุม ด้วยเหตุนี้ มีเดียมอนิเตอร์จึงสนใจศึกษาการรายงานสถานการณ์การชุมนุมใหญ่ในวันที่ 25 พ.ย. และวันที่ 9 พ.ย. 2556 ระหว่างช่วงเวลา 00.00-24.00 น. ของฟรีทีวีประเภทบริการสาธารณะทั้ง 3 ช่อง ได้แก่ ช่อง ททบ. 5 สทท. 11 และ ช่อง TPBS
ผลการศึกษาพบว่า
โดยภาพรวม พบว่า ช่อง TPBS เป็นช่องที่ให้ความสำคัญกับการรายงานสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง โดยมีการเปิดพื้นที่ให้แหล่งข่าวที่มีความสมดุล มีมุมมองในการรายงานที่รอบด้าน หลากหลาย มุ่งเน้นการให้ความรู้ความเข้าใจ หาทางออก/แนวทางการคลี่คลายของสถานการณ์ ในขณะที่พบว่า ช่อง 11 มีสัดส่วนการรายงานสถานการณ์การชุมนุมใกล้เคียงกับช่อง TPBS แต่ขาดความสมดุล รอบด้าน ในการให้พื้นที่แหล่งข่าว ด้านมุมมองการรายงานข่าวก็เน้นแหล่งข่าวฝ่ายรัฐบาล สำหรับช่อง 5 พบว่า มีสัดส่วนการรายงานสถานการณ์การชุมนุมน้อยกว่าช่องอื่นๆ ทั้งยังเน้นการรายงานเหตุการณ์ตามสถานการณ์ ขาดการนำเสนอเหตุการณ์ในเชิงลึก
เมื่อศึกษาในเชิงปริมาณเวลา พบว่า เวลาทั้งหมดที่ ช่อง 5, 11, และ TPBS เสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการชุมนุม คือประมาณ 35 ชั่วโมง เมื่อวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบ พบว่า TPBS เป็นช่องที่มีการนำเสนอข่าวการชุมนุมทางการเมืองมากที่สุด (16 ชั่วโมง 37 นาที คิดเป็นร้อยละ 48 ของเวลารวมทั้งสามช่อง) ตามด้วยช่อง 11 (14 ชั่วโมง 30 นาที คิดเป็นร้อยละ 41 ) และช่อง 5 (3 ชั่วโมง 45 นาที คิดเป็นร้อยละ 11) และพบว่า มีการรายงานสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองในวันที่ 9 ธ.ค. 2556 ในสัดส่วนเวลาที่มากกว่าวันที่ 25 พ.ย. 2556 ในทุกช่อง เมื่อพิจารณาการทำหน้าที่สื่อสาธารณะของฟรีทีวีทั้ง 3 ช่อง พบว่า
ช่อง 5
เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนเวลาการรายงานสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองในการชุมนุมใหญ่ 2 วัน พบว่า มีการรายงานสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองในวันที่ 9 ธ.ค. (2 ชั่วโมง 58 นาที) ในสัดส่วนเวลาที่มากกว่าวันที่ 25 พ.ย. 56 (46 นาที) ในส่วนรูปแบบรายการ พบว่า ช่อง 5 มีรายการพิเศษนอกผังรายการ ได้แก่ รายการฝ่าวิกฤติการณ์เมืองไทย 2556 และแถลงการณ์อื่นๆ (40 นาที) สำหรับรูปแบบการนำเสนอนั้น ช่อง 5 เน้นการรายงานข่าวการชุมนุมตามสถานการณ์ เช่น บรรยากาศการชุมนุม เส้นทางการเคลื่อนขบวน มาตรการรักษาความปลอดภัย ฯลฯ (2 ชั่วโมง 15 นาที) ด้านแหล่งข่าว พบว่า แหล่งข่าวที่ช่อง 5 ให้พื้นที่มากที่สุด 3 อันดับแรก คือ 1) กลุ่มรัฐบาล (38 นาที) 2) กลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล (37 นาที) 3) หน่วยงานด้านความมั่นคง (15 นาที) แต่ไม่พบแหล่งข่าวที่เป็นตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน ประชาชนทั่วไป รวมทั้ง อดีตนักการเมือง
