ม.อ.หาดใหญ่ร้อง ‘ปล่อยตัวเพื่อนเรา’-ล่าสุดปล่อย 3 น.ศ.-ทหารเผยคุมตัวสอบเอี่ยวระเบิดนราฯ

ม.อ.หาดใหญ่ร้อง ‘ปล่อยตัวเพื่อนเรา’-ล่าสุดปล่อย 3 น.ศ.-ทหารเผยคุมตัวสอบเอี่ยวระเบิดนราฯ

6 เม.ย. 2558 เพจเฟซบุ๊ก Activists Media รายงานความเคลื่อนไหวของนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ (ม.อ.หาดใหญ่) กรณีนักศึกษาและบัณฑิตมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ รวมทั้งนักกิจกรรมใน จ.นราธิวาสกว่า 20 ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวเมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยไม่แจ้งข้อหาและไม่ทราบที่คุมขัง 

กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2558 ที่บริเวณลานใต้ตึกกิจกรรมนักศึกษา ในหัวข้อ “ปล่อยตัว ‘เพื่อน’ เรา” ที่นราธิวาส เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษาทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไข โดยมีกลุ่มนักศึกษามาร่วมแสดงความคิดเห็น และร่วมให้กำลังใจกับเพื่อนนักศึกษาที่ถูกจับตัวอยู่ที่ จ.นราธิวาส ด้วยการเขียนข้อความลงบนกระดาษ

20150704012242.jpg

20150704012320.jpg

20150704012405.jpg

 

กลุ่มเพื่อนนักศึกษาส่งจดหมายมอบกำลังใจจากเพื่อนถึงเพื่อน

ด้านเพจ Free Voice รายงานว่าเมื่อเวลา 12.00 น. วันที่5 เม.ย. 2558 กลุ่มนักศึกษาได้เดินทางเข้าเยี่ยมเพื่อนๆ ที่ถูกควบคุมตัวภายใต้กฎอัยการศึก ที่หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 46 (ฉก.ทพ.46)  ค่ายทหารพรานเขาตันหยง โดยการเข้าเยี่ยมครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 หลังจากการเข้าเยี่ยมครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา

ตัวแทนนักศึกษากล่าวว่าการเข้าเยี่ยมครั้งนี้เพื่อไปให้กำลังเพื่อนๆ และได้มอบจดหมายให้กำลังใจของเพื่อนๆ จากหลายที่ที่เรียกร้องให้ปล่อยตัวเพื่อนนักศึกษาโดยเร็วและแสดงความห่วงใยมอบให้แก่นักศึกษาที่ถูกควบคุมตัว

20150704012751.jpg

ภาพจาก: นักศึกษามหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์

การเข้าเยี่ยมครั้งนี้เจ้าหน้าที่เปิดให้นักศึกษาได้พบปะพูดคุยกับเพื่อนๆ ทั้ง 4 คน ที่ยังอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ ส่วนอีก 3 คนถูกปล่อยตัวก่อนหน้านี้ เมื่อเวลาประมาณ 11.30 น. 

ทั้งนี้ ผู้บังคับการ ฉก.46 ซึ่งร่วมพูดคุยกับนักศึกษาด้วยระบุว่า ผู้ถูกคุมตัวอยู่จำนวน 4 คน ทางเจ้าหน้าจะทำการสอบเพิ่มเติม ส่งต่อไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี ในวันที่ 8 เม.ย.นี้ โดยอาศัยอำนาจกฎหมายพิเศษในการควบคุมตัวต่อไป

Free Voice รายงานว่าก่อนหน้านี้นักศึกษาและบัณฑิตถูกแยกควบคุมตัวที่ต่างๆ ได้แก่ ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (ค่ายปิเหล็ง) ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ. นราธิวาส 2 คน ที่ ฉก.ทพ.46 ค่ายทหารพรานเขาตันหยง 7 คน และค่ายจุฬาภรณ์ บ้านทอน ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส 2 คน

ด้านนักศึกษาที่เข้าเยี่ยมได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “เพื่อนๆ นักศึกษาที่อยู่ในการควบคุมตัวนั้น ฝากขอบคุณนักศึกษาทุกคนจากทุกที่ที่ส่งมอบกำลังใจ”

