ก่อนหย่อนบัตรเลือกตั้งใส่หีบเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ใช่ และพรรคการเมืองที่ชอบ แน่นอนว่ากว่าจะใช่และชอบข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจเป็นส่วนสำคัญ ซึ่งต้องมีช่วงเวลาที่ให้เราได้คิดพิจารณาว่าพรรคการเมืองไหน ที่มาพร้อมกับนโยบายที่ตรงใจอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องตอบโจทย์พื้นที่ เข้าใจพื้นที่
เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจเลยทีเดียว สำหรับกิจกรรมแบบสำรวจใน เวที The Choice เวทีแลกเปลี่ยนการเมืองเชียงใหม่ในการเลือกตั้ง 2566 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งจัดโดยเครือข่ายสถาบันการศึกษาในภาคเหนือและจังหวัดเชียงใหม่ นำโดย ม.เชียงใหม่ และไทยพีบีเอส
นอกจากเวทีดีเบต หรือการหาเสียงในช่วงก่อนโค้งสุดท้ายแล้ว มีกิจกรรมแบบสำรวจ ให้ประชาชนนำลูกบอลไปใส่ในกล่องที่คุณอยากให้นำภาษีไปใช้มากที่สุด ผ่านเกม My Tax My Future ภาษีฉัน อนาคตฉัน เราเลือกได้ เมื่อคุณต้องเสียภาษีทุกปี แต่ไม่เคยเลือกได้เลยว่าอยากให้เงินเหล่านั้นถูกไปใช้ในการพัฒนานโยบายเรื่องไหนก่อน หากมีเงินอยู่สามก้อนในมือ
งานนี้มีน้อง ๆ ส่วนหนึ่งที่เป็น first voter อาสาคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และโรงเรียนสันป่าตองวิทยาคม จำนวน 6 คน ร่วมเป็นอาสากับทีมงานองศาเหนือ เล่นเกมส์ MY TAX MY FUTURE แบ่งการสำรวจตามสีที่แบ่งตามช่วงอายุ
- สีชมพูคือกลุ่ม Baby Boomer (อายุ 54-72 ปี)
- สีเขียวคือกลุ่ม Gen X (อายุ 38-53 ปี)
- สีฟ้าคือกลุ่ม Gen Y (อายุ 21-37 ปี)
- สีแดงคือกลุ่มคนรุ่นใหม่หรือ Gen Z (อายุ 8-20 ปี)
ผลสำรวจจากกิจกรรมรอบนี้มีผู้ให้ความสนใจ 289 คน ซึ่งเป็นตัวแทนคน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ แบ่งเป็นช่วงช่วงวัยคือ
อายุ 8-20 ปี Gen Z มีผู้เข้าร่วม 66 คน
อายุ 21-37 ปี Gen Y ซึ่งมีผู้เข้าร่วม 139 คน – มากที่สุดในการร่วมเล่น
อายุ 37-53 ปี Gen X ซึ่งมีผู้เข้าร่วม 34 คน
อายุ 54-72 ปีขึ้นไป Gen Baby Boomer ซึ่งมีผู้เข้าร่วม 50 คน
ซึ่งผลออกมาว่าพวกเขาให้ความสำคัญ
อันดับ 1 เรื่องการศึกษาไทยยุคใหม่มากที่สุดถึง 25.60 เปอร์เซ็นต์
รองลงมาอันดับ 2 คือเรื่องเศรษฐกิจทั่วถึง 20.76 เปอร์เซ็นต์
รองลงมาอันดับ 3 คือ ระบบสุขภาพยั่งยืน 17.76 เปอร์เซ็นต์
รองลงมาอันดับ 4 มองว่าการ กระจายอำนาจการแก้ไขปัญหาคอรัปชั่น 16.49 เปอร์เซ็นต์ เป็นเรื่องที่สำคัญในช่วงเลือกตั้ง
รองลงมาอันดับ 5 เรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม 12.91 เปอร์เซ็นต์
สุดท้ายอันดับที่ 6 เรื่องสังคมสูงวัยคุณภาพ 6.54 เปอร์เซ็นต์
