‘กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเสวียด’ เป็น 1 ใน 8 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นจากทั่วประเทศที่ได้รับรางวัลสรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ตามแนวคิดของ ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ โดยจะมีพิธีมอบรางวัลในวันที่ 9 มีนาคมนี้ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของ ดร.ป๋วย ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ
‘18 ปี’ กองทุนสวัสดิการชุมชนจัดตั้งทั่วประเทศแล้ว 5,915 กองทุน
กองทุนสวัสดิการชุมชน เป็นกองทุนในระดับตำบลหรือเทศบาล (ในกรุงเทพฯ เป็นกองทุนระดับเขต) ที่ประชาชนร่วมกันจัดตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือดูแลสมาชิกและผู้ด้อยโอกาสในด้านต่างๆ เช่น สวัสดิการด้านพื้นฐาน ช่วยเหลือเป็นเงินหรือสิ่งของจำเป็น ในยามเกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือช่วยเหลือกันในยามทุกข์ยาก เป็นการลดความเหลื่อมล้ำ เสมือนเป็นตาข่ายรองรับผู้เดือดร้อนทางสังคม
นอกจากนี้ยังมีสวัสดิการที่ใช่ตัวเงิน เช่น การช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะ อนุรักษ์ป่าไม้ ป่าชุมชน ส่งเสริมการปลูกไม้มีค่าเป็นบำนาญยามชรา สร้างแหล่งอาหาร ดูแลแหล่งน้ำในการเกษตร ส่งเสริมอาชีพ ประเพณี วัฒนธรรม การดูแลและส่งเสริมกิจกรรมผู้สูงอายุ ฯลฯ ทำให้สมาชิกและชาวชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นสวัสดิการชุมชนที่ครอบคลุมทุกมิติชีวิตและยั่งยืน
ดังเช่น กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเสวียด ที่สมาชิกกองทุนสวัสดิการฯ และชาวบ้านในตำบลร่วมกันอนุรักษ์และดูแลป่าต้นยางเหียง จัดการขยะ และสิ่งแวดล้อม จนได้รับรางวัลสรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ฯ ‘ประเภทที่ 5 ด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ’ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดการจัดสวัสดิการสังคม ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่เขียนบทความ ‘จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ เอาไว้เมื่อ 50 ปีก่อน (ตุลาคม 2516)
ดังข้อความตอนหนึ่งว่า… “ผมจำเป็นต้องมีอากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจและน้ำสะอาดสำหรับดื่ม” (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.psds.tu.ac.th/puey )
ปัจจุบันเป็นเวลา 18 ปี มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ ในระดับตำบล เทศบาล และระดับเขตในกรุงเทพฯ แล้ว จำนวน 5,915 กองทุน สมาชิกรวมกันกว่า 6,486,679 ราย มีเงินกองทุนสะสมรวม 19,061 ล้านบาทเศษ (เฉลี่ยกองทุนแต่ละแห่งมีเงินกองทุนแห่งละ 3 ล้านบาทเศษ) ช่วยเหลือสมาชิกและผู้ด้อยโอกาสรวมกันจำนวน 1,970,314 ราย เงินช่วยเหลือรวม 2,399 ล้านบาทเศษ
จากสวัสดิการชุมชนสู่การดูแลสิ่งแวดล้อม
ตำบลเสวียด อ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี มีพื้นที่ 92 ตารางกิโลเมตร ประชากรประมาณ 5,000 คน อยู่ห่างจากตัวอำเภอท่าฉางประมาณ 38 กิโลเมตร ในอดีตชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา ทำสวน แต่ภายหลังเริ่มหันมาปลูกยางพารา เมื่อยางราคาตกต่ำ ชาวบ้านจึงเปลี่ยนมาปลูกปาล์มน้ำมัน ปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมผลิตน้ำมันปาล์มตั้งอยู่ในตำบล จำนวน 3 แห่ง
