พอช.หนุนแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนในที่ดิน รฟท.ทั่วประเทศ รวม 346 ชุมชน 27,096 หลัง รออนุมัติงบ 9,478 ล้านบาท ด้านเครือข่ายริมรางทั่วประเทศเร่งรัฐสนับสนุนงบประมาณ
นครราชสีมา / พอช.หนุนแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยในที่ดิน รฟท.ทั่วประเทศ รวม 35 จังหวัด 346 ชุมชน จำนวน 27,096 หลังคาเรือน รอสำนักงบประมาณอนุมัติงบ 9,478 ล้านบาทก่อนเดินหน้า ขณะที่ชาวชุมชนริมรางเมืองย่าโมที่รื้อย้ายออกจากแนวก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย 166 ครอบครัว เช่าที่ดิน รฟท. 30 ปี เตรียมสร้างหมู่บ้านสีเขียว สร้างบ้านมั่นคง ด้านเครือข่ายชุมชนริมรางรถไฟ 5 ภาคประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย ยืนยันให้รัฐบาลใช้มติบอร์ดรถไฟปี 2543 เพื่อขอเช่าที่ดินที่ รฟท.ไม่ได้ใช้ประโยชน์สร้างบ้าน สร้างชุมชนใหม่ โดยให้รัฐเร่งสนับสนุนงบประมาณ
โครงการพัฒนาระบบรางรถไฟทั่วประเทศของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เช่น รถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง ฯลฯ ทำให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนชนผู้มีรายได้น้อยที่อาศัยอยู่ในที่ดิน รฟท. ทั่วประเทศ จำนวน 35 จังหวัด 346 ชุมชน รวม 27,096 หลังคาเรือน โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของ P-Move ในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ให้ใช้แนวทางการแก้ไขปัญหาตามมติบอร์ด รฟท. 13 กันยายน 2543 และมอบหมายหมายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดทำแผนงานรองรับที่อยู่อาศัยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง โดยให้พิจารณาช่วยเหลืองบประมาณการพัฒนาที่อยู่อาศัยเทียบเท่ากับการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าวและเปรมประชากรนั้น
ขณะเดียวกันเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก (World Habitat Day) ปี 2565 ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เครือข่ายจนคนทั่วประเทศในนามของสลัม 4 ภาค, สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) เครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) เครือข่ายบ้านมั่นคง ขบวนองค์กรชุมชน ฯลฯ ได้จัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์แก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในภูมิภาคต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง เช่น กรุงเทพฯ สงขลา ชัยนาท และล่าสุด ระหว่างวันที่ 19-20 ธันวาคม จัดงานที่จังหวัดนครราชสีมา
โดยในวันนี้ (20 ธันวาคม) ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลภาคอีสาน (มทร.อีสาน) อ.เมือง จ.นครราชสีมา มีการจัดงาน “วันที่อยู่อาศัยโลกประเทศไทย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การพัฒนาที่อยู่อาศัย ใส่ใจช่องว่าง ไม่ทิ้งใคร และที่ใดไว้ข้างหลัง สานพลังการพัฒนาที่อยู่อาศัยและการพัฒนาคุณภาพชีวิต เครือข่ายชุมชนริมรางรถไฟ” เป็นวันสุดท้าย โดยมีนายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานในงาน มีผู้บริหารสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ผู้แทนสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พมจ) ผู้แทน มทร.อีสาน ผู้แทนชาวชุมชนริมรางรถไฟ 5 ภาค และพี่น้องขบวนองค์กรชุมชนเครือข่ายต่างๆ เข้าร่วมงานประมาณ 400 คน
พอช. หนุนแก้ปัญหาชุมชนริมรางทั่วประเทศ 35 จังหวัด 27,096 หลัง
นายสยาม นนท์คำจันทร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. กล่าวว่า จากแผนการพัฒนาระบบรางของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เช่น โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง โครงการรถไฟฟ้ารางคู่ การพัฒนาเมืองรอบสถานี (TOD) ฯลฯ พอช. ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีร่วมกับชุมชนและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายสหพันธ์องค์กรพัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) เครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) และเครือข่ายริมรางรถไฟ 5 ภาค สำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยในที่ดิน รฟท. ทั่วประเทศ เพื่อจัดทำโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางตามโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ ของ พอช.
โดย พอช. มีแผนดำเนินงานระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) มีเป้าหมายดำเนินการครอบคลุมครัวเรือนผู้ได้รับผลกระทบ จำนวน 27,096 ครัวเรือน 346 ชุมชน 35 จังหวัดทั่วประเทศ วงเงินรวม 9,478 ล้านบาทเศษ ซึ่งที่ผ่านมา พอช. ได้เสนอ รมว.พม.ลงนามเห็นชอบแผนงาน และเสนอสภาพัฒน์ซึ่งได้เห็นชอบแล้วเช่นกัน และอยู่ในระหว่างการเสนอความเห็นชอบจากสำนักงบประมาณ รวมทั้งการเสนอของบประมาณเพิ่มเติมจากเดิมที่กำหนดวงเงินช่วยเหลือที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคง ครัวเรือนละ 89,000 บาท เพิ่มอีกครัวเรือนละ 80,000 บาท เพื่อให้เท่ากับการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าวตามมติ ครม.
ทั้งนี้โครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ – หนองคาย (กรุงเทพฯ-สระบุรี-นครราชสีมา-ขอนแก่น-อุดรธานี-หนองคาย) ระยะทาง 609 กิโลเมตร ขณะนี้กำลังก่อสร้างในช่วงนครราชสีมา โดยมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวน 8 ชุมชน คือ ชุมชนเลียบนคร กลุ่มประสพสุข ชุมชนข้างทางรถไฟ ชุมชนหลังจวน ชุมชนราชนิกูล 1 ชุมชนราชนิกูล 3 ชุมชนเบญจรงค์ และชุมชนทุ่งสว่าง รวม 342 หลังคาเรือน ทั้งหมดเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง จ.นครราชสีมา
ขณะเดียวกันชาวชุมชนที่เดือดร้อนได้รวมตัวกันจำนวน 166 ครอบครัว เพื่อแก้ไขปัญหาตั้งแต่ปี 2564 เช่น จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเป็นตัวแทน จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นการรวมคน รวมทุนแก้ไขปัญหา ในนามของ ‘เครือข่ายชุมชนริมรางเมืองย่าโม’ และขอเช่าที่ดินที่ รฟท.ไม่ได้ใช้ประโยชน์ โดย รฟท. อนุมัติให้เช่าที่ดินเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 เนื้อที่ 7 ไร่เศษ ระยะเวลา 30 ปี ค่าเช่าตารางเมตรละ 23 บาท/ปี บริเวณชุมชนบ้านพะไล ห่างจากที่อยู่อาศัยเดิมประมาณ 7-14 กิโลเมตร เพื่อก่อสร้างบ้าน สร้างชุมชนใหม่ เพื่อความสะดวกในการประกอบอาชีพ เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป เก็บของเก่าขาย จำเป็นต้องหากินอยู่ในเมือง
โดยชาวชุมชนที่ได้รับผลกระทบได้เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงที่ พอช.ให้การสนับสนุน จำนวน 166 ครอบครัว ผู้อยู่อาศัยประมาณ 300 คน ขณะนี้ผู้ที่มีความจำเป็นได้รื้อย้ายจากที่อยู่อาศัยเดิมมาอยู่บ้านพักชั่วคราว จำนวน 27 ครอบครัว โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณก่อสร้าง 486,000 บาท
ส่วนการก่อสร้างบ้านใหม่จะเริ่มในเดือนมกราคม 2566 ในที่ดินที่แบ่งปันครอบครัวละ 5×9 ตารางวา (ขนาดบ้าน 5×7 ตารางวา ชั้นเดียว) ราคาก่อสร้างประมาณหลังละ 100,000 บาท ตามแผนงานจะแล้วเสร็จในปี 2567 โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณ รวม 12,823,500 บาท ( อุดหนุนสร้างบ้านหลังละ 30,000 บาท ส่วนที่เหลือเป็นงบด้านสาธารณูปโภคส่วนกลางและการบริหารจัดการ)
ชาวชุมชนริมรางเมืองย่าโมเตรียมสร้าง ‘หมู่บ้านสีเขียว’
นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคม และการสร้างโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการและบริการของรัฐ โดยเฉพาะการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ การประกอบอาชีพ และการมีรายได้ที่มั่นคงแก่ประชาชน โดยเน้นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาส เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
รวมถึงการมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560 – 2579) ซึ่งเป็นกรอบในการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะยาว และเสริมสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย ครอบคลุมในทุกมิติ โดยบูรณาการความร่วมมือในการดำเนินงานกับภาคีทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มีเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ “คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579
“จังหวัดนครราชสีมาได้จัดทำแผนที่อยู่อาศัยจังหวัดตามนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยของประชาชนผู้มีรายได้น้อย และประชาชนกลุ่มอื่นที่มีความเดือดร้อนและต้องการความช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยในทุกด้าน เช่น ปรับปรุง-ซ่อมแซมสำหรับบ้านที่มีอยู่แล้ว สร้างใหม่สำหรับผู้ที่ไม่มีที่อยู่อาศัย หรือต่อเติมสำหรับที่อยู่อาศัยที่ไม่เพียงพอต่อขนาดครอบครัว” รอง ผวจ.นครราชสีมากล่าว
การจัดงานวันนี้ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้เป็นประธานในการมอบสัญญาเช่าที่ดินการรถไฟฯ เนื้อที่ 7 ไร่เศษ ระยะเวลาเช่า 30 ปี ให้แก่ผู้แทนชาวชุมชนที่ได้รับผลกระทบ, มอบงบประมาณโครงการบ้านมั่นคงเครือข่ายชุมชนริมรางเมืองย่าโม จำนวน 166 ครัวเรือน งบประมาณ 12,823,500 บาท, มอบงบประมาณโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชั่วคราว จำนวน 27 ครัวเรือน จำนวน 486,000 บาท มอบงบประมาณโครงการบ้านพอเพียงปี 2566 จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 43 ตำบล 374 ครัวเรือน งบประมาณ 7,667,000 บาท และมอบใบประกาศเกียรติบัตรให้แก่หน่วยงาน กลุ่ม องค์กรที่สนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยในจังหวัดนครราชสีมา จำนวน 9 หน่วยงาน และระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นอกจากนี้รอง ผวจ.นครราชสีมาได้เดินทางไปเยี่ยมประชาชนที่เข้าอยู่อาศัยในบ้านพักชั่วคราวที่บริเวณชุมชนบึงพะไล จำนวน 27 ครอบครัว พร้อมทั้งให้คำแนะนำประชาชนเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ การทำปุ๋ยอินทรีย์ โดยใช้เศษอาหาร พืชผักที่เหลือนำมาหมักทำปุ๋ยอินทรีย์ด้วย
นายสุรวุฒิ พิมโพธิ์กลาง ตัวแทนชาวชุมชนบึงพะไล บอกว่า เดิมตนกับครอบครัวเคยอยู่ชุมชนประสพสุข อเมือง จ.นครราชสีมา เป็นชุมชนริมรางรถไฟ ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป และค้าขายเล็กๆ น้อยๆ เมื่อ รฟท. จะสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงผ่านโคราช และจะมีการรื้อย้ายชาวชุมชนริมรางรถไฟ 8 ชุมชนจึงรวมตัวกันในปี 2564 ใช้ชื่อว่า ‘เครือข่ายริมรางเมืองย่าโม’ เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย โดยยมีเครือข่ายสลัม 4 ภาคเป็นพี่เลี้ยง รวมตัวกันเจรจากับ รฟท. จนได้เช่าที่ดิน รฟท. บริเวณชุมชนบึงพะไล เนื้อที่ 7 ไร่เศษ รองรับชาวบ้านริมรางที่เข้าร่วม 8 ชุมชน รวม 166 ครอบครัว แบ่งที่ดินได้ครอบครัวละ 5×9 ตารางวา โดยเช่าที่ดินจาก รฟท.ตารางเมตรละ 23 บาทต่อปี ระยะเวลา 30 ปี