เมื่อพิจารณาการทำหน้าที่สื่อมวลชน พบว่าทั้งผู้ประกาศ พิธีกรรายการ และผู้สื่อข่าวภาคสนาม มีความระมัดระวังในการใช้ภาษา และการตั้งคำถาม แต่ส่วนใหญ่เป็นการเน้นตั้งคำถามเพื่อรายงานเหตุการณ์ตามสถานการณ์ เช่น บรรยากาศการชุมนุม มาตรการการรักษาความปลอดภัย มีการตั้งประเด็นสัมภาษณ์แหล่งข่าว และการนำเสนอรายงานที่จำกัดกว่าช่องอื่นๆ เพราะมีสัดส่วนการรายงานสถานการณ์การชุมนุมที่ค่อนข้างน้อย
เมื่อพิจารณาการทำหน้าที่ของสื่อเพื่อสาธารณะ พบว่า ถึงแม้ช่อง 5 จะมีการนำเสนอข่าวการชุมนุมในประเด็นที่ค่อนข้างหลากหลาย แต่ขาดรายละเอียด และความลึกของเนื้อหา โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหา และ การหาทางออกของสถานการณ์ทางการเมือง ทั้งนี้ อาจเนื่องมาจากสัดส่วนเวลาในการนำเสนอข่าวการชุมนุมทที่น้อยกว่าช่องอื่นๆ เน้นการเสนอข่าวในลักษณะการรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตามลำดับเหตุการณ์เป็นส่วนใหญ่ จึงอาจถูกตั้งคำถามได้ในเรื่องการเซ็นเซอร์ตัวเอง รวมทั้งการแสดงบทบาทสำคัญของทีวีสาธารณะเพื่อความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัยสาธารณะ
ช่อง 11
เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนเวลาการรายงานสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง พบว่า ในวันที่ 9 ธ.ค. 2556 ช่อง 11 ให้สัดส่วนเวลามากกว่าวันที่ 25 พ.ย. 2556 กล่าวคือ วันที่ 9 ธ.ค. (9 ชั่วโมง 59 นาที) วันที่ 25 พ.ย. (4 ชั่วโมง 31 นาที) ในส่วนรูปแบบรายการ พบว่า ช่อง 11 มีรายการพิเศษนอกผังรายการ ได้แก่ รายการทันสถานการณ์บ้านเมือง และแถลงการณ์อื่นๆ (8 ชั่วโมง 44 นาที) สำหรับรูปแบบการนำเสนอ พบว่าช่อง 11 เน้นการรายงานสถานการณ์การชุมนุมในรูปแบบการสนทนา/วิเคราะห์ (7 ชั่วโมง 37 นาที) สำหรับแหล่งข่าว ที่พบมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) กลุ่มนักวิชาการ (3 ชั่วโมง 55 นาที) 2) กลุ่มรัฐบาล (2 ชั่วโมง 33 นาที) 3) หน่วยงานด้านความมั่นคง (2 ชั่วโมง 15 นาที) แต่ ไม่พบแหล่งข่าวที่เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน แม้ว่าในภาพรวม ช่อง 11 จะมีสัดส่วนแหล่งข่าวที่เป็นนักวิชาการมากกว่าช่องอื่นๆ โดยเฉพาะในวันที่ 9 ธ.ค. 56 แต่นักวิชาการส่วนใหญ่นำเสนอมุมมองต่อสถานการณ์ทางการเมือง และทางออกของปัญหาไปในทิศทางเดียวกัน คือ มองว่าข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมกลุ่ม กปปส. เป็นเรื่องที่ไม่มีกฎหมายรองรับ สำหรับ การทำหน้าที่สื่อมวลชน พบว่า ทั้งผู้ประกาศ พิธีกรรายการ และผู้สื่อข่าวภาคสนาม ของช่อง 11 มีความระมัดระวังในการใช้ภาษาในการรายงานสถานการณ์ทั่วไป แต่พบว่ามีลักษณะการใช้ภาษาสอดแทรกความคิดเห็น / ชี้นำ ในรายงานพิเศษ เช่น ชื่อพาดหัวข่าว/รายงานพิเศษ (ตัวอย่างพบในวันที่ 25 พ.ย. 2556 เช่น “นักวิชาการห่วงม็อบคนดียิ่งทำสังคมแตกแยก” “เศรษฐกิจเสียหายจากม็อบยืดเยื้อ”)
