8 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ (1) ตำบลวังยาง อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร คนวังยาง “สุขภาพดี อยู่ 100 ปีอย่างสมบูรณ์”

8 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ (1) ตำบลวังยาง อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร คนวังยาง “สุขภาพดี อยู่ 100 ปีอย่างสมบูรณ์”

‘กองทุนสวัสดิการชุมชน’ เป็นกองทุนในระดับตำบลหรือเทศบาล (ในกรุงเทพฯ เป็นกองทุนระดับเขต) ที่ประชาชนร่วมกันจัดตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือดูแลสมาชิกและผู้ด้อยโอกาสในด้านต่างๆ เช่น  สวัสดิการด้านพื้นฐาน  ช่วยเหลือเป็นเงินหรือสิ่งของจำเป็น  ในยามเกิด  แก่  เจ็บ  ตาย  หรือช่วยเหลือกันในยามทุกข์ยาก  เป็นการลดความเหลื่อมล้ำ  เสมือนเป็นตาข่ายรองรับผู้เดือดร้อนทางสังคม

            นอกจากนี้ยังมีสวัสดิการที่ใช่ตัวเงิน  เช่น  การช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะ  อนุรักษ์ป่าไม้  ป่าชุมชน  ส่งเสริมการปลูกไม้มีค่าเป็นบำนาญยามชรา  สร้างแหล่งอาหาร  ดูแลแหล่งน้ำในการเกษตร  ส่งเสริมอาชีพ ประเพณี  วัฒนธรรม  ฯลฯ  ทำให้สมาชิกและชาวชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  เป็นสวัสดิการชุมชนที่ครอบคลุมทุกมิติชีวิตและยั่งยืน

นอกจากนี้ยังถือเป็นการ ‘สร้างนวัตกรรมทางสังคม’ ขึ้นมาด้วย  (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ (www. thaipost.net/public-relations-news/332613/ และ www.thaipost.net/public-relations-news/332721/)

รางวัล ‘ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ตามแนวคิด ป๋วย  อึ๊งภากรณ์’

กองทุนสวัสดิการชุมชนเริ่มจัดตั้งอย่างเป็นทางการในปี 2548  โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และรัฐบาลให้การสนับสนุน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไป  ชาวไร่  ชาวนา  เกษตรกร ที่ไม่มีระบบสวัสดิการรองรับเหมือนกับข้าราชการ  พนักงานบริษัทเอกชน ได้จัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือดูแลกันเอง

ปัจจุบันเป็นเวลา 18 ปี  มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ  ในระดับตำบล  เทศบาล  และระดับเขตในกรุงเทพฯ แล้ว  จำนวน 5,915 กองทุน  สมาชิกรวมกันกว่า 6,486,679 ราย  มีเงินกองทุนสะสมรวม 19,061 ล้านบาทเศษ (เฉลี่ยกองทุนแต่ละแห่งมีเงินกองทุนแห่งละ 3 ล้านบาทเศษ)  ช่วยเหลือสมาชิกและผู้ด้อยโอกาสรวมกันจำนวน  1,970,314 ราย  เงินช่วยเหลือรวม 2,399 ล้านบาทเศษ

ขณะเดียวกันหน่วยงานด้านสังคมหลายหน่วยงาน  เช่น  สถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์, มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยฯ, เครือข่ายสวัสดิการชุมชน, คณะอนุกรรมการส่งเสริมองค์กรสวัสดิการชุมชนฯ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน), สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน), มูลนิธิมั่นพัฒนา และวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์

หน่วยงานเหล่านี้ได้ร่วมกันจัดประกวดรางวัล “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ระดับชาติ” ตามแนวคิดการจัดสวัสดิการสังคม “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์  อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  และผู้บุกเบิกงานพัฒนาชนบท (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่  https://www.psds.tu.ac.th/puey ) โดยจัดประกวดครั้งแรกในปี 2559 เพื่อยกย่อง เชิดชู องค์กรหรือกองทุนสวัสดิการชุมชนที่ดำเนินการงานช่วยเหลือ ดูแลคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนอย่างโดดเด่นในด้านต่างๆ  โดยจะมีการจัดงานเพื่อมอบรางวัลให้แก่กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นทุกวันที่ 9 มีนาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของ ดร.ป๋วยที่ธนาคารแห่งประเทศไทย

