นักกฎหมายสิทธิฯ ชี้ 5 ข้อ ‘พ.ร.บ.ชุมนุม กระทบเสรีภาพ’ ชวนร่วมจับตา

นักกฎหมายสิทธิฯ ชี้ 5 ข้อ ‘พ.ร.บ.ชุมนุม กระทบเสรีภาพ’ ชวนร่วมจับตา

20152402235905.jpg

24 ก.พ. 2558 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เผย 5 ประเด็นจับตา ร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. …  พร้อมเชิญร่วมติดตามการพิจารณารับหลักการร่างกฎหมายดังกล่าวของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 25 ก.พ.นี้

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ระบุร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. … ถือเป็นกลไกที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เสนอเพื่อนำมาใช้ในการบริหารจัดการการชุมนุมสาธารณะในประเทศไทย เพื่อให้การใช้เสรีภาพในการชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย และสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อควบคุมการชุมนุมเพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อ ความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีตลอดจนสุขอนามัยของประชาชน หรือเพื่อความสะดวกของประชาชนที่ใช้ที่สาธารณะ และไม่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น

อย่างไรก็ตาม สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ข้อสังเกตบางประการสำหรับเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวซึ่งอาจมีผลกระทบต่อเสรีภาพในการชุมนุมดังนี้

1.นิยามของผู้จัดการชุมนุม หมายถึงผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะและหมายความรวมถึงผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ และผู้ซึ่งเชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมการชุมนุมสาธารณะโดยแสดงออกหรือมีพฤติการณ์ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดให้มีการชุมนุมนั้น การให้นิยามเกี่ยวกับการเป็นผู้จัดการชุมนุมในร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะเป็นการให้ความหมายเพื่อการตีความอย่างกว้าง ซึ่งอาจส่งผลต่อการที่ต้องรับผิดหากการชุมนุมนั้นเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

2.การจำกัดพื้นที่และระยะห่างในการชุมนุมตามมาตรา 7 ห้ามชุมนุมในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ภายในรัศมี 150 เมตร ห้ามชุมนุมในรัฐสภา ทำเนียบ และศาลเว้นแต่จะจัดพื้นที่ไว้เพื่อสำหรับการชุมนุมซึ่งอาจส่งผลให้การชุมนุมไม่บรรลุเป้าหมายของการชุมนุมเพราะในวรรคท้ายให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ผู้รับมอบอำนาจสามารถสั่งห้ามการชุมนุมในพื้นที่ในรัศมีไม่เกิน 50 เมตรแม้เป็นพื้นที่ที่จัดให้ชุมนุมได้

3.มาตรา 21 กรณีมีการวินิจฉัยว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่กำหนดให้ศาลมีอำนาจออกคำสั่งยกเลิกการชุมได้นั้นหากมีการร้องขอต่อศาลโดยพนักงานผู้ดูแล เห็นว่ากลไกของศาลควรจะนำมาใช้ในกระบวนการตรวจสอบภายหลังจากมีการชุมนุมมิใช่อยู่ในขั้นตอนการออกคำสั่งเพื่อห้ามการชุมนุม

4.เขตอำนาจศาล การกำหนดให้ศาลยุติธรรม มีเขตอำนาจศาลที่จะตรวจสอบการใช้เสรีภาพในการชุมนุมและการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจในการบริหารจัดการและเข้าควบคุมการชุมนุม ในประเด็นการตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ซึ่งตามบทบัญญัติมีลักษณะเป็นการใช้อำนาจทางฝ่ายปกครอง เห็นว่าควรอยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองจึงจะเหมาะสม มีประสิทธิภาพและสอดคล้องตามหลักนิติรัฐมากกว่าการตรวจสอบของศาลยุติธรรม

5.ขาดการกำหนดกลไกและแนวทางการบริหารจัดการการชุมนุมสาธารณะเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ร่วมชุมนุมและบุคคลอื่น ในกรณีที่มีการชุมนุมมากกว่าหนึ่งกลุ่มและมีแนวโน้มที่จะเกิดการปะทะหรือความขัดแย้ง ในร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว

ทั้งนี้ สามารถดูร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. … ที่ สนช.จะพิจารณาได้ที่ http://library.senate.go.th/document/mSubject/Ext37/37392_0001.PDF และสามารถดูระเบียบวาระการประชุม สนช.ได้ที่ http://www.senate.go.th/w3c/senate/main.php?url=meeting1&mid=21375 

ภาพจาก: Human Rights Lawyers Association

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