มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร สังคมไทยก็มิใช่ค่ายทหารเช่นเดียวกัน

มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร สังคมไทยก็มิใช่ค่ายทหารเช่นเดียวกัน

20152711024016.jpg

24 พ.ย. 2558 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อเวลา 15.00 น. นักวิชาการในนามเครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัยซึ่งถูกออกหมายเรียก ในข้อหาร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งหัวหน้า คสช. จากกรณีร่วมกันแถลงข่าว “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” ที่โรงแรมไอบิส จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 31 ต.ค.58 ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.ช้างเผือก จ.เชียงใหม่

ผู้ถูกหมายเรียกมีจำนวน 5 ราย ประกอบไปด้วย อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ และสมชาย ปรีชาศิลปกุล จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, จรูญ หยูทอง และณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ จากมหาวิทยาลัยทักษิณ และ มานะ นาคำ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น

เมื่อเดินทางไปถึง เจ้าหน้าที่ตำรวจ นำโดย พ.ต.ท.มณฑป แสงจำนง รอง ผบก.ภ.จว.เชียงใหม่ ได้นำคณาจารย์ขึ้นไปยังห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการ สภ.ช้างเผือก โดยมี พ.ต.อ.วชิระ กาญจนวิภาดา ผกก.สภ.ช้างเผือก พร้อมชุดพนักงานสอบสวนร่วมดำเนินการ

เจ้าหน้าที่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาและแจ้งสิทธิ์ของผู้ต้องหา โดยระบุว่าในคดีนี้ทาง พล.ต.โกศล ประทุมชาติ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 เป็นผู้มอบอำนาจให้ พ.ท.อภิชาต กันทวงศ์ นายทหารพระธรรมนูญ มาเป็นผู้แจ้งความกล่าวโทษนักวิชาการที่ร่วมกันแถลงข่าวและแจกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 31 ต.ค.58 ในความผิดตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 5/2558 ข้อ 12 ประกอบข้อ 3 (4)

พนักงานสอบสวนยังได้สอบถามถึงนักวิชาการท่านอื่นที่ร่วมแถลงข่าวด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารไม่ทราบชื่อ จึงยังไม่ได้มีการออกหมายเรียกมาด้วย แต่ถือว่าเป็นผู้ถูกกล่าวหาจากเจ้าหน้าที่ทหาร เพราะมีการกล่าวหาบุคคลที่อยู่ในรูปภาพทั้งหมด จำนวน 8 คน

บุญเชิด หนูอิ่ม อาจารย์จากมหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งเดินทางมายัง สภ.ช้างเผือกด้วย แต่ยังไม่ได้ถูกออกหมายเรียก ได้เข้าพบพนักงานสอบสวนร่วมกับเครือข่ายคณาจารย์ฯ ส่วนอาจารย์ที่ร่วมกันแถลงข่าวอีก 2 ท่าน และยังไม่ได้เดินทางมาด้วยในวันนี้ ทางคณาจารย์ระบุว่าจะมีการติดต่อประสานงานเพื่อเข้าพบพนักงานสอบสวนต่อไป

กลุ่มนักวิชาการได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ส่วนคำให้การโดยรายละเอียดจะมีการจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษรมายื่นต่อพนักงานสอบสวนภายใน 30 วัน โดยพนักงานสอบสวนให้ผู้ต้องหาพิมพ์ลายนิ้วมือ จัดทำบันทึกการมอบตัว บันทึกคำให้การ และบันทึกประจำวัน

พนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวชั่วคราวนักวิชาการทั้ง 6 คน โดยไม่ต้องทำการประกันตัว และไม่มีการกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวใดๆ แต่ได้ระบุให้ในกรณีที่ผู้ต้องหาจะเดินทางออกนอกประเทศ ขอให้มีการแจ้งเป็นลายลักษณ์มาให้ทราบด้วย แต่ไม่ได้มีการห้ามเดินทางออกนอกประเทศแต่อย่างใด โดยภายหลังจากนี้เจ้าหน้าที่จะมีการสอบสวนและจัดทำสำนวนเพิ่มเติมต่อไป

ทั้งนี้ ในคดีนี้ หากพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องคดี ในความผิดตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 ถูกกำหนดให้ต้องขึ้นศาลทหาร และต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ต่อมาเวลา 16.40 น. เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัยได้เดินทางออกมาภายนอก สภ.ช้างเผือก และอ่านแถลงการณ์ ยืนยันว่า “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” ร่วมกัน โดยมีเพื่อนอาจารย์ นักศึกษา และประชาชนที่สนใจร่วมให้กำลังใจราว 50 คน