องศาเหนือเก็บคำอธิบายจากประชาชน ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ที่เป็นตัวแทนประเด็นสำคัญ เสียงส่วนหนึ่งจากผู้คนที่เข้ามาเล่นเกมส์ MY TAX My Future
ตัวแทนคน Gen X : เลือกหยอดภาษีให้กับนโยบายด้านการศึกษา เพราะตนเองมีลูก ลูกกำลังเรียนปี 4 มหาวิทยาลัย ใกล้เรียนจบพูดคุยกับลูกว่าเรียนจบแล้วจะทำงานอะไรที่ไหน ลูกอยู่กรุงเทพมหานคร เรียนจบที่กรุงเทพมหานคร ทำงานที่เมืองหลวงได้เงินเดือนต่ำกว่า 2 หมื่นบาทไม่พอใช้แน่นอน ส่งลูกเรียนตั้งแต่ปฐมวัย จนถึงปริญญาตรี ลูกจบมาได้เงินเดือนแค่เลี้ยงตัวเองได้ ยังไม่ได้ส่งเสียให้พ่อแม่เลย ถ้าระบบการศึกษาดีทำให้คนเรียนจบมามีรายได้ที่ดีมากพอ เพราะเป็นพื้นฐานตั้งแต่เด็กถึงโต
ความหวังของรัฐบาลยุคถัดไปคือ ต้องฟังเสียงประชาชน ทำอย่างไร ให้สังคม เศรษฐกิจ การศึกษา สูงวัย มีนโยบายที่ใช้ได้จริงในการดูแลทั้งหมดและครอบคลุม ใช้งบประมาณให้ถูกจุด ไม่ซื้ออะไรที่ไม่จำเป็นต่อประเทศ
ตัวแทนคน Gen Z : มองว่าเรื่องการศึกษา หลายคนไม่ได้เข้าถึง อย่างเชียงใหม่เองที่มองเห็นพื้นที่รอบนอกการเข้าถึงการศึกษายังไม่มากพอ บางพื้นที่มองว่าการศึกษาไม่ได้สำคัญ
อีกทั้งตนเลือกให้กับการกระจายอำนาจ เพราะมองว่าในปัจจุบันจะมีการกระจุกตัวของศูนย์อำนาจยังอยู่ที่เมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร รวมถึงการเมืองการกระจายงบให้ท้องถิ่น
และสุดท้ายมองเรื่องเศรษฐกิจ อยากให้พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่กลับมามีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น
ตัวแทนคน Gen Z : มองเรื่องการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ ใส่ไป 2 ลูก และอีก 1 ลูก หยอดให้เรื่องการกระจายอำนาจ
มองว่าการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของพื้นฐานในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เข้าใจปัญหา เข้าสิ่งที่เกิดขึ้นในพื่นที่ เช่นการแก้ไขปัญหาฝุ่น Pm 2.5 เลือกการศึกษาเพราะคนที่ได้รับการศึกษาจะสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้
การกระจายอำนาจเป็นส่วนหนึ่งที่แก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพเพื่อแก้การศึกษาได้มาก่อน
ตัวแทนคน Gen X : เลือกหยอดภาษีให้กับนโยบายด้านการศึกษาเพราะมองเห็นว่า การศึกษาเป็นสิ่งที่จำเป็น เด็กทุกคนควรจะมีการศึกษาที่เท่าเทียมกัน และได้รับการศึกษาขั้นพี้นฐานที่ดี
ด้านเศรษฐกิจมองว่าเชียงใหม่เป็นเมืองที่เติบโตด้านเศรษฐกิจได้มากกว่านี้ โอกาศที่คนในพืนที่จะมีโอกาสและความคล่องตัวมากขึ้นในการทำมาหากิน
ด้านสุขภาพยั่งยืน เราเสียภาษีให้รัฐ อยากได้ความมั่นคงตอนท้ายที่สุดของชีวิต ในเมื่อเราเสียภาษีไปส่วนนั้นควรจะได้กลับมารักาเราได้อย่างมั่นคงตอนอายุที่มากขึ้น