ทหารปล่อยตัว 3 นักศึกษา ม.นราฯ พ้นข้อกล่าวหาเอี่ยวเหตุระเบิด
 
ASTV ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า วันที่ 5 เม.ย.2558 เมื่อเวลา 13.30 น. ที่อาคารกองบังคับการกรมทหารพรานที่ 46 ต.กะลุวอเหนือ อ.เมืองนราธิวาส พ.อ.เอกธวุฒิ คงคาเขตร ผบ.กรมทหารพรานที่ 46 ได้ให้การต้อนรับเครือญาติของนักศึกษามหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จำนวน 3 คน ประกอบด้วย 1. นายฮาเซ็ง กีลีมอ 2.นายอัลบารีย์ อาบะห์ และ 3. นายอุสมาน โอะยู ซึ่งถูกเชิญตัวมาสอบสวนในฐานะตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีลอบวางระเบิด 3 จุด ที่บริเวณถนน ณ นคร ต.บางนาค อ.เมืองนราธิวาส เหตุเกิดเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2558 ส่งผลทำให้เจ้าหน้าที่ทหาร และประชาชนได้รับบาดเจ็บ 13 ราย บ้านเรือนเสียหาย 47 หลัง 

หลังสอบสวนพบว่าทั้ง 3 คน ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดที่เกิดขึ้น ทางญาติได้เดินทางมารับตัวกลับ และพึ่งพอใจกับกระบวนการซักถามขยายผล ที่เจ้าหน้าที่ไม่มีการบีบบังคับแถมดูแลความเป็นอยู่อย่างดี ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายต่างพึ่งพอใจและจากไปด้วยความราบรื่น

ในเวลาเดียวกัน พ.อ.เอกธวุฒิ คงคาเขตร ผบ.กรมทหารพรานที่ 46 ยังให้การต้อนรับตัวแทนของนักศึกษาจากพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 20 คน ที่เดินทางมาเข้าเยี่ยมนักศึกษาและประชาชน รวม 4 คน ที่ยังคงถูกควบคุมตัวในฐานะตกเป็นผู้ต้องสงสัย ซึ่งที่ยังผ่านกระบวนการซักถามไม่แล้วเสร็จ คือ 1.นายรอซารี ยะโก๊ะ 2.นายอัมรีย์ วรรณมาตร 3.นายอิสมะแอ เจ๊ะโซ๊ะ และ 4.นายสาการียา เจ๊ะมะแอ 

พ.อ.เอกธวุฒิ คงคาเขตร ผบ.กรมทหารพรานที่ 46 ได้อำนวยความสะดวกให้การเข้าเยี่ยมด้วยตนเอง พร้อมทั้งได้แจ้งกับตัวแทนนักศึกษาให้ทราบว่า ทหารไม่มีนโยบายที่จะกีดกั้นประชาชนหรือกลุ่มบุคคล ที่จะเดินทางมาเยี่ยมผู้ต้องสงสัยที่อยู่ในระหว่างกักตัวสอบสวนขยายผลในคดีความมั่นคง แต่การเข้าเยี่ยมต้องเป็นไปตามกฎระเบียบของทหาร ซึ่งที่ผ่านมาจะถูกนำไปเป็นประเด็นปลุกระดม จนภาพลักษณ์ของทหารเสียหาย

พ.อ.เอกธวุฒิ ให้ข้อมูลด้วยว่า กรณีนักศึกษาและประชาชนที่ตกอยู่ในฐานะผู้ต้องสงสัยในคดีลอบวางระเบิด 3 จุด เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2558 มีจำนวน 11 คน ถูกส่งตัวแยกสอบขยายผล 3 แห่ง คือ 1.ที่กรมทหารพราน 46 จำนวน 7 คน และได้ปล่อยตัวแล้ว 3 คนในวันนี้ 2.ที่กรมทหารพราน 48 จำนวน 2 คน และ 3.ที่ค่ายจุฬาภรณ์จำนวน 2 คน โดยผลการสอบสวนในขณะนี้ยังแล้วเสร็จไม่สมบูรณ์

ผบ.กรมทหารพรานที่ 46 ระบุว่า ผู้ต้องสงสัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องในจำนวนนี้ ได้ให้การเป็นประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่ จนสามารถรู้ว่าใครเป็นคนสั่งการ ใครทำหน้าที่ดูต้นทาง และใครเป็นคนขี่รถจักรยานยนต์คันที่ประกอบระเบิดไปก่อเหตุ ซึ่งการปฏิบัติการณ์ครั้งนั้นมีผู้ร่วมก่อเหตุทั้งสิ้น 11 คน เป็นกลุ่มแนวร่วมที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ จ.นราธิวาส 4 คน และเป็นกลุ่มแนวร่วมที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ จ.ปัตตานี 7 คน ซึ่งในเร็ววันนี้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จะสรุปความคืบหน้าทางคดี และรวบรวมหลักฐานเพื่อจับกุมกลุ่มคนร้ายดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