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเสวียด ก่อตั้งในเดือนกันยายน 2551 มีสมาชิกแรกตั้งจำนวน 112 คน ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 1,062 คน คิดเป็น 17.46% ของจำนวนประชากรทั้งหมด มีเงินกองทุนหมุนเวียน 932,152 บาท มีคณะกรรมการบริหารกองทุน จำนวน 21 คน และมีคณะกรรมการที่ปรึกษากองทุน 7 คนมาจาก อบต.เสวียด รพ.สต. เสวียด ฯลฯ
การจัดสวัสดิการให้กับสมาชิก เช่น เกิด เจ็บป่วย เสียชีวิต ทุนการศึกษา บรรเทาความเดือดร้อนจากภัยพิบัติ ช่วยเหลือผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส กลุ่มเปราะบาง สนับสนุนประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น ช่วยเหลือกิจกรรมสาธารณประโยชน์ การพัฒนาอาชีพ กิจกรรมเยาวชน กีฬา การซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ฯลฯ
นอกจากการจัดสวัสดิการต่างๆ ดังกล่าวแล้ว กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลยังเสวียดยังขยับขยายไปสนับสนุนให้สมาชิกกองทุนและชาวบ้านทำการเกษตรที่ปลอดภัย การปลูกปาล์มที่ยั่งยืน การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการจัดการขยะในชุมชนด้วย
โดยก่อนหน้านี้ ชาวตำบลเสวียดได้รับผลกระทบจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในตำบล เช่น ฝุ่นควันจากโรงงาน ทำให้คนเสวียดเจ็บป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ ฝนตกจากฟ้าเป็นฝนกรด เขม่าดำเต็มหลังคาบ้าน ชาวบ้านจึงรวมตัวกันไปเจรจากับโรงงานจนสามารถแก้ไขปัญหาได้ หลังจากนั้นจึงขยายไปทำเรื่องการเกษตรปลอดภัย โดยเฉพาะการปลูกปาล์มที่เป็นอาชีพสำคัญของชาวเสวียด เริ่มโครงการนี้เมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา
โดยการทำสวนปาล์มที่ผ่านการรับรองมาตรฐานขององค์กรสนับสนุนการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน Roundtable on Sustainable Palm Oil หรือ RSPO โดยมีข้อบังคับ เช่น ไม่ฉีดยาฆ่าหญ้าในสวนปาล์มเพื่อป้องกันสารเคมีไหลลงแหล่งน้ำ ไม่แผ้วถางป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ
ผู้ปลูกปาล์มที่ได้รับการรับรองจะต้องดำเนินมาตรการเพื่อลดการกัดเซาะหน้าดินให้น้อยที่สุดและปกป้องแหล่งน้ำ และต้องใส่ใจประเด็นสิทธิมนุษยชน เช่น การจ่ายค่าแรงขั้นต่ำ การไม่ใช้แรงงานเด็ก ฯลฯ โดยมีเกษตรกรในตำบลเสวียดให้ความสำคัญและเข้าร่วมโครงการนี้จำนวนกว่า 100 ราย…
‘ธนาคารยางเหียง’ และผลพลอยได้
การร่วมโครงการปลูกปาล์มอย่างยั่งยืนส่งผลต่อกระแสการดูแลสิ่งแวดล้อมของชุมชนด้วย เพราะนอกจากการปลูกปาล์มที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแล้ว กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเสวียดยังมีส่วนสำคัญในการดูแลป่าและต้นไม้ที่เป็นเอกลักษณ์ของตำบล นั่นคือ ‘ต้นยางเหียง’ ซึ่งในภาคใต้พบต้นยางเหียงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติขึ้นอยู่หนาแน่นเฉพาะที่ตำบลเสวียดเพียงแห่งเดียวเท่านั้น !!
