ประชามติ…แล้วไงต่อ : สมชาย ปรีชาศิลปกุล

ประชามติ…แล้วไงต่อ : สมชาย ปรีชาศิลปกุล

20160808194435.jpg

ทีมข่าวพลเมืองสัมภาษณ์ สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) หนึ่งในอาจารย์กลุ่มมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนซึ่งร่วมกันออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญแบบ “3 ไม่รับ” (อ่านแถลงการณ์) ว่าด้วยเรื่อง “การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559” ทั้งความมุ่งหวัง และความกังวลใจ ประชามติ… แล้วไงต่อ? 

หลังจากช่วงค่ำของวันประชามติ 7 ส.ค. 2559 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่ผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ โดยระบุว่าร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ได้รับความเห็นชอบ 15.56 ล้านเสียง ไม่เห็นชอบ 9.7 ล้านเสียง ส่วนคำถามพ่วง เห็นชอบ 13.96 ล้านเสียง ไม่เห็นชอบ 10 ล้านเสียงเศษ

Q: ประชามติ…แล้วไงต่อ?

A: ประชามติไม่ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร ผมคิดว่าเราคงได้เห็นว่าสังคมไทยยังคงมีคนที่เห็นต่างต่ออนาคต แบ่งเป็น 2 กลุ่ม หรือ 2 ทางใหญ่ๆ เพราะฉะนั้นผลการโหวตที่เกิดขึ้น แม้ว่าคนจำนวนมากจะออกมาเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ในอีกแง่หนึ่งมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วย เพราะฉะนั้นหากพิจารณาเอาร่างรัฐธรรมนูญเป็นหลัก หมายความว่า ยังมีคนที่เห็นต่างต่อการสร้างอนาคตสังคมการเมืองไทยอยู่เป็นจำนวนที่ใหญ่พอสมควร

Q: หลังจากนี้ในภาคพลเมือง เราจะไปต่ออย่างไรได้บ้าง ?

A: ผมคิดว่าในช่วงที่ผ่านมา จนกระทั่งการลงประชามติ… ถึงแม้ว่าโอเคเราต้องยอมรับผลมัน แต่ในแง่หนึ่งเราจะบอกว่ามันเป็นประชามติที่สะท้อนความต้องการอย่างชัดเจนของคนหรือเปล่า อันนี้ผมคิดว่ามันอาจจะมีข้อโต้แย้งอยู่ หมายความว่า ไม่มีการลงประชามติแบบที่เสรีและเป็นธรรม เราจะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ฝ่ายอำนาจรัฐจะมุ่งเป้าไปกลุ่มคนที่ไม่สู้จะเห็นด้วย 

ถามว่าถ้าหลังจากนี้เป็นอย่างไรสำหรับภาคพลเมือง ผมคิดว่าเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือ เราจะทำอย่างไรให้เกิดสังคมที่เราสามารถแสดงความเห็นได้อย่างเสรี ผลักดันประเด็นที่ตัวเองต้องการได้ รวมถึงการทำให้อำนาจรัฐซึ่งเข้ามาก้าวก่าย หรืออำนาจรัฐที่มันพิลึกพิลั่น คือเข้ามาใช้อำนาจกับเรื่องต่าง ๆ เต็มไปหมด มันคงต้องถูกจับให้เข้าไปอยู่ในกรอบตามกระบวนการของกฎหมายที่มันเป็นระบบมากขึ้น ไม่ใช่คิดว่าเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้มีอำนาจรัฐอยากจะทำอะไรก็ทำ ทั้งหมดนี้ในแง่หนึ่ง พอมันมีการกระทำอย่างนี้เกิดขึ้น มันเหมือนเป็นการคุกคามความสามารถ หรือความต้องการของคนที่อยากจะแสดงความเห็นนั้นให้ลดน้อยลง 

เพราะฉะนั้นผมคิดว่าสิ่งที่คงต้องพยายามสร้างร่วมกัน คือทำอย่างไรให้เรากลับสู่สังคมที่เราสามารถแสดงความเห็นกันได้อย่างเสรี รวมถึงการทำให้ทุกคนกล้าที่จะพูดในเรื่องที่ไม่ว่าจะเห็นต่าง หรือเห็นด้วยกับอำนาจรัฐก็ตาม 

Q: ผลออกมาแบบนี้ อาจมีกระแสบางคนที่ผิดหวัง เราพอจะมีความหวังหรือภาพอะไรของประเทศต่อจากนี้ได้บ้าง?

