มอง “อีสานแล้ง” จับทิศทางการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม : สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์

มอง “อีสานแล้ง” จับทิศทางการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม : สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์

20162902182852.jpg

“จากยุทธศาสตร์ของ คสช. เรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ 3 แห่งในภาคอีสาน ซึ่งแต่ละพื้นที่กันพื้นที่เพื่อพัฒนาไว้หลายล้านไร่  ถ้าเราต้องการพัฒนาให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมจริงๆก็จะต้องมีการใช้น้ำเยอะมาก เราก็ต้องไปหาทางเพื่อนำน้ำมาใช้ เช่น อาจต้องไปเอามาจากแม่น้ำโขง คราวนี้ก็จะเกิดปัญหาว่าถ้าเกิดน้ำโขงไม่มีในอนาคตเราจะทำอย่างไร…”  

สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ชวนคิดระหว่างพูดคุยเรื่องสถานการณ์ในภัยแล้งในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งยอมรับว่าปีนี้มีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปกติ ซึ่งต้องมีการปรับตัว และวางแผนการจัดการน้ำ ทั้งระยะสั้น และระยะยาวเพื่อเตรียมรับสถานการณ์   

ตอนนี้สถานการณ์ภัยแล้งในอีสานเป็นอย่างไรบ้าง

สถานการณ์ส่วนใหญ่ตอนนี้ ปริมาณน้ำก็น้อยกว่าปกติ ถือเป็นปีที่น้ำน้อย อาจเนื่องมาจากปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปกติด้วย เฉลี่ยแล้วประมาณ 40 %  ทำให้ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีจากฤดูฝนที่ผ่านมาซึ่งจะถูกใช้ในฤดูแล้งจนถึงฤดูฝนถัดมามีจำนวนจำกัดด้วย อันนี้เป็นภาวะความแห้งแล้งที่แล้งกว่าปกติจริง ซึ่งก็เหมือนทุกที่เพียงแต่ว่าฤดูแล้งปีนี้อาจจะแล้งมากหน่อย

นิยามคำว่าฤดูแล้งของคนอีสานเป็นอย่างไร

จริงๆ ฤดูแล้ง เราหมายถึงหลังจากฤดูฝน ที่เข้าสู่หน้าหนาวและฝนลดลง พอเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลที่ไม่มีฝน เราก็เรียกว่าหน้าแล้งแล้วนะ  ซึ่งมันจะยาวไปจนถึงฤดูฝนใหม่ที่จะมา ถ้าคิดเป็นช่วงเดือนก็ประมาณเดือนพฤศจิกายน-พฤษภาคมของปีถัดไป อันนี้เราเรียกว่า “ฤดูแล้ง” แม้อาจมีหนาวในช่วงนั้น แต่เราเรียกว่าแล้ง

แต่มีอีกหนึ่งคำที่เราพูดถึง คือ “ฝนแล้ง” ซึ่งหมายความว่าเกิดความแห้งแล้งในฤดูฝน อันนี้จะเป็นปัญหาค่อนข้างมาก เพราะในฤดูฝน เราจะต้องเอาน้ำฝนมาใช้ในการเพาะปลูก ในฤดูกาลผลิตประจำปีอยู่แล้ว

ซึ่งฝนแล้งก็อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ หนึ่งคือปริมาณน้ำฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ แทนที่จะตกอย่างที่เคยตกก็ตกน้อยลง สองความถี่ของฝนก็น้อยด้วย เช่น ตกไม่สม่ำเสมอ ตกนานๆ ครั้ง สามคือ ฝนทิ้งช่วง เช่น ช่วงที่ชาวนาต้องการน้ำมากๆ ในฤดูกาลปักดำ ในช่วงเดือนกรกฎาคม แต่ฝนอาจจะมาตกอีกทีในเดือนกันยายน หรือ ตุลาคม แบบนี้ก็เรียกว่า “ฝนแล้ง”  เพราะฉะนั้น นิยามของคำว่าแล้งมีอยู่สองอย่าง คือ แล้งตามสภาพฤดูกาลปกติ กับแล้งในฤดูกาลที่ไม่ควรจะแล้งในหน้าฝน

