ภาพ: ชาวบ้านรวมตัวเฝ้ารอรถของนายโสภณและคณะออกมาจากที่ดินทำกินของชาวบ้าน
30 ก.ค. 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2559 เวลาประมาณ 18.00 น. ชาวบ้านกลุ่มฮักบ้านฮั่นแน้ว ต.เชียงกลม อ.ปากชม จ.เลย ประมาณ 60 คน ได้รวมตัวกันเพื่อรอเจรจาพูดคุยกับนายโสภณ เนื่องโนราช ผู้ยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ถ่านหินของ หจก.ไทยเจริญไมนิ่ง และบริษัท ซี.เอส.เอ็น ไมนิ่ง จำกัด
หลังพบว่ามีการเข้าไปในพื้นที่ เมื่อเวลาประมาณ 13.30 น. โดยนายโสภณและภรรยา พร้อมพวกอีก 2 คน พระจำนวน 6 รูป และผู้ติดตามแต่งชุดขาวอีก 3 คน ได้เดินทางโดยรถยนต์ปิกอัพจำนวน 3 คัน เข้าไปในพื้นที่การขอประทานบัตรในเขตที่ดินทำกินของชาวบ้านซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าภูเขาแก้ว-ดงปากชม เพื่อทำพิธีกรรมบางอย่างที่เสาหลักเขตการขอประทานบัตรที่ได้มาปักเอาไว้แล้วหนึ่งเดือนก่อนหน้านี้
ชาวบ้าน คาดว่าอาจมีการทำพิธีกรรม เพราะเกรงว่าเสาหลักเขตดังกล่าวจะถูกถอนออกไป จึงได้นิมนต์พระสงฆ์เข้ามาทำพิธีไสยศาสตร์ร่ายเวทมนต์อัญเชิญผีมาปกปักรักษาเสาคอนกรีตและแท่งเหล็กดังกล่าว เพื่อหวังว่าการกระทำเช่นนี้จะทำให้ชาวบ้านหวาดกลัวในเรื่องผีและจิตวิญญาณ
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2559 ชาวบ้านกลุ่มฮักบ้านฮั่นแน้ว ร่วมกับชาวบ้านหลายพื้นที่ในจังหวัดเลย โดยใช้ชื่อ ‘เครือข่ายภาคประชาชนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนจังหวัดเลย’ เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเลยเพื่อขอคัดค้าน ‘ร่าง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. ….’ ที่กำลังอยู่ในขั้นพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อยู่ในขณะนี้ ที่ศาลากลางจังหวัดเลย (คลิกอ่านข่าว: รวมพลัง ‘คนเลย’ ค้าน ‘ร่าง พ.ร.บ. แร่ ฉบับ คสช.’ หวั่นทำชุมชนล่มสลาย)
โดยกลุ่มฮักบ้านฮั่นแน้วยังได้ยื่นหนังสืออีกฉบับหนึ่งต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเลยเพื่อขอให้ยกเลิกการให้สัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ในเขตท้องที่ ต.เชียงกลม แก่เอกชน เนื่องจากบริษัทเอกชนได้เข้ามาบุกรุกที่ดินทำกินชาวบ้านด้วยการปักหมุดเขตคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ถ่านหินชนิดบิทูมินัส โดยไม่แจ้งและขออนุญาตแก่เจ้าของที่ดิน อีกทั้งหวั่นเกรงว่าหากเกิดการทำเหมืองแร่ถ่านหินขึ้นจริง พื้นที่ทำกินและห้วยน้ำลำธารที่ใช้อาศัยหาอยู่หากินส่วนใหญ่จะได้รับความเสียหายจนถึงขั้นก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน
การเข้ามาในพื้นที่ในครั้งนี้ของนายโสภณสร้างความไม่พอใจให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมากเนื่องจากไม่ได้มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า และไม่ได้รับอนุญาตจากชาวบ้านผู้เป็นเจ้าของที่ดินทำกินในพื้นที่
ชาวบ้านจึงไปรวมตัวกันที่ทางเข้าออกแยกลำห้วยผุก เพื่อรอเจรจาพูดคุยกับนายโสภณให้ทราบว่าชาวบ้านไม่ต้องการเหมืองแร่ถ่านหิน และจะไม่ยอมให้คนของเหมืองแร่เข้ามาในพื้นที่อีกต่อไป พร้อมทั้งขอให้นายโสภณยกเลิกการขอประทานบัตรในพื้นที่ไปเสีย เพื่อเห็นแก่ความเดือนร้อนของชาวบ้านจากผลกระทบและการสูญเสียที่ดินทำกินที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนจากการทำเหมืองแร่ถ่านหิน รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติและป่าต้นน้ำลำธารที่หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตชาวบ้านในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบต่อเนื่องตามมาด้วย