A: ในแง่หนึ่งผมคิดว่าที่ผลการลงประชามติออกมาอย่างนี้ ปฎิเสธไม่ได้ว่าทางฝ่ายเจ้าหน้าที่หรือทางฝ่ายผู้มีอำนาจลงแรงไปมากพอสมควร กับการพยายามให้ผลออกมาแบบนี้ ซึ่งในแง่หนึ่งหมายความว่า มันทำให้กลุ่มคนต่าง ๆ ไม่สามารถผลักดันความเห็นของตัวเอง หรือนำเสนอนโยบายของตัวเอง หรือรวมกันชี้ให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญสำคัญกับคนแต่ละกลุ่มอย่างไร เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกที่คนจำนวนมากกลุ่มหนึ่งรู้สึกว่ายินดีที่จะไปโหวตรับรัฐธรรมนูญ เพราะอย่างน้อยเฉพาะหน้ามันก็รู้สึกดูไม่วุ่นวาย 

เพราะฉะนั้น ถามผมว่าหลายคนอาจรู้สึกท้อใจหรือหมดหวังอะไรก็ตาม แต่ผมคิดว่าแบบนี้ คือ โลกไม่ได้เปลี่ยนภายในวันเดียว เพราะฉะนั้นหมายถึงว่าอาจมีเรื่องที่เราไม่เห็นด้วย 

สิ่งที่กลุ่มคนต่าง ๆ ต้องพยามทำก็คือ คงต้องผลักดัน และเรียกร้องกันต่อไป และผมคิดว่าในช่วงประมาณสัก 6 เดือน หรือ 1 ปีหลัง เราได้เห็นด้านบวกอันหนึ่งจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผมคิดว่ามันทำให้กลุ่มคนจำนวนไม่น้อย ซึ่งเคยคิดหวังว่าระบบอำนาจนิยมจะแก้ไขปัญหาอะไรได้ เอาเข้าจริงมันแก้ไขไม่ได้

ในช่วงหลังเราเห็นกลุ่มคนไม่ว่าจะทำงาน ไม่ว่าจะเป็นในภาควิชาการ ทำงานในภาคองค์กรพัฒนาเอกชน หรือทำงานในภาคต่างๆ ตระหนักถึงปัญหาของการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ว่าสุดท้ายส่งผลกระทบถึงเขา เพราะฉะนั้นเราจึงได้เห็นภาพของคนที่ในอดีตเคยคิดเห็นต่างกัน กลับมามีจุดยืนร่วมกัน หรือคล้ายกันในหลักการพื้นฐานของของระบอบประชาธิปไตย 

ผมคิดว่าสิ่งนี้จะถือเป็นโอกาส หรือเป็นจังหวะที่ดีของภาคส่วนที่ไม่ใช่ผู้มีอำนาจรัฐในขณะนี้ ควรจะตระหนักว่า ระบบประชาธิปไตยคงไม่ดีไป 100% แต่เป็นระบบที่เปิดโอกาสให้เราจะถกเถียงให้เราจะได้ตามความปรารถนาของคนแต่ละกลุ่ม ซึ่งอันนี้เป็นพื้นฐานที่สำคัญ

Q: ประเด็นถกเถียง วิพากษ์ร่างรัฐธรรมนูญในโลกออนไลน์ ไม่ว่าเรื่องสิทธิ หลักประกันสุขภาพ การศึกษา ประชามติแล้วจะอย่างไรต่อ?

A: ที่ผ่านมาเป็นการถกเถียงความหมายที่อยู่ในร่างรัฐธรรมนูญ แต่ตอนนี้คงมาสู่ปฏิบัติการจริง ว่าที่เคยเขียนไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางผู้สนับสนุนคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญว่านำมาสู่การปฏิบัติจริงขนาดไหน เช่น ในเอกสารของ กกต.ที่บอกว่า ต่อไปเราจะมีหมอประจำครอบครัว รัฐจะจัดให้ มันจะเป็นจริงได้มากน้อยขนาดไหน

ผมคิดว่าสิ่งนี้จะทำให้เราเห็นปฏิบัติการจริง ในแง่ที่พูดถึงสิทธิว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้รับรองสิทธิต่างไปจากรัฐธรรมนูญฉบับอื่น แต่ว่ ในระดับปฏิบัติการจริงแล้วจะเกิดขึ้นได้จริงหรือ ในแง่นี้มันคงจะทำให้เราเห็นความเป็นจริง หรือปฏิบัติการจริงของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในแง่ของสิทธิ เสรีภาพของประชาชนมากขึ้น ซึ่งในแง่หนึ่งคงทำให้เห็นว่าที่ผ่านมาที่มีการกล่าวอ้าง ที่มีการโฆษณาถึงสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ ว่ามันเป็นการโฆษณาที่บิดเบือน หรือเกินไปจากความจริงหรือไม่

เพราะที่ผ่านมาเป็นการเถียงกันบนความหมาย แต่ว่าไม่มีตัวอย่างหรือปรากฎการณ์จริงมายืนยันพิสูจน์ ซึ่งอนาคตข้างหน้าจะเป็นสิ่งที่พิสูจน์หรือทำให้เราเห็นเรื่องพวกนี้ได้ชัดเจนมากขึ้น

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