“ตอนนี้ผมกับครอบครัวอื่นๆ รวม 27 ครอบครัวเข้ามาอยู่ในบ้านพักชั่วคราวแล้ว เพราะการรถไฟฯ จะใช้พื้นที่ก่อสร้างเส้นทาง ส่วนการสร้างบ้านใหม่จะเริ่มต้นปี 2566 ตอนนี้เราได้ช่วยกันขุดบ่อปลา ทำแปลงเกษตร ปลูกผักสวนครัวต่างๆ ในพื้นที่ส่วนกลาง และเตรียมขอเช่าพื้นที่ริมทางรถไฟเพิ่มเติมเพื่อทำเกษตร โดยเราจะปลูกผักสวนครัว และผักต่างๆ ที่ใช้พื้นที่น้อย เช่น เพาะต้นอ่อนทานตะวัน เพาะถั่วงอก เพื่อเป็นอาหาร และขายเป็นรายได้ เราจะทำให้เป็นหมู่บ้านสีเขียว เน้นเกษตรอินทรีย์ และสร้างพื้นที่พักผ่อน ทำร้านกาแฟในบ่อปลา คนจากในเมืองก็มานั่งพักผ่อน ดื่มกาแฟชมวิวได้ เพราะแถวนี้เป็นทุ่งโล่ง อากาศเย็นสบาย” ตัวแทนชาวชุมชนริมรางบอกถึงแผนงานสร้างหมู่บ้านสีเขียว
‘คนริมราง’ ประกาศเจตนารมณ์แก้ปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัย
ในตอนท้ายของการจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกภาคอีสานเพื่อผลักดันการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนในดิน รฟท.ทั่วประเทศครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมงานจาก 5 ภูมิภาคได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ มีใจความสำคัญว่า
“เครือข่ายเครือข่ายองค์กรชุมชน เครือข่ายประชาสังคม เครือข่ายชุมชนที่ได้รับกระทบจากนโยบายการพัฒนาระบบราง 5 ภูมิภาค ได้สำรวจข้อมูลผู้เดือนร้อนที่อยู่อาศัยในพื้นที่การรถไฟฯ ร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และเครือข่ายชุมชน จำนวน 27,096 หลังคาเรือน ใน 346 ชุมชน 35 จังหวัด โดยเราจะร่วมกันทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดิน ที่อยู่อาศัย และพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกมิติของชุมชน จึงขอร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ เพื่อให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการพัฒนาระบบรางมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงและมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเราจะดำเนินการร่วมกัน ดังนี้
1.เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 โดยให้การรถไฟแห่งประเทศไทย เสนอข้อมูลชุมชนที่เดือดร้อนต่อคณะกรรมการรถไฟฯ เพื่อขยายพื้นที่จากเดิมที่มีมติรองรับไว้ 61 ชุมชน เป็น 346 ชุมชน ครอบคลุม 27,096 หลังคาเรือน โดยใช้แนวทางการดำเนินงานตามมติคณะกรรมการรถไฟฯ เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2543
2.ผลักดันให้คณะรัฐมนตรี มีมติสนับสนุนงบประมาณตามแผนงานโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางโดยเร็ว
3.เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผน แนวทาง และมาตรการสนับสนุนช่วยเหลือที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม สำหรับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการพัฒนาระบบราง
4.การแก้ไขปัญหาชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการพัฒนาระบบราง ให้มีที่อยู่อาศัยในรูปแบบที่หลากหลาย มีความยืดหยุ่น เหมาะสมตามศักยภาพของชุมชน โดยชุมชนมีส่วนร่วมดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ด้วยพลังและการมีส่วนร่วมของชุมชน และภาคีพัฒนาทุกภาคส่วน ที่ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัยและการพัฒนาคุณภาพชีวิตในครั้งนี้ ส่งต่อให้ลูกหลานมีความมั่นคงในชีวิต มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เป็นที่ยอมรับของสังคมอย่างเท่าเทียม”
สลัม 4 ภาคย้ำแก้ไขปัญหาตามมติบอร์ด รฟท.