เมื่อพิจารณาการทำหน้าที่ของสื่อสาธารณะในการรายงานสถานการณ์การชุมนุมอย่างรอบด้าน พบว่า แม้ช่อง 11 จะมีสัดส่วนรายการแบบสนทนา/ วิเคราะห์มากที่สุด โดยเฉพาะในวันที่ 9 ธ.ค. 2556 แต่เป็นการให้น้ำหนักจากมุมมองและทัศนะที่มาจากฝ่ายรัฐบาล นักวิชาการ หน่วยงานความมั่นคง ที่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ การเน้นเรื่องความถูกต้องชอบธรรมของคณะรัฐมนตรีในการทำหน้าที่เป็นรัฐบาลรักษาการ การยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ถือเป็นการคืนอำนาจให้ประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย และการจัดตั้งสภาประชาชนของกลุ่ม กปปส. เป็นเรื่องที่ไม่มีกฎหมายรองรับ ทั้งขัดรัฐธรรมนูญ รวมถึงการนำเสนอผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมทางการเมืองในด้านต่างๆ เช่น ปัญหาการจราจร ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว เป็นต้น เมื่อประกอบกับสัดส่วนแหล่งข่าวของช่อง 11 ที่เน้นการให้พื้นที่แหล่งข่าวฝ่ายรัฐบาลมากกว่ากลุ่มผู้ชุมนุม และ ประเด็นในการสัมภาษณ์ /การรายงานแล้ว อาจทำให้ช่อง 11 ถูกตั้งคำถามจากสังคมมากกว่าช่องอื่นๆ ในแง่จริยธรรมและมาตรฐานความเป็นสื่อโดยเฉพาะสื่อเพื่อสาธารณะในการรายงานสถานการณ์ความขัดแย้ง
ช่อง TPBS
การให้พื้นที่เชิงปริมาณเวลา พบว่า TPBS เป็นช่องที่มีการรายงานสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองมากที่สุด (16 ชั่วโมง 37 นาที) โดยมีสัดส่วนการรายงานสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง ในวันที่ 9 ธ.ค. 2556 (10 ชั่วโมง 47 นาที) มากกว่าวันที่ 25 พ.ย. 2556 (5 ชั่วโมง 49 นาที) สำหรับรูปแบบรายการ พบว่า ช่อง TPBS ให้ความสำคัญกับรายการพิเศษนอกผังรายการ ได้แก่ รายการทางออกประเทศไทย และ แถลงการณ์อื่นๆ (6 ชั่วโมง 46 นาที)
สำหรับรูปแบบการนำเสนอ พบว่า ช่อง TPBS เน้นการรายงานสถานการณ์การชุมนุมในรูปแบบการรายงานสดจากผู้สื่อข่าวภาคสนาม และการสนทนา/ การวิเคราะห์ ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน (4 ชั่วโมง 49 นาที และ 4 ชั่วโมง ตามลำดับ) โดยรูปแบบการสนทนา/ การวิเคราะห์ มีการใช้แหล่งข่าวหลากหลายกลุ่ม เช่น นักวิชาการ เครือข่ายภาคประชาชน ผู้ชุมนุมจากคู่ขัดแย้งกลุ่มต่างๆ ฯลฯ ผ่านมุมมองที่หลากหลาย และรอบด้าน ทั้งฝ่ายที่สนับสนุนให้มีการเลือกตั้ง ฝ่ายที่สนับสนุนให้มีสภาประชาชน ฝ่ายที่มองว่าการตั้งสภาประชาชนเป็นเรื่องที่ทำได้ กับผ่ายที่เห็นว่าทำไม่ได้ รวมไปถึงการนำเสนอทางออกด้วยวิธีอื่นๆ ทั้งนี้ ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน
สำหรับแหล่งข่าว พบว่า ช่อง TPBS มีแหล่งข่าวทุกกลุ่ม โดยที่พบมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) กลุ่มนักวิชาการ (2 ชั่วโมง 9 นาที) 2) กลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล (1 ชั่วโมง 46 นาที) 3) กลุ่มรัฐบาล (1 ชั่วโมง 10 นาที) ที่พบน้อยที่สุดคือ กลุ่มสำนักโพล (38 วินาที) โดยมีการเปิดพื้นที่ให้แหล่งข่าวอย่างมีความสมดุล
