กมธ.ปฏิรูปสื่อฯ นัด 4 องค์กรสื่อ 24 ก.ค.นี้ ถกปม ‘กม.คุ้มครองเสรีภาพฯ’ ฉบับ สปช. หลังร้องทบทวนด่วน

กมธ.ปฏิรูปสื่อฯ นัด 4 องค์กรสื่อ 24 ก.ค.นี้ ถกปม ‘กม.คุ้มครองเสรีภาพฯ’ ฉบับ สปช. หลังร้องทบทวนด่วน

22 ก.ค. 2558 หลังจาก คณะทำงานเพื่อการปฏิรูปสื่อ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทน 4 องค์กรสื่อ  คือ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย  และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เผยแพร่ข้อเรียกร้องเมื่อวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทบทวนร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. … ซึ่งสปช.ให้ความเห็นชอบไป เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2558 และกำลังเปิดให้สมาชิก สปช. ที่ไม่เห็นด้วยเสนอญัตติแก้ไข ก่อนที่จะส่งร่างให้คณะรัฐมนตรีภายใน 7  วัน

วันนี้ (22 ก.ค. 2558) กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า นายจุมพล รอดคำดี ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนขององค์กรวิชาชีพสื่อต่อรายละเอียดของบทบัญญัติที่ระบุไว้ในร่างกฎหมาย ทั้งนี้ในวันที่ 24 ก.ค. นี้ตนเองได้นัดตัวแทนของ 4 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนพูดคุยและทำความเข้าใจในเนื้อหา

เบื้องต้นจะเป็นการพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจ แต่หากมีประเด็นข้อเสนอที่ดี สามารถนำไปแก้ไขหรือปรับปรุงบทบัญญัติได้ แต่ระยะเวลาทำงานเหลือน้อย เนื่องจากในวันที่ 27 ก.ค. นี้ ต้องส่งเนื้อหาที่ปรับปรุงแก้ไขให้กับนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. เพื่อพิจารณาส่งไปยังรัฐบาลตามข้อบังคับการประชุม สปช. กำหนดไว้

ทั้งนี้ในการพิจารณายกร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพฯ ที่ผ่านมา คณะทำงานได้เชิญตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อฯ เข้ามาร่วมประชุมด้วยแล้ว ส่วนที่มีประเด็นเรียกร้องออกมา ตนเชื่อว่าเป็นการสื่อสารภายในองค์กรที่มีความผิดพลาดและเข้าใจไม่ตรงกัน

สำหรับรายละเอียด จุดยืนคณะทำงานเพื่อการปฏิรูปสื่อ ซึ่งประกอบด้วยองค์กรวิชาชีพสื่อ 4 องค์กรมีรายละเอียด ดังนี้ 

20152207154803.jpg

จุดยืนคณะทำงานเพื่อการปฏิรูปสื่อ ต่อร่าง พ.ร.บ. การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ฉบับ สปช.

คณะทำงานเพื่อการปฏิรูปสื่อ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทน 4 องค์กรสื่อ  คือ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย  และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ขอเรียกร้องให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช.  ทบทวนเรื่อง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. … ซึ่งสภาปฏิรูปฯ ให้ความเห็นชอบไป เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม และกำลังเปิดให้สมาชิก สปช. ที่ไม่เห็นด้วยเสนอญัตติแก้ไข ก่อนที่จะส่งร่างให้คณะรัฐมนตรีภายใน 7  วัน

คณะทำงานเพื่อการปฏิรูปสื่อ มีความเห็นว่า ข้อท้วงติงของสมาชิก สปช. เสียงข้างน้อย  ซึ่งระบุว่า ร่างดังกล่าวมีข้อบกพร่องหลายประการ เช่น การตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติขึ้นโดยกำหนดให้รัฐจะจ่ายเงินอุดหนุนกำหนดให้องค์กรนี้มีรายได้และทรัพย์สิน จากเงินที่รัฐจ่ายให้เป็นทุนประเดิม และรายได้ 5% หรือไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท  จากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ต้องส่งคืนให้รัฐจะทำให้วิชาชีพสื่ออยู่ภายใต้การกำกับของรัฐนั้น ฯลฯ เป็นข้อท้วงติงที่มีเหตุผลและเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องกังวล

นอกจากนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวยังมีความบกพร่องอื่นอีกหลายประการ  เช่น ความเหมาะสมของการออกใบรับรองผู้ประกอบวิชาชีพโดยอ้อม ซึ่งเท่ากับเป็นการใช้อำนาจควบคุมคนที่จะเข้ามาประกอบวิชาชีพนี้ตั้งแต่ต้น ให้อำนาจองค์กรควบคุมสื่อใหม่อย่างกว้างขวาง แต่ขาดกลไกด้านกระบวนการและวิธีพิจารณาของคณะกรรมการจริยธรรมที่ต้องโปร่งใส ชัดเจน ตรวจสอบได้ ซึ่งเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่จะทำให้การกำกับดูแลจริยธรรมสื่อมีประสิทธิภาพ บางมาตราส่อลักษณะว่าจะขัดต่อหลักการของกฎหมายทั่วไป เช่น ถ้าผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนทำผิดให้ถือว่า เจ้าของกิจการสื่อมวลชนหรือผู้บังคับบัญชาของผู้ประกอบวิชาชีพผู้นั้นกระทำการฝ่าฝืนและต้องร่วมรับผิดชอบด้วย  ซึ่งเป็นการกำหนดความรับผิดแบบเคร่งครัด มีหลายกรณีที่มีการตรากฎหมายเช่นนี้แล้วเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญปรากฏว่า ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าเป็นการตรากฎหมายที่มิชอบ ฯลฯ