สมหมาย พรหมอุบล อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 บ้านเหียง บอกว่า ต้นยางเหียงเป็นพืชตระกูลเดียวกับต้นยางนา ในตำบลเสวียดต้นยางเหียงจะขึ้นอยู่เฉพาะในหมู่ที่ 5 จึงเรียกชื่อว่า “บ้านเหียง” เมื่อก่อนมีเยอะ เป็นหมื่นๆ ต้น แต่ป่าเหียงถูกบุกรุก หรือถูกโค่นเอาไปใช้งาน เพราะเหียงเป็นไม้เนื้อแข็ง มอดไม่กิน นอกจากนี้ในสมัยก่อน ชาวบ้านจะใช้น้ำมันยางจากต้นเหียงมาใช้ทำ ‘ไต้’ จุดให้แสงสว่าง ใบใช้ห่อของ
“พอป่าเหียงถูกบุกรุกทำลายมาก ประมาณปี 2548 ผมจัดประชุมชาวบ้านเพื่อขอความร่วมมือให้ช่วยกันอนุรักษ์ต้นเหียงเอาไว้ เพราะเป็นไม้หายาก โตช้า และในป่าเหียงจะมีเห็ดต่างๆ เกิดขึ้นในช่วงหน้าฝน ประมาณเดือน 5 เดือน 6 โดยเฉพาะเห็ดเผาะจะมีเยอะ คนหนึ่งหาเห็ดเผาะขายได้เงินเป็นหมื่น บางคนบอกว่าหาเห็ดฤดูนึงก็จะมีเงินไปซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า ซื้อตู้เย็นได้” อดีตผู้ใหญ่บ้านเหียงบอก
ส่วนข้อมูลด้านสมุนไพร พบว่า ใบเหียงมีรสฝาด ตำรายาไทยจะใช้ใบเหียงนำมาต้มผสมกับน้ำเกลือ ใช้อมแก้ปวดฟัน แก้ฟันโยกคลอน เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ แก้ตานขโมย นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ท้องเสีย เป็นยาแก้บิด น้ำมันยางช่วยขับเสมหะ ฯลฯ
จากการริเริ่มอนุรักษ์ยางเหียงของผู้ใหญ่สมหมายตั้งแต่ปี 2548 ต้นยางเหียงจึงอยู่คู่กับชาวตำบลเสวียดมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีพื้นที่ป่าเหียงรวมกันประมาณ 1,000 ไร่ จากพื้นที่ป่าชุมชนทั้งหมด 4,731 ไร่ และต่อยอดมาเป็นโครงการ ‘ธนาคารต้นยางเหียง’ ในปัจจุบัน
ธนาคารต้นยางเหียง จัดตั้งอย่างเป็นทางการในปี 2565 มีเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์ต้นยางเหียงแบบมีส่วนร่วม พัฒนาพื้นที่ปลูกให้มากขึ้น และต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย สามารถเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน โดยร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น หน่วยราชการในท้องถิ่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (BEDO) บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ฯลฯ
มีการจัดเวทีประชาคมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดในการดำเนินการโครงการธนาคารต้นยางเหียง และชี้แจงทำความเข้าใจการเข้าใช้พื้นที่จาก อบต.เสวียด แต่งตั้งคณะทำงานโครงการธนาคารต้นยางเหียง ประกอบด้วย ตัวแทนจากภาคเอกชน อบต.เสวียด ตัวแทนกองทุนสวัสดิการชุมชน ตัวแทนประชาชนในพื้นที่ ฯลฯ
เสนอรับงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการธนาคารต้นยางเหียงจากสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (BEDO) โดยกองทุนสวัสดิการฯ ได้รับงบสนับสนุน 249,600 บาท เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ เช่น จัดอบรมให้ความรู้สมาชิกสำรวจแม่พันธุ์ต้นยางเหียง สำรวจพื้นที่ การตีแปลง วัดขนาด ความสูง จัดเก็บพันธุ์ต้นยางเหียง จำนวน 500 ต้น การขึ้นทะเบียนแม่พันธุ์ นำเยาวชนเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ
นอกจากนี้กองทุนสวัสดิการฯ กับอบต.เสวียด และ ธ.ก.ส. จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ในโครงการปลูกป่ารวมใจภักดิ์ รักษ์พื้นที่สีเขียวบริเวณพื้นที่ว่างเปล่าของป่าทุ่งจอ จำนวน 10,000 ต้น ร่วมกันดูแลอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมพัฒนาเป็นพื้นที่กักเก็บคาร์บอนเพื่อจำหน่ายคาร์บอนเครดิตในอนาคต
‘เหียง’ กับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
1.เกิดการจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยความร่วมมือของสมาชิกกองทุนสวัสดิการ ชุมชน หน่วยงานภาคีทั้งรัฐและเอกชน มีการตั้งคณะทำงาน การติดตามผล การดูแลต้นยางเหียงที่ปลูกใหม่อย่างต่อเนื่อง การวิจัยเพื่อนำยางเหียงมาใช้ประโยชน์และพัฒนาต่อยอดโดยความร่วมมือจากหน่วยงานวิชาการต่างๆ
2.เกิดการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ พืชพันธุ์ต่างๆ ภายในป่ายางเหียงล้วนได้รับการอนุรักษ์ไปด้วย เกิดป่าชุมชนในตำบลเสวียดบนพื้นที่ 50 ไร่ ขึ้นทะเบียนพืชสมุนไพรจำนวน 205 ชนิด สำรวจแม่พันธุ์ต้นยางเหียงและขึ้นทะเบียนแล้ว 500 ต้น เตรียมขยายพันธุ์ต้นยางเหียงในปี 2566 จำนวน 5,000 ต้น
ช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ ต้นไม้ที่เกิดขึ้นในป่าช่วยลดการพังทลายของดินจากการยึดเกาะของราก ช่วยชะลอความแรงของน้ำป่าในฤดูน้ำหลาก ปลูกต้นไม้ในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมแล้ว 10,000 ต้น เช่น ยางเหียง ยางนา มะฮอกกานี ตะเคียน ขี้เหล็ก ฯลฯ
ผลด้านสังคม สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการดูแลรักษาป่า ส่งเสริมการรวมกลุ่มในชุมชน คือ มีระเบียบป่าชุมชน คณะกรรมการป่าชุมชน คณะทำงานธนาคารต้นยางเหียง สร้างเครือข่ายระหว่างชุมชน หน่วยงานราชการ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา สร้างความรู้ความเข้าใจการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น ลดความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงานรัฐเรื่องการรุกล้ำที่ดิน
ผลด้านสุขภาพ ส่งเสริมสุขภาพชุมชนตำบลเสวียด โดยการส่งเสริมให้มีการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ลดปัญหาก๊าซเรือนกระจก ลดปัญหาการปล่อยก๊าซ ฝุ่นละลอง ควัน จากโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ สมาชิกกองทุนสวัสดิการและคนในชุมชนที่มีปัญหาทางเดินหายใจมีสุขภาพดีขึ้นจากการเก็บข้อมูลของ อสม.ในพื้นที่
เกิดความมั่นคงทางอาหาร โดยการเก็บเห็ด หน่อไม้ น้ำผึ้ง ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการผู้สูงวัยที่เข้าไปใช้ประโยชน์ การจัดเก็บข้อมูลพบว่า สามารถสร้างรายได้จากการใช้พื้นที่ป่า 2,500 บาท/คน หรือคิดเป็นรายได้รวม 87,500 บาท/ปี และช่วยลดรายจ่ายครัวเรือนลงได้ 600 บาท/คน หรือคิดเป็นรายจ่ายที่ลดลงทั้งหมด 21,000 บาท
ชุมชน-เยาวชน เกิดจิตสำนึก เห็นคุณค่าของการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และในอนาคต กองทุนสวัสดิการจะพัฒนาพื้นที่ป่ายางเหียงเป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนและแหล่งศึกษาเรียนรู้เชิงนิเวศ
นอกจากนี้ในปี 2566 ทางกองทุนฯ มีกิจกรรมเพาะและขยายพันธุ์ต้นยางเหียง จะทำให้สมาชิกมีรายได้จากการจำหน่ายกล้าพันธุ์ยางเหียงให้แก่หน่วยงานที่จะเข้ามาจัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ในพื้นที่
โครงการ ‘ขยะสร้างเงิน ชุมชนปลอดถัง’
