พีมูฟรวมพล 19 จังหวัด ทวงสัญญารัฐบาล–ภาคเหนือ “เดิน ก้าว แลก” ไปร่วมฟังคดีประวัติศาสตร์ที่ดินลำพูน

พีมูฟรวมพล 19 จังหวัด ทวงสัญญารัฐบาล–ภาคเหนือ “เดิน ก้าว แลก” ไปร่วมฟังคดีประวัติศาสตร์ที่ดินลำพูน

22 ธ.ค. 2558 เครือข่ายขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟ 19 จังหวัด ทั่วประเทศ นัดหมายจัดกิจกรรมติดตามทวงสัญญากับรัฐบาลผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อผลักดันให้รัฐบาล และคสช.เดินหน้าโฉนดชุมชน ธนาคารที่ดิน ยุติแผนแม่บทฯ และทบทวนการประกาศอุททยานฯ ทับที่ชุมชน ระบุที่ผ่านมาได้ร้องเรียน ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ทั้งมีการจัดประชุมเจรจา แต่กลับไม่มีความคืบหน้า ขณะที่ปัญหาในแต่ละพื้นที่ยิ่งรุมเร้ามากขึ้น

ช่วงเช้าวันนี้ (22 ธ.ค. 2558) สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) หนึ่งในสมาชิกของพีมูฟจากหลายจังหวัด อาทิ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน พะเยา ลำปาง ตาก น่าน และแพร่ ร่วมกิจกรรม ‘เดิน ก้าว แลก: เพื่อการปฏิรูปที่ดินไทย’ จากจุดนัดหมายตั้งต้นที่บริเวณอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จ.เชียงใหม่ ก่อนเคลื่อนขบวนไปที่ จ.ลำพูน โดยมีเป้าหมายที่บริเวณลานอนุสาวรีย์พระนางจามเทวี จ.ลำพูน 

ส่วนภาคใต้ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระนอง พังงา ภูเก็ต ตรัง พัทลุง สุราษฎร์ธานี และภาคอีสานจังหวัดศรีสะเกษ ยโสธร อุบลราชธานี สมาชิกพีมูฟนัดรวมตัวทำกิจกรรมที่ศาลากลางจังหวัดแต่ละจังหวัด 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานสถานการณ์ที่ จ.เชียงใหม่ว่า ก่อนเริ่มเดินเท้าได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.เมืองเชียงใหม่เข้าพูดคุยเจรจาสอบถามรายละเอียดเส้นทางการเดิน รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบราว 10 นาย และเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบติดตามสังเกตการณ์

ขบวนเดินเท้าได้เริ่มเดินออกจากอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ผ่านสะพานนวรัฐ และหยุดพักที่หน้าค่ายกาวิละ หรือมณฑลทหารบกที่ 33 เวลาราว 10.30 น. โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าพูดคุยสอบถาม พร้อมระบุว่าการเดินเป็นขบวนจะเป็นการฝ่าฝืนพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ทำให้ผู้จัดกิจกรรมได้ปรับขบวนเป็นเดินเรียงทีละ 4 คน แทน โดยเจ้าหน้าที่มีการถ่ายรูปกิจกรรมโดยตลอด พร้อมสอบถามกับชาวบ้านถึงธงสีเขียวสัญลักษณ์ของพีมูฟว่าเป็นธงอะไร และสอบถามถึงรายละเอียดกิจกรรมเป็นระยะ

จนถึงขณะนี้ ขบวนได้เดินเท้ามุ่งหน้าสู่จังหวัดลำพูนโดยอาศัยถนนสายต้นยางเชียงใหม่-ลำพูน โดยยังไม่มีรายงานการขัดขวางกิจกรรม

20152212161712.jpg

ที่มาภาพ: สกน สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ 

‘เราขอมาตามสัญญาที่ให้ไว้’

พีมูฟ ระบุว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไม่เป็นไปตามนโยบายของรัฐ “คืนความสุขให้กับประชาชน” ตรงกันข้ามเกิดความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับนายทุนและเจ้าหน้าที่รัฐ ส่งผลให้บ้านชาวบ้านถูกดำเนินคดี ถูกยึดที่ดิน สร้างความเดือดร้อน ไม่มีความสุขในการดำเนินชีวิต และที่สำคัญข้อเสนอของพีมูฟเองรัฐบาลยังไม่ได้หยิบยกขึ้นมาเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญและดำเนินการอย่างเร่งด่วน ดังนี้

1.ธนาคารที่ดินยังไม่ได้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม พื้นที่นำร่อง 5 ชุมชนไม่มีความคืบหน้า ชาวบ้านยิ่งถูกฟ้องดำเนินคดี 

2.โฉนดชุมชน ไม่สามารถดำเนินการได้ สิทธิชุมชนถูกลิดรอน ส่อถูกยุบ ลอยแพ 400 กว่าชุมชน

