พิพากษาฎีกา ‘คดีอุบัติเหตุทางรังสีโคบอลต์-60’ 8 มิ.ย.นี้ – 15 ปี พิสูจน์ความรับผิดผู้ประกอบการ

พิพากษาฎีกา ‘คดีอุบัติเหตุทางรังสีโคบอลต์-60’ 8 มิ.ย.นี้ – 15 ปี พิสูจน์ความรับผิดผู้ประกอบการ

6 มิ.ย. 2559 มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมแจ้งข้อมูลว่า ในวันที่ 8 มิ.ย. 2559 ศาลแพ่งนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีหมายเลขดำที่ 816/2544 หมายเลขแดงที่ 1269/2547 ระหว่าง นางสาวจิตราภรณ์ เจียรอุดมทรัพย์ กับพวกรวม 12 คน โจทก์ และบริษัท กมลสุโกศล อีเล็คทริค จำกัด กับพวกรวม 5 คน จำเลย ณ ศาลแพ่ง (รัชดา) เวลา 13.30 น. 

หลังจากที่รอคอยมานานกว่า 15 ปี เพื่อพิสูจน์ความรับผิดของผู้ประกอบการจากการเพิกเฉยต่อกฎเกณฑ์การจัดเก็บสารกัมมันตภาพรังสี เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของสังคมและสิ่งแวดล้อม

20160606020050.jpg

ที่มาภาพ: http://gooru.in.th

จากเหตุการณ์การแพร่กระจายของรังสีโคบอลต์-60 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2543 บริเวณร้านรับซื้อของเก่าในซอยวัดมหาวงศ์ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ที่มีสาเหตุเนื่องจากมีบุคคลเก็บเอาแท่งโคบอลต์-60 ที่ใช้ในเครื่องฉายรังสีทางการแพทย์ที่เสื่อมสภาพและถูกทิ้งไว้ในบริเวณลานจอดรถเก่ารกร้าง ไม่มีรั้วผนังกั้นและไม่มีป้ายแสดงเครื่องหมายการเตือนภัยอันตรายจากกัมมันตรังสีนำไปขายให้ร้านรับซื้อของเก่า

เจ้าของร้านและลูกจ้างได้ทำการตัดแยกชิ้นส่วนโลหะที่ห่อหุ้มสารกัมมันตภาพรังสีไว้ภายใน ด้วยความไม่รู้ถึงอันตราย ทำให้กัมมันตภาพรังสีแพร่ออกมาส่งผลกระทบต่อสุขภาพของบุคคลที่ทำงานและพักอาศัยในร้านรับซื้อของเก่า และผู้พักอาศัยในบริเวณใกล้เคียงเกิดอาการเจ็บป่วย ได้แก่ อาการบวมที่นิ้วมือ อาเจียน ผมร่วงและมีปริมาณเม็ดโลหิตขาวต่ำมาก และต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสมุทรปราการ
 
ผู้ได้รับผลกระทบจำนวน 12 คน ได้มอบหมายให้ทนายความจากสภาทนายความฯ และโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (ปัจจุบันคือมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม-EnLAW) ยื่นฟ้อง บริษัท กมลสุโกศล อีเล็คทริก จำกัด ที่ 1 กับพวก รวม 5 คน ต่อศาลแพ่ง เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2544 ให้ชดเชยค่าเสียหายต่อสุขภาพของประชาชนที่ได้รับสัมผัสสารกัมมันตภาพรังสีจากแท่งโคบอลต์-60 เนื่องจากเป็นผู้ครอบครองเครื่องฉายรังสีโคบอลต์-60 โดยขาดความระมัดระวังในการใช้และจัดเก็บ ทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้ได้รับสัมผัส 

โดยฟ้องเรียกค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 109,264,360 บาท ประกอบด้วย ค่ารักษาพยาบาล ค่าเดินทางไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล ค่าเสียความสามารถในการทำงานในปัจจุบันและอนาคต ค่าความเสียหายจากความทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วยและโอกาสที่จะมีโครโมโซมที่ผิดปกติ
 
