คนริมโขงกระทบหนัก ‘น้ำโขงผิดฤดู’ – นักวิชาการแนะฟังชาวบ้านก่อนไปประชุมลุ่มน้ำโขงที่จีน

คนริมโขงกระทบหนัก ‘น้ำโขงผิดฤดู’ – นักวิชาการแนะฟังชาวบ้านก่อนไปประชุมลุ่มน้ำโขงที่จีน

นักวิชาการแนะผู้นำประเทศฟังชาวบ้านก่อนร่วมประชุมกรอบความร่วมมือแม่น้ำโขง ชี้ยุทธศาสตร์จีนยึดภูมิภาคนี้ สภาชุมชนลุ่มน้ำโขงอีสานโวย ปริมาณน้ำเพิ่มสูงผิดฤดูกาลสร้างความเสียหาย นักอนุรักษ์เผยแผนจีนเตรียมสร้างเขื่อนกั้นโขงอีก ห่างไทยแค่ร้อยกว่ากิโลเมตร 

20162103012520.jpg

ภาพ: เชียงคาน เมื่อ 19 มี.ค. 2559

20 มี.ค. 2559 นายประยูร แสนแอ สมาชิกกลุ่มประมงพื้นบ้าน อ.เชียงคาน จ.เลย เปิดเผยถึงกรณีที่ทางการจีนประกาศจะปล่อยน้ำจากเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนบนเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยบรรเทาสถานการณ์ภัยแล้งในประเทศลุ่มแม่น้ำโขงว่า ขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นถึง 2 เมตร ทำให้น้ำท่วมพื้นที่หาดสำคัญในเขต อ.เชียงคาน คือหาดไข่ และแก่งคุดคู้ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้น้ำในแม่น้ำโขงลดลงตามปกติของฤดูแล้ง คือน้ำแห้งจนเห็นก้อนหินและหาดทรายโผล่ขึ้นมา แต่เวลานี้น้ำขึ้นท่วมหาดจนมองเห็นเพียงต้นไคร้น้ำ 4-5 ต้นเท่านั้น โดยช่วงน้ำที่น้ำโขงลดระดับ ทำให้ไก หรือไค (สาหร่ายแม่น้ำโขง) เกิดออกมาตามหาดหิน แต่เมื่อน้ำในแม่น้ำโขงกลับเพิ่มขึ้นและไหลแรง ไกจึงหลุดออกมาติดแห อวนของชาวบ้านเป็นอย่างมาก

นายประยูรกล่าวต่อไปว่า ตนและเพื่อนบ้านที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงทราบข่าวจากโทรทัศน์ ที่มีการรายงานข่าวเรื่องเขื่อนจีนระบายน้ำ และรู้สึกกังวลแต่ไม่รู้จะทำอย่างไร ทราบจากข่าวว่าจีนจะเปิดน้ำถึงวันที่ 10 เมษายน ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มฤดูกาลหาปลาในแม่น้ำโขง เฉพาะบ้านเหนือ อ.เชียงคาน ก็มีคนหาปลาประมาณ 50 คน ซึ่งกำลังลำบากกับการหาปลาช่วงนี้เพราะน้ำโขงเพิ่มระดับขึ้นอย่างกะทันหัน ตนอยากให้แม่น้ำโขงได้ไหลตามสภาพธรรมชาติแบบเดิมมากกว่า

“พวกเราก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ได้แต่ยอมรับกันไป แม้น้ำโขงจะเพิ่มขึ้นมากกลางหน้าแล้งแบบนี้ เราก็ยังต้องหาปลาเช่นเดิม ผมได้ยินว่าจะมีเขื่อนสานะคาม ที่สร้างกั้นน้ำโขงเป็นแห่งที่ 4 ใกล้ๆ อ.เชียงคาน คิดว่าอนาคตน่าจะลำบาก เพราะแม่น้ำโขงมีเขื่อนเต็มไปหมด” นายประยูร กล่าว

20162103012641.jpg

ภาพ: นครพนม มี.ค. 2559

สภาชุมชนลุ่มน้ำโขงอีสานโวย ปริมาณน้ำเพิ่มสูงผิดฤดูกาลสร้างความเสียหาย

ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่สำรวจชุมชนของเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มน้ำโขงภาคอีสาน (คสข.) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าชาวบ้านที่หาดแห่ ต.น้ำก่ำ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ต่างวิตกกังวล กรณีที่น้ำในแม่น้ำโขงขึ้นลงผิดปกติ ซึ่งเกิดขึ้นในฤดูแล้งหลายปีที่ผ่านมา ผลที่เกิดขึ้นคือหาดทรายหายไป ร่องน้ำเปลี่ยน พื้นที่ริมโขงหายไป พื้นที่ปลูกผักริมโขงลดลง และกระทบต่อรายได้จากการท่องเที่ยวของชุมชน 