ความหวังของรัฐบาลยุคถัดไปคือ มองว่านโยบายของแต่ละพรรคน่าสนใจแต่อยากให้เป็นจริงตามที่หาเสียงเพราะที่ผ่านมา เราประสบปัญหาต่าง ๆ หลายรูปแบบ และอยากให้ทุกอย่างดีขึ้นหลังจากนี้
ตัวแทนคน Gen Y : เป็นคนกรุงเทพมหานครมามีครอบครัวที่เชียงใหม่ เลือกการศึกษาเพราะเราเคยเป็นนักเรียนกันมาทุกคนด้วยเศรษฐกิจช่วงนี้เรื่องการเข้าถึงของการศึกษาของเด็กบางคนไม่ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเท่าที่ควร โรงเรียนเอกชนเป็นทางเลือกของคนที่มีรายได้ที่จ่ายได้ และโรงเรียนรัฐบาลเป้นทางเลือกของผู้ปกครองที่มาทางเลือกไม่มาก โรงเรียนแต่ละโรงเรียนก็มีความแบ่งระดับการเรียนตามห้องเรียน มากกว่านั้นคือการแบ่งระดับห้อง EP ห้องที่เรียงอันดับตามความเก่งจะมีราคาที่สูงกว่า ทำไมเราไม่ให้เด็กทุกคนได้เข้าถึงมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งกลายมาเป็นภาระของผู้ปกครองหากอยากให้ลูกเรียนเก่งขึ้นต้องจ่ายเงินที่เพิ่มมากขึ้น อยากให้พัฒนาที่เท่ากัน ไม่ควรเป็นทางเลือกที่ผู้ปกครองยินยอมจ่าย ลูกตนเองเรียนโรงเรียนรัฐบาลในทุกวันนี้มีการแบ่งแบบนี้ และอีกหนึ่งปัญหาคือโครงการเรียนฟรี แต่มีค่าบำรุงการศึกษา เป็นการเลี่ยงบาลีหรืออะไร ไม่มีค่าเทอมแต่โรงเรียนขอค่าต่าง ๆ ซึ่งเป็นเงินที่มีจำนวนมากพอสมควร บ้านไหนมีลูกหลายคนก็จะต้องมีค่าใช้จ่ายหนัก
ด้านเศรษฐกิจ ตนจะทำงานบริษัทเอกชนแต่บางบริษัทยังมีความไม่ทำตามกฎหมาย จ้างพนักงานไม่มีหลักประกันสังคมให้ อยากให้ดูแลพนักงานเอกชนมีสวัสดิการที่ดี การกระจายอำนาจ มองเห็นว่าอยากให้ท้องถิ่นมีความพัฒนาความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ได้ดีมากยิ่งขึ้น
ฝากถึงรัฐบาลยุคหน้า : เด็กวันนี้ต้องยอมรับความคิดของเขาให้มากขึ้น เพราะสังคมเรากำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย อยากให้ผู้ใหญ่มองเห็นปัญหาเรื่องการศึกษา เพราะปัจจุบันคนเริ่มมีความคิดไม่อยากมีลูก เพราะต้องแบกรับภาระหลาย ๆ อย่าง เป็นค่าใช้จ่ายหรือค่าต่าง ๆ เพื่อที่ว่าเราจะมีเยาวชน ที่จะมาพัฒนาคุณภาพของประเทศต่อไป
ตัวแทนคน Gen Y : มองเรื่องเศรษฐกิจทั่วถึงให้ลดความเหลื่อมล้ำเรื่องรายได้ ทางนอกเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ให้คนมีรายได้ไม่ได้ห่างกัน มองเรื่องฐานเงินเดือนที่เชียงใหม่เท่ากับ 10 ปีที่แล้วอยู่ เปรียบเทียบกับกรุงเทพมหานคร ในขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภคแพงขึ้น
ตัวแทนคน Gen Y : เป็นหมอเฉพาะทาง มองเรียนสาธารณสุข สุขภาพเป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสิทธิการรักษาต่าง ๆ ที่ยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่ หรือเรื่องบุคลากรทางการแพทย์ที่ยังไม่เพียงพอ นโบยาย เรื่องของกัญชาแต่ละพรรคมีจุดยืนต่อเรื่องนี้อย่างไร ?
ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ การเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างตนเองอยู่โรงพยาบาลมหาราช เป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ ซึ่งเจอคนไข้ที่มีความหลากหลายทั้งคนในพื้นที่และคนที่อยู่จังหวัดใกล้เคียง เชียงราย พะเบา แพร่ น่าน แม้แต่จังหวัดเกือบแถบเหนือล่างเองยังส่งมารักษาที่นี่ เห็นถึงความห่างไกลและยากลำบากที่เข้ามารักษาที่นี่ มองว่าเรื่องการแก้ปัญหาเรื่องของการกระจายแพทย์ การกระจายบุคลากร และทรัพยากรต่าง ๆ ปัจจุบันยังไม่โอเค ต้องฝากนโยบายให้กับรัฐมนตรีสาธารณสุขคนต่อไป อยากได้คนที่ทำงานช่วยเหลือเรื่องนี้
เรื่องจรังในปัจจุบันคือแพทย์ 1 คน รักษาคนไข้ 1000 คน ปัญหาการกระจายแพทย์ กระจุดตัวอยู่เพียงแค่ส่วนกลาง อย่างเชียงใหม่เองที่ว่าหนักแล้วกับทั้งแพทย์ บุคลากรต่าง ๆ ในการดูแลคนไข้หลายคน ในรอบนอกต่างจังหวัดยิ่งกว่านี้ แพทย์ 1 คน ประชาชน 2000 กว่า ในพื้นที่ชนบท เพราะเรื่องของสวัสดิการต่าง ๆ ภาระงาน แพทย์รุ่นใหม่มองว่างานยังโหลดอยู่เยอะ ไม่ว่าจะเป็นการกระจายคนไข้ หรือกระจายหมอ พวกเขาควรรับในสิ่งที่เหมาะสม ไม่ใช่ให้หมอเข้าเวรถึง 48 ชั่วโมง อดหลับอดนอน จนสุดท้ายทนไม่ไหวลาออกหรือไปอยู่บริษัทเอกชนที่ค่าตอบแทนดีกว่า เป็นเรื่องของคุรภาพชีวิต ต้องหาเลี้ยงชีพ
แล้วจะทำอย่างไรถึงจะดึงคนที่อยู่ในวงการบุคลากรทางการแพทย์อยู่แล้วจะทำอย่างไร คือ มานั่งดูนโยบายเรื่องของภาระงานของแพทย์ ที่ดึงความสนใจกลุ่มหมอที่ไปอยู่กรุงเทพมหานคร ที่มาจากต่างจังหวัดเพราะคุณภาพชีวิตหมอที่เมืองใหญ่ดีกว่าด้านรายได้ เพราะฉะนั้นต้องมาดูนโยบายแต่ละพรรคการเมืองว่ามีแนวทางเรื่องนี้อย่างไร
ประเด็นอื่น ๆ เรื่องการศึกษา ตั้งแต่เราเด็กการเรียนถามว่า วันเราเรียนกี่ชั่วโมง มหาลัยก็ยังเรียนเยอะหรือหนัก ในฐานะที่เรามีระดับการเรียนที่ค่อนข้างจะดี มองว่าการเรียนเยอะไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องของการเป็นคนเรียนดี เนื้อหาที่เราเรียนเกินจำเป็นหรือไม่บางวิชาใน 8 สาระวิชา บางครั้งไม่ได้ใช้ในชีวิต แต่สุดท้ายคนเรามักจะมีหนึ่งอย่างที่ชอบ และนั่นเป็นสิ่งที่เราหาเลี้ยงชีพแต่ในขณะที่ทักษะอื่น ๆ ไม่ได้ใช้ก็ควรลด สิ่งที่ดีที่สุดคือเราต้องมีสิ่งที่สามารถส่งเสริมให้เด็กทราบตัวตนว่าเขาชอบอะไรและไปในสิ่งนั้นให้สุดและสนับสนุนให้ไปได้ในทางนั้น