คณะทำงานเพื่อการปฏิรูปสื่อ มีความเห็นว่า โดยเนื้อแท้ของร่างกฎหมายฉบับนี้ มิได้เอื้ออำนวยให้เกิดการปฏิรูปสื่อแต่อย่างใด การออกแบบองค์กรสื่อที่จะมาทำหน้าที่ในการกำกับดูแลสื่อก็ทำโครงสร้างคล้ายกับระบบราชการคือ มีทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เมื่อมีปัญหาก็ไม่มีกระบวนการพิจารณาที่โปร่งใส พึ่งพิงทุนและอำนาจรัฐจนทำให้สูญเสียหลักการความเป็นอิสระของการทำหน้าที่ กลไกที่คิดขึ้นไม่มีการถ่วงดุลหรือมีกลไกความรับผิดรับชอบ ไม่มีมาตรการในการปกป้องสื่อมวลชนเมื่อถูกคุกคาม ฯลฯ

โดยรวมแล้วเป็นการทำให้กระบวนการกำกับดูแลสื่อถอยหลังไปยิ่งกว่า ที่ทำมาร่วม 2 ทศวรรษเสียด้วยซ้ำ และสภาปฏิรูปแห่งชาติมีมติเช่นนี้ เท่ากับออกกฎหมายให้มีการควบคุมสื่อทั้งระบบอย่างเบ็ดเสร็จ จะกลายเป็นเครื่องมือที่ทรงอานุภาพหากมีรัฐบาลที่ไม่มีความประสงค์ดีเพราะรัฐบาลที่มีลักษณะเช่นนั้นจะใช้ทุนและอำนาจตามกฎหมายเข้ามาครอบงำสื่อได้โดยตรงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งจะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสังคม

คณะทำงานเพื่อการปฏิรูปสื่อ มีความเห็นว่า การปฏิรูปสื่อเป็นงานละเอียดอ่อนที่ต้องอาศัยความรอบคอบและความเห็นรอบด้าน สภาปฏิรูปแห่งชาติไม่ควรรวบรัดสร้างผลงานก่อนที่จะหมดอายุ เพราะจะเป็นการก่อปัญหาใหญ่เอาไว้โดยไม่มีผู้รับผิดชอบ และเมื่อมีสมาชิก สปช. ทักท้วงว่าร่างมีข้อบกพร่องและที่ประชุมเปิดให้มีการเสนอญัตติแก้ไข ก็ควรจะมีการแก้ไขทบทวน หากระยะเวลาที่มีอยู่ไม่เพียงพอก็อาจจะเสนอเป็นหลักการใหญ่ๆ โดยไม่ต้องเสนอร่างประกอบเพื่อให้เป็นปัญหาก็ได้ อีกทั้งเรื่องนี้ก็เกี่ยวพันโดยตรงกับเนื้อหาหลักในรัฐธรรมนูญซึ่งอยู่ในขั้นตอนที่ดำเนินการไม่เสร็จสิ้น

คณะทำงานเพื่อการปฏิรูปสื่อ เห็นว่า ควรจะมีการปฏิรูปสื่อให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ต่างๆ อยู่เสมอ โดยคำนึงถึงความเป็นจริง คำนึงถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาและสภาพของสังคมด้วย รวมทั้งหลักการที่พัฒนามาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ด้วย คณะทำงานเพื่อการปฏิรูปสื่อสนับสนุนให้มีการปฏิรูปสื่อตามหลักการดังกล่าวและสนับสนุนการรวมตัวกันเป็นสภาวิชาชีพและมีกลไกที่จะทำให้สื่อมวลชนมีความรับผิดชอบและถูกตรวจสอบโดยสังคมได้มากขึ้น แต่ต้องเป็นกลไกที่เป็นอิสระและไม่สามารถถูกแทรกแซงได้ แต่ร่างกฎหมายที่ สปช. เห็นชอบไป มิใช่เป็นการปฏิรูปสื่อแต่เป็นการควบคุมสื่อของประเทศนี้อย่างเบ็ดเสร็จ จึงอยากให้สปช. ควรทบทวนแก้ไขโดยด่วน และคณะทำงานจะเร่งทำข้อเสนอและข้อทักท้วงถึงคณะกรรมาธิการฯ ต่อไป

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

21 กรกฎาคม 2558

 

 

ก่อนหน้านี้  สำนักข่าวไทย รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2558 ที่ประชุม สปช.มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตราฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ด้วยคะแนน 167 ต่อ 20 เสียง งดออกเสียง 27  เสียง โดยให้ส่งร่าง พ.ร.บ.พร้อมความเห็นของสมาชิกไปยังคณะกรรมาธิการเพื่อประกอบการพิจารณา และให้คณะกรรมาธิการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน

พร้อมกันนั้น สปช.ยังได้พิจารณารายงานที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ สปช.วาระปฏิรูปที่ 32 การกำกับดูแลสื่อ   วาระปฏิรูปที่ 33 สิทธิเสรีภาพสื่อบนความรับผิดชอบ และวาระปฏิรูปที่ 34 การป้องกันการแทรกแซงสื่อ โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับรายงานของคณะกรรมาธิการทั้ง 3 วาระปฏิรูปด้วยคะแนน 187 ต่อ 10 เสียง งดออกเสียง 17 เสียง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