รายงานภาคสนามของ คสข. ระบุว่ากรณีที่เขื่อนจีนปล่อยน้ำในปริมาณ 2,100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ชาวบ้านกังวลว่าจะทำให้น้ำโขงขึ้นมาหาดทรายซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของท้องถิ่น ทำให้การลงทุนในธุรกิจท่องเที่ยวสูงขึ้น ร้านค้าริมหาดได้รวมกันทำสะพานเชื่อมจากชายฝั่งไปยังร้านค้าบนหาดทราย ซึ่งต้องออกแบบความสูง ความแข็งแรงทนทาน เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ในขณะที่ผู้นำท้องถิ่นก็ขาดข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผลกระทบจากการปล่อยน้ำจากเขื่อนครั้งนี้

รายงานของ คสข.ระบุด้วยว่าเจ้าของร้านค้าชายหาดแจ้งว่าราว 5 ปีที่แล้วสามารถตั้งร้านที่หาดแห่ได้ ตั้งแต่ก่อนช่วงปีใหม่ ซึ่งเป็นช่วงฤดูแล้งที่น้ำโขงค่อยๆ ลดระดับลง หาดแห่จะอยู่จนถึงช่วงหลังสงกรานต์ จนเมื่อถึงฤดูฝนก็จะจมไปเมื่อน้ำโขงเพิ่มระดับตามฤดูกาล ชาวบ้านแถบนี้มีรายได้จากการขายอาหารเครื่องดื่ม ในเทศกาลท่องเที่ยวหน้าแล้งราว 5-6 เดือน (ธันวาคม-เมษายน) ประมาณ 5 แสนถึง 1 ล้านบาทต่อ 1 ร้านค้าหรือเฉลี่ยเดือนละเกือบแสนบาท แต่ 2-3 ปีที่ผ่านมา น้ำโขงเปลี่ยนแปลงมาก ระดับน้ำขึ้นลงไม่ตามฤดูกาล

เจ้าของร้านค้ารายหนึ่งกล่าวว่า เพิ่งลงตั้งร้านเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากน้ำโขงเพิ่งลดระดับ แต่พอรู้ข่าวการปล่อยน้ำของจีนอีกระลอกจนถึงเดือนเมษายน สร้างความวิตกกังวลอย่างมาก

“เราเคยวางแผนกันได้ว่า หน้าแล้ง หน้าฝน จะทำอะไร คำนวณราคาสินค้าที่ขายกันได้ว่าจะขายราคาเท่าไหร่ นานเท่าไหร่ ตอนนี้ออกแบบวางแผนไม่ได้เลย ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างก็บ่นว่า หาที่เที่ยวเล่นน้ำริมโขงช่วงสงกรานต์ได้ยาก แก่งกระเบา จ.มุกดาหาร ก็แทบร้าง พวกเขารู้สึกว่าแม่น้ำโขงไม่ปลอดภัย น้ำขุ่น ไม่ใส ไม่น่าเล่น และราคาอาหารเครื่องดื่มก็ราคาแพง เพราะพ่อค้าแม่ค้าต้องลงทุนมากขึ้น ช่วงเวลาในการขายสินค้าน้อยลง เดือดร้อนไปตามๆ กัน” เจ้าของร้านอาหารรายนี้ระบุ

20162103012911.jpg

20162103012945.jpg

ภาพ: บึงกาฬ 20 มี.ค. 2559

นักวิชาการแนะฟังชาวบ้านก่อนร่วมประชุมแม่น้ำโขง ชี้ยุทธศาสตร์จีนยึดภูมิภาคนี้

ด้าน ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ความร่วมมือแม่น้ำโขง-ล้านช้าง ที่จีนได้พยายามเป็นผู้นำนั้นคือการพยายามยึดกุมการเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้โดยเบ็ดเสร็จ ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงโดยมียูนนานเป็นประตู และใช้เขตปกครองตนเองมณฑลกวางสีเป็นประตูสู่อาเซียน ซึ่งการสร้างกรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขงโดยการนำของจีน เป็นไปตามแนวคิดเสรีนิยมใหม่ ที่ให้เกิดการสะสมทุน 

ดร.ไชยณรงค์กล่าวว่า การประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่น้ำโขง-ล้านช้างครั้งที่ 1 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 มีนาคม ที่ประเทศจีนนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นที่ก็คงไม่พ้นที่จะไปเพื่อผลักดันให้ทุนได้ทำงานได้ง่ายขึ้น และคนที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดคือ กลุ่มทุน นายทุนเท่านั้น คนที่เสียประโยชน์มากที่สุดคือ ชาวบ้าน 

