Technically intimate…. พลีกายถ่ายเซลฟี่

Technically intimate…. พลีกายถ่ายเซลฟี่

selfie-465560_640

แปลและเรียบเรียง: ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

คุณโพสต์ท่าอย่างดี จัดแจงหามุมที่เฉิดฉายสุดๆ แล้วถ่าย เซลฟี่ ส่งไปให้แฟนที่อยู่อีกมุมหนึ่งของโลกเดียวกัน เขาหรือเธอเปิดมือถือเช็ครูป แต่แล้วอีก 30 วินาทีต่อมา รูปๆ นั้นก็ไม่ต่างอะไรกับอากาศธาตุ

ความ ‘ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป’ แบบนี้แหละที่เราคุ้นชิน เหมือนแอพพลิเคชัน Snapchat ที่ใช้หาเพื่อนบนสมมติฐานที่คิดว่ามันไม่ถาวร เพราะรูปภาพที่ส่งผ่านกันจะทำลายตัวเองภายใน 5-10 วินาที แต่ความจริงรูปที่เราถ่ายกันพร่ำเพรื่อ ไม่ว่ามันจะเซ็กซี่ งี่เง่า หรือจืดชืดก็ดูเข้าถึงได้ง่ายๆ จากแอพพลิเคชันอื่นๆ

แทนที่จะซ่อนรูปพวกนี้ไว้ใต้เตียงคนรัก เรามักจะฝังรูปภาพลับๆ ทั้งหลายไว้ในสุสานดิจิตอล (Digital graveyard) พวกสเตตัส, ทวีต หรือรูปภาพที่โดนลบทิ้งไปอย่างไม่ติดใจจะฝังกลบ

ยุคนี้สมัยนี้ เทคโนโลยีกลายเป็นมือที่ 3 ในความสัมพันธ์แนบชิดระหว่างมนุษย์ Evan Baden ช่างภาพชาวอเมริกันเริ่มบันทึกการทำงานของมันก่อนการมาถึงของยุคแอพพลิชันครองโลกเสียอีก ตั้งแต่ปี 2551 เขาเริ่มโปรเจ็กต์ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากกระแสการส่งภาพเปลือยและข้อความโลมเล้าผ่านมือถือ Motorola Razr อย่างบ้าคลั่ง (sexting) มันเผยให้เห็นว่าการบันทึกเรื่องราวของแต่ละคนมีอิทธิพลต่อวิธีการเข้าถึงเรื่องเพศอย่างไรบ้าง

ตอนแรก Baden สนใจเรื่องอิทธิพลของเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบต่อวิธีการสื่อสารของมนุษย์ในมุมกว้างๆ แต่เมื่อโชคชะตานำพาเขาให้คลิกเจอเว็บไซต์ sellyoursextape.com ช่างภาพที่เคยได้รางวัลศิลปินดาวรุ่งจาก Jerome Fellowship ก็หันมาหมกมุ่นกับ (โปรเจ็กต์) เรื่องเพศนับแต่นั้นเป็นต้นมา

แรกเริ่มเดิมที sellyoursextape.com เป็นพื้นที่ให้ผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ลิ้มลองความสัมพันธ์แสนแนบชิด (intimate relationship) ระหว่างคู่ Baden ศึกษาจนรับรู้ได้ว่าการโพสต์วิดีโอที่เจ้าของรู้ว่าจะมีคนคลิกดูเป็นพันๆ รอบส่งผลอย่างแรงต่อท่าทางการร่วมเพศที่ตัวเองจะแสดง กล้องและผู้ที่ตั้งหน้าตั้งตาชมกลายเป็นส่วนสำคัญในฉากเร่าร้อน คู่รักทั้งหลายจึงพร้อมใจกันร่วมรักในท่าทางที่พวกเขาคิดว่าผู้ชมจะสุขสมที่สุด แทนที่จะโฟกัสว่านี่พวกเขากำลังมีเซ็กส์กันอยู่นะ

นั่นคือสาเหตุที่ Baden นำแนวคิดที่เขาตกตะกอนได้มาทำโปรเจ็กต์ภาพถ่าย ‘เหมือนจะสนิทกัน’ (Technically intimate) เขาฉกฉวยข้อความเล้าโลมต่างๆ จากอินเทอร์เน็ตมาแปลงเป็นคอนเซ็ปต์ของภาพถ่าย หานางแบบอาสาสมัครตามเว็บไซต์หางานและที่อื่นๆ ที่สามารถหาได้

“ผมคิดว่าการหานางแบบด้วยวิธีนี้สำคัญมากนะ เพราะผมต้องการให้งานที่ออกมาดู ‘จริง’ มากที่สุด ผมชอบถ่ายแบบที่ไม่ค่อยคุ้นกล้องเท่าไหร่ เพราะพวกเขาจะทำท่าเก้ๆ กังๆ ไม่รู้ว่าควรโพสต์อย่างไร และมันคือความเก้งก้างแบบเดียวกันกับที่ผมต้องการใช้ในงานของผม” Baden ขยายความ

