วันนี้ (27 ม.ค. 2559) เครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลรายงานว่า ที่บริเวณหาดราไวย์ ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต เมื่อเวลาประมาณ 11.30 น. ชายฉกรรจ์กว่า 100 คน พร้อมเครื่องจักรเข้าดำเนินการปิดทางสาธารณะเข้าออกพื้นที่ประกอบพิธีกรรมและที่จอดเรือ โดยใช้รถบรรทุกหินขนาดใหญ่พร้อมรถไถเพื่อปิดทางและทำลายเครื่องมือประมงของชาวเล
การปิดทางดังกล่าว มีชาวเลทั้งหญิงชายและเด็กกว่า 100 คน ออกมาคัดค้าน ในขณะที่รถบรรทุกเทก้อนหินขนาดใหญ่ปิดทางเข้าออกทั้งๆ ที่ชาวเลนั่งขวางอยู่ ทำให้ชาวเลจำนวนหนึ่งได้รับบาดเจ็บ นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ปะทะและทำร้ายร่างกาย มีผู้บาดเจ็บหลายราย โดยเฉพาะนายอับดุลล้อ รอบคิด สลบยังไม่ฟื้น หลังจากนั้น ชายฉกรรจ์ได้เอารถไถกวาดเครื่องมือประมงและศาลาเฝ้าเรือของชาวเลจนได้รับความเสียหายยับเยิน
ทั้งนี้ ชาวเลราไวย์เป็นชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมที่มีทั้งเผ่ามอแกน มอแกลน อูรักลาโว้ย ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ จ.ภูเก็ตมามากกว่า 200 ปี และพื้นที่ที่เกิดกรณีพิพาทเป็นพื้นที่ชายหาดสาธารณะที่ชาวเลใช้จอดเรือ เอาปลาขึ้นจากเรือ วางเครื่องมือประมง และเป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของชาวเลมายาวนาน โดยในอดีตบริเวณดังกล่าวชาวเลใช้เป็นสุสาน
ที่ผ่านมา รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาที่ดิน ที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล ขึ้นมาโดยมีพลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง เป็นประธาน อาศัยตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 2 มิ.ย. 2553 เพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล และอยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ปัญหา
ด้าน ศูนย์ข่าวภูเก็ต ผู้จัดการออนไลน์ รายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า หลังจากตั้งแต่เมื่อวานที่ผ่านมา (26 ม.ค.2559) ตัวแทนเจ้าของที่ดินได้นำชายฉกรรจ์จำนวนมากเข้าไปยังพื้นที่ดังกล่าว พร้อมด้วยรถแบคโฮเพื่อปิดทางเข้าออกถนนบริเวณหาดราไวย์ ซึ่งชาวไทยใหม่อ้างว่า เป็นเส้นทางที่มีการใช้กันมายาวนาน ขณะที่ทางเจ้าของที่ดินอ้างเรื่องของการมีเอกสารสิทธิครอบครอง ซึ่งในส่วนของเมื่อวานนี้ได้มีการตรึงกำลังกันทั้ง 2 ฝ่าย
แต่อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ (27 ม.ค.) ทางเจ้าของที่ได้เพิ่มกำลังชายฉกรรจ์เข้าไปในพื้นที่มากไม่น้อยกว่า 100 คน พร้อมใช้รถแบ็กโฮขนหินปิดทางเข้าออก ทำให้ชาวไทยใหม่ในพื้นที่ที่เฝ้าสังเกตการณ์ไม่พอใจ และลุกฮือเข้าไปขัดขวาง จนทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มชายฉกรรจ์ และชาวบ้านในพื้นที่ ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บแล้วหลายราย
ขณะที่ในส่วนของหน่วยงานราชการได้มีการเสริมกำลังเจ้าหน้าที่ทหารเรือ จากทัพเรือภาคที่ 3 รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ และ อส. และรองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เข้าพื้นที่แล้ว เพื่อดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยแล้ว
ผู้ว่าฯ นัดหารือแก้ปัญหาข้อพิพาทที่ดินระหว่างชาวเลราไวย์ อีกครั้ง 2 ก.พ.นี้
ขณะที่ Phuket Times Newspaper รายงานว่า จากกรณีวันนี้ (27 ม.ค. 2559) บริเวณริมชายหาดราไวย์ รอยต่อระหว่างที่ดินเอกชนกับชุมชนชาวไทยใหม่ราไวย์ หมู่ 2 อ.เมือง จ.ภูเก็ต ได้เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างกลุ่มชาวเลกับกลุ่มชายฉกรรจ์ ซึ่งระบุว่าเป็นคนของบริษัทเอกชนเจ้าของที่ดิน ทราบชื่อคือ บริษัท บารอน เวิลด์ เทรด จำกัด มีเอกสารสิทธิ์ ยืนยัน จนปลายบานถึงขั้นมีการทำร้ายร่างกายกัน ส่งผลให้ชาวเลและกลุ่มชายฉกรรจ์ส่วนหนึ่งได้รับบาดเจ็บโดยหลังกำลังตำรวจ ทหารเรือและฝ่ายปกครองเจ้าหน้าที่เทศกิจเทศบาลตำบลราไวย์ นำโดยนายโชคดี อมรวัฒน์รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้ร่วมกันลงพื้นที่ไประงับเหตุ พร้อมพูดคุยกับทางกลุ่มชาวเลและตัวแทนของผู้รับมอบอำนาจที่เข้าไปดำเนินการปรับพื้นที่ เพื่อหาทางออกให้กับทั้งสองฝ่าย แต่ไม่สามารถสรุปได้ โดยต่างฝ่ายยืนยันสิทธิ์ของตนเองทำให้เจ้าหน้าที่ต้องตรึงกำลังดูแลความเรียบร้อยตลอดเวลา
กระทั่งช่วง 18.00 น.วันเดียวกัน นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเรียกตัวแทนเจ้าของที่ดิน ตัวแทนกลุ่มชาวเลย์ราไวย์ เจ้าหน้าที่ภาครัฐทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง มาร่วมประชุมด่วนเพื่อหาทางออกเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวใช้เวลาหารือนานร่วม 2 ชั่วโมง ทางตัวแทนชาวเลราไวย์เรียกร้องให้ทางบริษัทเจ้าของที่ดินยินยอมเปิดทางให้ชาวเลราไวย์ ใช้สัญจรเข้า-ออก ในการลงทะเลเพื่อทำประมงและไปประกอบพิธีกรรม(บาลัย)แบบถาวร แต่ข้อเสนอดังกล่าวยังไม่ได้ข้อสรุปเนื่องจากต้องรอเจ้าของที่ดินตัวจริงเป็นผู้ตัดสินใจโดยทางจังหวัดนัดประชุมหารือกันอีกครั้งในวันที่ 2 ก.พ. 2559 นี้
ส่วนการแก้ปัญหาเบื้องต้นผู้ว่าฯได้สั่งให้ทางบริษัทเจ้าของที่ดินนำแท่งแบรีเอ้อออกเพื่อเปิดทางให้ชาวบ้านสัญจรได้ก่อนและให้หยุดดำเนินการก่อสร้างในพื้นที่จนกว่าจะได้ข้อสรุปในวันที่ 2 ก.พ.นี้ว่าจะมีทางออกต่อไปอย่างไร
ก่อนหน้านี้ Phuket Times Newspaper รายงานข่าว กรณีปัญหาความขัดแย้งระหว่างเอกชนซึ่งอ้างกรรมสิทธิ์ที่ดินกับอุรักละโว้ย หรือชาวไทยใหม่ หาดราไวย์ หมู่ที่ 2 ต.ราไวย์ อ.เมืองภูเก็ต ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากเมื่อ 25 ม.ค. 2559 เจ้าของที่ดินผู้อ้างกรรมสิทธิ์ ได้มีการนำคนรถเข้าพยายามปิดกั้นเส้นทางอีกครั้ง โดยมีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ทหารจาก มทบ.41 และตำรวจเข้าดูแลความปลอดภัย และถูกขัดขวางไม่ให้ดำเนินการ
เจ้าหน้าที่ทหารจึงเข้าเจรจา แต่ชาวบ้านไม่ยอมและมีการฉุดกระชากขัดขวางไม่ให้มีการปิดเส้นทางเข้าออก ซึ่งฝั่งเจ้าของที่ดินฯ ก็ประกาศว่าจะมีการปิดทางเข้าออกให้ได้ในวันนั้น ทำให้ชาวบ้านมีการรวมตัวปักหลักกันนับร้อยคน ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายมีท่าทีเคร่งเครียด
เหตุการณ์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นหลายครั้ง โดยเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2558 หลังจาก มีการนำก้อนหินขนาดใหญ่มาปิดกั้นทางเข้าออกแสดงสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ แต่ชาวบ้านชาวไทยใหม่รวมตัวกันขัดขวาง และช่วยกันลากหินทั้งหมดที่ปิดเส้นทางออก ทำให้รถสามารถผ่านเข้าออกได้ก่อนที่ฝั่งเจ้าของที่ดินจะยอมถอยกลับ และปล่อยให้รถสามารถเข้าออกได้ตามปกติ ชาวไทยใหม่หลายครอบครัวเดินทางผ่านเข้าออกไปยังบาลัย (จุดทำพิธีกรรมของชาวไทยใหม่) และจุดใกล้เคียงเพื่อซ่อมแซมเรือและสร้างลอบดักปลา
ทั้งนี้ บริเวณดังกล่าวชาวบ้านใช้ประโยชน์มาเป็นเวลานาน ตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ เห็นได้จากศาลโต๊ะที่ตั้งอยู่ หากมีการปิดกั้นก็จะไม่มีพื้นที่ทำพิธีกรรมซ่อมแซมเรือและทำลอบดักปลาอีก ที่ผ่านมามีความพยายามใช้วิธีการต่างๆ เพื่อบีบให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ และพยายามปิดเส้นทางไม่ให้ใช้ประโยชน์ แต่ชาวบ้านก็เลือกที่จะต่อสู้เรียกร้อง
นายประพันธ์ ขันพระแสง หัวหน้าศูนย์ดำรงธรรมภูเก็ต กล่าวว่าปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นมานาน ที่ดินดังกล่าวทางชาวบ้านเคยตั้งข้อสงสัย และขอให้มีการสอบเขตที่ดินแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกว่าจ้างให้บริษัทเอกชนเข้ามาสอบเขตที่ดิน แต่ชาวบ้านไม่เชื่อถือ จึงให้เจ้าหน้าที่ที่ดินจังหวัดเข้ามาสอบเขต พบว่าถูกต้อง
หลังตรวจสอบแล้วว่าถูกต้อง จึงต้องทำตามกฏหมาย มติคณะกรรมการจังหวัดจึงทำหนังสือแจ้งไปทุกฝ่ายทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าของที่ดิน ชาวบ้าน ฝ่ายปกครอง เพื่อแจ้งว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินที่ได้มาถูกต้องตามกฏหมาย ผู้อ้างจึงมีกรรมสิทธิ์เหนือที่ดิน แต่ชาวบ้านยังไม่ยอม ทางจังหวัดจึงพยายามแก้ปัญหาและหาทางออกด้วยการจัดประชุมแล้ว 3 ครั้ง แต่ไม่เป็นผล
ครั้งแรกทางจังหวัดไม่พร้อม เลยเลื่อนออกไป ครั้งที่ 2 ฝ่ายชาวบ้านไม่มาร่วมประชุม ครั้งที่ 3 ฝ่ายชาวบ้านส่งตัวแทนมาขอเลื่อน ทางจังหวัดจึงมีมติในวันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า ให้ฝ่ายชาวบ้านยื่นข้อเสนอภายใน 7 วัน เพื่อเสนอไปยังผู้อ้างกรรมสิทธิ์ว่ายินยอมหรือไม่ แต่ทางชาวบ้านไม่มีการยื่นข้อเสนอ
ทั้งนี้ เมื่อ 18 ธ.ค. 2558 หลังเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น นายประเจียด อักษรธรรมกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเป็นประธานการประชุมคณะทำงาน ได้สั่งการให้เจ้าของที่ดินชะลอการดำเนินการตามเอกสารสิทธิ์เพื่อรอข้อเสนอจากชาวบ้านอีกครั้ง