นิสิตเสรีนนทรีฯ ค้าน ม.เกษตรฯ ออกนอกระบบ ‘ในสภาวะไม่ปกติ’

นิสิตเสรีนนทรีฯ ค้าน ม.เกษตรฯ ออกนอกระบบ ‘ในสภาวะไม่ปกติ’

“ไหนบอกจะคืนความสุข ไฉนคืนทุกข์ให้นิสิต” ป้ายผ้า-ประกาศ ค้าน ม.เกษตรฯ ออกนอกระบบโผล่ในมหาวิทยาลัย นิสิตกลุ่มเสรีนนทรีฯ ชี้ขั้นตอนเริ่มต้นไม่เป็นประชาธิปไตย ละเลยการรับฟังความคิดเห็น สุดท้ายก็จบลงด้วยการผ่านร่าง พ.ร.บ.ในสมัยรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

20150603103945.jpg

20150603104055.jpg

20150603104118.jpg

5 มี.ค. 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวจากในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขตบางเขน ภายหลังจาก ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หรือมหาวิทยาลัยนอกระบบ 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ว่า มีการแขวนป้ายผ้าและติดป้ายกระดาษระบุข้อความค้านการนำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ออกนอกระบบ โดยกลุ่มเสรีนนทรี ม.เกษตรศาสตร์

ด้านสมาชิกกลุ่มเสรีนนทรีฯ ซึ่งเป็นกลุ่มอิสระของนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรฯ ยอมรับว่าการแขวนป้ายผ้าและติดป้ายกระดาษดังกล่าวเป็นการรณรงค์ของกลุ่มเสรีนนทรีฯ เพื่อคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ พร้อมให้เหตุผลว่า ที่ผ่านมา นิสิตไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่าจะนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบหรือไม่ เคยมีเวทีรับฟังความคิดเห็นเมื่อตอนที่มีกระแสคัดค้าน แต่เวทีเหล่านั้นก็มีธงตั้งไว้อยู่แล้ว สุดท้ายเป็นเพียงแค่เวทีให้ข้อมูล เหมือนการปรับทัศนคติ จัดเวทีให้เสร็จๆ ไป ว่ามีความชอบธรรมแล้ว

“การนำมหาลัยออกนอกระบบในช่วงเวลาที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ก็ออกตอนมีรัฐบาลไม่ปรกติทั้งนั้น หรือรัฐบาลเผด็จการ อธิการบดี หรือ สภามหาวิทยาลัยบางคนเข้าไปนั่งในตำแหน่ง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ร่าง พ.ร.บ.เอง ชงร่างเอง และโหวตเอง แสดงให้เห็นว่า เมื่อขั้นตอนเริ่มต้นไม่เป็นไปตามประชาธิปไตย ละเลยการรับความความคิดเห็น สุดท้ายก็จบลงด้วยการผ่านร่าง พ.ร.บ.ในสมัยรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย” สมาชิกกลุ่มเสรีนนทรีฯ กล่าว

สมาชิกกลุ่มเสรีนนทรีฯ ให้ข้อมูลด้วยว่า การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบมีข้อควรกังวลหลายอย่าง เช่น ความเป็นอิสระของมหาวิทยาลัยที่สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจสูงสุด ปราศจากการตรวจสอบ การทุจริตอาจทำได้ง่ายขึ้น จากกรณีสถาบันเทคโนโลยีฯ แห่งหนึ่งที่ออกนอกระบบไปแล้ว มีทุจริตโกงเงินกว่า 1,500 ล้านบาท

อีกทั้ง ความกังวลของนิสิตส่วนใหญ่คือเรื่องค่าเทอม จริงอยู่ที่ปัจจุบันค่าเทอมก็มีการขึ้นอยู่ตลอดเวลาบางก็อ้างว่าขึ้นตามสภาวะทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะออกหรือไม่ออกก็มีการปรับอยู่ตลอด แต่การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ จะทำให้ค่าเทอมถูกปรับขึ้นได้ง่ายขึ้น เช่น กรณีของมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบไปแล้วทางภาคตะวันออก ค่าเทอมคณะเภสัชฯ มีการเก็บค่าเทอมเหมาจ่ายที่สูงถึง 75,000 บาท จากเดิม เมื่อปี 53 มีการเรียกเก็บ 40,000 บาท ผ่านไป 2 ปี ขึ้นเกือบเท่าตัว กรณีดังกล่าวกรรมการสภามหาวิทยาลัยมีอำนาจเต็มในการออกระเบียบกำหนดค่าเทอม

อย่างไรก็ตาม หัวใจหลักของการคัดค้านคือเรื่องของการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบในสภาวะไม่ปรกติ ผู้บริหารเข้าไปนั่งเป็น สนช.อีกทั้ง ยังมีผู้บริหารมหาวิทยาลัยอื่นๆ เข้าไปนั่งด้วย และกำลังจะมีการผลักดันมหาวิทยาลัยที่ตนเองดูแลออกนอกระบบ ถ้า ม.นอกระบบดีจริง ไม่ควรต้องใช้วิธีการแบบนี้

ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวของร่างกฎหมายมหาวิทยาลัยนอกระบบ ขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของ สนช. ส่วนร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ถูกส่งเรื่องไปยังเลขาธิการ ครม.แล้ว เพื่อบรรจุเป็นวาระในการประชุม ครม.และ ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยศิลปากร อยู่ระหว่างการพิจารณาของรองนายกรัฐมนตรี

20150603104213.jpg

รายชื่อ อาจารย์-อธิการบดีมหาวิทยาลัย ที่เข้ารับตำแหน่ง สนช. ปี 2557

จำนวน 12 คน

นายกิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รศ.นพ.นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

นายภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายวุฒิชัย กปิลกาญจน์ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

นายวุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง

นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นายประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

นายเฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน ประธานสภาคณาจารย์นิด้า

นายนรนิติ เศรษฐบุตร นายกสภา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นางนิสดารก์ เวชยานนท์ คณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า

นายสรณ บุญใบชัยพฤกษ์ รองศาสตราจารย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