พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้ใช้เทคโนโลยีในปัจจุบัน

พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้ใช้เทคโนโลยีในปัจจุบัน

เรื่องที่น่าสนใจ

การใช้งานผ่านทางอินเทอร์เน็ตมีความนิยมใช้งานเพิ่มมากขึ้น ทุกช่วงอายุของประชากรไทยสามารถเข้าถึงการสื่อสารแบบเครือข่ายไร้สายได้ตลอด 24 ชั่วโมง กลายเป็นว่าเครือข่ายสังคมออนไลน์เข้ามามีบทบาทอย่างมากในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นที่นิยมการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ในการแสดงตัวตน เช่น อินสตาแกรม (Instagram), ทวิตเตอร์ (Twitter), และเครือข่ายชุมชนสังคมออนไลน์เฟซบุ๊ก (Facebook) ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ส่วนตัวที่สามารถแสดงออกตัวตนได้อย่างอิสระและมีรูปแบบการใช้งานที่หลากหลาย ทำให้ปัจจุบันนี้การแสดงตัวตนใน รูปแบบดั้งเดิมค่อย ๆ ถูกกลืนหายไป โดยแทนที่ด้วยการใช้พื้นที่บนเครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือในการแสดงอัตลักษณ์ของตนเองแทน

อดีต—>ปัจจุบัน…

จะเห็นว่าในอดีตจนถึงปัจจุบันนั้น มีประเด็นต่างๆที่เกิดขึ้นในโลกของสื่อออนไลน์จำนวนมาก และการเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์เป็นเรื่องง่ายในปัจจุบัน พฤติกรรมผู้เสพสื่อจึงมีหลากหลายทั้งด้านที่ส่งผลดีและส่งผลเสีย ซึ่งผลกระทบเหล่านี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และเป็นเรื่องยากที่จะควบคุม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของช่วงวัยของผู้บริโภคสื่อ หรือจะเป็นในเรื่องของการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่มากจนเกินไป

พฤติกรรมเหล่านี้อาจส่งผลกระทบให้เกิดเป็นปัญหาหลากหลายโดยตรงต่อทั้งผู้เสพสื่อและผู้รับสื่อ และข้อมูลในส่วนนี้จึงทำให้ผู้จัดทำบทความมีความสนใจที่จะศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้สื่อออนไลน์ของผู้บริโภคในกลุ่มวัยรุ่นว่ามีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างไร  โดยทำการสำรวจความคิดเห็นในประเด็นของพฤติกรรมการใช้สื่อออนไลน์ที่มาจากกลุ่มตัวอย่างนักศึกษาภายในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 

นานาทัศนะ เสียงจากศึกษา…

คุณใช้แพลตฟอร์มใดในการเสพสื่อ ?

“สื่อจากแพลตฟอร์มที่ใช้มากที่สุดได้แก่ แพลตฟอร์ม เฟซบุ๊ก (Facebook) มีการใช้งานมานานมากกว่า 5-7 ปี”

ระยะเวลาในการเสพสื่อจากแพลตฟอร์มที่ใช้ต่อวัน?

“ใช้ระยะเวลาเล่นประมาณ 18 ชั่วโมงต่อวัน ใช้ติดต่องานเเละติดตามข่าวสาร ใช้ในการไลฟ์สดสตีมเกมส์ เป็นหลัก”

ใช้สื่อแพลตฟอร์มนั้นอย่างไร?

“มีการใช้ เฟซบุ๊ก (Facebook) ในการไลฟ์สดสตีมเกมส์เป็นหลัก ในส่วนเวลาที่เหลือก็ใช้เล่นพูดคุยกับเพื่อน”

สื่อออนไลน์ที่ปรากฏในปัจจุบันมีการสื่อสารในลักษณะ?

“ซึ่งในปัจจุบันสามารถสื่อสารถึงกันได้หลากหลายรูปแบบ เช่น วิดีโอคอล โทร พิมพ์ตอบ หรือมีโปรแกรมต่าง ๆ ที่สามารถรองรับการสื่อสารที่ได้จำนวนมาก เช่น meet หรือ zoom”

ผลกระทบข้อดีและข้อเสียจากการใช้สื่อ?

“ในส่วนผลกระทบในข้อดี คือ ทำให้เราได้เสพข่าวต่าง ๆ จากสื่อทั่วโลก และสามารถสร้างรายได้ให้แก่เราได้ เช่น ในรูปแบบของการสตรีมเกมส์ผ่าน แพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก

ส่วนข้อเสีย ทำให้เราหมกมุ่นกับสื่อจนทำให้เสียสุขภาพ”

จากเหตุการณ์ “แพทย์หญิงถูกนายตำรวจขับรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์เสียชีวิต ขณะกำลังเดินข้ามทางม้าลาย”  ข่าวนี้มีอิทธิพลในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างไร?