เลือกสุดท้ายคือเรื่องสังคมสูงวัย ในฐานนะที่ตนเองเป็นแพทย์มองเห็นเรื่องของการเจอคนไข้เกินครึ่งเป็นคนสูงวัย เวลาเราเป็นหมอคุยกับคนไข้ ถามอื่น ๆ ที่มาที่ไปความเป็นอยู่ คนสูงวัยปัจจุบันการช่วยเหลือ ซัพพอร์ตที่ยังน้อยเกินไป ทั้งเรื่องการดูแล ความเป็นอยู่ที่ดี ผู้สูงอายุในภาคเหนือเอง คนดูแลส่วนใหญ่คือลูกหลานแต่ลูกหลายหลายคนไม่ได้อยู่ที่บ้านเกิด บางคนที่ลูกหลานไปทำงานข้างนอกไม่มีคนดูแล สิ่งที่เราอยู่ในวงการทางการแพทย์ผู้สูงอายุมาโรงพยาบาลมาด้วยตัวเอง ผู้สูงอายุเป็นวัยที่มองข้ามไม่ได้แม้เราจะอยู่ในช่วงวัยที่ยังทำงาน ไม่ได้มองแค่ตัวเราเองเพราะในอนาคตเราก็ต้องเตรียมตัวแก่
น่าสนใจที่ แม้ว่าตั้งแต่ปี 2561 สังคมไทยโดยเฉพาะภาคเหนือ จะเข้าสู่ผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) แล้วก็ตาม แต่ถูกจัดอยู่ในอันดับสุดท้ายที่หลายคนเลือกใช้ภาษีกับเรื่องนี้ ชวนคุณผู้อ่านเติมข้อมูลเพิ่มเติม
ภาษีไปไหน… ซื้อเรือดำน้ำ ซื้ออาวุธ ? คำถามเหล่านี้ถูกได้ยินบ่อย ๆ แต่นอกเหนือจากสิ่งเหล่านี้ที่ถูกตั้งคำถาม รายได้ของรัฐบาลส่วนใหญ่มาจากเงิน “ภาษีของประชาชน” ยังถูกนำไปใช้ ประโยชน์ด้านอื่น ๆ อยู่ด้วยเหมือนกัน ชวนทำความเข้าผ่านข้อมูล จากองศาเหนือ ถึงเรื่องภาษี#เรา
ภาษี คือ สิ่งที่รัฐบาลเรียกเก็บจากประชาชนผู้มีรายได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อนำไปใช้สนับสนุน พัฒนาและเยียวยาประเทศในรูปแบบต่าง ๆ หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีจากประชาชน และนำส่งให้เป็นรายได้ของแผ่นดิน ได้แก่ “กระทรวงการคลัง”
รายได้รัฐบาลมาจาก
1.กรมสรรพากร
2.กรมสรรพสามิต
3.กรมศุลกากร
4.รัฐวิสาหกิจ
5.ส่วนราชการอื่น ๆ
รายจ่ายรัฐตามกรอบยุทธศาสตร์ไปอยู่ที่
1.ความมั่นคง
2.การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม
3.การสร้างความสามารถในการแข่งขัน
4.การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
5. การพัฒนาและเสริมสร้าง ศักยภาพทรัพยากรมนุษย์
6.การปรับสมดุลและพัฒนา ระบบการบริหาร จัดการภาครัฐ
7.รายการค่าดำเนินการภาครัฐ
ภาษีที่เราจ่ายกันทุกปี รวมไปถึงภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่ายของรายการรายได้ต่าง ๆ นา ๆ ที่เราคุ้นเคยกันทุกวันในชีวิตประจำวันนั้น ถูกส่งไปใช้ประโยชน์ที่ไหนบ้าง แล้วเราได้รับกลับมาในรูปแบบไหน วันนี้องศาเหนือ พาไปหาคำตอบว่า จ่ายภาษีแล้วไปไหนบ้าง ?
