เวที “สิทธิผู้บริโภค: การปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค”งานสมัชชาผู้บริโภคและรณรงค์วันสิทธิผู้บริโภคสากล ร่วมชี้ กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคที่มีอยู่ยังไม่ตอบโจทย์ประชาชน ระบุขาดตัวแทนผู้บริโภคในการให้ความเห็น เสนอรัฐต้องกล้าหาญออกกฎหมายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ประชาชนรวมพลังกันผลักดัน
15 มี.ค. 2558 สารี อ๋องสมหวัง ประธานกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวในเวทีอภิปราย “สิทธิผู้บริโภค: การปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค” ในงานสมัชชาผู้บริโภคและรณรงค์วันสิทธิผู้บริโภคสากลว่า คณะกรรมาธิการฯ ได้ทำข้อเสนอกรอบยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมด 19 ประเด็น โดยมี 3 ประเด็น ที่กรรมาธิการยกร่างรับไปแล้วคือ 1.กำหนดให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค
2.รัฐต้องส่งเสริมระบบเศรษฐกิจแบบเสรีอย่างเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ และต้องป้องกันการผูกขาด ตลอดจนรัฐต้องส่งเสริมการประกอบวิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดกลาง และ 3.รัฐต้องจัดให้มีหลักประกันด้านความปลอดภัยของสินค้าและบริการ รวมถึงให้มีระบบหรือกลไกคุ้มครองผู้บริโภคตามหลักการป้องกันไว้ล่วงหน้า
ส่วนที่คณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ได้ผลักดันผ่านสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แล้ว 2 เรื่อง ได้แก่ การคิดค่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามเวลาใช้งานจริง และร่าง พ.ร.บ.องค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งรัฐบาลขอเวลา 20 วันในการขอความเห็นจากหน่วยงานต่างๆ หาก ครม.เห็นชอบก็จะส่ง สนช.ต่อไป
สารี กล่าวเพิ่มเติมถึงบทบาทหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กับ องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคว่า ไม่ได้ทำงานซ้ำซ้อนกัน โดย สคบ.นั้นมีหน้าที่ในการปรับและลงโทษผู้ประกอบการที่เอาเปรียบผู้บริโภค แต่องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคฯ จะทำหน้าที่เชิงนโยบาย ให้ความเห็นต่อหน่วยงานรัฐในการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นการทั่วไป
กรณีที่รัฐบาลประกาศลดดอกเบี้ยเงินฝากแล้ว แต่ดอกเบี้ยเงินกู้กลับไม่ลดลง เพราะไม่มีตัวแทนผู้บริโภคในธนาคารเลย ทำให้การกำกับดูแลปัจจุบันไม่มีใครนึกถึงผู้บริโภคเลย การมีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคจะช่วยเป็นปากเป็นเสียงให้ผู้บริโภคมากขึ้น หรือกรณีการขึ้นค่าโดยสารรถสาธารณะ องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคก็จะทำหน้าที่เถียงกับเจ้ากระทรวง ซึ่ง สคบ.คงไม่สะดวก
“การผลักดันให้เกิดองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคนั้นเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะรวมพลังกัน ผลักดันให้เกิดขึ้น ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะเป็นประโยชน์ต่อทุกคน รัฐบาลเองก็ต้องกล้าที่จะผลักดันให้กฎหมายตัวนี้เกิดขึ้น” สารีกล่าว
ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ กรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ด้านการเงินการธนาคาร กล่าวเสริมว่า งานของ สคบ.เป็นงานเชิงรับ เช่น รับเรื่องร้องเรียน แต่งานขององค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นงานเชิงรุก เนื่องจากที่ผ่านมา การกำหนดนโยบายของกฎหมายต่างๆ มักมีแต่ตัวแทนของภาคธุรกิจ ไม่มีตัวแทนผู้บริโภค ดังนั้น หากมีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคก็จะมีตัวแทนผู้บริโภคอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ดร.เดือนเด่น ยังกล่าวถึงการคุ้มครองผู้บริโภคในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลด้วยว่า ต้องให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น โดยชี้ว่า ปัจจุบันที่ผู้บริโภคสามารถซื้อของออนไลน์ได้ทุกที่ไม่มีพรมแดน ผู้ประกอบการในต่างประเทศนั้นหันมาคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้นแล้ว เช่น จับมือกันทำ Warranty Trust Mark หรือสัญลักษณ์แห่งความมั่นใจได้เชิงสมัครใจ เพื่อเพิ่มความมั่นใจของผู้บริโภค ดังนั้น ฝากถึงผู้ประกอบการไทยว่าควรใส่ใจคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น เพราะถือเป็นการส่งเสริมการค้า ไม่ใช่การเพิ่มต้นทุนแต่อย่างใด
“อีกเรื่องที่ต้องคำนึงถึงคือการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ในยุคดิจิทอลอีโคโนมี การให้ข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภคก็เป็นเรื่องสำคัญและมีปริมาณมากขึ้น ถือเป็นนโยบายคุ้มครองผู้บริโภคเชิงรุก ซึ่งในบ้านเรายังไม่มี” กรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ด้านการเงินการธนาคารกล่าว
ด้าน รศ.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวเน้นย้ำว่า สิทธิผู้บริโภคในกลไกต่างๆ ยังน้อยอยู่ จึงต้องเพิ่มกลไกต่างๆ เข้ามา เช่น เรื่องท้องถิ่นกับการคุ้มครองผู้บริโภค สื่อกับการคุ้มครองผู้บริโภค
ทั้งนี้ รศ.ดร.วิทยา กล่าวถึงสิ่งที่ท้าทายขณะนี้ว่า กรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภคฯ พยายามเสนอเพิ่มสัดส่วนผู้แทนภาคประชาชนด้านการคุ้มครองผู้บริโภคเข้าไปในคณะกรรมการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค 50% ก็ไม่รู้ว่าจะได้รับการตอบรับหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ท้าทายไม่ต่างจากการเสนอเพิ่มสัดส่วนผู้หญิง
ผศ.ประสาท มีแต้ม กรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ด้านบริการสาธารณะ กล่าวถึงกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนของกลุ่มผู้บริโภคโดยย้ำว่า สิทธิผู้บริโภคนั้นไม่ใช่การมอบให้กัน แต่ต้องลงมือทำเอง ทั้งนี้ เสนอแนวทางแบบสหพันธ์ผู้บริโภคสากลที่เสนอว่า ควรจะต้องคิดใหญ่และทำร่วมกันทั้งโลก งานคุ้มครองผู้บริโภคจะสำเร็จได้ เครือข่ายภาคประชาชนต้องทำงานร่วมกันแบบกระจายศูนย์ และเชื่อมต่อกันขึ้นไป โดยรู้จักใช้เทคโนโลยีให้เต็มที่อย่างมีจริยธรรมและคุณธรรม
ทั้งนี้ การอภิปราย “สิทธิผู้บริโภค: ปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค ในการประชุม “สมัชชาผู้บริโภค” จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 15-16 มี.ค.2558 ที่โรงแรมเซนจูรี่ พาร์ค ซึ่งตรงกับวันสิทธิผู้บริโภคสากล “World Consumer Rights Day” โดยในปีนี้สหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International หรือ CI) ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 220 องค์กร ใน 115 ประเทศทั่วโลก โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นหนึ่งในองค์กรสมาชิก ได้ให้ความสำคัญเรื่อง “สิทธิผู้บริโภคในการได้รับอาหารที่ดีต่อสุขภาพ” (Consumers Rights to healthy food)