3.แผนแม่บทป่าไม้ฯ ยังไม่มีการทบทวน มองเพียงคนจนเป็นผู้บุกรุก สร้างผลกระทบ ไร้การเยียวยา

4.เร่งประกาศเขตอุทยานฯ หลายแห่ง ทั้งที่ยังไม่กันที่ดินชาวบ้านออก ขาดการมีส่วนร่วม

5.ที่ดินเอกชนปล่อยทิ้งร้าง ที่สาธารณะ การออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ ไม่มีความคืบหน้าในการแก้ไข แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบมาเนินนาน แต่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆในหลายจังหวัด

ประเด็นเหล่านี้พีมูฟพยายามเรียกร้องมาหลายรัฐบาล ซึ่งในรัฐบาลนี้ได้รับปากจะแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีความคืบหน้า 

20152212162215.jpg

ที่มาภาพ: สกน สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ 

ทั้งนี้ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ในนามของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-MOVE) เรื่อง “มาตามสัญญา: เดิน ก้าว แลก เพื่อการปฏิรูปที่ดินไทย” เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (22 ธ.ค. 2558) ที่ ณ อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จังหวัดเชียงใหม่ มีรายละเอียด ดังนี้

แถลงการณ์สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) 
ในนามของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-MOVE) 
เรื่อง “มาตามสัญญา” : เดิน ก้าว แลก เพื่อการปฏิรูปที่ดินไทย

นับตั้งแต่สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ได้เคลื่อนไหวรณรงค์ “เดินก้าวแลก เพื่อการปฏิรูปที่ดินไทย” ช่วงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2557ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมของสังคม โดยเฉพาะกรณีปัญหาที่ดิน อันเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบกับชีวิตเกษตรกรและกลุ่มคนยากไร้ด้อยโอกาสในสังคมไทยมาช้านาน

กว่า 1 ปี ที่ผ่านมา ถึงแม้จะเกิดความพยายามสร้างกระบวนการต่าง ๆ ในการเจรจาพูดคุยและเกิดกลไกการแก้ไขปัญหาร่วมกันกับตัวแทนรัฐบาลมาในระดับหนึ่ง แต่จนถึงวันนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่ากระบวนการและกลไกที่เกิดขึ้นนั้น ไม่มีความคืบหน้าในการผลักดันให้เกิดรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาได้แท้จริง ซ้ำร้ายพี่น้องประชาชนจำนวนมากยังต้องเผชิญกับผลกระทบเพิ่มเติมจากความล่าช้าในการแก้ปัญหาและนโยบายที่แก้ปัญหาไม่ตรงจุดของรัฐบาล

ดังนั้น พวกเราในนามของสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรวมตัวกัน “มาตามสัญญา เดิน ก้าว แลก เพื่อการปฏิรูปที่ดินไทย” เคลื่อนไหวเพื่อทวงสัญญากับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ให้ตระหนักถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาของพวกเรา และพิสูจน์ความจริงใจของรัฐบาลที่ได้ประกาศเจตนารมณ์คืนความสุขให้ประชาชน และปฏิรูปประเทศ โดยเรามีข้อเรียกร้องเร่งด่วน ใน 5 ประเด็น ได้แก่

1) เร่งรัดแนวทางรับรองสิทธิชุมชนในการดูแลจัดการที่ดินและทรัพยากรในรูปแบบ “โฉนดชุมชน” อันเป็นกลไกการดำเนินงานตามนโยบายและแผนงานของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และโปรดสั่งการไปยังปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ทบทวนและสั่งการให้สำนักงานโฉนดชุมชนปฏิบัติหน้าที่ต่อไป พร้อมทั้งผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.สิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติให้เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติโดยเร็ว

2) เร่งรัด “โครงการนำร่องธนาคารที่ดิน” โดยขอให้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ทบทวนมติที่ให้ยุบเลิกสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (บจธ.) โดยขอให้พิจารณาขยายระยะเวลาการดำเนินของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินออกไปอีกห้าปีตามที่รองนายกรัฐมนตรี (พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ) ได้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ 

3) กรณี “การประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ” เพิ่มเติม โดยขอให้สั่งการให้ชะลอการประกาศเขตอุทยานฯ และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการกันเขตพื้นที่ออกก่อนการประกาศเขตฯ โดยขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่งตั้งคณะทำงานโดยมีองค์ประกอบของผู้แทนชุมชนและเจ้าหน้าที่ เพื่อตรวจสอบแนวเขตอุทยานฯ ร่วมกัน