ช้อมูลจาก govspending.data จ่ายภาษีแล้วไปไหนบ้าง ? สำรวจโครงสร้างรายจ่ายของรัฐ ปี 2565 ข้อมูล ณ วันที่ 01/03/2565
เงินภาษีมาจาก 4 แห่ง ปีที่ผ่านมา (2565) มีผลรวมรายได้ทั้งสิ้น 1,313,524 ล้านบาท โดยเรียงลำดับจากผลการจัดเก็บจากมากไปหาน้อยคือ
ลำดับที่ 1 กรมสรรพากร 64.85% แบ่งเป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้ปิโตเลียม ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์ เป็นต้น
ลำดับ 2 กรมสรรพสามิต 21.05% แบ่งเป็นภาษีน้ำมันฯ ภาษียาสูบ ภาษีสุราฯ ภาษีเบียร์ ภาษีรถยนต์ ภาษีเครื่องดื่ม ภาษีจักรยานยนต์ ภาษีเครื่องดื่ม ภาษีแบตเตอรี่ รายได้เบ็ดเตล็ด ภาษีสถานบริการ (สนามกอล์ฟ) ภาษีผลิตภัณฑ์เครื่องหอม ภาษีแก้วและเครื่องแก้ว ภาษีไพ่ ภาษีไนท์คลับและดิสโก้เธค ภาษีสถานอาบน้ำ อบตัวและนวด
ลำดับ 3 หน่วยงานอื่น ๆ 10.06% แบ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ กรมธนารักธ์ ส่วนราชการอื่น
ลำดับ 4 กรมศุลกากร 4.04% แบ่งเป็นอากรขาเข้า อากรขาออก
ประชาชนได้ภาษีกลับมาในรูปแบบนโยบายต่าง ๆ เช่น โครงการคนละครึ่ง การจัดหาวัคซีน การพัฒนา EEC เพื่อสร้างงาน, โครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน, การพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ เป็นต้น
นั่นคือภาพใหญ่ของระดับประเทศ แต่รู้หรือไม่ว่าทำไมเราถึงต้องเสียภาษี แล้วเงินภาษีต่าง ๆ ที่เราชำระไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นอยู่ที่ไหน และนำไปทำอะไรบ้าง ?
จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีท้องถิ่นรวมสูงที่สุด อยู่ที่อันดับ 5 ในปี 2562 ถึง 14,743.87 ล้านบาทข้อมูลพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ข้อมูล ณ วันที่ 30/09/2563
อ่านถึงบรรทัดนี้และเห็นตัวเลขภาษีท้องถิ่น และรู้กันแล้วว่าภาษีของเราที่จ่ายแม้บางส่วนอาจรู้สึกว่ามันถูกใช้ไปแบบใด อาจจะถูกใจเราบ้างหรือไม่ถูกใจ แต่ส่วนใหญ่ก็ถูกนำไปใช้พัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ถ้าหากเราเลือกได้หละ จะจัดสรรเงินเหล่านี้แต่ละส่วนไปใช้กับเรื่องอะไร ?
ชวนเล่นเกมส์จำลองการใช้ภาษีเพื่อกำหนดอนาคตของประเทศ กับการเลือกตั้ง 66 ในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่ต้องจ่ายภาษีให้รัฐ และมาลองจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังด้วยตัวของคุณเองผ่าน My Tax My Future ภาษีฉัน อนาคตฉัน เราเลือกได้