2
ดร.ป๋วย  (ยืนที่ 2 จากซ้ายไปขวา) ผู้บุกเบิกงานพัฒนาชนบท

8 กองทุนดีเด่นรับรางวัลประจำปี 2566

ในปี 2566 นี้  เป็นการจัดประกวดรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นเป็นปีที่ 6 (เว้นการจัดช่วงโควิด-19) มีรางวัลทั้งหมด 10 ประเภท  โดยมีกองทุนฯ ที่ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดจากทั่วประเทศใน 5 ภูมิภาค จำนวน 50 กองทุน  และผ่านกระบวนการพิจารณากลั่นกรองในระดับภาคสู่ระดับประเทศ  จนได้รับรางวัลจำนวน 8 กองทุนใน 8 ประเภท  คือ

  1. กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลวังยาง อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร  รางวัลประเภทที่ 2 : ด้านการพัฒนาสุขภาพ  ความมั่นคงทางอาหาร  2.กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลวังกะพี้  อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์  รางวัลประเภทที่ 3 : ด้านการพัฒนาสังคมสูงวัย  3.กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเสวียด  อ.ท่าฉาง   จ..สุราษฎร์ธานี   รางวัลประเภทที่ 5 : ด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ

4.กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบางขะแยง  อ..เมืองปทุมธานี จ.ปทุมธานี  รางวัลประเภทที่ 6 : ด้านการพัฒนาสัมมาชีพในชุมชน  5 .กองทุนสวัสดิการชุมชนเขตธนบุรี  กรุงเทพฯ  รางวัลประเภทที่ 7  :  ด้านการสร้างความมั่นคง  ความปลอดภัย  6.กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลเมืองตะลุบัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี  รางวัลประเภทที่ 7  :  ด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย  ที่ดินทำกิน

7.กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบ้านใหม่         อ. พระนครศรีอยุธยา  จ.พระนครศรีอยุธยา   รางวัลประเภทที่ 9 : ด้านการสร้างสังคมที่เป็นธรรม  และ 8.กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเขาขาว อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช  รางวัลประเภทที่ 10  :  ด้านการฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรมและสุนทรียะ

ทั้งนี้รางวัลประเภทที่ 1. ด้านการพัฒนาครอบครัว แม่และเด็ก  และประเภทที่ 4. ด้านการพัฒนาการศึกษา  การเรียนรู้  ทักษะการดำรงชีวิต  ไม่มีกองทุนที่ได้รับรางวัล…

โดยกองทุนสวัสดิการชุมชนที่ได้รับรางวัลจะมีพิธีมอบโล่และใบประกาศเกียรติคุณในงานธรรมภิบาลดีเด่น  แห่งปี 2566 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย  บางขุนพรหม  กรุงเทพฯ

3
พิธีมอบรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา โดย มรว.ปรีดิยาธร  เทวกุล  ประธานกรรมการสถาบันป๋วย  อึ๊งภากรณ์ (ยืนที่ 4 จากซ้ายไปขวา) ร่วมถ่ายรูปกับผู้แทนกองทุนฯ

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลวังยาง  รับรางวัล ‘ด้านการพัฒนาสุขภาพ ความมั่นคงทางอาหาร’                                                    

กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลวังยาง อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร  ได้รับรางวัลจากการประกวดรางวัลผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์  ประจำปี 2566  รางวัลประเภทที่ 2  ‘ด้านการพัฒนาสุขภาพ  ความมั่นคงทางอาหาร

            กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลวังยาง  ก่อตั้งในปี  2551 โดยการนำของคณะกรรมการอาสาสมัครสาธารณสุขตำบลวังยาง  เพื่อพัฒนาสวัสดิการชุมชนให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น   โดยคณะกรรมการได้ไปศึกษาดูงานจากพื้นที่อื่น  เมื่อกลับมาจึงรวบรวมคนที่สนใจร่วมกันจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนขึ้นมา  มีสมาชิกเริ่มต้น จำนวน 79 คน

ปัจจุบันกองทุนฯ มีสมาชิก 749 คน ประกอบด้วย เด็ก-เยาวชน 45 คน ผู้พิการ 7 คน ผู้สูงอายุ 360 คน บุคคลทั่วไป 342 คน และผู้ด้อยโอกาส 25 คน  สมาชิกคิดเป็นร้อยละ 13.65 ของประชากรทั้งตำบล  มีเงินกองทุนจำนวน 421,479 บาท

ขณะที่ประชากรทั้งตำบล 9  หมู่บ้าน  มีทั้งหมด 5,489 คน   ส่วนหนึ่งมีเชื้อสายไทยทรงดำ  ชาวอีสาน  ฯลฯ ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร  ทำนา  ทำสวน   ทำไร่  เลี้ยงปลาในกระชัง  รับจ้าง  และค้าขาย

นายอนันต์  จันทราภิรมณ์  ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลวังยาง  เล่าว่า กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลวังยางมีวิสัยทัศน์ในการเป็นองค์กรขับเคลื่อนการจัดสวัสดิการชุมชนเพื่อนำไปสู่สังคมจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างโอกาสให้กับประชาชนทุกเพศทุกวัยได้รับสวัสดิการขั้นพื้นฐานอย่างถ้วนหน้า เสมอภาค และเป็นธรรม

4
นายอนันต์  ประธานกองทุนฯ

ส่วนรูปแบบการบริหารกองทุน มี คณะกรรมการกองทุน เป็นตัวแทนจากหลายภาคส่วน ร่วมกันบริหารจัดการ เช่น ตัวแทนจากสมาชิก อสม. ผู้นำชุมชน  ฯลฯ ดำเนินงานแบบมีส่วนร่วม โดยให้สมาชิกเสนอความคิดเห็น  เสนอปัญหาความเดือดร้อน  และความต้องการของตนเองต่อกองทุน เพื่อให้การช่วยเหลือตรงตามความต้องการของสมาชิก และมีการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีต่างๆ เช่น  เทศบาลตำบลวังยาง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอคลองขลุง   ภาคเอกชน และองค์กรชุมชน

การจัดสวัสดิการให้กับสมาชิกมี 9 ประเภท  คือ 1.รับขวัญบุตรสมาชิก 2.เจ็บป่วยนอนโรงพยาบาล 3.อุบัติเหตุชุมชน  4.เสียชีวิต 5.การพัฒนาคุณภาพชีวิต 6.ภัยพิบัติ 7.การศึกษา 8.ผู้พิการ  และ 9.ผู้สูงอายุ

นอกจากนี้ยังมีการจัดสวัสดิการที่ไม่ใช่ตัวเงิน เช่น  การส่งเสริมด้านการพัฒนาอาชีพ การฝึกอบรมอาชีพ การหาตลาดให้แก่สมาชิก ตลอดจนการร่วมมือในการจัดกิจกรรมในชุมชน เช่น ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม การสนับสนุนงบประมาณในการจัดประเพณีวัฒนธรรมที่จัดขึ้นในวันสำคัญต่างๆ  เช่น  วันพ่อ วันแม่ วันเด็ก วันสงกรานต์ ประเพณีไทดำ  ประเพณีบุญผะเหวด  ประเพณีเรียกขวัญข้าว เป็นต้น

