ปมค่าโง่คลองด่าน คตง.แจง ‘ผู้ว่าฯ สตง.’ แนะนายกฯ ใช้วิธีหักลบกลบหนี้-รอศาลฎีกาตัดสิน

ปมค่าโง่คลองด่าน คตง.แจง ‘ผู้ว่าฯ สตง.’ แนะนายกฯ ใช้วิธีหักลบกลบหนี้-รอศาลฎีกาตัดสิน

20161003185037.jpg

10 มี.ค. 2559 เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน แขวงสามเสน เขตพญาไท กรุงเทพฯ ดาวัลย์ จันทรหัสดี ชาวตำบลคลองด่าน และเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้เข้าพบและยื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เพื่อเรียกร้องให้ทาง คตง. ทำความเห็นและนำเสนอทางออกแก่รัฐบาล เพื่อระงับการจ่ายเงินค่าเสียหายให้กับบริษัทเอกชน กรณีโครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย จำนวน 9,600 ล้านบาทแล้ว หลังจากมีการจ่ายเงินงวดที่ 1 ไปแล้วราว 3,000 ล้านบาท และต้องจ่ายงวดที่ 2 ภายในวันที่ 21 พ.ค. 2559 อีกราว 3,000 ล้านบาท รวมทั้งงวดที่ 3 ที่จะตามมา

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวระหว่างการยื่นหนังสือว่า ได้มอบเอกสารทั้งหมด 17 รายการ ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตในโครงการนี้ และสำนวนและคำพิพากษาศาลในคดีที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นเหตุผลประกอบกับการยื่นข้อเรียกร้องให้ระงับการเสียค่าให้กับเอกชน เพื่อไม่ให้ประเทศชาติต้องเสียหายไปมากกว่านี้ 

20161003185049.jpg

ด้าน ชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) กล่าวว่า สำหรับเรื่องการขอให้รัฐบาลพักการชำระเงินค่าเสียหายให้กับบริษัทเอกชนผู้ประกอบกิจการร่วมค้า 5 บริษัท เมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้มีหนังถึงนายกรัฐมนตรีให้ระงับการจ่ายเงินที่เหลือ และให้ใช้วิธีหักลบกลบหนี้กับผู้ประกอบกิจการร่วมค้า เนื่องจากในการดำเนินโครงการนี้มีการทุจริตประพฤติมิชอบ และทางผู้ประกอบกิจการร่วมค้าน่าจะมีส่วนร่วมด้วย โดยรอคำพิพากษาจากศาลฎีกา

ชัยสิทธิ์ กล่าวว่า จากคำพิพากษาของศาลอาญา ในวันที่ 17 ธ.ค. 2558  ได้พิพากษาจำคุกอดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษและพวก คนละ 20 ปี ฐานทุจริตต่อหน้าที่ เอื้อประโยชน์ช่วยเหลือผู้รับเหมาในการที่จะทำโครงการนี้ ซึ่งหากข้อเท็จจริงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอาญาว่าอดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ก็เท่ากับว่ามีการทำละเมิดเกิดขึ้น ซึ่งตามคำพิพากษาศาลอาญามีความเสียหายเกิดขึ้นต่อรัฐกว่า 20,000 ล้านบาท เมื่อเป็นหนี้ละเมิด ก็ต้องถือว่ารัฐบาลเป็นเจ้าหนี้ 

20161003185101.jpg

ขณะเดียวกันรัฐบาลเป็นลูกหนี้ ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่พิพากษาตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการให้กรมควบคุมมลพิษจ่ายค่าเสียหาย 9,000 กว่าล้านบาท ในกรณีนี้ก็ถือว่าเป็นเจ้าหนี้-ลูกหนี้ซึ่งกันและกัน ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์สามารถหักกลบลบหนี้กันได้ ซึ่งทางเอกชนผู้รับเหมาจะต้องเหลือจ่ายหนี้ให้กับกรมควบคุมมลพิษ 10,000 กว่าล้านบาท 

เพราะฉะนั้นย่อมเป็นเหตุทำให้กรมควบคุมมลพิษไม่จำเป็นที่ต้องจ่ายเงินที่เหลืออีกราว 6,000 ล้านบาท ในงวดต่อๆ มา หรือหากไม่แน่ใจ รัฐบาลโดยกรมควบคุมมลพิษอาจใช้วิธีนำเงินไปวางทรัพย์ ต่อสำนักงานวางทรัพย์ กระทรวงยุติธรรม  ซึ่งหากว่าในที่สุดศาลฎีกามีคำพิพากษาว่ามีการกระทำผิด มีการละเมิดจริง กรณีนี้กรมควบคุมมลพิษก็มีสิทธิรับเงินกลับคืนมา และเรียกร้องเงินค่าเสียหายที่เป็นส่วนต่างได้

“เราต้องจ่ายอยู่แล้วต่างคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ทีนี้เมื่อเราต้องจ่ายอยู่แล้ว เพื่อเป็นการป้องกันในกรณีที่ศาลฎีกาอาจจะตัดสินเป็นอย่างอื่น เราก็ใช้วิธีไปวางทรัพย์ การวางทรัพย์นั้นเท่ากับทางเราได้ชำระหนี้เหมือนกัน เพียงแต่ว่าทางฝ่ายเจ้าหนี้คือผู้รับเหมายังรับเงินไปไม่ได้ จะรับเงินไปได้ต่อเมือมีข้อยุติว่าทางกรมควบคุมมลพิษไม่มีสิทธิ์ร้องค่าเสียหายจากการทำละเมิด”

สำเนาหนังสือฯ ของมูลนิธิบูรณะนิเวศ มีดังนี้ 

 

(10 มี.ค. 59) เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน แขวงสามเสน เขตพญาไท กรุงเทพฯ ดาวัลย์ จันทรหั…

Posted by มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) on Thursday, March 10, 2016

ที่มาภาพ: กานต์ ทัศนภักดิ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ภาคประชาชนเตรียมร้อง ‘ประธาน คตง.’ ยับยั้งรัฐบาลจ่ายค่าโง่กรณีทุจริตคลองด่าน
https://thecitizen.plus/node/8043

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