20162902182911.jpg

แสดงว่าฤดูแล้งของคนอีสานเป็นวิถีชีวิตปกติ

เช่น ช่วงที่มะม่วงออกดอกก็ต้องอาศัยความแล้ง ความเย็นก่อน  หรือช่วงที่ได้ยินเสียงนกชนิดนี้ร้องก็แสดงว่าเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูแล้งแล้ว อันนี้คือภาวะที่เป็นธรรมชาติทั้งหมดต้องปรับตัว มนุษย์เองก็ต้องเรียนรู้ที่จะต้องปรับตัวตามไปด้วย ซึ่งเป็นเรื่องปกติ

คราวนี้ การปรับตัวมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับความเข้าใจสภาพแวดล้อมมากน้อยเพียงใด เช่น ถ้าคาดว่าจะมีความแห้งแล้งเกิดขึ้น จะมีการสำรองน้ำไว้ใช้มากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะน้ำดื่ม ก็จำเป็นที่จะต้องสำรองน้ำฝนไว้ใช้  ไว้ดื่ม มีภาชนะรองรับ นี่คือสิ่งที่ต้องปรับตัว ทีนี้การที่จะปรับตัวได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความเข้าใจ ความรู้ และความมั่นใจที่จะปรับตัวมากน้อยแค่ไหน เช่น บางคนอาจจะมั่นใจว่าจะบริโภคน้ำฝนเพราะน้ำฝนสะอาด ก็จะสำรองน้ำไว้ใช้ ทำให้หลายๆ พื้นที่ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำเพื่อการบริโภค

ส่วนน้ำเพื่อการอุปโภค ก็ต้องมาดูว่าสระน้ำประจำหมู่บ้านมีไหม  ประปาหมู่บ้านเพียงพอหรือเปล่า บ่อน้ำตื้น แหล่งน้ำที่จะสามารถใช้น้ำใต้ดินมีเพียงพอหรือเปล่า มากน้อยแค่ไหน

แต่สิ่งที่จะเป็นปัญหามากที่สุด คือ ภาคการผลิตและเมือง ซึ่งไม่ค่อยจะปรับตัวกับภาวะความแห้งแล้งเท่าไร เพราะเปิดก๊อกน้ำมาก็จะมีน้ำอยู่ตลอดจนอาจทำให้รู้สึกว่าจะต้องมีน้ำใช้ไปตลอดทุกวัน

ปีนี้สถานการณ์ภัยแล้งมีทีท่าว่าจะแล้งหนักมาก ในพื้นที่ภาคอีสานจะมีผลกระทบด้านใดบ้าง

ชัดๆ เลย คือ เรื่องของน้ำเพื่อการเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการชลประทานที่จะต้องใช้น้ำเพื่อการทำนา เพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง  เพราะโดยปกติ เขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำ หรือการชลประทานทุกที่ จะมีวัตถุประสงค์หลักเลย คือ เพื่อการเกษตร และเป็นการเกษตรในฤดูแล้งด้วย เพราะฉะนั้นถ้าปริมาณน้ำฝนน้อย น้ำในเขื่อนก็จะน้อยด้วย

บางครั้งเขื่อนอาจจะต้องแบ่งปันน้ำเพื่อใช้ในกิจการอื่นด้วย เช่น เพื่อการอุปโภค บริโภค  เพื่อผลิตน้ำประปา เพื่อป้อนให้โรงงานอุตสาหกรรม  และเพื่อรักษาระบบนิเวศ ก็จะยิ่งทำให้การปันส่วนน้ำเพื่อใช้ในการเกษตรยากลำบากยิ่งขึ้น

เราจะเห็นได้ว่า เมื่อการพัฒนามีมากขึ้น เมืองขยายตัวมากขึ้น พฤติกรรมการใช้น้ำมีมากขึ้น  อ่างเก็บน้ำที่เคยออกแบบเพื่อการชลประทานที่กำหนดไว้ก็มักจะไม่ได้ตามเป้าหมาย เพราะต้องมีการแบ่งส่วนน้ำไปทางอื่นด้วย