4) ให้ทบทวนและแก้ไขการดำเนินการตาม “แผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐและการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน” และคำสั่ง/ประกาศ คสช.ที่ส่งผลกระทบอันไม่เป็นธรรมกับวิถีชีวิตประชาชนและไม่ได้เป็นไปตามการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด ดังที่เครือข่ายภาคประชาชนได้ตั้งข้อสังเกตและได้นำเสนอประเด็นปัญหามาแล้วหลายครั้ง

5) ให้เร่งรัดสั่งการให้มีการกำหนดนัดหมายวันเวลาในการประชุมคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการแก้ไขปัญหาที่ดินสาธารณประโยชน์ และที่ดินเอกชนปล่อยทิ้งร้างระดับจังหวัด เป็นการเร่งด่วน เพื่อให้คณะทำงานดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง รายงานผลการดำเนินงาน และเสนอความเห็นต่อแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหา ตลอดจนปัญหาอุปสรรคให้อนุกรรมการฯ และคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ที่ได้มีการแต่งตั้งโดยรัฐบาลมาแล้ว

สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) มีเจตนาที่จะเดินทางไปทวงสัญญากับรัฐบาล เพื่อแสดงเจตนารมณ์ให้กับสังคม และ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่จะ “คืนความสุขให้ประชาชน” ของรัฐบาลและหากไม่มีการดำเนินการใดๆ เราพร้อมที่จะยกระดับเคลื่อนไหวอย่างเข้มข้นต่อไป

ด้วยจิตคารวะ แด่ชีวิตผู้ทุกข์ยากและความเป็นธรรมในสังคม
สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือและขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม
22 ธันวาคม 2558 ณ อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จังหวัดเชียงใหม่

 

 

นอกจากนี้ยังมีกระแสการเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ โดยการรณรงค์ เชิญชวนเปลี่ยน รูปโปรไฟล์ในเฟซบุ๊กและไลน์ ส่งกำลังใจและร่วมสนับสนุนกิจกรรม “เดิน : ก้าว : แลก เพื่อการปฏิรูปที่ดินไทย” ผ่านทางเว็บไซต์ http://www.landjustice4thai.org/ หน้าเพจเฟซบุ๊กพลิกฟื้นผืนดินไทย และ สกน สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ซึ่งรายงานความคืบหน้ากิจกรรมเป็นระยะ

20152212161823.jpg

 

ศาลฎีกานัดอ่านคำพิพากษาคดีที่ดินลำพูนพรุ่งนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขบวนชาวบ้านร่วมกันเดินเท้ามุ่งหน้าสู่ จ.ลำพูน เพื่อไปร่วมรับฟังการอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีที่ดินลำพูน ที่ศาลจังหวัดลำพูนในเช้าวันพรุ่งนี้ (23 ธ.ค. 2558) โดยเป้าหมายจะมีตัวแทนเดินเท้าเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องรัฐบาลผลักดันการปฏิรูปที่ดินต่อไป

เกี่ยวกับคดีความปัญหาที่ดิน เว็บไซต์สำนักข่าวประชาธรรม รายงานว่า ในวันที่ 23 ธ.ค. 2558 ศาลฎีกานัดอ่านคำพิพากษาคดีประวัติศาสตร์เรื่องการปฏิรูปที่ดินลำพูน ตั้งแต่ปี 2546 ที่ศาลจังหวัดลำพูน ในเวลา 09.00 น. โดยมีนายรังสรรค์ แสนสองแคว เป็นจำเลยที่ 1 และนายนายสืบสกุล กิจนุกร จำเลยที่ 2

จากรณีปัญหาข้อพิพาทระหว่างนายทุนกับชาวบ้าน โดยนายรังสรรค์ แสนสองแคว กับชาวบ้านรวม 16 คน ถูกฟ้องเมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2546 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1376/2446 คดีหมายเลขแดงที่ 2618/2559 ศาลจังหวัดลำพูน 

คดีนี้พนักงานอัยการเป็นโจทก์ นางศรีไทย นันท์ขว้าง และนางสังวาลย์ นันท์ขว้าง โจทก์ร่วม กับ นายรังสรรค์ แสนสองแคว จำเลยที่ 1 กับพวกรวม 16 คน ในข้อหาร่วมกันบุกรุกยึดถือครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น

ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2549 โดยพิพากษาว่า พยานหลักฐานโจทก์เท่าที่ปรากฏจากการนำสืบยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยทั้งสิบหกร่วมกับกลุ่มชาวบ้านกระทำความผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้กับจำเลยทั้งสิบหก ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง พิพากษายกฟ้อง

โจทก์ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาและศาลอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2553 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 มีความผิดตามมาตรา 256(2) ประกอบมาตรา 362 จำคุกคนละ 1 ปี ส่วนจำเลยที่ 3 ถึงจำเลยที่ 16 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ฎีกา ศาลจังหวัดลำพูนนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ในวันที่ 23 ธ.ค. 2558

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