ยกตัวอย่างการที่จีนได้พยายามสร้างอำนาจเบ็ดเสร็จเรื่องการจัดการแม่น้ำโขงด้วยการสร้างเขื่อนต้นแม่น้ำโขง และปล่อยน้ำออกมาช่วงหน้าแล้งอย่างที่เป็นข่าวกระแสดังอยู่ตอนนี้ การปล่อยน้ำช่วงหน้าแล้งทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่แปลงเกษตรริมโขงของชาวบ้าน ท่วมไกหรือสาหร่ายของแม่น้ำโขง การกระทำนี้ถือว่าจีนได้ยึดอำนาจเบ็ดเสร็จไปแล้ว ปัญหาเรื่องการจัดการแม่น้ำโขงมันอยู่ที่ ชนชั้นนำในประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างไม่ได้แยแส และสำนึกปัญหาอันใหญ่หลวงของประชาชนอย่างแท้จริง 

“การไปประชุมที่ประเทศจีนในครั้งนี้ ก่อนไปผู้นำควรที่จะไปรับฟังความเดือดร้อนของชาวบ้านริมโขงทั้ง 8 จังหวัดบ้าง ควรจะไปฟังความทุกข์ยาก ความคิดและความต้องการที่แท้จริงของชาวบ้านในการจัดการแม่น้ำโขงอย่างไร นี่ถือเป็นหลักธรรมาภิบาลสำคัญในการบริหารจัดการแม่น้ำโขง และเห็นว่าการประชุมครั้งนี้มีใจความสำคัญว่าจะความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งมันเป็นไปได้ยาก เพราะที่ผ่านมาความร่วมมือต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแม่น้ำโขงไม่ได้เป็นไปตามหลักการการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง ประสบการณ์การพัฒนาลุ่มน้ำโขงที่ผ่านมามีแต่ยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และทำลายระบบเศรษฐกิจและระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมของประชาชนลุ่มน้ำโขง” ดร.ไชยณรงค์ กล่าว

20162103013102.jpg

ภาพ: เชียงของ 20 มี.ค. 2559

นักอนุรักษ์เผยจีนเตรียมสร้างเขื่อนกั้นโขงอีก ห่างไทยแค่ร้อยกว่ากิโลเมตร 

นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรงลุ่มน้ำโขง- ล้านนา จ.เชียงราย กล่าวว่าการที่เขื่อนจีนปล่อยน้ำลงมาในครั้งนี้ถือเป็นผลประโยชน์ของจีนโดยตรง เพราะเขื่อนได้ทั้งปั่นไฟฟ้า และระบายน้ำให้เรือจีนล่องลงมาค้าขายที่เชียงแสน ซึ่งเห็นชัดเจนแล้วว่าเวลานี้จีนสามารถใช้เขื่อน 6 แห่งควบคุมแม่น้ำโขงได้ทั้งหมด ขณะที่รัฐบาลประเทศท้ายน้ำยังอาจห่วงผลประโยชน์อื่นๆ จากประเทศจีน ยังคิดว่าจีนใจดี ไม่คิดบ้างว่าความเสียหายที่เกิดกับท้องถิ่นและประชาชนนั้นก็ความเสียหายที่สำคัญเช่นกัน การที่แม่น้ำโขงขึ้นท่วมกลางหน้าแล้งแบบนี้สิ่งที่เกิดคือผลกระทบต่อระบบนิเวศ ซึ่งกระทบถึงวิถีชีวิตท้องถิ่นที่สัมพันธ์กับแม่น้ำโขง สิทธิของชุมชนถูกลิดรอนไปจนหมดสิ้น 

“ตอนนี้ยังมีการเริ่มเตรียมการก่อสร้างเขื่อนปากแบง โดยบริษัทจีนและไทยจะสร้างกั้นแม่น้ำโขงที่ท้ายน้ำจาก อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย เพียงราวร้อยกิโลเมตร เท่ากับว่าแม่น้ำโขงของประเทศไทย บริเวณ อ.เชียงแสน อ.เชียงของ อ.เวียงแก่น ต้องกลายเป็นพื้นที่ระหว่าง 2 เขื่อน คือเขื่อนปากแบง และเขื่อนจิงหง ที่เชียงรุ้ง สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับประชานแถบนี้ใครจะบอกได้บ้าง ผมไม่แน่ใจว่าการที่จีนปล่อยน้ำอ้างแก้ปัญหาภัยแล้งครั้งนี้ พร้อมกับป่าวประกาศถึงผลดีของการสร้างเขื่อน เป็นเพราะเหตุที่ต้องการสร้างเขื่อนเพิ่มขึ้นในแม่น้ำโขงหรือไม่” นายสมเกียรติ กล่าว

20162103013148.jpg

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