แถลงการณ์ระบุยืนยันว่าการแถลงการณ์มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหารไม่ใช่การกระทำผิดกฎหมายแต่อย่างใด แต่เป็นการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นในประเด็นปัญหาของการจัดการศึกษาอันเป็นภาระหน้าที่โดยตรงของบุคลากรมหาวิทยาลัย

แถลงการณ์ระบุด้วยว่า เสรีภาพในการแสดงความเห็นเป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญในการดำรงอยู่ร่วมกันของคนทุกกลุ่มในสังคม ทั้งถือเป็นปรากฏการณ์ปกติที่ทุกสังคมย่อมจะมีความเห็นที่แตกต่างกันไปในประเด็นปัญหาต่าง ทั้งเสรีภาพในการแสดงความเห็นไม่ได้จำกัดไว้เฉพาะพื้นที่มหาวิทยาลัย พลเมืองทุกคนในสังคมก็ย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นด้วยเช่นกัน โดยการคุกคามหรือปิดกั้นเสรีภาพของบุคคลใดๆ เป็นเพียงการกดทับปัญหาเอาไว้ มิได้ช่วยให้เกิดการแก้ไขปัญหา ตลอดจนความขัดแย้งในสังคมอย่างแท้จริง

ทางเครือข่ายคณาจารย์ฯ จึงยืนยันว่าไม่ใช่แต่เฉพาะมหาวิทยาลัยที่ไม่ใช่ค่ายทหาร แต่สังคมไทยก็มิใช่ค่ายทหารเช่นเดียวกัน เสรีภาพในการแสดงความเห็นของทุกคนและทุกฝ่ายจึงต้องได้รับการปกป้องอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน

แถลงการณ์ดังกล่าว มีรายละเอียดดังนี้

20152711024108.jpg

ก่อนหน้านั้นมีการออกแถลงการณ์ ต่อกรณีการออกหมายเรียกนักวิชาการดังกล่าวจากภาคส่วนต่างๆ ดังนี้

 

23 พ.ย. 2558 แถลงการณ์โดย สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) และองค์กรสิทธิมนุษยชน

20152711024347.jpg

แถลงการณ์ เรื่อง การออกหมายเรียกนักวิชาการข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 สถานีตำรวจภูธรช้างเผือก จังหวัดเชียงใหม่ ได้ออกหมายเรียกกลุ่มนักวิชาการจำนวนหกคน ซึ่งประกอบด้วยคณาจารย์จากหลายมหาวิทยาลัย โดยในหมายเรียกดังกล่าวได้ตั้งข้อหาว่ากลุ่มนักวิชาการได้ร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ เนื่องจากนักวิชาการดังกล่าวจัดกิจกรรมแถลงความเห็นทางวิชาการต่อสาธารณะ เรื่อง เสรีภาพทางปัญญาของระบบการศึกษา ที่จัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2558 นั้น

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) และองค์กรสิทธิมนุษยชน มีความเห็นว่าการแถลงความเห็นทางวิชาการเป็นการใช้เสรีภาพทางวิชาการอันชอบด้วยหลักสิทธิมนุษยชนและชอบด้วยกฎหมายดังต่อไปนี้

1. การจัดแถลงความคิดเห็นต่อสาธารณะของกลุ่มนักวิชาการ เรื่อง เสรีภาพทางปัญญาของระบบการศึกษา เป็นการแสดงความเห็นทางวิชาการในเรื่องเกี่ยวกับการจัดการศึกษาในมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นประเด็นสาธารณะและเป็นภารกิจโดยตรงของนักวิชาการมหาวิทยาลัย ถือเป็นการใช้เสรีภาพในทางวิชาการซึ่งได้มีการบัญญัติรับรองและคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญของประเทศไทยหลายฉบับ เช่น รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 มาตรา 42 รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาตรา 42 รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 50 และแม้แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ออกมาหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 เอง ก็ได้รับรองเสรีภาพนี้ไว้โดยปริยายในมาตรา 4 และมาตรา 5 ดังนั้น กระทำของกลุ่มนักวิชาการจึงเป็นการใช้เสรีภาพทางวิชาการที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญให้กระทำได้

