มีเดียมอนิเตอร์ : ฟรีทีวีกับการรายงานเหตุการณ์ชุมนุม ณ สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น

มีเดียมอนิเตอร์ : ฟรีทีวีกับการรายงานเหตุการณ์ชุมนุม ณ สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น

20141301105750.jpg

ผลการศึกษาฟรีทีวีในการรายงานสดเหตุการณ์ที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น เมื่อ 26 ธค. 56 ไทยพีบีเอสวางจุดผู้รายงานสดมากที่สุด ขณะที่ช่อง 5 น้อยที่สุด ส่วนช่อง 11 รายงานเพียงเสียง

มีเดียมอนิเตอร์ ทำการศึกษาการทำหน้าที่ของผู้สื่อข่าวภาคสนามสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีทั้ง 6 ช่อง ได้แก่ ช่อง 3, 5, 7, 9, 11 และไทยพีบีเอส ในการรายงานเหตุการณ์ที่บริเวณศูนย์เยาวชนกรุงเทพฯ สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2556 ช่วงเวลา 07.00 – 18.00 น. ที่เครือข่ายนักศึกษาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ชุมนุมคัดค้านกระบวนการรับสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในการเลือกตั้งทั่วไป จนเกิดการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต รวมถึงมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก

ผลการศึกษาในภาพรวม พบว่า ช่องไทยพีบีเอสให้สัดส่วนเวลาในการรายงานสดมากที่สุด (1 ชั่วโมง 5 นาที) ตามด้วย ช่อง 7 และช่อง 3 ที่มีสัดส่วนการรายงานสดโดยผู้สื่อข่าวภาคสนามที่ใกล้เคียงกัน (33 นาที และ 32 นาที) ช่อง 9 (21 นาที) ช่อง 11 (19 นาที) และช่อง 5 ที่มีการรายงานสดโดยผู้สื่อข่าวภาคสนามน้อยที่สุด (10นาที) โดยในช่วงเช้า ช่อง 3 รายงานสดก่อนช่องอื่นๆ (07.19 น.) ตามด้วย ช่องไทยพีบีเอส (07.26 น.) ช่อง 5 (08.40 น.) ช่อง 7 (08.53 น.) ช่อง 9 (09.00 น.) และช่อง 11 (09:02 น.) ส่วนในช่วงบ่าย พบว่า ช่องไทยพีบีเอส รายงานก่อนช่องอื่นๆ (ช่วงข่าวต้นชั่วโมง 14.00 น. และการรายงานสดอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลา 16.00 น.) ตามด้วยช่อง 9 (เริ่มรายงานเหตุการณ์ในข่าวต้นชั่วโมงช่วง 15.00 น.) ในขณะที่ช่องอื่นๆ มีการรายงานสถานการณ์สดโดยผู้สื่อข่าวภาคสนามในช่วง 17.00 น. ยกเว้นช่อง 5 และช่อง 11 ที่ไม่พบว่ามีการรายงานสดในช่วงบ่าย

จำนวนผู้สื่อข่าวภาคสนาม พบว่า ช่อง 7 ช่อง 9 ช่อง 11 และ ไทยพีบีเอส มีผู้สื่อข่าวภาคสนาม ในจำนวน 3 คน เท่ากัน ยกเว้นช่อง 3 มีผู้สื่อข่าวภาคสนาม 2 คน ช่อง 5 มีผู้สื่อข่าวภาคสนามเพียง 1 คน สำหรับตำแหน่งที่รายงาน พบว่า ไทยพีบีเอสเป็นช่องที่ผู้สื่อข่าวภาคสนามรายงานจากจุดที่หลากหลายมากที่สุดถึง 6 จุด ได้แก่ 1) ภายในอาคารกีฬาเวศน์ 2 2) พื้นที่รอบนอกศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง* 3) บริเวณถนนดินแดง 4) โรงพยาบาลทหารผ่านศึก ถนนวิภาวดี 5) สโมสรกองทัพบก 6) ทำเนียบรัฐบาล ขณะที่ ช่อง 7 มีผู้สื่อข่าวภาคสนามรายงานจาก 4 จุด ได้แก่ 1) บริเวณพื้นที่รอบนอกศูนย์เยาวชนไทยญี่ปุ่น-ดินแดง 2) หน้าโรงเรียนพิบูลประชาสรรค์ (บริเวณถนนดินแดง) 3) ถนนวิภาวดีรังสิต 4) สโมสรกองทัพบก ส่วน ช่อง 9 มีผู้สื่อข่าวภาคสนามรายงานจาก 4 จุด ได้แก่ 1) บริเวณในอาคารกีฬาเวศน์ 2 2) บริเวณพื้นที่รอบนอกศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง 3) หน้าทางเข้ากระทรวงแรงงาน (บริเวณถนนดินแดง) 4) ภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ช่อง 3 มีผู้สื่อข่าวภาคสนามรายงานจาก 2 จุด ได้แก่ 1) บริเวณพื้นที่รอบนอกศูนย์เยาวชนไทย-ญีjปุ่น ดินแดง 2) สโมสรทหารบก สำหรับช่อง 5 และ ช่อง 11 มีผู้สื่อข่าวเพียงตำแหน่งเดียว โดยของช่อง 5 คือในอาคารกีฬาเวศน์ 2 ในขณะที่ช่อง 11 เป็นบริเวณรอบนอกศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง

ด้านเนื้อหา พบว่า ช่อง 3 ช่อง 7 และ ไทยพีบีเอส ติดตามรายงานเหตุการณ์การชุมนุมและการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุม และ เจ้าหน้าที่ตำรวจ อย่างใกล้ชิด โดยช่อง 3 เน้นการบรรยายเหตุการณ์อย่างละเอียด ด้าน ช่อง 5 ให้ความสำคัญกับการรายงานผลการจับสลากของผู้สมัคร สส.ระบบบัญชีรายชื่อจากในอาคารกีฬาเวศน์ 2 โดยมีสัดส่วนเวลาการรายงานสดเหตุการณ์ รวมทั้งจำนวนผู้สื่อข่าว และตำแหน่งการรายงานน้อยกว่าช่องอื่นๆ แต่เด่นด้านการระบุตำแหน่งจุดที่รายงาน การบรรยายให้เห็นพื้นที่ใกล้เคียงอย่างชัดเจน ในขณะที่ ช่อง 7 เน้นให้รายละเอียดเหตุการณ์การเผชิญหน้า และพฤติกรรมของทั้งฝ่ายผู้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเด่นด้านการให้ข้อมูลของที่มา/สาเหตุการเคลื่อนขบวนมาปิดล้อมศูนย์กีฬาไทย-ญี่ปุ่นดินแดง และการปิดถนนของผู้ชุมนุม สำหรับ ช่อง 9 เน้นรายงานจำนวนและรายละเอียดผู้บาดเจ็บที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจมากกว่าผู้ชุมนุม ส่วนช่อง 11 เน้นรายงานตามสถานการณ์ด้วยเสียงผ่านทางโทรศัพท์เพียงอย่างเดียว ทั้งมีภาพเหตุการณ์ประกอบการรายงานอย่างจำกัด ทำให้มีการให้รายละเอียดของเหตุการณ์ น้อยกว่าช่องอื่นๆ ในส่วนของไทยพีบีเอส โดดเด่นในการเน้นแหล่งอ้างอิง รวมถึงการใช้ภาษาอย่างระมัดระวัง (Hedging Strategy) ในการรายงานเหตุการณ์เผชิญหน้า เช่น การใช้คำว่า “เท่าที่สังเกต”, “เท่าที่เห็นตอนนี้” เป็นต้น และมีการให้รายละเอียดการกระทำของทั้งจากฝ่ายผู้ชุมนุม และ ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างสมดุล

โดยภาพรวมพบว่า ผู้สื่อข่าวภาคสนามของฟรีทีวีส่วนใหญ่มีการสอดแทรกความคิดเห็น รวมทั้งการวิเคราะห์และการประเมินสถานการณ์ ยกเว้นผู้สื่อข่าวภาคสนามช่อง 5 และช่อง 9

สำหรับผู้ประกาศ/พิธีกรรายการข่าวกล่าวได้ว่า เกือบทุกช่อง มีความระมัดระวังในการนำเสนอ ไม่พบการสอดแทรกความเห็น หรือใช้ภาษาที่สื่อถึงความไม่เป็นกลางในการตั้งคำถาม การเกริ่นนำเข้าสู่การรายงานของผู้สื่อข่าวภาคสนาม การสรุปเหตุการณ์/การรายงานสด ยกเว้นช่อง 3 ที่พบกรณีการใช้ภาษาในลักษณะชี้นำ การใส่ความคิดเห็นและการคาดการณ์ที่อาจนำไปสู่ความรุนแรง

ในเรื่อง การนำเสนอภาพ พบว่า ฟรีทีวีส่วนใหญ่ยังมีการใช้ซ้ำภาพเหตุการณ์เผชิญหน้าระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ โดยไม่มีการระบุว่าเป็น “แฟ้มภาพ” ยกเว้นช่อง 5 และช่องไทยพีบีเอส ที่ผู้ประกาศข่าว และผู้สื่อข่าวภาคสนามจะแจ้งว่าภาพดังกล่าวเป็นภาพจากเหตุการณ์ก่อนหน้าในกรณีที่มีการนำภาพมาใช้ซ้ำในการรายงาน นอกจากนั้น พบว่า ฟรีทีวีส่วนใหญ่ ใช้ภาพที่สอดคล้องกับเนื้อหาการรายงาน โดยที่ภาพส่วนใหญ่เป็นภาพจากมุมมองของผู้ชุมนุม/ หลังแนวผู้ชุมนุม/ หรือบริเวณด้านข้าง เนื่องจากผู้สื่อข่าวภาคสนามส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าไปในบริเวณอาคาร/ ตำแหน่งที่ตั้งของเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ และพบว่าไทยพีบีเอสเป็นเพียงช่องเดียวที่มีการใช้ภาพมุมสูงเพื่อให้เห็นเหตุการณ์เผชิญหน้า/ปะทะจากทั้งสองฝ่าย 