อย่างเช่นที่จังหวัดอุดรธานีก็มีเขื่อนห้วยหลวง ซึ่งส่วนใหญ่จะแบ่งน้ำเพื่อการเกษตรกรรม การผลิตประปา การอุตสาหกรรม และการรักษาระบบนิเวศ ซึ่งมีสัดส่วนที่ตกลงกันแล้วเรียบร้อย แต่ทีนี้ถ้าปีใดน้ำในเขื่อนน้อยก็จะลดสัดส่วนกันลงไป  แต่สิ่งที่ต้องมีความสำคัญอันดับหนึ่งก็คือ เพื่อการอุปโภคบริโภค เพื่อการผลิตน้ำประปา รองลงมาคืออุตสาหกรรม ส่วนเกษตรกรรมเป็นอันดับท้าย เพราะฉะนั้นปีนี้ คือ ไม่มีน้ำเพื่อการชลประทาน ใครจะทำนาปรังก็ไม่มีน้ำให้

 แล้ว “อีสานแล้ง” จะแก้ปัญหาอย่างไร ต้องสร้างเขื่อนไหม

เขื่อนที่เหมาะสมที่จะสร้าง สร้างไปหมดแล้วนะ  ภาคอีสานไม่ใช่พื้นที่ที่มีหุบเขาสูง เป็นภูเขาสูงชันที่จะเหมาะกับการสร้างเขื่อน เพื่อเก็บน้ำไว้ทีละมากๆ เหมือนภาคอื่นๆ

คราวนี้อ่างเก็บน้ำในภาคอีสานก็จะเป็นอ่างที่ค่อนข้างตื้น แม้จะมีพื้นที่กว้างใหญ่ แต่ปริมาณน้ำที่เก็บได้ก็จะมีไม่มาก เพราะความลึกไม่มาก มีลักษณะเหมือนกระทะ เพราะฉะนั้นเขื่อนใหญ่ๆ ก็สร้างไปหมดแล้ว ก็ต้องหาวิธีอื่น

บางปีแม้จะมีเขื่อนที่สร้างไว้ดีแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีฝนตกเหนือเขื่อนเพื่อให้มีน้ำกักเก็บได้ เขื่อนก็จะไม่เต็มประสิทธิภาพตามที่ออกแบบไว้ เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจว่า ไม่ใช่มีเขื่อนแล้วจะกระจายน้ำไปทั่วภาคอีสานได้ เพราะมันมีข้อจำกัดในเชิงพื้นที่ภูมิศาสตร์อีกมากมาย เรื่องของสภาพดินเค็ม และการออกแบบที่ยากต่อการเข้าถึงพื้นที่ให้มีน้ำใช้ สิ่งสำคัญก็คือ แต่ละพื้นที่จะจัดการน้ำของตัวเองอย่างไรมากกว่า

ภาวะแล้งกับการจัดการน้ำเป็นคนละเรื่องเดียวกัน ?

เป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งรวมไปถึงเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่การจัดการน้ำด้วย ทั้งการจัดการชีวิต การจัดการรูปแบบวิธีการผลิต การใช้เทคโนโลยีที่สามารถช่วยประหยัดน้ำหรือ Recycle หรือ Reuse น้ำกลับมาใช้ใหม่ การเลือกชนิดของพืช หรือกิจกรรมที่มาสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ และการใช้น้ำน้อย หรือไม่ใช้น้ำเลย เหล่านี้คือ สิ่งที่ต้องปรับไปพร้อมๆ กัน รวมถึงการมองว่าอีสานควรพัฒนาไปในทิศทางใดในข้อจำกัดของน้ำและพื้นที่ รวมถึงมองโอกาสในเรื่องอื่นๆ ด้วย ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องเดียวกัน แต่เรากลับไปมองเรื่องแล้งและน้ำ ซึ่งพอแล้งก็จะไปหาน้ำมา แต่เราไม่มองเรื่องอื่นๆ

โครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ก็มีความชอบธรรมที่ต้องเร่งดำเนินการ