นายอนันต์   ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนฯ  กล่าวเพิ่มเติมว่า กองทุนสวัสดิการชุมชนฯ  มีการบูรณาการและเชื่อมโยงการทำงานโดยใช้ฐานวัฒนธรรมหลายระดับ ทั้งในระดับตำบล อำเภอ จังหวัด และภาค เช่น  การส่งเสริมวัฒนธรรมไทยทรงดำ ที่มีการเชื่อมร้อยชาติพันธุ์ไทยทรงดำ จาก 13 จังหวัด 32 ชมรม งานบุญผะเหวด 16 ชมรม มีการสนับสนุนงบประมาณ และตั้งกองบุญการออม สมทบกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลวังยางจนเป็นพื้นที่ต้นแบบวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร

นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมโยงกับชมรมผู้สูงอายุ กลุ่มสตรีในการจัดทำบัญชีครัวเรือน การสำรวจข้อมูลสตรีและผู้ด้อยโอกาสในชุมชน เพื่อนำข้อมูลไปวิเคราะห์ จนนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของชุมชนร่วมกัน เช่น โครงการรองรับสังคมผู้สูงวัยอยู่สบาย 100 ปีที่วังยาง จนได้รับรางวัลระดับประเทศ และมีการเชื่อมเป็นเครือข่ายเพื่อหนุนเสริมการขับเคลื่อนงานสวัสดิการชุมชน  ตลอดจนการขยายเครือข่ายในระดับจังหวัด มีการเชื่อมโยงกองทุนสวัสดิการชุมชนทั้ง 80 กองทุน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดระบบสวัสดิการในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนอย่างถ้วนหน้า

5
คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการฯ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ รพ.สค.ตรวจเยี่ยมผู้สูงอายุ

คนวังยาง “สุขภาพดี อยู่ 100 ปีอย่างสมบูรณ์”

            กองทุนมีการวิเคราะปัญหาในพื้นที่ พบว่า ประชากรตำบลวังยางมีแนวโน้มการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอัตราการเพิ่มมากขึ้นและรวดเร็ว  ส่งผลถึงปัญหาด้านสุขภาพ ด้วยวัยเพิ่มขึ้น ประกอบกับปัญหาด้านการรับประทานอาหาร  พฤติกรรมการกินอาหารไม่ถูกต้อง  ฯลฯ  นำไปสู่สาเหตุการเสียชีวิตของประชากรส่วนใหญ่  คือ  โรคความดันโลหิตสูง ภาวะเลือดออกในสมอง  รองลงมาคือ ไตวายเฉียบพลัน ปอดบวมน้ำ เบาหวานชนิดที่ไม่ต้องพึ่งอินซูลิน

นอกจากนั้นยังพบว่า อัตราการอยู่คนเดียวของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น  หรืออยู่กับสามีภรรยาที่เป็นผู้สูงอายุเช่นกันจึงขาดผู้ดูแล เพราะไม่มีบุตร มีแต่ลูกหลานอาศัยอยู่ที่อื่น

การเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงวัยเต็มตัว  ประกอบกับข้อมูลค่าใช้จ่ายของกองทุนสวัสดิการ  มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล  เจ็บป่วย และเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จึงทำให้นโยบาย แผนงาน และกิจกรรมต่างๆ มีความเกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาวะในระยะต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

ดังนั้นเพื่อลดค่าใช้จ่ายดังกล่าว  และส่งเสริมให้วังยางมีสุขภาพดี  กองทุนสวัสดิการจึงเริ่มส่งเสริมสุขภาพประชาชนตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน  โดยใช้การมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายภายในตำบล  ทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรต่างๆ โดยมีจุดประสงค์ร่วมกันที่จะให้คนในพื้นที่ตำบลวังยางมีสุขภาพดี และมีอายุยืนยาว ไม่เป็นภาระกับลูกหลา ตามคำขวัญของตำบลวังยาง ที่ว่า “สุขภาพดี อยู่ 100 ปีอย่างสมบูรณ์ @ วังยาง”  โดยมี 2 หน่วยงานหลัก  คือ เทศบาลตำบลวังยาง  และ รพ.สต.วังยาง (คลินิกหมอครอบครัววังยาง) เป็นกลไกในการดูแลเรื่องดังกล่าว