เมื่อรถของนายโสภณและพวกอีก 2 คันเดินทางมาถึง ชาวบ้านที่รวมตัวกันได้ขอตรวจบัตรคนขับรถทุกคัน พร้อมทั้งถามถึงจุดประสงค์ของการเดินทางมาในครั้งนี้ แต่มีเหตุชุลมุนเกิดขึ้นเมื่อรถของนายโสภณซึ่งเป็นคันสุดท้ายไม่ยอมจอดให้ชาวบ้านตรวจบัตรประชาชน และมีความพยายามที่จะขับรถฝ่ากลุ่มชาวบ้านที่ยืนขวางหน้ารถอยู่ ซึ่งชาวบ้านพยายามให้คนขับหยุดรถเพื่อที่จะได้พูดคุยกับนายโสภณที่นั่งอยู่ข้างคนขับ เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้ชาวบ้านอย่างมาก
หลังจากนั้นนายโสภณได้ยอมเปิดกระจกหน้าต่างรถยนต์พูดคุยกับชาวบ้าน และชาวบ้านได้ถามถึงกรณีการนำเสาคอนกรีตและแท่งเหล็กหล่อปูนฝังลงไปในที่ดินทำกินของชาวบ้าน
นายโสภณกล่าวว่า “ไม่ได้ทำอะไรในพื้นที่ แต่เป็นเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดเลยเป็นผู้ดำเนินการดังกล่าว” พร้อมทั้งกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “พื้นที่ตรงนั้นเป็นเขตป่าอนุรักษ์ ให้ชาวบ้านรอการทำประชาคมหมู่บ้านที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไป จะเอาหรือไม่เอาก็อยู่ที่มือของคุณ” นายโสภณกล่าวอย่างเร่งรีบและมีอารมณ์ และพยายามบ่ายเบี่ยงไม่ตอบคำถามใด ๆ อีก ก่อนที่จะขับรถออกไป
จากการสอบถามชาวบ้านได้ความว่า เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานายโสภณพร้อมด้วยลูกจ้าง 5-6 คน และเจ้าหน้าที่จากอุตสาหกรรมจังหวัดเลยได้เข้ามาดำเนินการตามคำขอประทานบัตรโดยทำการฝังเสาคอนกรีตและแท่งเหล็กหล่อปูนลงไปในที่ดินทำกินของชาวบ้านจำนวนอย่างน้อย 40 ราย เท่าที่สำรวจพบเสาคอนกรีตและแท่งเหล็กหล่อปูน โดยพลการ ไม่แจ้งการเข้ามาในที่ดินทำกินของชาวบ้านให้ทราบ
อีกทั้งในระหว่างฝังเสาคอนกรีตและแท่งเหล็กหล่อปูนนายโสภณจะทำตัวเป็นร่างทรงพนมมือและกล่าวอัญเชิญวิญญาณ ‘ปู่ดำ’ ให้มาปกปักรักษาเสาคอนกรีตและแท่งเหล็กที่ฝังเอาไว้ในที่ดินทำกินชาวบ้าน
ต่อมา หลังจากฝังเสาคอนกรีตและแท่งเหล็กเสร็จไปแล้ว ชาวบ้านจึงเริ่มตั้งคำถามมากขึ้นว่าเหตุใดนายโสภณและอุตสาหกรรมจังหวัดจึงเข้ามาทำการฝังเสาคอนกรีตและแท่งเหล็กในที่ดินทำกินของชาวบ้านได้โดยไม่แจ้งและไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของที่ดิน แต่กลับได้รับคำขู่คืนมาว่าที่ดินทำกินของชาวบ้านที่นายโสภณและอุตสาหกรรมจังหวัดเลยเข้ามาทำการรังวัดกำหนดเขตคำขอประทานบัตรนั้นชาวบ้านไม่มีสิทธิ์ในที่ดินทำกิน เพราะเป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าภูเขาแก้ว-ดงปากชม
หากชาวบ้านไปร้องเรียนว่านายโสภณและอุตสาหกรรมจังหวัดเลยเข้ามารังวัดฯ โดยบุกรุกที่ดินทำกินของชาวบ้าน ก็จะไปร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่ป่าไม้เช่นเดียวกันว่าชาวบ้านบุกรุกที่ดินป่าสงวนฯ ทั้ง ๆ ที่ที่ดินทำกินของชาวบ้านทั้งหมดได้ถูกกันเขตออกจากป่าสงวนแห่งชาติป่าภูเขาแก้ว-ดงปากชมให้เป็นที่ดินทำกินของชาวบ้านทั้ง 2 หมู่บ้านแล้วตั้งแต่ปี 2552 แต่เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่รู้สิทธิตัวเองและกฎหมายที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าวจึงทำให้หวาดกลัวว่าเจ้าหน้าที่ป่าไม้จะมายึดที่ดินทำกินของตนไป
เรื่องราวดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับชาวบ้านมากขึ้น จนเมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2559 ชาวบ้านกว่า 500 คน รวมตัวเดินรณรงค์และจัดเวทีคัดค้านการขอประทานบัตรเหมืองแร่ถ่านหินของนายโสภณ และกดดันให้ผู้ใหญ่บ้านบ้านคอนสา หมู่ 4 และบ้านสาธร หมู่ 10 ให้ส่งคืนทรัพย์สินที่ได้รับมอบมา ได้แก่ เต็นท์สนามผ้าใบหมู่บ้านละ 2 เต็นท์ แก้วน้ำหมู่บ้านละ 200 ใบ โต๊ะยาวหมู่บ้านละ 4 ตัว เก้าอี้พลาสติกหมู่บ้านละ 200 ตัว เครื่องเสียงพร้อมไมโครโฟนกระเป๋าหิ้วหมู่บ้านละ 1 ตัว ให้นายโสภณ เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา