ภาวะโลกร้อนกับอนาคตเกษตรกร จ.พัทลุง

ภาวะโลกร้อนกับอนาคตเกษตรกร จ.พัทลุง

ภาคการเกษตรเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นภาคส่วนที่ผลิตอาหารเลี้ยงประชากรและสร้างรายได้ให้แก่ประเทศจำนวนมาก ความมั่นคงของภาคการเกษตรนั้นส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ภาคการเกษตรไทยตกอยู่ในภาวะเสี่ยงตลอดมา

ซึ่งจังหวัดพัทลุง  เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพทางด้านการเกษตร  ข้อมูลจากสำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุงระบุว่าคนพัทลุงมีครัวเรือนเกษตรกรคิดเป็น 62% ของพื้นที่ทั้งหมด และเป็นพื้นที่เป็นแหล่งผลิตข้าวที่สําคัญของภาคใต้ สามารถปลูกและผลิตได้มากเป็นลําดับที่ 3 ของภาคใต้  ในช่วงที่ผ่านมาจังหวัดพัทลุงประสบภัยพิบัติด้านการเกษตรจากภัยธรรมชาติหลายรูปแบบ ภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง  และ น้ำท่วม อยู่ตลอดกลายเป็นจังหวัดที่ประสบอุทกภัยเป็นประจำทุกปี

แต่ที่ผ่านมาเราเห็นเกษตรกรมีการปรับตัวอยู่เสมอ รับมือสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเห็นได้จากวิถีชีวิต เช่น การปรับปฏิทินการปลูกข้าวเพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนถึงเวลาน้ำท่วม  ปลูกข้าวสายพันธุ์ที่ทนกับสภาพถูมิอากาศ และ การเลือกพืชปลูกที่ใช้น้ำน้อย   แต่จะทำอย่างไรที่เกษตกรจะลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติได้มากขึ้น รวมถึงการเกิดกลไกหรือแผนที่จะทำให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ล้วนเป็นโจทย์สำคัญ

วันนี้ออกเดินทางมาที่ สวนลุงนวย : ศูนย์เรียนรู้เกษตรผสมผสานตั้งอยู่ที่ ตำบลชุมพล อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง เปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ทางการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่ ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ และนำไปปฏิบัติในพื้นที่ของตัวเองและ พื้นที่อำเภอศรีนครินทร์นี้เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ มีการผลิตทางด้านการเกษตรที่หลากหลาย อาทิ ทำนา ทำสวนยางพารา สวนผลไม้ ประมงน้ำจืด และปศุสัตว์  ซึ่งแต่ละปีเกษตกรต้องเจอสภาพอากาศแปรปรวนทางธรรมชาติอยู่บ่อยครั้ง

บวรลักษณ์ คงปาน สมาคมข้าวสังข์หยดกล่าวว่า เกษตกรไม่มีความรู้ถึงปัญหาโลกร้อนโลกรวนขนาดนี้ แต่เกษตกรมีภูมิปัญญาของชาวบ้าน เหมือนฤดูปีนี้เขาจะบอกเลยว่าต้องหว่านข้าวสังข์หยดเดือนสิงหาคมไม่งั้นน้ำจะท่วม เพราะช่วงปลายเดือนเป็นช่วงน้ำท่วม ส่วนเดือนมกราคมจะแล้ง ที่ผ่านมาเกษตกรจะมีปัญหาเรื่องการเพาะปลูก ที่ผ่านมารัฐช่วย แต่อาจจะช่วยไม่ตรงจุดมากนักอาจจะมีการเยียวยาเมื่อเเปลงนาเสียหายจากอุทกภัย แต่การเกี่ยวข้าวเวลาเกิดอุทกภัย ไม่ได้มาดูในรายละเอียดว่า เกษตกรขายข้าวได้ในราคาเท่าไหร่ อาจจะต้องมีเเผนช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร เเละมีกลไกเฝ้าระวังและติดตามเกษตรกร ต้องมีระบบประกันบริหารจัดการความเสี่ยงทางธรรมชาติและความผันผวนของราคาที่เกษตกรต้องเจอ

สำหรับชาวนาเเล้วยังขาดความรู้หากเราทำนาเสร็จแล้ว นาที่ว่างเราจะเพาะปลูกอะไรต่อที่จะให้เกิดรายได้เพื่อไม่ให้ที่ดินว่าง และหากทำไปแล้วชาวนาเองก็มีความกังวลอีกว่าทำไปแล้วจะขายใคร เพราะทำการตลาดไม่เป็น ที่สำคัญการทำเกษตรสำคัญคือเครื่องจักรและน้ำ เราต้องมีความรู้ว่าฤดูการไหนเราจะทำปลูกอะไร ใช้เครื่องจักรตัวไหน น้ำมีปริมาณเท่าไหร่ เพราะแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน และตอนนี้ทางกลุ่มหันมาทำเกษตกรอินทรีย์ ใช้วิธีการหมัก ใช้มูลสัตว์ในท้องถิ่น แม้เราจะมีที่ดินไม่มากแต่ผลผลิตเราได้สูง เเละเราลดการเผาด้วย

ทิพย์ทิวา สัมพันธ์มิตร มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวว่า เกษตกรในบ้านเรายังขาดข้อมูลเรื่องภาวะโลกร้อนมาก จริงมีข้อมูลมาตั้งแต่ปี 2550 เป็นความจริงที่โลกไม่อยากที่จะรู้ ณ วันนี้ต้องรู้เพราะผลกระทบมาถึงตัวเกษตกรแล้ว เมื่อก่อนเคยมีข้อมูลออกมาว่าตัวของก๊าชเรือนกระจกสามารถส่งผลกระทบโดยตรง คือทำให้โลกมีพลังงานความร้อนสะสมอยู่บนผิวโลกและชั้นบรรยากาศมากขึ้น อันเป็นต้นเหตุให้พื้นผิวโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น ที่มีแต่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์  แต่ ณ วันนี้ 16 ปีมา มีการเปิดเผยมาในข้อมูลพบว่าเกิดผลกระทบชัดเจนไม่ว่าจะเป็น แล้ง น้ำท่วม 

เกษตกรอาจจะลองดูว่ามีใครสักกี่คนที่ปลูกพืชแล้วดูทิศทางพยากรณ์อากาศ รับข้อมูลจากรัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือแม้แต่การวางแผนการใช้ประโยชน์  ซึ่งภาคเกษตกรไม่ได้ปลูกพืชแค่ให้คนกินอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องอาหารพืชที่เราต้องจำแนกสำหรับคน สัตว์ พลังงาน ที่จำเป็นต้องใช้ฐานข้อมูลในการวางแผนทั้งสิ้น ซึ่งต้องจัดการเชื่อมโยงกับแหล่งน้ำที่มีในพัทลุงให้ได้  สามารถที่ทำนายเรื่องการใช้ปริมาณน้ำในพื้นที่แล้ววิเคราะห์ ว่าจะต้องปลูกอะไรให้เหมาะสมกับพื้นที่ อนาคตหากแห้งแล้งผลผลิคก็จะลดลง ราคาที่เราต้องจ่ายก็จะสูงขึ้นก็มีผลกระทบตามมาของความไม่มั่นคงทางอาหาร  เกษตกรต้องใช้ฐานข้อมูลในการขับเคลื่อน สร้างกลุ่ม สร้างพลัง ทำงานเชื่อมโยงกันเเละวิเคราะห์ประเมินพื้นที่ให้ได้

เทพรัตน์ จันทพันธ์ รักษาการเเทนผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา กล่าวว่า เรามีข้อมูลผู้ประสบภัยพิบัติโดยรอบขอบทะเลสาบ ที่ผ่านมาเราเห็นชาวบ้านก็มีการปรับตัวทำนาหลังน้ำท่วม  ถ้าในเชิงภาพการจัดการเราจะเห็นพัทลุง มีลุ่มน้ำ 7 ลุ่มน้ำของพื้นที่ทั้งหมด ความยาวอยู่ที่ 30-40 กิโลเมตรซึ่งระยะทางจากต้นน้ำถึงปลายน้ำสั้นมาก เเต่ก็มีความหลากหลายสูง สิ่งหนึ่งที่เห็นฐานของภูมินิเวศแบบนี้ทำให้เห็นความหลากหลายของพันธุ์พืช และความหลากหลายทางการเกษตรสูง ทั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเรามีระบบชลประทานเต็มพื้นที่ เรามีคลองธรรมชาติ  แต่เราจะหารูปแบบการจัดการแบบไหนที่เหมาะกับพื้นที่ เพราะเมื่อสภาพอากาศเปลี่ยนตัวของพืชผลทางการเกษตรก็ตกต่ำ

พัทลุงมีความหลากหลายทางพันธุกรรม ต่อพื้นที่สูงมาก จากที่ลงพื้นที่สำรวจข้อมูล หนึ่งอำเภอมีพันธุ์กรรมข้าว 18 สายพันธ์ุซึ่งถือว่าเยอะมาก  เเต่สิ่งที่ต้องคิดเเละขยับต่อ คือสิ่งเหล่านี้เป็นฐานความมั่นคงทางอาหารที่สามารถสร้างมูลค่าสูงได้  และข้าวพันธุ์เล็บนก ข้าวพันธ์ุข้าวเหนียวดำ มีงานวิจัย เป็นข้าวพันธุ์ที่เหมาะกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิกาศ เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่สามารถปรับตัวได้ โดยข้าวพันธุ์พื้นเมืองจะเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมกับภูมินิเวศ พอภูมินิเวศเปลี่ยนมันก็จะปรับตัวตาม หลักการสำคัญในการอนุรักษ์ คือเรื่องของ ยืนแบงค์ เเละการเก็บพันธุ์ในแปลงเดิม อันนี้ก็จะมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เหมาะสมกับพื้นที่ ทางออกคือ เราต้องจัดเก็บพันธุ์กรรมข้าวเพื่อความมั่นคงทางอาหาร เเละทำให้ทุกท้องถิ่นสามารถจัดเก็บพันธุ์กรรมของตัวเองได้ ก็จะทำให้ยั่งยืนได้

รับฟังข้อมูลเพิ่มเติม

หลังจากอ่านชุดข้อมูลเเล้วทางรายการได้จัดทำฉากทัศน์ตั้งต้นให้ทุกท่านได้ลองเลือกกันดูว่า ฉากทัศน์ไหนที่ทุกคนอยากจะให้เกิดขึ้นจริง

ฉากทัศน์ที่1 เกษตรกร มีหลักประกันพืชผลทางการเกษตร (รัฐจัดการระบบ)

  • ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า  ผลกระทบของเอลนีโญที่มีต่อภาคเกษตรไทย ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี และต่อไปถึงปีในปี 2567 คงมีความรุนแรงขึ้น สร้างความเสี่ยงต่อผลผลิตสินค้าเกษตรให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
  • พัฒนาระบบการคาดการณ์สภาพอากาศและแนวโน้มผลกระทบด้วยแบบจำลองคณิตศาสตร์ ซึ่งทำได้ในระยะปีต่อปี  ต้องผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นในการสังเกตการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ เพื่อให้เกษตรกรสามารถจัดการการผลิตเพื่อลดความเสี่ยง อาทิ การเลือกชนิดพืช เปลี่ยนแปลงช่วงเวลาเพาะปลูก  การจัดดิน การจัดการแหล่งน้ำด้วยการขุดสระเพื่อกักเก็บน้ำในช่วงฤดูกาลเพาะปลูก 
  • รัฐบาลวางแผนรับมือ ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรม และสิ่งก่อสร้าง ทุ่มงบประมาณในการพัฒนาแหล่งน้ำเละทำให้ชลประทานที่มีอยู่อย่างครอบคลุม
  • การพัฒนาแหล่งน้ำและระบบชลประทานเพื่อป้องกันและลดผลกระทบของน้ำท่วมและภัยแล้ง
  • จัดทำเเผนช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร เเละมีกลไกเฝ้าระวังและติดตามเกษตรกรในพื้นที่ประสบภัยจำเป็นต้องมีระบบประกันบริหารจัดการความเสี่ยงทางธรรมชาติและความผันผวนของราคา เพื่อลดผลกระทบตรงต่อรายได้และหนี้สินของเกษตรกร
  • ขณะที่แผนบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ มีแนวทางปฏิบัติจากส่วนกลาง ขาดความคล่องตัว อาจไม่ตรงกับความต้องการของพื้นที่เเละไม่สอดคล้องกับช่วงเวลาของการทำการเพาะปลูก และไม่สามารถรับมือปัญหาได้ทันท่วงที แต่งานนี้เกษตรกรยังมีความเสี่ยงปริมาณและราคาของผลผลิตที่ยังคงกำหนดโดยกลไกตลาด รวมถึงแบกรับค่าใช้จ่ายความเสียหายบางส่วนที่เกิดขึ้น

ฉากทัศน์ที่ 2 เกษตรดิจิตอล ใช้นวัตกรรมเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตกรร่วมกับท้องถิ่น

  • ผลผลิตออกน้อย -มาก เกินควบคุม ฉากทัศน์นี้ เน้นการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพการผลิตสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร รวมถึงยืดระยะเวลาการเก็บรักษา
  • ภาครัฐวางแผนบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวของในการบริหารจัดการน้ำทั้งในระดับจังหวัดและระดับท้องถิ่น มีการบริหารภาวะแล้งเเละภัยพิบัติ ตามความเสี่ยงเชิงพื้นที่
  • กำหนดเขตพื้นที่ (zoning) สำหรับกิจกรรมทางการเกษตรให้เหมาะสมกับสภาพภูมินิเวศ และปริมาณน้ำเพื่อลดผลกระทบจากอุทกภัยหรือภัยแล้ง ใช้เทคโนโลยีพัฒนาระบบชลประทานทั่วประเทศให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อสนับสนุนภาคการเกษตรได้อย่างเต็มที่   ตั้งแต่การใช้ โดรน บินสำรวจพื้นที่ เพื่อจัดเก็บข้อมูลดิน ความชื้นในอากาศ และข้อมูลแร่ธาตุต่าง ๆ นำข้อมูลมาวิเคราะห์ และปัญญาประดิษฐ์ (AI)  ให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้อย่างเข้าใจง่าย ทั้งราคาพืชผลเกษตร พยากรณ์อากาศ และวิธีการแก้ปัญหาต่าง
  • ปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรเป็นเกษตรทฤษฎีใหม่แบบผสมผสาน ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์หลากหลายชนิด ไม่ใช้สารเคมี ช่วยให้มีผลผลิตตลอดปี ลดต้นทุน เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ระบบนิเวศ เพิ่มความมั่นคงทางอาหาร และช่วยกระจายความเสี่ยงหากเกิดภัยจะได้ไม่เสียหายทั้งหมด  ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสนับสนุนทางองค์ความรู้และวิธีการได้ทันกันกับสถานการณ์
  • ปรับการช่วยเหลือ เป็นการช่วยปรับตัวและยกระดับ โดยท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนป้องกันและรับมือวิกฤติตามวัฏจักร ออกแบบแนวทางที่เหมาะสมสอดคล้องกับแต่ละพื้นที่ โดยมีรัฐหนุนเสริม สร้างความมั่นใจในการทำงานของท้องถิ่น ทั้งด้านองค์ความรู้และงบประมาณ
  • มีการแก้ไขระเบียบข้อบังคับให้ท้องถิ่นสามารถแก้ปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า โดยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน รวมถึงให้ท้องถิ่นมีบทบาทในการวางแผน ร่วมบริหารจัดการพื้นที่ การใช้ที่ดิน และทรัพยากรน้ำด้วย
  • เกษตรกรสามารถเข้ามามีส่วนร่วม ผ่านกลไกท้องถิ่นส่วนองค์กรด้านการเกษตรทำหน้าที่หนุนเสริมเพื่อการปรับตัวในแต่ละพื้นที่  อย่างไรก็ตามสินค้าเกษตรที่ผูกกับกลไกตลาดยังคงเป็นความท้าทายของเกษตรกรไทย ซึ่งไม่ง่ายต้องเร่ง หนุนเสริมศักยภาพของเกษตรกร บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ในพื้นที่ที่มีความถนัดและเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการ

ฉากทัศน์ที่ 3 เกษตกรพรีเมี่ยมกระจายความยั่งยืนสู่ชุมชน

  • พัทลุง เป็นพื้นที่เหมาะสมสำหรับทำการเกษตร ดินอุดมสมบรูณ์ไปด้วยแร่ธาตุ มีผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นเอกลักษณ์และเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI  เป็นที่รู้จักและต้องการของตลาดรวมถึงส่งออกในระดับโลก อาทิ ข้าวสังข์หยด  หรือพืชเกษตรอื่นๆ อาทิ ใบพลู  มีรสชาติเข้มข้นพิเศษ เผ็ดร้อน  ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง “สวนเขาน้อย ศรีนครินทร์”
  • ฉากนี้ภาครัฐกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น เอกชน และองค์กรภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมบริหารใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อม ๆ กับส่งเสริมงานวิจัยและองค์ความรู้เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมที่เหมาะสมแบบบูรณาการ
  • ร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่น ในการอนุรักษ์เมล็ดพันธุ์พื้นบ้านหลากหลายและทนทานกับสภาพแวดล้อม  ผ่านธนาคารเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน  หรือยีนแบงก์ (Gene Bank)  เพื่อพัฒนาสายพันธุ์ วิจัยและปรับปรุงพันธุ์ให้เหมาะสมกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข การคุ้มครองพรบ.คุ้มครองพันธุ์พืช  และมีหลักสูตรฝึกอบรมการใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีวงจรชีวิตสั้นและปลูกหลายชนิดในปีเดียวกันเพื่อลดความเสี่ยงจากสภาพอากาศที่แปรปรวน
  • ซึ่งการรวบรวมจัดเก็บเมล็ดพันธุ์ เป็นไปตามมาตรฐานสากลและมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศมาบริหารจัดการเพื่อให้สามารถควบคุมคุณภาพ ป้องกันการปนเปื้อน และเก็บไว้ได้นาน
  • นำเอาระบบฐานข้อมูล DATA ที่เกี่ยวข้องมาใช้ในการวางแผนออกแบบการบริหารจัดการผลิตทางการเกษตรทั้งระบบ ลดพื้นที่การเพาะปลูกแต่เพิ่มศักยภาพในการผลิต สร้างมูลค่าให้สินค้าเกษตร และหนุนเสริมศักยภาพของประชาชนให้มีมาตรฐานการผลิตอาหารที่ปลอดภัย
  • ภาคเกษตรปรับตัว ยกระดับการผลิตเพื่อสร้างความหลากหลายทางชีวภาพในที่ดินของตัวเอง   เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการเพาะปลูกที่ลดการใช้น้ำ และการบริหารจัดการน้ำของตนเองในระดับพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาในรายกรณี และรวมตัวเข้ามามีร่วมในการบริหารจัดการน้ำในภาพใหญ่
  • ขณะเดียวกัน ต้องสร้างความเข้าใจกับประชาชนทั่วไป ถึงการบริหารจัดการน้ำที่เชื่อมโยงกับภาคการผลิตต่าง ๆ ตั้งแต่ต้นน้ำและปลายน้ำ ซึ่งฉากทัศน์นี้ ไม่ง่ายต้องอาศัยการผลักดันในระดับนโยบายและใช้เวลากับทุกภาคส่วน

ชวนโหวต ฉากทัศน์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