6

คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนฯ  ร่วมทำกิจกรรมและโครงการกับหน่วยงานอื่นๆ ในการขับเคลื่อนงานพัฒนาด้านต่างๆ เชื่อมโยงแผนพัฒนาพื้นที่ใน 4 มิติ คือ มิติสังคม สุขภาพ  เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม เพื่อให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี  โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีต่างๆ เช่น  เทศบาลตำบล พัฒนาชุมชน รพ.สต. อสม. อปท. พอช. อพท. ม.ราชภัฏกำแพงเพชร  ม.นเรศวร  ไทยเบฟ  มูลนิธิสัมมาชีพ และขบวนองค์กรชุมชน ในการจัดการสุขภาพและความมั่นคงทางด้านอาหาร การดูแล  ตรวจสุขภาพให้กับผู้สูงอายุ  ผู้ด้อยโอกาส และประชาชนทั่วไป มีการเยี่ยมผู้ป่วยติดเตียงตามบ้าน  ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

การเชื่อมโยงกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เทศบาลตำบลวังยาง  จัดทำ “โครงการดูแลสุขภาพกับประชาชน”  โดยให้ความสำคัญกับผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง มีการจัดตั้ง “ชมรมผู้สูงอายุทุกหมู่บ้านเพื่อส่งเสริมสุขภาพ”  ให้ความรู้ด้านสุขภาพและการจัดกิจกรรมสันทนาการ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีความสุข มีการจัด “ทีมหมอครอบครัว”  เพื่อดูแลผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยโรคเรื้อรังร่วมกับ อสม.  ผู้นำชุมชน และประชาชน รวม 9 หมู่บ้าน การลงพื้นที่จัดทีมดูแลสุขภาพคนในตำบล ทำให้ผู้ป่วยทานยาได้ถูกต้อง สามารถควบคุมโรค เข้าใจโรคที่ป่วยได้มากขึ้นและเกิดกำลังใจที่ดี   มีการใส่ใจสุขภาพตนเองมากขึ้น

ใช้โมเดล ‘หมอครอบครัว’ ดูแลสุขภาพ

ทั้งนี้กลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพ  คือการใช้โมเดล “คลินิกหมอครอบครัว” ควบคู่ไปกับการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขตามแนวทาง “คนไทยทุกครอบครัวมีหมอประจำตัว 3 คน” ซึ่งเป็นการประสานการทำงานดูแลประชาชนที่บ้าน และชุมชนแบบ “ใกล้ตัว ใกล้บ้าน ใกล้ใจ เข้าถึง พึ่งได้” เป็นการให้บริการที่ครอบคลุมและต่อเนื่อง ลดการเดินทาง ลดความแออัดของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในอำเภอและจังหวัด เน้นการส่งเสริมสุขภาพ  ป้องกันโรค  และส่งต่อรักษาในโรคซับซ้อนยุ่งยาก

 โดยหมอคนที่ 1 หมอประจำบ้าน คือ ‘อสม.’ เป็นหมอใกล้ตัว หมอคนที่ 2 ‘หมอสาธารณสุข’ คือ บุคลากรใน รพ.สต. เพื่อให้การรักษาเบื้องต้นและส่งต่อ  รวมถึงดูแลสุขภาพและให้คำแนะนำประชาชนในทุกมิติ  และหมอคนที่ 3 ‘หมอครอบครัว’ คือ แพทย์ในโรงพยาบาล  โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนรู้รายชื่อหมอประจำตัว 3 คนของตนเอง เพื่อให้ประชาชนมีคนดูแลสุขภาพอย่างครอบคลุมและทั่วถึงทุกกลุ่มวัย  ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อรองรับการเป็นสังคมสูงวัย  ให้มีสุขภาพแข็งแรง  มีอายุยืนยาว