ท่าทางเก้งก้างที่เขาว่าก็คือการโพสท่าแบบแข็งทื่อของนางแบบมือสมัครเล่น พวกเธอชอบเลียนแบบท่าทางที่ไปเห็นมาจากที่อื่นมากกว่าการดึงความมั่นใจหรือความปรารถนาภายในของตัวเองออกมา ลองนึกภาพเด็กผู้หญิงคุกเข่า แยกขาออกจากกัน และยกโทรศัพท์ขึ้นถ่ายตัวเองในมุมที่เห็นร่องอะไรต่อมิอะไรสิ

“ภาพเซลฟี่ที่เราเห็นตามอินเทอร์เน็ตไม่ค่อยมีความจริงแท้อะไรหรอก ส่วนมากพวกเขาจะโพสต์ท่าตามนางแบบหนังเรทอาร์หรือตามพวกที่มีอาการใคร่ไม่รู้อิ่ม (Hyper-sexual) ผมไม่คิดว่าภาพถ่ายพวกนี้จะสามารถแสดงถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดอะไรได้ มันมีไว้เพื่อบำบัดอารมณ์ทางเพศแค่นั้นเอง” เขามั่นใจ

ส่วนตัวแล้ว ช่างภาพชาวอเมริกันคนนี้ไม่ค่อยพิสมัยเด็กๆ ที่เติบโตในยุคที่พกเทคโนโลยีไปไหนมาไหนได้ หรืออยู่ในสังคมออนไลน์ที่สร้างขึ้นมาเอง แต่เขาเองก็ยอมรับว่าการสื่อสารแบบดิจิตอลมีประโยชน์ในทางใดทางหนึ่ง นานๆ ที Baden และภรรยาจะได้เจอกัน เพราะมักต้องเดินทางไกล พวกเขาจึงต้องหาทางติดต่อสื่อสารกันในทุกวิถีทางที่ทำได้ เขาเสริมว่า

“แต่การเจอกันผ่านหน้าจอก็เทียบกับการเจอหน้ากันจริงๆ ไม่ได้เลย

ผมเชื่อว่าเด็กๆ ในยุคชีวิตติดดิจิตอลเข้าใจว่าการส่งรูปเล้าโลมกันผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จะช่วยผสานความสัมพันธ์ให้แนบแน่นยิ่งขึ้น แต่ผมกลับรู้สึกว่าความหมายทางอารมณ์ระหว่างผู้ส่งและผู้รับอาจถูกทำลายหลังจากที่กดปุ่ม ส่ง ไปแล้ว ผู้ส่งจะแปรสภาพเป็นเพียงร่างโป๊เปลือย (แค่ส่วนคอลงไปเป็นพอ) ที่ผู้รับภาพนั้นเอาไปใช้ดูฆ่าเวลาหรือสนองตัณหาชีวิต”

แต่โปรเจ็กต์ของเขาไม่ได้มุ่งหมายเพื่อเสียดเย้ยเพียงอย่างเดียว ถึงแม้ว่าภาพแต่ละภาพที่เราเห็นเป็นเด็กผู้ชายผู้หญิงที่โพสต์ท่าเหมือนหุ่นที่ตอบสนองเรื่องทางเพศ แต่พื้นที่ส่วนที่เหลือในเฟรมก็แสดงให้เห็นสภาพห้องจริงๆ ที่ยุ่งเหยิงระเกะระกะขัดกับภาพเซลฟี่ที่ถ่ายไป

“เราจะเห็นว่านางแบบงัดลูกเล่นมากมายมาเล่นกับรูปร่างและวิธีการโพสต์ท่าของตัวเอง แต่ในความเป็นจริง ห้องก็ยังรกๆ อยู่อย่างนั้น สิ่งนี้สื่อให้เห็นความหมายบางอย่างในตัวตนของผู้ถ่ายภาพ”

กลับกัน ตรามหาวิทยาลัย, โปสเตอร์รูป Audrey Hepburn, หมอนหลากสี และรูปภาพกลุ่มเพื่อนกอดคอกันที่ตั้งอยู่บนโต๊ะต่างหากที่เปิดเผยให้เห็นความจริง และ ‘ความสนิทสนมที่แท้จริง’ ซึ่งพวกเขาได้สัมผัสในชีวิต

ที่มา: http://www.huffingtonpost.com/entry/photographer-explores-intimacy-in-the-digital-age_55ae960de4b08f57d5d2b7e0?utm_hp_ref=arts

ภาพ: https://pixabay.com/en/selfie-photo-self-photo-woman-465560/

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