อันที่จริงมีความพยายามที่จะทำมานานแล้ว  อย่างเช่น โครงการโขงเลยชีมูล ที่จะเอาน้ำจากแม่น้ำโขงมาเติมในลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำชี ซึ่งมีความพยายามมานานแล้ว แต่ก็ล้มเหลว เพราะหนึ่งมันแพง สอง คือ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมได้ สามคือ เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความรู้สึกว่าอีสานต้องมีน้ำ มีน้ำแล้วจะรวย ซึ่งอันที่จริงอาจจะไม่ใช่แบบนั้น  แต่สิ่งที่สำคัญคือ เราจะทำอย่างไรให้น้ำที่เรามีอยู่ถูกจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องไปพูดถึงว่าจะเอาน้ำจากที่นั่นที่นี่มาเติม ต้องทำตรงนี้ก่อน

ปริมาณน้ำฝนในภาคอีสานในแต่ละปีมีไม่ใช่น้อย พื้นที่ 1 ใน 3 ของภาคอีสานมีปริมาณน้ำฝนดีมาก โดยเฉพาะแถบพื้นที่ชายโขง พื้นที่เชื่อมต่อกับประเทศลาว เช่น หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มีปริมาณน้ำฝนดีมาก แต่ทำอย่างไรเราจึงจะสามารถจัดการสิ่งเหล่านั้นให้มีความยั่งยืนในพื้นที่ได้

ส่วนพื้นที่แล้งจริงๆ จะเป็นตอนกลางของภาค เช่น นครราชสีมา ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม บุรีรัมย์ สุรินทร์  ซึ่งค่อนข้างจะมีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่า เพราะฉะนั้นเราก็ต้องจัดการแต่ละพื้นที่ให้สอดคล้องกับสภาพบริบทแต่ละพื้นที่ผมคิดว่านี่คือเรื่องสำคัญ

ถ้าต้องวางแผนเตรียมรับภัยแล้งในปีต่อๆ ไป ต้องเตรียมอะไรบ้าง

จากยุทธศาสตร์ของ คสช. เรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ 3 แห่งในภาคอีสาน ซึ่งแต่ละพื้นที่กันพื้นที่เพื่อพัฒนาไว้หลายล้านไร่ ซึ่งถ้าเราต้องการพัฒนาให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมจริงๆ ก็จะต้องมีการใช้น้ำเยอะมากเหมือนกับพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งภาคตะวันออกเขาก็เกิดปัญหาว่าอ่างเก็บน้ำที่มีไม่เพียงพอ เราก็ต้องไปหาทางเพื่อนำน้ำมาใช้ เช่น อาจต้องไปเอามาจากแม่น้ำโขง คราวนี้ก็จะเกิดปัญหาว่าถ้าเกิดน้ำโขงไม่มีในอนาคตเราจะทำอย่างไร

เพราะฉะนั้นการวางแผนที่ยั่งยืนซึ่งทุกรัฐบาลอ้างถึงมากเหลือเกิน ความยั่งยืนอาจต้องมองไป 50 – 100 ปีข้างหน้าว่าการพัฒนาแบบนี้มันสอดคล้องหรือเปล่า ใช้ทรัพยากรมากเกินไปไหม ล้างผลาญและฝืนระบบนิเวศเกินไปหรือเปล่า หรือเราจะพัฒนาจากศักยภาพที่เรามีอยู่ แล้วก็มองความยั่งยืนอย่างแท้จริงผ่านระบบนิเวศ และคุณภาพชีวิตของประชาชน