วันที่ 18 มี.ค. 2547 ศาลแพ่งมีคำพิพากษาว่า บริษัทฯ กระทำละเมิดต่อผู้เสียหาย โดยพิจารณาแล้วเห็นว่า เครื่องฉายรังสีโคบอลต์-60 เป็นอันตรายโดยสภาพที่หากเกิดการรั่วไหล จากสิ่งห่อหุ้มจะก่อให้เกิดอันตรายต่อบุคคลอื่น และบริษัทฯ ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังเพียงพอในการจัดเก็บ ทั้งที่ประกอบอาชีพค้าขายเครื่องฉายรังสี และไม่เก็บรักษาเครื่องโคบอลต์-60 ให้ถูกต้องตามกฎหมาย จนเป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายแก่กายและถึงแก่ความตาย

จึงพิพากษาให้บริษัทฯ จำเลยที่ 1 ชดเชยความเสียหายในส่วนค่าเดินทางไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล และค่าเสียหายที่ไม่ใช่ตัวเงินบางส่วน รวมเป็นเงินที่บริษัทฯ ต้องชดเชยค่าเสียหายทั้งสิ้น 640,276 บาท

ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2552 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกฟ้องในส่วนของโจทก์ที่ 4 ส่วนโจทก์อื่นๆ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 1

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2552 โจทก์ได้ยื่นฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เนื่องจากยังไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในบางประเด็น และมีหลายประเด็นที่เป็นสาระสำคัญอันควรได้รับการวินิจฉัย เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานในการปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตร่างกายของประชาชนในสังคมด้วย 

โจทก์เห็นว่า นอกจากพฤติการณ์ของจำเลยจะเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งหมดแล้ว ยังเป็นการละเมิดต่อกฎเกณฑ์ความปลอดภัยจากมลพิษ วัตถุอันตราย ของสังคมโดยรวม ตามที่ พ.ร.บ.พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ.2504 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ได้กำหนดคุ้มครองไว้ เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยยังอยู่ในภาวะเสี่ยงภัยจากมลพิษวัตถุอันตรายอีกมากมาย 

หากผู้ประกอบการ ที่เป็นเจ้าของผู้ครอบครองใช้วัตถุอันตรายในการดำเนินกิจการโดยละเลยต่อกฎเกณฑ์เพื่อความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องและขาดความรับผิดชอบต่อความปลอดภัยของสังคมโดยรวมเฉกเช่นในคดีนี้

 

ดาวน์โหลดคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฉบับเต็มได้ที่: http://enlawfoundation.org/newweb/?page_id=860

สรุปประเด็นยื่นฎีกาโจทก์คดีโคบอลต์-60 

ที่มา: มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม-EnLAW

(คดีหมายเลขดำที่ 816/2544 คดีหมายเลขแดงที่ 1269/2547 ศาลแพ่ง) 
วันที่ยื่นฎีกา : 17 ธันวาคม 2552

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2552 ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีหมายเลขแดงที่ 1269/2547 (ศาลแพ่ง) ระหว่าง นางสาวจิตราภรณ์ เจียรอุดมทรัพย์ กับพวกรวม 12 คน เป็นโจทก์ฟ้อง บริษัท กมลสุโกศล อีเล็คทริค จำกัด กับพวกรวม 5 คน จำเลย เรียกให้ชดเชยค่าเสียหายต่อสุขภาพของประชาชนที่ได้รับสัมผัสสารกัมมันตภาพรังสีจากแท่งโคบอลต์-60 เนื่องจากการทำละเมิดของจำเลยในฐานะเป็นผู้ครอบครองเครื่องฉายรังสีโคบอลต์-60 แต่ขาดความระมัดระวังในการใช้และจัดเก็บ ทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้ได้รับสัมผัส โดยฟ้องเรียกค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 109,264,360 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษาตัดสินยกฟ้องเฉพาะส่วนของโจทก์ที่ 4 ส่วนโจทก์อื่นๆ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 1 (ค่าเดินทางไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล และค่าเสียหายที่ไม่ใช่ตัวเงินบางส่วน รวมเป็นเงินที่บริษัทฯ จำเลยที่ 1 ต้องชดเชยค่าเสียหายทั้งสิ้น 529,276 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2543) สำหรับจำเลยที่ 2-5 ไม่มีส่วนในการละเมิด จึงไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย

โจทก์ยังไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในบางประเด็น จึงได้ยื่นฎีกา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยเห็นว่าศาลได้วินิจฉัยคลาดเคลื่อนไปในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย และมีหลายประเด็นที่เป็นสาระสำคัญอันควรได้รับการวินิจฉัย มิเพียงเพื่อประโยชน์ต่อตัวโจทก์ แต่เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานในการปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตร่างกายของประชาชนในสังคมด้วย โดยมีประเด็นสำคัญในฎีกาโดยสรุปดังนี้