2. ข้อหาที่ปรากฏในหมายเรียก ตรงกับความผิดตามคำสั่งคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่เป็นการชุมนุมที่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย” ซึ่งตามประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 37/2557 กำหนดให้เป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจศาลทหารนั้น ไม่อาจปรับใช้กับการจัดแถลงความคิดเห็นต่อสาธารณะของกลุ่มนักวิชาการในครั้งนี้ได้ เนื่องจากการกระทำนี้ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามข้อหาดังกล่าว เพราะกิจกรรมการแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะ ไม่ใช่การมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง แต่เป็นกิจกรรมทางวิชาการทั่วๆ ไป ที่ถือเป็นธรรมเนียมและเป็นภารกิจที่สำคัญของนักวิชาการในสังคมไทย หากกิจกรรมเช่นนี้ถูกตีความตามอำเภอใจได้ว่าเป็นการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองที่ผิดกฎหมาย ก็ย่อมส่งผลให้กิจกรรมทางวิชาการจำนวนมากที่มีขึ้นเพื่อความงอกงามทางปัญญาและเพื่อแก้ไขปัญหาของสังคม เช่น การเสวนาวิชาการ การประชุมวิชาการ การปาฐกถาทางวิชาการ การนำเสนองานวิจัย การอบรมให้ความรู้ต่อชุมชนในเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและไม่อาจดำเนินการได้ด้วยเช่นกัน หากเป็นเช่นนั้นย่อมสร้างความเสียหายต่อสังคมไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างไม่อาจประเมินค่าได้ จึงไม่มีกฎหมายที่ชอบธรรมใดประสงค์ให้เกิดผลเลวร้ายดังกล่าวขึ้น ประกอบกับการรับรองและคุ้มครองเสรีภาพในทางวิชาการไว้ในรัฐธรรมนูญทั้งในอดีตและปัจจุบันยิ่งเห็นได้อย่างชัดเจนว่าการกระทำของกลุ่มนักวิชาการในการแสดงออกต่อสาธารณะครั้งนี้เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญโดยสุจริต ไม่เป็นความผิดฐานมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตามคำสั่ง คสช.แต่อย่างใด

ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมา สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) และองค์กรสิทธิมนุษยชนตามรายชื่อแนบท้าย มีข้อเสนอและเรียกร้องดังต่อไปนี้

1. ขอเป็นกำลังใจให้กลุ่มนักวิชาการที่ถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีในครั้งนี้และนักวิชาการทุกท่าน ให้ยืนหยัดใช้เสรีภาพทางวิชาการทำหน้าที่ที่มีเกียรติในฐานะปัญญาชนสาธารณะด้วยความกล้าหาญต่อไป

2. ขอเรียกร้องให้ คสช. รัฐบาล กองทัพ และตำรวจ ยุติการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการข่มขู่ คุกคามนักวิชาการ โดยการยุติการดำเนินคดีต่อกลุ่มนักวิชาการที่ได้เสรีภาพทางวิชาการตามรัฐธรรมนูญปฏิบัติหน้าที่ของพวกท่านอย่างสุจริตและกล้าหาญ

3. ขอเรียกร้องให้สังคมไทยร่วมกันเรียกร้อง ให้ คสช. รัฐบาล กองทัพและตำรวจ เคารพในสิทธิเสรีภาพของนักวิชาการ โดยยุติการคุกคาม ข่มขู่นักวิชาการที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะปัญญาของสังคมอย่างสุจริต

ด้วยความเชื่อมั่นศรัทธาในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 

 

23 พ.ย. 2558 แถลงการณ์เครือข่ายคณาจารย์วลัยลักษณ์เสรี ฉบับที่ 1 เรื่อง มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร ประเทศไทยไม่ใช่ค่ายกักกัน และคัดค้านการดำเนินการทางกฏหมายต่อกลุ่ม “เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย”
20152711024409.png
20152711024425.png

24 พ.ย. 2558 แถลงการณ์ ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ

20152711024444.jpg

24 พ.ย. 2558 แถลงการณ์ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หยุดลิดรอนเสรีภาพการแสดงออกทางวิชาการ

 

