คนเชียงใหม่ออกมาเลือกตั้ง ส.ส. ร้อยละ ๖๗.๖๒ ลดจากเมื่อปี ๒๕๕๔ ที่เคยสูงถึงร้อยละ ๘๓
นายสุชาติ ใจภักดี ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่าขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเชียงใหม่ได้สรุปข้อมูลการใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ (ไม่เป็นทางการ) จังหวัดเชียงใหม่ จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ๑,๒๒๔,๑๘๖ คน จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ๘๒๗,๘๐๘ คน คิดเป็นร้อยละ ๖๗.๖๒
เขตเลือกตั้งที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งคิดเป็นร้อยละมากที่สุด คือ เขตเลือกตั้งที่ ๙ (อ.แม่วาง จอมทอง ดอยหล่อ กัลยาณิวัฒนา อ.แม่แจ่ม (เฉพาะ ต.แม่นาจร) และสะเมิง (เฉพาะ ต.ยั้งเมิน แม่สาบ และบ่อแก้ว) ร้อยละ ๗๗.๘๕ รองลงมาคือเขตเลือกตั้งที่ ๗ (อ.แม่ริม แม่แตง (เว้น ต.แม่หอพระ) และ อ.เมือง (เฉพาะ ต.สันผีเสื้อ) ร้อยละ ๗๖.๘๕ ส่วนเขตเลือกตั้งที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง คิดเป็นร้อยละน้อยที่สุด ๘ คือ เขตเลือกตั้งที่ ๑ ร้อยละ ๔๙.๖๕
จำนวนบัตรดี หมายถึง บัตรเลือกตั้งที่นับเป็นคะแนน แบบแบ่งเขต คิดเป็นร้อยละ ๖๓.๕๙ มากที่สุดได้แก่ เขตเลือกตั้งที่ ๘ คิดเป็นร้อยละ ๗๑.๗๙ แบบบัญชีรายชื่อ คิดเป็นร้อยละ ๗๕.๓๘ มากที่สุดได้แก่ เขตเลือกตั้งที่ ๑๐ คิดเป็นร้อยละ ๘๐.๐๕
จำนวนบัตรเสีย แบบแบ่งเขต คิดเป็นร้อยละ ๑๕.๗๐ มากที่สุด ได้แก่ เขตเลือกตั้งที่ ๕ คิดเป็นร้อยละ ๓๔.๗๓ แบบบัญชีรายชื่อ คิดเป็นร้อยละ ๗๕.๓๘ มากที่สุด ได้แก่ เขตเลือกตั้งที่ ๖ คิดเป็นร้อยละ ๑๐.๙๓
จำนวนบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน แบบเบ่งเขต คิดเป็นร้อยละ ๑๓.๖๗ มากที่สุด ได้แก่ เขตเลือกตั้งที่ ๔ คิดเป็นร้อยละ ๑๗.๔๔ แบบบัญชีรายชื่อ คิดเป็นร้อยละ ๑๕.๓๖ มากที่สุด ได้แก่ เขตเลือกตั้งที่ ๑ คิดเป็นร้อยละ ๒๓.๗๘
ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการจะต้องรอผลการเลือกตั้งล่วงหน้าในหน่วยเลือกตั้งที่ไม่สามารถเปิดการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๕๗ ได้ ทั้งนี้ กกต.ได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้าในหน่วยเลือกตั้งดังกล่าวในวันอาทิตย์ที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ซึ่งหลังจากนั้นสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทุกจังหวัดจะนำผลการเลือกตั้งของวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ มารวมกับผลการเลือกตั้งล่วงหน้าใหม่จากนั้นจะประกาศผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ แล้วจึงสรุปผลส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งรับรองเพื่อประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการต่อไป
อนึ่ง สถิติการมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งของคนเชียงใหม่ครั้งนี้ที่คิดเป็นร้อยละ ๖๗.๖๒ถือว่าลดลงจากการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อปี ๒๕๕๔ ที่ครั้งนั้น จังหวัดเชียงใหม่ครองอันดับผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งเป็นอันดับ ๒ ของประเทศ คือร้อยละ ๘๓.๑๓ รองจากจังหวัดลำพูน ที่เป็นอันดับ ๑ มีผู้มาใช้สิทธิร้อยละ ๘๘.๖๑และมีอันดับ ๓ คือตรัง คิดเป็นร้อยละ ๘๒.๖๕