1.) ประเด็นว่าจำเลยที่ 2 (บริษัท กมลสุโกศล จำกัด) ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 (บริษัท กมลสุโกศล อีเล็คทริค จำกัด) ด้วยหรือไม่

โจทก์เห็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้อนุญาตยินยอมให้จำเลยที่ 1 ใช้พื้นที่ของตนเป็นสถานที่เก็บเครื่องฉายรังสีโคบอลต์-60 ซึ่งจำเลยที่ 2 ในฐานะที่เคยประกอบกิจการเกี่ยวกับเครื่องเอกซเรย์และเครื่องมือแพทย์ย่อมทราบดีว่าเครื่องฉายรังสีโคบอลต์-60 เป็นวัตถุอันตรายซึ่งต้องมีการขออนุญาตมีไว้ในครอบครองหรือเก็บรักษาจากสำนักพลังงานปรมาณูเพื่อสันติเพื่อการควบคุมตรวจสอบโดยเคร่งครัด และตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 มาตรา 4 ได้บัญญัติขยายความคำว่า “มีไว้ในครอบครอง” ให้หมายความรวมถึง การทิ้งอยู่หรือปรากฏอยู่ในบริเวณที่อยู่ในความครอบครองด้วย และในมาตรา 63 ได้บัญญัติให้ผู้ครอบครองวัตถุอันตรายต้องรับผิดในผลแห่งการละเมิดที่เกิดจากวัตถุอันตรายในความครอบครองของตนด้วย

การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 มิได้เป็นผู้ครอบครองเครื่องฉายรังสีโคบอลต์-60 เนื่องจากไม่ใช่เรื่องการฝากทรัพย์ เป็นเพียงยินยอมให้ใช้สถานที่ โดยตีความตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่านั้นจึงเป็นการคลาดเคลื่อนต่อข้อกฎหมาย เพราะกรณีนี้เป็นเรื่องที่มีกฎหมายเฉพาะ ทั้งยังเป็นกฎหมายที่มีเจตนารมณ์เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดแก่ประชาชน โจทก์จึงเห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองเครื่องฉายรังสีโคบอลต์-60 ในขณะเกิดเหตุและต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย 

2.) ประเด็นว่าจำเลยที่ 3 (นางกมลา สุโกศล) ที่ 4 (นางสาวเลียบ เธียรประสิทธิ์) ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวหรือไม่

เนื่องจากนิติบุคคลไม่สามารถกระทำการได้ด้วยตนเอง แต่ต้องกระทำการหรือแสดงออกโดยกรรมการ คดีนี้ จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 4 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลย ที่ 1 ที่ 2 โดยเป็นผู้สั่งการและอนุญาตให้นำเครื่องฉายรังสีโคบอลต์-60 มาเก็บที่โรงจอดรถของจำเลยที่ 2 โดยมิได้ขออนุญาตขนย้าย เก็บรักษาและครอบครองต่อสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติให้ถูกต้องตามกฎหมาย และมิได้ดำเนินการเก็บรักษาเครื่องฉายรังสีโคบอลต์-60 ในโรงเรือนที่มีความแข็งแรง มีผนังอาคารเป็นคอนกรีตและมีมาตรการรักษาความปลอดภัย ตลอดจนไม่มีป้ายเตือนต่างๆ ที่ถูกต้องตามกฎระเบียบของสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ จนกระทั่งมีบุคคลภายนอกนำเครื่องฉายรังสีโคบอลต์-60 ออกมาจากลานจอดรถของจำเลยที่ 2 จนนำไปสู่การก่อให้เกิดความเสียหายต่อสุขภาพของโจทก์ทั้งหมด

สภาพการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นนี้ ถือได้ว่า เป็น “ผลโดยตรง” จากการมีคำสั่งหรือการอนุญาตของจำเลยที่ 3 และ 4 ให้ขนย้ายและไม่ดำเนินการจัดเก็บเครื่องฉายรังสีโคบอลต์-60 ให้ถูกต้องตามกฎหมายอันเป็นเหตุให้เกิดเหตุละเมิดในคดีนี้ ดังนั้น จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวร่วมกับร่วมจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นนิติบุคคลด้วย 

3.) ประเด็นว่า โจทก์ที่ 9 ถึงที่ 11 มีส่วนในการทำละเมิดหรือไม่

เนื่องจากข้อเท็จจริงฟังเป็นที่ยุติแล้วว่า หนึ่ง-แท่งสแตนเลสบรรจุสารกัมมันตรังสี โคบอลต์-60 ไม่มีเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ใดๆ ติดอยู่กับแท่งดังกล่าวอันจะทำให้บุคคลอื่นใดรู้ได้ว่าแท่งดังกล่าวเป็นแหล่งกำเนิดรังสีโคบอลต์-60 ที่ไม่ควร หรือห้ามมิให้สัมผัสหรือตัดแยกชิ้นส่วน อีกทั้ง สอง-แท่งโลหะดังกล่าวก็มิได้มีขนาดใหญ่ผิดปกติไปกว่าวัสดุอย่างอื่นที่พอจะทำให้โจทก์ที่ 9 ถึงที่ 11 ต้องใช้ความระมัดระวังในการรับซื้อและหรือตัดแยกชิ้นส่วนแท่งโลหะดังกล่าวเป็นพิเศษไปกว่าวัตถุอื่นๆ สาม- อีกทั้งข้อเท็จจริงยังฟังเป็นที่ยุติว่า เหตุที่โจทก์ที่ 9 ต้องจ้างโจทก์ที่ 10 ที่ 11 เพื่อร่วมกันแยกชิ้นส่วนออกมาเป็นตะกั่ว สแตนเลส ก่อนนำไปขายให้โจทก์ที่ 1 ก็เนื่องจากราคาของวัสดุแต่ละประเภทดังกล่าวมีราคาแตกต่างกันเมื่อขายแยกส่วนจะได้ราคาดีกว่า ดังนั้น การแยกชิ้นส่วนจึงเป็นความจำเป็นในการที่ต้องทำไปตามปกติธุระทางการค้าของโจทก์ที่ 9 ถึงที่ 11 จึงถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ทำไปโดยใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่การประกอบอาชีพของตนแล้ว

ด้วยเหตุดังกล่าว เมื่อโจทก์ที่ 9 รับซื้อ และโจทก์ที่ 10 และที่ 11 รับจ้างโจทก์ที่ 9 ร่วมกันแยกชิ้นส่วนแท่งสแตนเลสไปตามธุรทางการค้าของตนอันเป็นไปตามปกติ จึงมิได้มีความประมาทเลินเล่อในการดำเนินการดังกล่าวแต่อย่างใดทั้งสิ้น ย่อมไม่อาจถือได้ว่า โจทก์ที่ 9 ถึงที่ 11 มีส่วนประมาทเลินเล่อ

ดังนั้น ในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 9 ถึงที่ 11 จึงจำเป็นต้องพิจารณา กำหนดค่าสินไหมทดแทนให้เต็มตามจำนวนค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับความเสียหาย โดยไม่ควรลดทอนค่าเสียหายที่จำเลยทั้ง 5 คน ต้องชดใช้ให้โจทก์ที่ 9 ถึงที่ 11

นอกจากนี้ ในส่วนของโจทก์ที่ 1 ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยแล้วว่าไม่มีส่วนในการทำให้สารกัมมันตภาพรังสีโคบอลต์-60 แพร่กระจาย แต่ศาลกลับมิได้พิพากษาแก้ไขเพิ่มเติมค่าสินไหมทดแทนอันโจทก์ที่ 1 พึงได้รับเต็มตามความเสียหายของตนด้วย เพราะเมื่อไม่มีส่วนในการทำละเมิด ศาลก็ไม่อาจลดทอนส่วนในค่าเสียหายที่จำเลยต้องชดใช้ เช่นเดียวกับโจทก์ที่ 9 ถึงที่ 11

