จุดเทียนส่องรัฐธรรมนูญ ยื่นข้อเสนอต่อสภาปฏิรูปฯ

จุดเทียนส่องรัฐธรรมนูญ ยื่นข้อเสนอต่อสภาปฏิรูปฯ

 

สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปภาคเหนือ
จุดเทียนส่องรัฐธรรมนูญ ยื่นข้อเสนอต่อสภาปฏิรูปฯ

 21 กุมภาพันธ์ 2558 เครือข่ายภาคประชาชนภาคเหนือ จัดเวทีสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปภาคเหนือ ครั้งที่ 2 ณ สมาคม วาย.เอ็ม.ซี.เอ เชียงใหม่ ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตาม วิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ 4 ประเด็นหลักในเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนกับสิทธิชุมชน การกระจายอำนาจกับการปกครองส่วนท้องถิ่น แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ และกระบวนการออกแบบร่างรัฐธรรมนูญกับองค์กรอิสระ โดยมีเครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน เข้าร่วมกว่า 120 คน 

โดยภายหลังปิดการประชุมติดตามวิเคราห์สถานการณ์ร่างรัฐธรรมนูญ และแลกเปลี่ยนถึงสาระสำคัญ และข้อเสนอต่อการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตัวแทนสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปภาคเหนือประมาณ 30 คน เดินทางต่อไปที่ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เพื่อทำกิจกรรมสัญลักษณ์จุดเทียนส่องรัฐธรรมนูญ อ่านแถลงข่าว และยื่นข้อเสนอต่อประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ผ่านตัวแทน นายเดโช ไชยทัพ อนุกรรมการปฏิรูปการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยชุมชน (สปช.) ทั้งนี้เนื้อหาขอแถลงการณ์มีรายละเอียดดังนี้

แถลงการณ์ ความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ
โดย สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปภาคเหนือ

จากสถานการณ์ที่คณะกรรมการธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จในหลายส่วน เช่นแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ศาลและกระบวนการยุติธรรม การกระจายอำนาจและการบริหารท้องถิ่น สิทธิและเสรีภาพของประชาชน องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญ หรือส่วนอื่นๆ สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปภาคเหนือ ได้ติดตามการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด 

เห็นว่า กระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญในขณะนี้อยู่ภายใต้กฏอัยการศึก ซึ่งไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง แตกต่างจากการจัดทำรัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550 ทำให้ร่างรัฐธรรมฉบับนี้เกิดขึ้นจากความคิดเห็นของบุคคล กลุ่มบุคคลที่จำกัด จึงไม่อาจตอบสนองความต้องการ หรือข้อเสนอแนะของประชาชน

และหากพิจารณาโดยภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ทำให้เห็นได้ว่า ในการจัดทำรัญธรรมนูญครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อควบคุมจำกัดอำนาจของนักการเมือง และมุ่งเน้นกระชับอำนาจให้กับระบบราชการ สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปภาคเหนือ เห็นว่าสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ มีบทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับข้อเสนอของภาคประชาชน ดังต่อไปนี้

1) ประเด็นสิทธิชุมชน ไม่มีบทบัญญัติที่รับรองสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ทั้งที่รัฐธรรนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550 ได้รับรองสิทธิดังกล่าวไว้ 
2) ประเด็นการจัดการทรัพยกรที่ดิน ในร่างฉบับใหม่ ไม่มีหลักการกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรม ในแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญต่อการสร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยกรที่ดินของประชาชน
3) ประเด็นสภาพลเมือง ภาคประชาชนได้เสนอให้เป็นส่วนหนึ่งของการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น เพื่อทำหน้าที่ถ่วงดุลตรวจสอบการใช้อำนาจการบริหารท้องถิ่นและประเทศ แต่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้กำหนดให้เป็นเพียง “สมัชชาพลเมือง” เป็นเพียงกิจกรรมของพลเมือง ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง ยิ่งกว่านั้นกลับมีการกระชับอำนาจ โดยการจัดตั้งองค์การบริหารภาคเป็นราชการส่วนกลางที่ตั้งอยู่ในภูมิภาค เพื่อจัดทำแผนภาคให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศ และควบรวมอำนาจหน้าที่ งบประมาณ และบุคคลากรของราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ให้องค์การดังกล่าวรับผิดชอบ 
4) ประเด็นการกระจายอำนาจและการบริหารท้องถิ่น ที่กำหนดให้ผู้บริหารท้องถิ่นไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ซึ่งเป็นการขัดกับหลักการประชาธิปไตยที่ผู้ใช้อำนาจต้องมาจากฉันทานุมัติของประชาชนด้วยการเลือกตั้งโดยตรง และยืนยันว่าจะต้องมีการกระจายอำนาจให้จังหวัดที่มีความพร้อม เป็นจังหวัดปกครองตัวเอง ตามเจตนารมณ์ของภาคประชาชน
5) ประเด็นการควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กับผู้ตรวจการแผ่นดิน สภาประชานเพื่อการปฏิรูปภาคเหนือเห็นว่า จะทำให้เกิดผลกระทบกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ เนื่องจาก กสม.มีอำนาจหน้าที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของประชาชนโดยตรง แต่ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ไม่เป็นไปตามกฏหมาย จึงเป็นการทำหน้าที่ที่แตกต่างกัน ถ้าจะให้ กสม.ทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเสนอว่า ต้องให้มีกรรมการสรรหาที่เชื่อมโยงกับภาคประชาชน มีสำนักงานที่เป็นอิสระ และมีอำนาจหน้าที่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมแทนประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนได้โดยตรง

สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปภาคเหนือ ขอยืนยันว่า การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ จะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของการปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง เพื่อ “การลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มอำนาจประชาชน” และจะคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ดังกล่าวอย่างถึงที่สุด

ขอบคุณภาพและเรื่องราว Rungroj Petcharaburanin 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