            นายแสน  ผิวลออ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลวังยาง  บอกว่า  ประชาชนในพื้นที่ป่วยเป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งมาจากสารพิษในอาหาร ในผัก จึงมีการจัดทำข้อมูลความไม่มั่นคงทางด้านอาหารของคนในตำบล  พบว่า     1. คนในชุมชนไม่มีการเก็บเมล็ดพันธุ์พื้นถิ่น  2.ชุมชนไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องของการบริโภคอาหารที่ถูกสุขลักษณะ 3.เมล็ดพันธุ์จากห้างร้านมีการปรับเปลี่ยนพันธุกรรมพืชเพาะปลูกมากขึ้น ซึ่งอาจมีผลต่อสุขภาพได้  4.ชุมชนใช้สารเคมีในการปลูกพืชเจำนวนมาก  เป็นสาเหตุทำให้มีสารพิษตกค้างในร่างกายและเกิดโรค

“เราดูแลตั้งแต่ต้นน้ำว่า  ประชาชนควรได้รับต้นทุนทางชีวิตเรื่องอาหารอย่างไร และประสานงานกับผู้รู้ เช่น กระทรวงสาธารณสุข (รพสต. สาธารณสุขอำเภอ) มีการดูแลลูกหลานตั้งแต่ตั้งครรภ์จนคลอด จนถึงช่วงกลางน้ำ วัยแรงงาน เราติดต่อกับภาคีให้ความรู้ เช่น ประสานสำนักงานเกษตรจังหวัด ให้ความรู้ทำเกษตรอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับตัวเอง การใช้สารเคมีในพืชผักควรมีปริมาณขนาดไหน อย่างไร?

ส่วนปลายน้ำ ผู้สูงวัยหรือผู้สูงอายุในชุมชน มองถึงการส่งเสริมว่าทำอย่างไรให้มีสุขภาพดี ในการรับประทานอาหารในครัวเรือน รวมถึงเรื่องจิตใจ มีการประสานกับกรมจิตเวช มาให้ความรู้ให้คนสูงวัยอยู่อย่างไร  เพื่อไม่เป็นภาระกับลูกหลาน  เป็นต้น”  นายกเทศมนตรีบอก

7
การส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกผักโดยไม่ใช้สารเคมี  ทั้งกินเองและขาย  จะทำให้คนในตำบลมีสุขภาพดี

                นายนิรันดร์  อุบลอ่อน  ผู้อำนวยการ รพ.สต.วังยาง  บอกว่า การดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่มีการดูแลแบบองค์รวม ใช้ศาสตร์และศิลป์  มีการดึงงานด้านวิชาการ ด้านสังคม จิตวิญญาณ ในรูปแบบ ‘คลีนิคหมอครอบครัว’ ดูแลทุกมิติ  กองทุนสวัสดิการชุมชนดำเนินการมาอย่างยาวนาน และตอบโจทย์ กาย จิต สังคม และทำให้เกิดการเอื้อเฟื้อกัน  มีการจัดกิจกรรมและพูดคุย มีโครงการเป็นจำนวนมากที่มุ่งให้คนทุกกลุ่มวัย ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ  มีกิจกรรมการดูแลสวัสดิการชุมชน  รวมถึงการบูรณาการหรือหนุนเสริมงบประมาณในการพัฒนาสุขภาพของคนในตำบลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“ที่ผ่านมา  มีการการันตีสุขภาพคนวังยาง ‘สุขภาพดีอยู่ร้อยปีอย่างสมบูรณ์ @วังยาง’  ตอบโจทย์ความเป็นอยู่ของประชาชน สร้างความเข้มแข็ง เป็นการส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนตามสมควร ส่งผลให้พื้นที่วังยางเป็นตำบลจัดการสุขภาพระดับเขต จนได้รับรางวัล และเป็นต้นแบบของจังหวัดกำแพงเพชรในการดูแลสุขภาพประชาชน”  ผอ.รพ.สต.บอก