4.) ประเด็นค่าเสียหายจากการขาดความสามารถในการประกอบการงานทั้งในปัจจุบันและอนาคต

โจทก์ไม่เห็นพ้องกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่เห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้นว่า ค่าเสียความสามารถในการประกอบการงานที่ศาลปกครองกลางกำหนดให้เหมาะสมดีแล้ว จึงไม่กำหนดให้อีก เนื่องจากตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางนั้นยังกำหนดไม่ครบถ้วนตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง โดยศาลปกครองกลางคำนวณค่าเสียหายให้เฉพาะวันที่โจทก์เข้ารับการรักษาและนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเท่านั้น โดยไม่ได้คิดรวมถึงวันที่โจทก์จะต้องพักฟื้นที่บ้านเพื่อรักษาตัวหลังจากออกจากโรงพยาบาลแต่อย่างใด รวมถึงระยะเวลาหลังจากที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้ง 5 ปรากฏว่า โจทก์ยังต้องเข้ารับการตรวจรักษาเพิ่มเติมจากความเจ็บป่วยอันเกิดจากมูลเหตุละเมิดคดีนี้ แต่ตามคำพิพากษาศาลปกครองกลางก็มิได้นำมาพิจารณากำหนดเป็นค่าเสียความสามารถในการประกอบการงานในอนาคตให้แก่โจทก์แต่อย่างใดทั้งสิ้น

การที่ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยไม่กำหนดให้จำเลยทั้งห้าชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ให้แก่โจทก์อีกจึงไม่ยังถูกต้อง โจทก์จึงฎีกาเพื่อขอให้ศาลกำหนดค่าสินไหมทดแทนอันเป็นค่าเสียความสามารถในการประกอบการงานเพิ่มเติม

5.) ประเด็นว่าโจทก์ที่ 4 มีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะเพิ่มเติมจากที่ศาลปกครองกำหนดให้แล้วหรือไม่

ประเด็นนี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ค่าขาดไร้อุปการะที่ศาลปกครองกลางกำหนดให้แก่โจทก์ที่ 4 ในคดีที่ฟ้องสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติเหมาะสมแล้ว ศาลอุทธรณ์จึงไม่เห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้นที่พิพากษาเพิ่มให้อีกและให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 4 นั้น โจทก์เห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ไม่ถูกต้อง เนื่องจากค่าขาดไร้อุปการะที่ศาลปกครองกลางกำหนดให้แก่โจทก์ที่ 4 เป็นการกำหนดให้รวมกันสำหรับโจทก์ที่ 4 และภรรยา ในอัตราเดือนละ 3,000 บาท ซึ่งเมื่อศาลจะนำมาพิจารณาค่าเสียหายของโจทก์ที่ 4 ในคดีนี้ว่าที่ได้รับจากคำพิพากษาศาลปกครองกลางนั้นเหมาะสมแล้วหรือไม่ ก็ต้องพิจารณาในอัตราเพียงกึ่งหนึ่ง คือเดือนละ 1,500 บาทเท่านั้น ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ที่ 4 ได้รับค่าขาดไร้อุปการะเพิ่มเติมอีกจึงถูกต้องแล้ว

6.) ประเด็นว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 ถึงที่ 11 มีสิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลที่หน่วยงานรัฐออกให้หรือไม่

การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์มิได้เป็นผู้ชำระค่ารักษาพยาบาลจึงมิได้รับความเสียหายในส่วนนี้ และตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 มาตรา 69 ได้บัญญัติให้เป็นหน้าที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายของรัฐอันเกิดช่วยเหลือ ขจัด บรรเทาความเสียหายอันเกิดจากวัตถุอันตราย โจทก์จึงไม่อาจเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลที่หน่วยงานของรัฐออกให้นั้น โจทก์เห็นว่า การเกิดอุบัติเหตุการรั่วไหลของรังสีโคบอลต์-60 ที่เป็นวัตถุอันตรายมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนอย่างรุนแรงและแพร่กระจายในวงกว้างทำให้ประชาชนที่รับอันตรายจากรังสีบางส่วนถึงแก่ความตายและบาดเจ็บ หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการสาธารณสุขจึงได้เข้ามาช่วยเหลือดูแลสุขภาพของประชาชนอย่างใกล้ชิด ดังนั้น การให้การรักษาพยาบาลของรัฐโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาล จึงเป็นเพียงการให้ความช่วยเหลืออันเป็นสวัสดิการที่รัฐให้ความช่วยเหลือแก่โจทก์ มิใช่รัฐเข้ามาช่วยเหลือในฐานะตัวแทนของจำเลย ซึ่งจำเลยก็มิเคยชดใช้ค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์หรือหน่วยงานของรัฐแต่อย่างใด การได้รับสิทธิสวัสดิการในการรักษาพยาบาลนั้นจึงไม่ตัดสิทธิผู้ที่ได้รับอันตรายจากรังสีโคบอลต์-60 ในอันที่จะเรียกค่ารักษาพยาบาลจากจำเลย ซึ่งเป็นผู้กระทำละเมิดโดยตรง