เช่น โลกต้องการอาหารที่ดี และปลอดภัย แต่เรากลับเอาพื้นที่ที่ดีที่สุดของภาคอีสาน อย่างหนองคายที่ท่าบ่อ  ศรีเชียงใหม่ โพธิ์ตาก  และ อ.สระไค ซึ่งดินดีน้ำดี อุดมสมบูรณ์ กลับถูกกำหนดเป็นเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งต้องมีเรื่องของอุตสาหกรรมเข้ามา  หรือพื้นที่ที่สวยงามมากของมุกดาหารซึ่งเชื่อมต่อกับประเทศลาว และเชื่อมไปยังประเทศเวียดนามได้ แถบนั้นมีความสวยงามเป็นที่ราบเชิงเขาซึ่งน่าจะเหมาะกับการพัฒนาการท่องเที่ยว หรือการเกษตร ก็ถูกกำหนดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งเราต้องถามว่ามันถูกต้องหรือเปล่าที่จะพัฒนาอย่างยั่งยืนและใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ ระบบนิเวศ และวิถีชีวิตของผู้คน

ซึ่งผมอาจจะมองมากกว่าเรื่องการจัดการน้ำ เพราะคิดว่าพอพูดเรื่องแล้ง แล้วจะเอาน้ำมามันไม่ใช่คำตอบ

คำถามสุดท้าย “อีสานแล้ง” ซึ่งแล้งจริงในปีนี้ จะเป็นโอกาสในการพัฒนาโครงการผันน้ำขนาดใหญ่นี้ได้ไหม

เราต้องถามว่า โครงการผันน้ำขนาดใหญ่นี้จะเอาน้ำมาทำอะไร  หนึ่งถ้าบอกว่าเอาน้ำมาใช้เพื่อการเกษตร ในฤดูฝนภาคอีสานค่อนข้างมีน้ำมากพอที่จะทำการเกษตร ขอแค่ให้สามารถทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเชื่อว่าภาคอีสานสามารถใช้น้ำฝนทำการเกษตรได้  สองถ้าจะเอามาใช้เพื่อฤดูแล้ง ก็จะเพื่อการเกษตรเหมือนภาคกลาง แต่สิ่งที่เกษตรกรควบคุมไม่ได้คือ ต้นทุนการผลิต ราคาปุ๋ย ราคาสารเคมี และราคาขาย เรื่องของระบบเงินทุนหมุนเวียน เรื่องของตลาดที่ยังต้องพึ่งพากับพ่อค้าคนกลาง โรงสี และผู้ส่งออกไม่กี่ราย 

อย่างชาวนาภาคกลาง ทำนารวม 2 ปี 7 ครั้ง ผืนดินไม่แห้งเลย แต่ยังคงเป็นหนี้ นี่คือสิ่งที่ต้องตั้งคำถามว่า เราต้องการให้อีสานเป็นแบบนั้นหรือเปล่า หรือหากจำเป็นต้องใช้น้ำ ก็ยังมีทางเลือกอื่นๆ อีกมากมาย เริ่มจากจัดการน้ำที่มีก่อน อย่าเพิ่งเอาน้ำจากที่อื่น ต้องเริ่มจากปริมาณน้ำฝนที่มีแต่ละลุ่มน้ำต้องการใช้น้ำปริมาณเท่าไหร่ ทุกภาคส่วน แล้วน้ำที่สามารถเก็บกักได้มีเท่าไร  ซึ่งต้องพัฒนาศักยภาพในการเก็บกัก ทั้งในแหล่งน้ำสาธารณะ แหล่งน้ำของเอกชน แหล่งน้ำของชุมชน และรูปแบบอื่นๆ มีเพียงพอไหม ถ้าพอก็แล้วไป แต่ถ้าไม่พออาจต้องจัดระบบการผลิตของแต่ละพื้นที่เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพที่เป็นอยู่ ถ้าเริ่มคิดจากเล็กไปใหญ่ น่าจะดีกว่าเพราะใช้งบประมาณน้อย แต่ถ้าออกแบบมาเบ็ดเสร็จจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อมาวางแล้วทำ ซึ่งลงทุนมาก เมื่อเกษตรกรต้องใช้น้ำก็ต้องซื้อน้ำอีก ต้นทุนก็จะเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งมีคำถามมากมายในเรื่องเหล่านี้ แต่ถ้ารวบรัดแล้วทำโดยไม่มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน กับข้อมูลที่เพียงพอ ก็อาจจะมีปัญหาเกิดขึ้นในอนาคตอย่างที่เคยเกิดมาแล้ว นี่คือสิ่งที่ห่วง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