นานาชาติแสดงความไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในประเทศไทย เมื่อวานนี้ (22 พ.ค.57) โดยเรียกร้องให้มีการนำประเทศกลับคืนสู่วิถีทางประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกาบอกว่าเหตุการณ์ครั้งนี้จะส่งผลในแง่ลบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐฯ และรัฐบาลสหรัฐฯ กำลังทบทวนความช่วยเหลือทางด้านทหารแก่กองทัพไทย
องค์การสหประชาชาติ
เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (UN) นายบันคีมูน แสดงความวิตกกังวลต่อการยึดอำนาจของกองทัพในประเทศไทย และเรียกร้องให้มีการนำประเทศกลับคืนสู่ประชาธิปไตยโดยเร็วและให้เปิดเจรจาทุกฝ่ายเพื่อสันติภาพในระยะยาว ขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้ทุกฝ่ายทำงานร่วมกัน ระงับความรุนแรง และเคารพสิทธิมนุษยชนด้วย
http://www.un.org/sg/statements/index.asp?nid=7700
สหราชอาณาจักร
แถลงการณ์จากประเทศสหราชอาณาจักร เรียกร้องให้ประเทศไทยกลับคืนสู่วิถีประชาธิปไตย โดยให้นำรัฐบาลพลเรือนที่ได้รับการเลือกตั้งกลับคืนมารับใช้ผลประโยชน์ของ ประชาชนและปฏิบัติตามพันธะหน้าที่แห่งสิทธิมนุษยชน
https://www.gov.uk/government/news/foreign-secretary-calls-for-return-to-democracy-in-thailand
ฝรั่งเศส
ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ฟรองซัวส์ ออลลองด์ ประณามการรัฐประหารของไทย โดยแถลงการณ์ที่ออกโดยสำนักเลขาธิการของออลลองด์เรียกร้องให้นำเอารัฐธรรมนูญกลับคืนมาเพื่อจัดการเลือกตั้ง และให้มีการเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนไทย
เยอรมัน
ข้อความในทวิตเตอร์ German Foreign Office ระบุว่า นายแฟรงค์-วอเทอร์ ชไตนไมเออร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ประณามการยึดอำนาจของกองทัพไทย และเรียกร้องให้เคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งขอให้นำประเทศคืนสู่กระบวนการทางการเมือง และจัดการการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด
สหภาพยุโรป
แถลงการณ์โดยโฆษกของผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปเกี่ยวกับการยึดอำนาจของทหารในประเทศไทย ระบุว่า
“เราติดตามสถานการณ์ในประเทศไทยด้วยความกังวลเป็นอย่างยิ่ง ทหารจะต้องให้การยอมรับและเคารพอำนาจฝ่ายพลเรือนภายใต้รัฐธรรมนูญว่าเป็นหลัก การพื้นฐานของธรรมาธิบาลด้านประชาธิปไตย ทั้งยังต้องยึดถือมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล รวมทั้งเสรีภาพสื่อ ที่สำคัญที่สุดคือประเทศไทยจะต้องกลับเข้าสู่กระบวนการทางด้านประชาธิปไตย ที่มีความชอบธรรมโดยเร็ว เราจึงขอเน้นย้ำถึงความสำคัญของการจัดการเลือกตั้งที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมและ น่าเชื่อถือโดยเร็วที่สุดที่สามารถจะทำได้ เรายังขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใชัความยับยั้งชั่งใจ และทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ของประเทศ”
http://www.eeas.europa.eu/statements/docs/2014/140522_03_en.pdf
สหรัฐอเมริกา
แถลงการณ์ของนาย John Kerry รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ในเว็บไซด์กระทรวงการต่างประเทศระบุว่า เขารู้สึกผิดหวังกับการตัดสินใจของกองทัพไทย และไม่มีเหตุผลอันสมควรใดในการทำรัฐประหารครั้งนี้
เขายังแสดงความห่วงกังวลกับการถูกควบคุมตัวของผู้นำของพรรคการเมืองต่างๆ และการปิดสื่อ พร้อมทั้งขอให้มีการนำประเทศกลับคืนสู่รัฐบาลพลเรือน สู่ระบอบประชาธิปไตยในทันที
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ยังบอกด้วยว่า ขณะที่สหรัฐฯ ให้คุณค่ากับความสัมพันธ์อันยาวนานที่มีต่อประชาชนไทย รัฐประหารครั้งนี้จะส่งผลทางลบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะกับกองทัพไทย โดยขณะนี้สหรัฐฯ กำลังทบทวนการให้ความช่วยเหลือทางด้านทหารแก่ไทย
http://m.state.gov/md226446.htm
ญี่ปุ่น
แถลงการณ์รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น บอกว่า “เสียใจอย่างยิ่ง” ต่อการทำรัฐประหารครั้งนี้ และเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสถาปนาระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว
http://www.mofa.go.jp/press/release/press4e_000285.html