นอกจากนี้ โจทก์เห็นว่าตามมาตรา 69 ของพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ก็มิได้รวมถึงค่ารักษาพยาบาลที่รัฐรับภาระแทนโจทก์ด้วย ซึ่งหากหน่วยงานของรัฐไม่สามารถเรียกค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลโจทก์จากจำเลย รวมทั้งโจทก์ผู้เสียหายไม่สามารถเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้จากจำเลยได้ตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ จะส่งผลให้จำเลยผู้กระทำละเมิดไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายอันเป็นผลจากการกระทำละเมิดด้านสิ่งแวดล้อมของตน โดยได้ประโยชน์จากสิทธิสวัสดิการของรัฐในการเยียวยาความเสียหายด้านสุขภาพของโจทก์ ซึ่งย่อมไม่ต้องตามเจตนารมณ์ของรัฐในการให้ความช่วยเหลือประชาชนและเป็นการขัดต่อหลัก “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย” ซึ่งเป็นหลักกฎหมายสากลด้านสิ่งแวดล้อมที่กำหนดให้ผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้รับภาระชดใช้ค่าเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชนอันเกิดจากการกระทำของตน โจทก์จึงขอฎีกาเพื่อให้ศาลได้วินิจฉัยวางหลักความรับผิดของผู้ก่อมลพิษและกระทำละเมิดด้านสิ่งแวดล้อมในกรณีนี้ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสิทธิของประชาชนและประโยชน์ของรัฐที่เป็นธรรมต่อไปด้วย

๐๐๐๐๐

“โจทก์ขอเรียกร้องให้ศาลฎีกาพิจารณาพิพากษาลงโทษจำเลย เพื่อเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้เกิดขึ้นในสังคมไทยว่า ในการประกอบกิจการเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจของเอกชน จำเป็นจะต้องมีคำนึงถึงและรับผิดชอบต่อสุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อมของประชาชนและชุมชนด้วย

การเกิดเหตุการณ์แพร่กระจายของสารกัมมันตรังสีโคบอลต์-60 ที่จังหวัดสมุทรปราการในปีพ.ศ.2543 เป็นภัยจากมลพิษที่เกิดจากวัตถุอันตรายและหรือทรัพย์อันตรายซึ่งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศไทย ที่มีสาเหตุที่สำคัญเนื่องมาจากการประกอบกิจการที่มุ่งแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจโดยขาดความรับผิดชอบต่อผู้อื่นและสิ่งแวดล้อมของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ทั้งที่เป็นผู้ประกอบอาชีพค้าขายเครื่องฉายรังสีโคบอลต์-60 และรู้ถึงอันตรายจากรังสีดังกล่าวแต่กลับเพิกเฉยละเลยต่อ กฎ ระเบียบ กฎหมายที่ควบคุมดูแลเกี่ยวกับการเก็บรักษา และความปลอดภัยทางรังสี โดยไม่ได้ใช้ความระมัดระวังจัดเก็บเครื่องฉายรังสีโคบอลต์-60 ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและกฎหมายที่เกี่ยวข้องจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพอนามัย ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ต่อโจทก์ทั้งหมดและประชาชนในละแวกใกล้เคียง หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการป้องกันภัยอันตราย รักษาพยาบาล และเยียวยาความเสียหาย ด้วยเหตุนี้เป็นจำนวนมาก

พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 อันเป็นการกระทำละเมิดในคดีนี้นอกจากเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งหมดซึ่งเป็นการพิพาททางแพ่งระหว่างเอกชนต่อเอกชนด้วยกันแล้ว ยังเป็นการละเมิดต่อกฎเกณฑ์ความปลอดภัยจากมลพิษ วัตถุอันตราย ของสังคมโดยรวม ตามที่พระราชบัญญัติปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ.2504 พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ได้รับรองและคุ้มครองไว้ เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนในสังคมไทยยังอยู่ในภาวะเสี่ยงภัยจากมลพิษ วัตถุอันตราย ชนิดอื่นๆ อีกมากมาย หากผู้ประกอบการธุรกิจ อุตสาหกรรม ที่เป็นเจ้าของผู้ครอบครองใช้วัตถุอันตรายในการดำเนินกิจการโดยละเลยต่อกฎเกณฑ์เพื่อความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องและขาดความรับผิดชอบต่อความปลอดภัยของสังคมโดยรวม เฉกเช่นคดีนี้”

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