จำนวนประชากรในตำบลที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เข้ามาตั้ง มีแรงงานจำนวนมากเข้ามาอยู่อาศัย จากข้อมูลปริมาณขยะในชุมชนพบว่า มีขยะ 4 ประเภท คือ ขยะอินทรีย์ 64 % ขยะรีไซเคิล 30 % ขยะทั่วไป 3 % และขยะอันตราย 3 %
ก่อนเริ่มโครงการฯ ชุมชนไม่มีการคัดแยกขยะ แยกขยะไม่เป็น ทิ้งขยะตามพฤติกรรมที่เคยชิน คือ การทิ้งรวมๆ กัน การขุดหลุมและนำไปฝังพร้อมกับการเผา ทำให้ขยะบางประเภทที่ไม่ไหม้ หรือไหม้ไม่หมดจะเหลืออยู่ในหลุม เมื่อเกิดน้ำท่วม ขยะจะไหลลงสู่แม่น้ำลำคลอง
นอกจากนี้ อบต.เสวียดมีงบประมาณในการจัดการขยะไม่มากนัก ไม่มีที่ทิ้งขยะเป็นของตนเอง ต้องนำไปทิ้งในตำบลอื่น ขณะที่ตำบลอื่นก็มีปัญหาเรื่องขยะเหมือนกัน ก่อให้เกิดการหมักหมมและเป็นแหล่งขยายพันธุ์ของแมลงวัน และกลิ่นรบกวน
พันเอกวินัย คำสุวรรณ ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเสวียด บอกว่า จากปัญหาดังกล่าว กองทุนสวัสดิการฯ จึงได้คิดโครงการ ‘ขยะสร้างเงิน ชุมชนปลอดถัง’ ขึ้น โดยมีขั้นตอนการดำเนินงานดังนี้
1.จัดตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาขยะตำบลเสวียด จำนวน 22 คน 2.ตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาจากหน่วยงานต่างๆ ในตำบล รวม 14 คน 3.จัดทำแผนการดำเนินงานการแก้ปัญหาขยะตำบลเสวียดรายปี พร้อมทั้งผลักดันการพัฒนาสุขภาวะของตำบลเสวียด ผ่านธรรมนูญสุขภาพตำบลเสวียด
4.รณรงค์ให้คนในชุมชนตระหนักถึงปัญหาขยะ และเห็นถึงความสำคัญของการเริ่มต้นคัดแยกขยะในครัวเรือน ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น เดินรณรงค์ในงานกีฬาสีของชุมชน งานวันลอยกระทง ติดป้ายรณรงค์ริมทาง
5.จัดอบรมให้ความรู้สมาชิกและชุมชนเพื่อคัดแยกขยะ ให้ อสม.ถ่ายรูปขยะแล้วตั้งคำถามว่า “ขยะไปไหน ?” โพสต์ลงกลุ่มต่างๆ การแข่งขันคัดแยกขยะ โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มสีเหมือนการแข่งขันกีฬาสี นำขยะรีไซเคิลมาขายให้กับกองทุนสวัสดิการชุมชน นำเงินที่ได้ไปจัดกิจกรรม การท่องเที่ยวประจำปีของกลุ่ม อสม.
จิราภรณ์ สาระคง ผู้อำนวยการ รพ.สต. เสวียด บอกว่า อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.)ในตำบลเสวียดมีทั้งหมด 143 คน ที่ผ่านมา อสม.มีบทบาทในการจัดการขยะในที่สาธารณะ แต่หยุดไปในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด และในปี 2565 เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น อสม.จึงกลับมามีบทบาทอีกครั้ง
โดย อสม.จะรณรงค์ให้ชาวบ้านในตำบลคัดแยกขยะในครัวเรือน ขยะเปียกนำมาทำปุ๋ย ใช้ใส่ในแปลงผักสวนครัว ส่วนขยะรีไซเคิล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขวดพลาสติก ขวดน้ำดื่ม ให้รวบรวมนำมาขายให้กองทุนสวัสดิการชุมชนฯ ทุกวันที่ 25 ของเดือน รายได้จะนำมาเข้ากองทุน อสม. เพื่อนำไปจัดกิจกรรมต่างๆ
พันเอกวินัย ประธานกองทุน กล่าวเสริมว่า จากการแพร่ระบาดของสถานการณ์ Covid-19 ที่ผ่านมา ส่งผลให้สมาชิกกองทุนบางส่วนไม่สามารถหาเงินเพื่อสมทบเข้ากองทุนจำนวน 365 บาท/ปี กองทุนจึงให้สมาชิกนำขยะรีไซเคิลมามอบให้กองทุน เพื่อแลกเป็นเงินสมทบเข้ากองทุน
โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สมาชิกสามารถเปลี่ยนขยะเป็นเงินสมทบได้จำนวน 25,550 บาท นอกจากนี้ขยะรีไซเคิลส่วนที่มีมูลค่าเกินจาก 365 บาทของสมาชิกแต่ละคน ทางกองทุนได้ให้เป็นเงินคืนกลับไปยังสมาชิกตามมูลค่าที่เกิดขึ้น ส่วนขยะรีไซเคิลที่กองทุนขายต่อให้โรงงานรวมเป็นเงิน 31,500 บาท