“ฮิวแมนไรทส์วอทช์” เรียกร้องไทยปล่อยตัวนักศึกษานราธิวาส

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเว็บไซต์ของฮิวแมนไรทส์วอชท์ เมื่อวันที่ 3 เม.ย.2558 ได้เผยแพร่แถลงการณ์ กรณีที่กองทัพไทยจับกุมนักศึกษาในจังหวัดนราธิวาสอย่างน้อย 17 คนโดยไม่มีการตั้งข้อหา เมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยองค์กรสิทธิแห่งนี้ได้เรียกร้องให้กองทัพออกมายืนยันสถานที่ที่พวกเขาถูกกักขัง และขอให้ปล่อยตัวนักศึกษากลุ่มนี้ทุกคนเว้นแต่จะมีการตั้งข้อหาที่มีหลักฐานน่าเชื่อถือ

ฮิวแมนไรทส์วอชทระบุว่า ทหารได้ทำการตรวจค้นโดยไม่มีหมายศาลเมื่อวันที่ 2 ที่ผ่านมาเวลาประมาณ 5 นาฬิกา ในหอพักนักศึกษา 4 แห่งใน อ.เมืองนราธิวาส โดยบังคับให้นักศึกษาอย่างน้อย 17 คน ในกลุ่มเครือข่ายนักศึกษามาเลย์มุสลิมในมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ตรวจดีเอ็นเอ ก่อนนำตัวพวกเขาไปกักขัง โดยทางฮิวแมนไรทส์วอชท์ได้รับข้อมูลว่านักศึกษากลุ่มนี้น่าจะถูกกักขังโดยไม่ถูกตั้งข้อหาในฐานทัพ 4 แห่งภายใน จ.นราธิวาส และกองทัพก็ไม่ได้ให้เหตุผลในการกักขังนักศึกษากลุ่มนี้และไม่แจ้งว่านักศึกษากลุ่มนี้จะถูกปล่อยตัวเมื่อใด

“การจับกุมโดยไม่มีหลักเกณฑ์ การกักขังโดยไม่เปิดเผย และการที่เจ้าหน้าที่อยู่เหนือความรับผิดชอบใดๆ คือสูตรสำเร็จของการละเมิดสิทธิมนุษยชน” นายแบรด อดัม ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียของฮิวแมนไรทส์วอทช์กล่าว “การใช้กฎอัยการศึกเพื่อกักขังนักศึกษาแสดงให้เห็นว่าการใช้อำนาจของกองทัพไทยไร้การควบคุมเพียงใด”

20150704012701.jpg

ฮิวแมนไรทส์วอทช์ได้ออกมาแสดงความกังวลต่อการจับกุมโดยไม่มีการตั้งข้อหาและการกักขังโดยไม่เปิดเผยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยหลายต่อหลายครั้ง โดยภายใต้คำสั่งตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมอบอำนาจให้กองทัพอย่างกว้างขวาง และให้ความคุ้มกันทางกฎหมายแก่เจ้าหน้าที่ในการกักขังผู้คนโดยไม่ต้องตั้งข้อหา และไม่อนุญาตให้ผู้ถูกกักขังติดต่อกับผู้ใด รวมทั้งปิดบังสถานที่ที่ถูกกักขังได้ เป็นเวลา 7 วัน โดยไม่มีการตรวจสอบการใช้อำนาจโดยองค์กรตุลาการ หรือการให้สิทธิผู้ต้องขังในการปรึกษาทนายหรือครอบครัว

กระบวนการดังกล่าวของกองทัพโดยเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ได้ผ่านการฝึกอบรมและมีประสบการณ์ในการบังคับใช้กฎหมายของพลเรือนมาก่อน ย่อมเสี่ยงต่อการที่ผู้ถูกกักขังจะตกเป็นเหยื่อของการถูกทรมานหรือได้รับการปฏิบัติโดยมิชอบประการอื่นเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ ใครก็ตามที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นผู้ละเมิดกฎหมายอาญาจะต้องถูกตั้งข้อหาอย่างเหมาะสม และทุกคนจะต้องถูกปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนและกระบวนการพิจารณาคดีตามมาตรฐานสากล

นอกจากนี้ ฮิวแมนไรทส์วอชทยังระบุด้วย เจ้าหน้าที่ความมั่นคงของไทยมิได้ให้ความสำคัญต่อปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยความรุนแรงในชายแดนภาคใต้ของไทยที่ปะทุขึ้นในปี 2004 ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 6,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน แต่ถึงทุกวันนี้ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ของกองทัพรายใดถูกตั้งข้อหาต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในภาคใต้

“ความรุนแรงของปัญหาการก่อการร้ายไม่ใช่เหตุผลที่กองทัพไทยจะนำมาอ้างเพื่อใช้มาตรการเบ็ดเสร็จและรุนแรงต่อชาวมาเลย์มุสลิมได้” นายอดัมส์กล่าว “มันน่าเป็นห่วงเป็นอย่างมากที่ทหารยังคงจับตัวและกักขังประชาชนได้ตามใจชอบ”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