ในส่วนการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน พบว่าทั้งผู้ประกาศ พิธีกรรายการ และผู้สื่อข่าวภาคสนาม มีความระมัดระวังในการใช้ภาษา เช่น การใช้คำว่า “สิ่งที่ผู้ชุมนุมเรียกว่าระบอบทักษิณ” แทนคำว่า “ระบอบทักษิณ” หรือ “กลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกตนเองว่า กลุ่ม กปปส.” แทนการเรียกว่า “กลุ่ม กปปส.” ซึ่งแตกต่างจากการรายงานของช่องอื่นๆ นอกจากนี้ยังพบว่า พิธีกรและผู้ประกาศ มีการตั้งคำถามสัมภาษณ์แหล่งข่าวที่ค่อนข้างรอบด้าน และมุ่งหาแนวทางในการลดความขัดแย้ง หรือทางออกของปัญหาความขัดแย้ง และการให้แต่ละฝ่ายได้แสดงทัศนะและความคิดเห็นมากกว่าการเน้นตั้งคำถามเพื่อรายงานเหตุการณ์ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ในส่วนบทบาทของสื่อสาธารณะ พบว่า ช่อง TPBS มีการนำเสนอประเด็นที่หลากหลาย รอบด้านจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะในประเด็นการจัดตั้งสภาประชาชน ที่มีการนำเสนอทั้งจากมุมมองของฝ่ายที่เห็นว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ และฝ่ายที่มองว่าเป็นเรื่องที่ขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ รวมถึงการให้ข้อเสนอแนะว่าการเจรจาร่วมกันของฝ่ายการเมืองคือทางออกของปัญหาที่สำคัญ ทั้งมุ่งเน้นการให้ความรู้ ความเข้าใจ การหาทางออก/แนวทางการคลี่คลายสถานการณ์
ข้อเสนอแนะ จากการศึกษาครั้งนี้ มีดียมอนิเตอร์ มีข้อเสนอต่อหน่วยงาน องค์กร รวมทั้งสื่อ และภาคส่วนต่าง ๆ ดังนี้
1. ข้อเสนอต่อทีวีสาธารณะ
ช่อง 5 ควรให้ความสำคัญกับการรายงานสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองให้มากขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เช่น การเพิ่มพื้นที่ข่าว และรายงานพิเศษ เพื่อรายงานข้อเท็จจริง นำเสนอความคิดเห็นที่หลากหลาย รวมทั้งข้อเสนอทางออก หรือการคลี่คลายปัญหาให้กับสังคมอย่างรอบด้าน ตามลักษณะสื่อสาธารณะประเภท 2 ที่มีบทบาทหน้าที่เพื่อความมั่นคงของรัฐ หรือความปลอดภัยสาธารณะ
ช่อง 11 ควรรายงานสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง หรือความขัดแย้งใดๆ ด้วยมุมมองที่หลากหลาย รอบด้าน ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ทั้งควรทำหน้าที่เป็นสื่อเพื่อสะท้อนความคิดเห็นและความต้องการที่หลากหลาย มากกว่าเป็นสื่อเพื่อรับใช้รัฐบาล ตามลักษณะสื่อสาธารณะประเภทที่ 3 ที่มีบทบาทหน้าที่เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลกับประชาชนและรัฐสภากับประชาชน ส่งเสริมสนับสนุนการเผยแพร่และให้การศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข บริการข้อมูลข่าวสารอันเป็นประโยชน์สาธารณะ
2. ข้อเสนอต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
ควรกำหนดบทบาทหน้าที่ พร้อมกลไกการติดตาม กำกับดูแลการทำหน้าที่สื่อสาธารณะในแต่ละประเภทให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะข้อบังคับจริยธรรม และแนวทางปฏิบัติในการรายงานสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง
อนึ่ง ในสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองในครั้งนี้ พบว่า แต่ละกลุ่มขั้วความคิดทางการเมืองต่างมีสื่อวิทยุโทรทัศน์ของกลุ่มซึ่งเน้นการสื่อสารตามแนวคิดและปฏิบัติการของกลุ่ม กสทช. จึงควรกำหนดกรอบเกณฑ์การกำกับดูแลสื่อประเภทนี้อย่างชัดเจน โดยคำนึงถึงการใช้สื่ออย่างไม่สร้างความขัดแย้ง ความแตกแยก อันอาจนำไปสู่ความรุนแรง