แถลงการณ์

หยุดลิดรอนเสรีภาพการแสดงออกทางวิชาการ

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) เป็นองค์กรภาคประชาชนที่ดำเนินงานการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของคนจน และเคลื่อนไหวร่วมกับภาคประชาชนกลุ่มต่างๆเพื่อสร้างความเท่าเทียม สร้างสิทธิ เสรีภาพ ทางสังคม เพื่อสังคมที่เป็นธรรม  มีความกังวลกับกรณีที่ “เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย” ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2558 เรื่อง มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร และยืนยันในเสรีภาพที่จะแสวงหาความรู้ในการเรียนการสอน แต่คณาจารย์ที่ร่วมกันแถลงกลับถูกออกหมายเรียกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในข้อหา “ร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขปส. เห็นว่าการตั้งข้อหาจำคุกกับคณาจารย์กลุ่มดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ เป็นการคุกคามให้ยุติการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ทั้งที่การแสดงความคิดเห็นของคณาจารย์เหล่านั้นเป็นไปโดยบริสุทธิ์ใจ ปรารถนาดี และเปิดเผย และถือเป็นหน้าที่อันพึงกระทำของคณาจารย์ที่ต้องแบ่งปันความคิดและความรู้กับสังคม ขณะเดียวกันคณาจารย์ที่เรียกร้องการปล่อยตัวนักศึกษาและแสดงความเห็นทางการเมืองที่ผ่านมาที่ยังถูกข่มขู่คุกคามอย่างต่อเนื่อง นิสิตนักศึกษายังคงถูกสั่งห้ามและตามกดดันในการจัดกิจกรรมทางการเมือง ขณะที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติได้สั่งให้บรรจุวิชายกย่องเชิดชูทหารในมหาวิทยาลัย ซึ่งขัดกับหลักสิทธิและเสรีภาพในการศึกษาอย่างสิ้นเชิง

ขปส. เห็นว่า “มหาวิทยาลัย” เป็นสถานที่แสวงหาความรู้ แลกเปลี่ยนถกเถียงกันบนพื้นฐานของการใช้เหตุผลและข้อเท็จจริง นำมาซึ่งความรู้ใหม่ เพิ่มพูนสติปัญญาไปรับรู้โลกที่เปลี่ยนแปลงไปและแก้ไขปัญหาของประเทศ เสรีภาพในการแสวงหาความรู้และแสดงความคิดเห็นจึงเป็นปัจจัยพื้นฐานของมหาวิทยาลัยและสังคม  และประชาชนไทยมีความหลากหลายทางความเชื่อและความคิดทางการเมือง หนทางที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขได้คือเสรีภาพในความเชื่อและการแสดงความคิดเห็นด้วยหลักเหตุผลและข้อเท็จจริง การปฏิบัติต่อประชาชนไทยประดุจผู้ถูกกักกันด้วยการปลูกฝังอุดมการณ์หรือความเชื่อหนึ่งๆ เพื่อครอบงำสังคมทั้งหมดภายใต้โครงสร้างอำนาจของคนบางกลุ่ม ด้วยวิธีการปิดหูปิดตา บังคับข่มขู่ คุกคามด้วยอำนาจกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมให้ผู้เห็นต่างยุติการแสดงความคิดเห็นมีแต่จะนำมาซึ่งความขัดแย้งมากขึ้น และไม่สามารถนำสังคมไทยไปสู่ความเสมอภาค เสรีภาพ ประชาธิปไตย ความเป็นธรรม และสันติสุขได้

ดังนั้น ขปส. จึงขอเรียกร้องไปยังคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ดังนี้

1.    หยุดข่มขู่คุกคามและยกเลิกข้อหากับคณาจารย์ที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยบริสุทธิ์ใจ

2.    หยุดสั่งห้ามและคุกคามนักศึกษารวมทั้งประชาชนที่จัดกิจกรรมทางการเมือง

3.    หยุดแทรกแซงการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยให้มีแนวทางหรือเนื้อหาวิชาที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติต้องการ

ทั้งนี้ ขปส. จะติดตามกรณีนี้อย่างใกล้ชิด และหากยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ จะมีการหารือกับเครือข่ายประชาชนภาคส่วนต่างๆเพื่อเคลื่อนไหวร่วมกันต่อไป

ด้วยความเชื่อมั่นในสิทธิ เสรีภาพ และเสมอภาค

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม

24 พฤศจิกายน 2558

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

แถลง ‘มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร’ ทำอาจารย์โดนหมายเรียกผิดคำสั่ง คสช.
https://thecitizen.plus/node/7226

เครือข่ายสลัม 4 ภาค ร้องหยุดลิดรอนเสรีภาพ-เครือข่ายพลเมืองสงขลารุกป้องนักวิชาการข้างภาคประชาชน
https://thecitizen.plus/node/7250

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