สร้างครัวเพื่อสุขภาพ ความมั่นคงทางอาหารของคนวังยาง

            นายแสน  นายกเทศมนตรี บอกด้วยว่า  ในการยกระดับการแก้ไขปัญหาของคนในตำบลวังยางได้เล็งเห็นปัญหาร่วมกัน และกำหนดเป็นนโยบายในการจัดการสุขภาพ  โดยการส่งเสริมคนในตำบลให้ดูแลสุขภาพ  มีนโยบายสร้างความปลอดภัย  ด้วยการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร  มีการบูรณาการร่วมกัน โดยให้ผู้นำแต่ละหมู่บ้านมาร่วมคุยว่าในชุมชนขาดอะไร แล้วทางเทศบาลเติมเต็มลงไป

“วังยางต้องเป็นตำบลแห่งความสุข ทั้งคนที่อยู่และผู้มาเยือน ความสุขเกิดจากภาวะจิตใจ อารมณ์ สิ่งแวดล้อม 3 อย่างจะทำไม่ได้เลย ถ้าคนไม่มีสุขภาพดี เราต้องวางแผนระยะยาวในการดูแลสุขภาพ  ต้องมีการกิน  มีระบบขับถ่ายที่ดี เราจึงมีนโยบายในการ ‘สร้างครัวเพื่อสุขภาพ’ ในระดับตำบล  โดยทำความเข้าใจกับหลายๆ กลุ่ม ทั้งเยาวชน ยุวชน วัยแรงงาน อสม. มีการต่อยอด  โดยให้แต่ละชุมชนจัดตั้งคุ้มแต่ละหมู่บ้านมาดูแลกันเอง มีผู้นำชุมชนตามธรรมชาติ ในแต่ละคุ้มดูแลกันประมาณ 10 ครัวเรือน มีประธานคุ้ม มีการทำบัญชีครัวเรือน” นายกเทศมนตรีแจงรายละเอียด

8

การสร้างครัวเพื่อสุขภาพ ยึดปรัชญาในหลวงรัชกาลที่ 9 คือ “กินทีละคำ ทำทีละก้าว”  โดยขั้นที่ 1 มีการวางแผน “ด้านอาหารปลอดภัย” มีการทำข้อมูลว่าเรานำอาหารมาจากไหนบ้าง เช่น ตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า รถพุ่มพวง ทำเอง ซึ่งส่วนใหญ่ซื้อจากรถพุ่มพวง แล้วรถพุ่มพวงไปซื้อจากเกษตรกรรายใหญ่ เป็นแหล่งที่ถูกที่สุดและสวยที่สุด จึงได้ร่วมมือกับ รพ.สต. ทำโครงการเจาะสารพิษในร่างกาย  พบสารพิษในร่างกายเยอะมาก จึงมีแนวคิด “สร้างครัวเพื่อสุขภาพ” ให้ทุกคนมีส่วนร่วม   เพื่อให้ตัวเองและลูกหลานมีสุขภาพและอายุที่ยืนยาว

ขั้นที่ 2 ให้ความรู้กับคนที่เกี่ยวข้อง 1.เกษตรกร ที่อยากปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 2.ร้านค้าที่อยู่ในตำบล 3.ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดัน ไขมัน เสี่ยงโรคไต และผู้ดูแลมาฟังร่วมกัน ให้หมอมาให้ความรู้เรื่องลดหวาน มัน เค็ม จนเราได้ลงไปที่ร้านค้า  ร้านไหนที่มีการเปลี่ยนแปลง ก็จะมีป้ายมอบให้  มีการสร้างแรงจูงใจกับประชาชน เป็นโครงการย่อยๆ ส่งเสริม เช่น ไม่ใส่น้ำตาลมาก

ขั้นที่ 3 การลงพื้นที่ในระดับครัวเรือน โดยให้ อสม. ที่มีตัวแทนอยู่ทุกหมู่บ้าน เชิญชวนผู้นำมาปลูกผักในครัวเรือน และมาทำกันเอง เริ่มจากบ้านวังน้ำ เป็นพื้นที่ในการทำแปลง กระจายเมล็ดผักและเบี้ยผักให้กับประชาชนในพื้นที่ได้กินกัน  เหลือกินก็ขาย