“ส่วนในข่าวนั้นคิดว่า ทางภาครัฐควรใส่ใจเกี่ยวกับทางม้าลายมากขึ้นจัดระเบียบตรงแยกถนนนั้น ซึ่งข่าวนี้ถือว่ามีอิทธิพลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตคือ ต้องมีความระมัดระวังตนเองมากขึ้น”

การเสพสื่อต่าง ๆ ควรขึ้นอยู่กับสิ่งใด รัฐควรเข้ามาควบคุมการใช้สื่อในเรื่องของเสรีภาพหรือไม่?

“ส่วนการเสพสื่อขึ้นอยู่กับสิทธิส่วนบุคคล เพราะว่าทุกคนล้วนมีความคิดเป็นของตนเอง สามารถแยกแยะในการเสพสื่อได้”

จากการสัมภาษณ์กลุ่มนักศึกษา แสดงให้เห็นว่า โดยส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการใช้สื่อแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กเป็นหลัก ระยะเวลาในการใช้ไม่ต่ำกว่า 5 ปี โดยใช้ระยะเวลาในการเสพสื่อนั้นไม่ต่ำกว่า 7 ชั่วโมงต่อวัน และในการใช้แพลตฟอร์มส่วนใหญ่จะใช้เพื่อเสพสื่อข่าวสารต่าง ๆ รวมถึงการติดต่อสื่อสาร และใช้ตามความต้องการของตัวเอง เพราะพื้นที่การเสพสื่อบนโลกออนไลน์หรือแพลตฟอร์มต่าง ๆ เปรียบเสมือนนำโลกส่วนตัวของตนเองเข้าไปในฐานเทคโนโลยีของแพลตฟอร์มนั้น ๆ

โดยผลกระทบจะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งข้อดีที่กลุ่มผู้ให้สัมภาษณ์คือเเพลตฟอร์ม เป็นพื้นที่ส่วนตัวที่สามารถแสดงออกในสิ่งที่ตนสนใจและหาความรู้ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด รวมไปถึงยังสามารถใช้เป็นพื้นที่ในการหารายได้ได้อีกด้วย ในส่วนของข้อเสียคือข้อมูลข่าวสารที่ได้รับมีทั้งสิ่งที่เป็นความจริงและไม่เป็นความจริง ทำให้ไม่สามารถรับรู้ได้ว่าสิ่งไหนคือเท็จ จะเห็นได้ว่าสื่อแพลตฟอร์มต่าง ๆ เป็นเทคโนโลยีที่กว้างขวาง มาก จึงเป็นเรื่องยากที่จะควบคุมการใช้สื่อและการเสพสื่อนั่นเอง

รองศาสตร์จารย์ สุรศักดิ์ บุญอาจ” คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

พฤติกรรมการเสพสื่อในปัจจุบัน ของนักศึกษามีความเหมาะสมหรือไม่

“พอมองเรื่องความเหมาะสมมันเป็นคำถามที่กว้างมาก ถ้าเรามองกันเรื่องความเป็นส่วนตัวในการแสดงออกอย่าลืมว่าสื่อออนไลน์มันคือการใช้พื้นที่ส่วนตัวบนพื้นที่สาธารณะหมายความว่ามันไม่มีอะไรเป็นความลับในโลกของ Social network ถึงแม้ว่าคุณบอกว่าคุณจะใช้ Set private คนอื่นเขาก็สามารถแคปเจอร์หน้าจอต่าง ๆ เหล่านี้ไปหวังผลอย่างอื่นได้ นั้นหมายความว่าเราก็ต้องดูวัตถุประสงค์ในการใช้ของเขา ถ้าใช้อย่างเหมาะสมมันก็เป็นสิ่งที่ดีที่เขาจะพีอาร์หรือประชาสัมพันธ์ตัวเองให้รู้ว่ามีจุดแข็งอะไร

ถ้ามองในเรื่องความไม่เหมาะสม ต้องดูว่าใช้ Social network ทำร้ายใครไหม ไซเบอร์บูลลี่ (Cyberbully) ยิ่งนับเป็นการโจมตีในโลกไซเบอร์หรือเป็นการโพสต์เพื่อด่าทอคนอื่นหรือเปล่าหรือแสดงคอมเมนต์ที่ไม่เหมาะสม อันนี้มันก็ขึ้นกับว่าเราใช้สื่อในทางใด ในบริบทใด ในจุดประสงค์ใด ดังนั้นถ้ามีมายด์เซ็ตหรือว่ามีชุดความคิดที่ใช้สื่ออย่างรู้ตัวและตื่นตัว ตระหนักว่ามันเป็นพื้นที่ส่วนตัวบนพื้นที่สาธารณะมันก็ย่อมเกิดความเหมาะสมในบริบทแต่ละบริบทนั้น”

สื่อที่นักศึกษาส่วนใหญ่เข้าถึงมีทั้งประโยชน์และโทษ อย่างไร ?

ความมีประโยชน์ อย่างหนึ่งก็คือ ตอนนี้มันเป็นความรู้ที่อยู่รอบตัวเราแล้ว เพียงแค่เราสนใจในหัวข้อไหนในประเด็นเรื่องอะไรเราก็กูเกิ้ลเข้าไปในเฟสบุ๊คพิมพ์คีย์เวิร์ดหรือกระทั่งมีกลุ่มที่มีความสนใจเหมือนๆกัน มันก็เป็นชุมชนอย่างหนึ่ง อันนี้ก็ถือว่าให้เกิดประโยชน์ เพราะมันดึงคนที่มีความสนใจเข้ามา ซึ่งความสนใจนี้ถ้าเราต่อยอดในเชิงที่เป็นประโยชน์เราก็อาจมีจะทำได้อย่างง่ายดาย” 

ที่จะเป็นโทษ  แน่นอนว่าในเรื่องของอายุหรือว่าการดูสิ่งยั่วยุในเรื่องเพศต่างหรือว่าทวิตเตอร์เองซึ่งมันก็มีหลากหลายยูสเซอร์ บางทีมันก็ไม่ได้ควบคุมอะไรมากมายและนั่นเอง ก็ต้องดูวัตถุประสงค์ในการใช้ว่าจะใช้อย่างไรให้เหมาะสม เด็กนักเรียนเราเห็นหลายครอบครัวก็ปล่อยลูกไว้กับมือถือหรือบางทีก็เกิดอาการที่เรียกว่าเป็น โฟโม หรือ Fomo (Fear of Missing Out) ก็คือการที่แบบกลัวพลาดข้อมูลข่าวสารก็จะมีการแชร์ และบางครั้งมันก็ยังเป็นข้อมูลที่ไม่ตรวจสอบเป็นข่าวปลอมเป็นข่าวลวง นั้นมันก่อให้เกิดโทษได้หรือการที่หวังผลจะเจอคนในโซเชียลเน็ตเวิร์กเจอเพื่อนใหม่แต่อาจจะเป็นมิจฉาชีพก็ได้ บางคนอยากจะรวยทางลัด มันก็เลยเป็นค่านิยมที่สังคมมองในเรื่องทุนนิยมแล้วอยากจะรวยทางลัดอย่างนั้นก็มีตัวอย่างให้เห็นหลากหลายว่า บางครั้งถ้าเราใช้อย่างขาดสติมันก็อาจจะเป็นโทษโดยที่เราไม่รู้ตัวก็เป็นได้”

ความเหมาะสมของช่วงวัยที่เสพสื่อและรูปแบบการนำเสนอข่าวในปัจจุบัน…

“มีหลายเรื่องหลายเหตุการณ์ที่เราชื่นชมในความที่โซเชียลเน็ตเวิร์คก็ไปไกล หรืออย่างบางทีเราไปใช้บริการที่ไหนหรือว่าเราไม่ได้รับความเป็นธรรมอะไร มันก็เลยกลายเป็นช่องทางที่สามารถที่จะสื่อสารได้ แต่บางทีมันก็ต้องดูด้วยว่าเราล่วงละเมิดสิทธิของคนอื่นหรือเปล่า”

ดังนั้นก็ต้องหาให้เจอว่าตัวเขาเองมีจุดตรงกลางอะไรที่จะใช้ ดังนั้นการเข้าถึงสื่อมันก็เป็นส่วนหนึ่ง เด็กก็ต้องมีทักษะในเรื่องการเข้าถึงสื่อได้อย่างเหมาะสมด้วยกฎหมายต่างก็ต้องรองรับด้วยว่าไม่ใช่ว่าเด็กทุกวัยจะดูได้หมด เหมือนกับเน็ตฟลิกเองก็ต้องมีการเลือกยูเซอร์ด้วย ว่าอายุเท่าไหร่ แล้วก็ชาแนลนี้หรือว่าละครเรื่องนี้ หนังเรื่องนี้มีเรตติ้ง มีการจำกัดคนดู อันนี้มันก็เป็นการคัดกรองเบื้องต้นอย่างหนึ่ง ซึ่งมันก็ต้องอาศัยผู้ปกครอง หรือว่าสถาบันการศึกษาที่จะให้ความรู้เหล่านี้กับเด็กๆ ว่าสื่อประเภทมันมีการนำเสนอที่เหมาะแต่ละช่วงวัย ดังนั้นมันก็ต้องเลือกสื่อเหล่านั้นให้เหมาะสมในแต่ละวัยด้วยเพื่อที่จะเกิดการสร้างสรรค์ในการใช้สื่อ

หน่วยงานรัฐควรเข้ามาควบคุมการเสพสื่อของผู้บริโภคอย่างไร ? 

“สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (National Broadcasting and Telecommunication Commission) หรือ กสทช.ที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรงในเรื่องการรู้เท่าทันสื่อในเรื่องของมีเดียทีเลียลิตี้ ซึ่งตอนนี้ใช้คำว่าเป็นการฉลาดรู้เรื่องสื่อ ซึ่งอาจารย์เองก็เข้ามาร่วมกับกสทช. ก็เป็นโครงการที่ร่วมกับทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หมายความว่าหน่วยงานของรัฐก็เริ่มขยับ จริงๆมันมีมานานแล้วเรื่องนี้ที่กสทช. เรียกว่าได้ว่าเป็นแม่ทัพในการที่จะเข้ามาจัดการเรื่องนี้โดยตรง เขามีงบประมาณหรือกองทุนสื่อสร้างสรรค์คือ ณ ตอนนี้มีการมาลงทุนที่มหาวิทยาลัย 

อย่างอาจารย์เองตอนนี้ก็คือเหมือนกับเป็นแม่ไก่ และต้องหาลูกไก่เพิ่ม ซึ่งลูกไก่ต้องการ 6 สถาบัน และ  6 สถาบันก็จะเป็นดูโรงเรียน,มหาวิทยาลัยที่เข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งอาจารย์จะต้องทดลองสอนจากตัวแผนการสอนที่เขาออกแบบดีไซน์ เพื่อดูว่าเด็กของเราเมื่อเรียนตามแผนการสอนเหล่านี้แล้ว มันลงไปถึงอะไร วัตถุประสงค์เป็นยังไง เขาได้ฝึกกระบวนการคิดเพื่อรู้ทันหรือเปล่า ซึ่งเราก็มองว่าโอเคมันก็มีการขยับแล้วจากภาครัฐแล้วก็เข้ามาที่สถาบันการศึกษาและมันก็ต้องเป็นการร่วมมือกันทุกฝ่าย”

ข้อเสนอแนะและแนวทางที่จะทำให้นักศึกษาเท่าทันสื่อ…

“ก่อนอื่นตระหนักเลย ว่ามันเป็นพื้นที่ส่วนตัวบนพื้นที่สาธารณะ และต้องใช้สื่อแบบตื่นตัวตลอดเวลา รู้ในทุกขณะว่าการที่เขาคอมเมนต์หรือโพสต์อะไร มันส่งผลอะไร ต่อคนอื่น ถ้าไม่ชอบในสิ่งใดเราก็ไม่ควรทำสิ่งนั้นกับคนอื่น อันนี้เป็นสิ่งสำคัญมากเลยในการที่จะอยู่ร่วมกันในสังคม คือ การที่จะเข้ามาทำความเข้าใจในเรื่องนี้ ถ้าเป็นไปได้อย่างที่บอกก็คือมาลงทะเบียนวิชาที่มหาวิทยาลัยได้เข้ามาร่วมกับกสทช. แล้วเราก็จะได้มีวิธีการที่จะใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ เราหวังในอนาคตว่านักศึกษาของเรา ก็จะเป็นคนที่สามารถผลิตสื่ออย่างสร้างสรรค์ ผลิตได้ตามช่วงอายุวัยที่มีความเหมาะสม และสื่อนั้นมันอาจจะสร้างแรงบันดาลใจ ทำให้คนตระหนักถึงการที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม อะไรก็ได้ที่เป็นประเด็นที่สามารถฉเรียนรู้กันได้ ซึ่งอาจารย์เชื่อว่าถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้วิชานี้เกิดขึ้นนะครับ วิชาที่จะเปิดสอนในซัมเมอร์นี้มันก็น่าจะเป็นกระบอกเสียงที่ดีได้นั่นเอง”

จากการศึกษาพฤติกรรมของผู้ใช้สื่อทำให้เห็นได้ว่าสื่อออนไลน์ในปัจจุบันถูกผลิตมาเพื่อตอบสนองความต้องการของคนในปัจจุบัน ซึ่งมีความสะดวกสบายในการใช้งานจึงส่งผลกระทบให้เกิดพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดในปัจจุบัน แต่ละช่วงวัยก็มีพฤติกรรมการเสพสื่อออนไลน์ที่เเตกต่างกันออกไปข้อจำกัดในการเสพสื่อทั้งหมดอยู่ที่ตัวผู้เสพสื่อเองระดับนึงรวมไปถึงการดูแลควบคุมพฤติกรรมการใช้สื่อของผู้บริโภทจากทางหน่วยงานภาครัฐหรือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( กสทช.).

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