นอกจากนี้กองทุนสวัสดิการฯ ได้จัดอบรมให้ความรู้ในการทำ ‘ถังรักษ์โลก’ ทำปุ๋ยหมักชีวภาพจากขยะเปียกที่ย่อยสลายได้ พร้อมทั้งสนับสนุนอุปกรณ์ในการทำถังรักษ์โลกให้แก่สมาชิกกองทุนจำนวน 50 ราย และอสม.สนับสนุน 143 ราย อำเภอท่าฉางสนับสนุน 90 ราย กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีสนับสนุน 9 ราย รวมการสนับสนุนอุปกรณ์ในการทำถังรักษ์โลกแก่สมาชิกกองทุนทั้งสิ้น 292 ราย
การปลูกผักปลอดสารเคมีและสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ผัก โดยใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพใส่ผัก เช่น พริกสด ขมิ้น กระชาย พริกไทยดำ ข่า ฯลฯ ส่งขายให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตเครื่องแกงบ้านเสวียด และนำผักไปขายตามตลาดและสถานที่ต่างๆ เช่น ตลาดนัดชุมชน ตลาดนัดเกษตรกร ส่งให้โรงพยาบาลสมุย โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ฯลฯ ทำให้สมาชิกกองทุนสวัสดิการมีรายได้จากการขายผักรวมกันมากกว่า 15,000 บาท/เดือน
ผลที่เกิดขึ้นจากการจัดการขยะ
1.ชุมชนเกิดจิตสำนึก ในการดูแลสิ่งแวดล้อม ลดการทิ้งขยะตามทางสาธารณะ ลดการเผาขยะ สมาชิกมีความรู้ ความเข้าใจปัญหาขยะมูลฝอยครัวเรือนมากขึ้น ลดปัญหาผลกระทบต่อน้ำผิวดิน น้ำใต้ดินที่มาจากการวางขยะกองบนพื้นหรือขุดหลุมฝังโดยไม่มีการป้องกัน ลดปัญหาด้านคุณภาพอากาศจากขยะมูลฝอยตกค้างส่งกลิ่นเหม็น ลดปัญหาฝุ่นละอองและควันที่เกิดขึ้นจากการเผาขยะ
2.ด้านสังคม กองทุนสวัสดิการฯ สร้างการมีส่วนร่วมของสมาชิกและคนในชุมชนในการแก้ปัญหาขยะในตำบล สร้างเครือข่ายระหว่างกองทุน ชุมชน หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน
3.ด้านสุขภาพ ลดแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์มีพิษจากการทิ้งขยะไม่ถูกต้อง แก้ปัญหาจากสัตว์พาหะนำโรค เช่น แมลงวัน หนู ลดการแพร่กระจายของโรค เช่น โรคบิด ตาแดง โรคผิวหนัง ฯลฯ การจัดการขยะที่ถูกวิธีทำให้บ้านเรือนสะอาด ลดปัญหาด้านสุขภาพ
4.ผลด้านเศรษฐกิจ สร้างรายได้ ลดรายจ่าย โดยสมาชิกกองทุนสวัสดิการ จำนวน 30 คน มีรายได้จากการขายผักเฉลี่ย 500 บาท/คน/เดือน หรือคิดเป็นรายได้รวม 200,000 บาท/ปี ช่วยลดรายจ่ายครัวเรือนจากการบริโภคผักที่ปลูกเองได้เดือนละไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท/คน/เดือน รวม 360,000 บาท/ปี
สมาชิกคัดแยกขยะรีไซเคิลในครัวเรือนจำนวน 50 ราย มีรายได้เฉลี่ยจากการขายขยะรีไซเคิลอยู่ที่ 250 บาท/คน/เดือน หรือคิดเป็น 150,000 บาท/ปี นอกจากนี้การนำขยะเศษอาหารจากครัวเรือนใช้เลี้ยงไก่ หมู ยังช่วยลดรายข่ายในครัวเรือนได้ ฯลฯ
นี่คือผลงานด้านการอนุรักษ์ต้นยางเหียง การจัดการขยะ ส่งเสริมการปลูกผักโดยใช้ขยะเปียกมาสร้างประโยชน์ สร้างมูลค่า ฯลฯ นำไปสู่การพัฒนาและแก้ไขปัญหาในชุมชนได้ครอบคลุมหลากหลายมิติ เป็นผลงานที่สมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนและคนตำบลเสวียดภาคภูมิใจ และเหมาะสมยิ่งกับ ‘รางวัลผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์’ ด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ..!!
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์