 “การทำเรื่องอาหารปลอดภัยนี้  เรามองถึงการเกิดความมั่นคงยั่งยืน  เริ่มต้นที่บ้านวังน้ำ  โดยได้รับงบประมาณจาก พอช. ที่สนับสนุนให้ชุมชนจัดการเรื่องท่องเที่ยวโดยชุมชน  และมีสภาองค์กรชุมชนขับเคลื่อน ‘ทำเมล็ดพันธุ์’ และส่งเสริม 1 พื้นที่ หรือพื้นที่ว่างในหมู่บ้าน 1 งาน มาทำแปลงผักปลอดภัยในหมู่บ้าน เราให้สมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนระดมเมล็ดพันธุ์พืชที่ปลูกแล้วเก็บเมล็ดได้ เริ่มแรกทำใน 9 หมู่บ้าน จำนวน 22 หลังคาเรือน  ปัจจุบันขยายเป็น 50 ครัวเรือน”  นายกเทศมนตรีบอก

นอกจากนี้ยังได้บรรจุในแผนของเทศบาลตำบลวังยาง เป็นแผนพัฒนาและอบรมอาชีพ เช่น การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุปลูกผักและขายผักแบบง่ายๆ เมื่อพี่น้องมีผักในพื้นที่แล้ว ก็มีการหาจุดวางจำหน่าย  นำผลิตภัณฑ์มาแลกเปลี่ยนค้าขายกัน  ผักที่ปลูกเหลือกินก็นำมาขาย มีหอย มีปู มีปลา มีหนูนา เป็นตลาดชุมชนมีรอยยิ้ม มีการร้องรำทำเพลงร่วมกัน คนที่มาก็ได้แลกเปลี่ยน ได้ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบกัน มีการต่อยอดการสนับสนุนจาก บ.ไทยเบฟ และมูลนิธิสัมมาชีพ      ทำหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ จนได้รับรางวัล

นพ.สกล สินธุพรหม รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลคลองขลุง  เสนอมุมมองว่า  กองทุนสวัสดิการชุมชนบ่งบอกถึงแนวคิด วิถีชีวิตของคนในชุมชน การสืบต่อแนวคิดจะเป็นข้อดี เป็นสิ่งดีๆ เป็นวัฒนธรรมที่ดี ควรถูกสืบทอด ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น

“วันนี้เราทำอาหารให้เป็นยา อาหารสะอาดปลอดภัย แล้วเราเลือกประเภทอาหารได้ เช่น คนเป็นเบาหวาน  ไขมันสูง ควรทานผักอะไร  รวมถึงการสร้างนวัตกรรมในการผลิตอาหารเพื่อถ่ายทอดในพื้นที่อื่นๆ ได้ รวมไปถึงวัฒนธรรมของที่นี่คือ คนที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี คนที่รวย มีจิตใจที่ให้ความเอื้ออาทร มีการมาช่วยคนที่ด้อยโอกาส เป็นการดูแลกันอย่างเอื้อเฟื้อ”  นพ.สกลเสนอมุมมอง

นี่คือเส้นทางความร่วมมือร่วมใจของกองทุนสวัสดิการชุมชนคนตำบลวังยางและภาคีเครือข่ายในท้องถิ่น  โดยมีเป้าหมาย “สุขภาพดี อยู่ 100 ปีอย่างสมบูรณ์ @ วังยาง”  ทำให้กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลวังยางได้รับรางวัลผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์  ตามแนวคิดของ ดร.ป๋วย  อึ๊งภากรณ์  ประจำปี 2566 ‘ด้านการพัฒนาสุขภาพ ความมั่นคงทางอาหาร’  ด้วยความภาคภูมิใจ!!

9

เรื่องและภาพ :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