นอกจากนี้ยังพบว่าฟรีทีวีส่วนใหญ่ หลีกเลี่ยงการใช้ภาพในลักษณะที่เน้นย้ำให้เห็นบาดแผลของผู้บาดเจ็บ ยกเว้นช่อง 9 ที่พบว่ามีการขยาย (Zoom) ให้เห็นภาพบาดแผลของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และช่างภาพ และมีการเสนอภาพซ้ำวน (Replay) ด้วย

ข้อเสนอแนะ

  1. องค์กรวิชาชีพสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ควรมีการถอดบทเรียนจากการทำงานของสื่อในการรายงานสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมือง เพื่อกำหนดหรือออกข้อบังคับจริยธรรมในการรายงานเหตุการณ์ความขัดแย้ง รุนแรง ต่าง ๆ เช่น การชุมนุม การประท้วง การจลาจล การปะทะ การปราบปรามที่รุนแรง ฯลฯ เพื่อจัดทำคู่มือหรือแนวทางปฏิบัติ รวมทั้งการจัดกิจกรรมให้ความรู้ หรือ ฝึกอบรม บุคลากรสื่อที่เกี่ยวข้อง เช่น บรรณาธิการ ผู้ประกาศข่าว ผู้สื่อข่าว ผู้สื่อข่าวภาคสนาม ช่างภาพ ฯลฯ
  2. ผู้ประกอบการสื่อโทรทัศน์ควรจัดทำข้อกำหนดหรือข้อบังคับจริยธรรม (Code of Ethics) และแนวทางปฏิบัติ (Code of Conduct) ในการนำเสนอหรือรายงานเหตุการณ์ความขัดแย้ง ความรุนแรง ฯลฯ เพื่อให้สื่อมวลชนในสังกัดได้ถือปฏิบัติ ในการรายงานข้อเท็จจริง อย่างเที่ยงตรง ตรงไปตรงมา มีจริยธรรม และมีความรับผิดชอบต่อสังคม
  3. คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสทช.)ควรส่งเสริมสนับสนุนให้องค์กรวิชาชีพสื่อวิทยุโทรทัศน์มีการจัดทำข้อ กำหนด หรือข้อบังคับจริยธรรม (Code of Ethics) และแนวทางปฏิบัติ (Code of Conduct) ในการนำเสนอหรือรายงานเหตุการณ์ความขัดแย้ง ความรุนแรง ฯลฯ ทั้งให้มีการถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และ กสทช.ควรประกาศแนวทางในการกำกับดูแลการนำเสนอหรือการรายงานเหตุการณ์ความขัดแย้ง ความรุนแรงต่างๆ ของสื่อวิทยุกระจายเสียงและสื่อโทรทัศน์ รวมทั้งมีกลไกติดตามกำกับดูแลอย่างจริงจังด้วย โดยเฉพาะการทำหน้าที่ของสื่อโทรทัศน์เพื่อบริการสาธารณะ ได้แก่ ช่อง 5 ช่อง 11 และไทยพีบีเอส ที่การศึกษาครั้งก่อนหน้าของมีเดียมอนิเตอร์ พบว่า ช่อง 5 และช่อง 11 ยังทำหน้าที่ได้ไม่เต็มที่ หรือ ด้อยกว่าช่องอื่น ๆ ทั้งที่เป็นสื่อสาธารณะเพื่อสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตย (ช่อง11) เป็นสื่อสาธารณะเพื่อความมั่นคงของรัฐและความปลอดภัยสาธารณะ (ช่อง 5)

……………………………………………………………………………………………

* พื้นที่รอบนอกศูนย์เยาวชนไทยญี่ปุ่น-ดินแดง ในการศึกษาครั้งนี้ หมายถึง พื้นที่ใกล้จุดปะทะที่อยู่บริเวณรอบนอกศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ซึ่งผู้สื่อข่าวภาคสนามในแต่ละสถานีอาจระบุต่างกัน เช่น บริเวณประตู 1 ของสนามกีฬาไทย- ญี่ปุ่น ดินแดง, หน้าสนามกีฬาไทยญี่ปุ่นดินแดง, สำนักผังเมือง เป็นต้น

อ่านรายงานผลการศึกษาฉบับเต็มได้ที่ http://mediamonitor.in.th

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