นายอัภยุทย์ จันทรพา ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัยของชาวชุมชนริมรางรถไฟทั่วประเทศที่จะเดินหน้าต่อไป เครือข่ายชุมชนริมรางรถไฟทั่วประเทศยืนยันจะใช้แนวทางตามมติบอร์ด รฟท. เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2543 ซึ่ง ครม.มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา
“ขณะนี้เครือข่ายฯ อยู่ในระหว่างการเจรจากับ รฟท.เพื่อให้รองรับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางในปัจจุบัน จากเดิมที่มีมติรองรับไว้ 61 ชุมชน ให้เพิ่มเป็น 346 ชุมชนทั่วประเทศ รวม 27,096 หลังคาเรือน รวมทั้งรอผลการอนุมัติงบประมาณสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ พอช.กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งหากได้รับอนุมัติตามขั้นตอนดังกล่าวแล้ว ชุมชนริมทางรถไฟที่มีความพร้อมก็จะสามารถเดินหน้าพัฒนาที่อยู่อาศัยตามที่พวกเราได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์เอาไว้ได้ และตั้งเป้าว่าภายในปี 2566 นี้จะเริ่มได้” ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาคกล่าว
ทั้งนี้มติคณะกรรมการรถไฟฯ วันที่ 13 กันยายน 2543 มีที่มาจากนโยบาย รฟท. ในปี 2541 จะนำที่ดิน รฟท.ทั่วประเทศมาให้เอกชนเช่าทำธุรกิจ ชาวชุมชนในที่ดินรถไฟทั่วประเทศได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวกับเครือข่ายสลัม 4 ภาค เพื่อขอเช่าที่ดินอยู่อาศัยอย่างถูกต้องจาก รฟท. เนื่องจากกลัวถูกไล่รื้อชุมชน
การเรียกร้องของชุมชนในที่ดิน รฟท.ยังดำเนินต่อเนื่องนับจากปี 2541 จนถึงเดือนกันยายน 2543 มีการชุมนุมที่หน้ากระทรวงคมนาคม กรุงเทพฯ มีชาวชุมชนทั่วประเทศมาแสดงพลังกว่า 2,000 คน ใช้เวลา 3 วัน ในที่สุดคณะกรรมการบริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ ‘บอร์ด รฟท.’ ได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2543 โดยเห็นชอบข้อตกลงตามที่กระทรวงคมนาคมเจรจากับผู้แทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค คือ
1.ชุมชนที่อยู่นอกเขตทางรถไฟ 40 เมตร หรือที่ดิน รฟท.ที่เลิกใช้ หรือยังไม่มีแผนใช้ประโยชน์ ให้ชุมชนเช่าอยู่อาศัยระยะยาว 30 ปี 2.ที่ดินที่อยู่ในเขตทางรถไฟรัศมี 40 เมตรจากกึ่งกลางรางรถไฟ ชุมชนสามารถเช่าได้ครั้งละ 3 ปี และต่อสัญญาเช่าได้ครั้งละ 3 ปี หาก รฟท.จะใช้ประโยชน์จะต้องหาที่ดินรองรับในรัศมี 5 กิโลเมตร ระหว่างการเช่า รฟท.ต้องอนุญาตให้หน่วยงานต่างๆ เช่น ประปา ไฟฟ้า เข้ามาบริการชุมชนได้ ส่วนชุมชนจะต้องร่วมมือกับ รฟท.ในการจัดการสภาพพื้นที่ให้เรียบร้อย
3.กรณีชุมชนอยู่ในที่ดิน รฟท.รัศมี 20 เมตร หาก รฟท.เห็นว่าไม่เหมาะสมในการให้เช่าเป็นที่อยู่อาศัยระยะยาว ให้ รฟท.จัดหาที่ดินรองรับในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตรจากชุมชนเดิม 4.ให้ตัวแทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค มีส่วนร่างสัญญาและกำหนดอัตราค่าเช่าที่ดินร่วมกับ รฟท. ในอัตราที่เหมาะสมและเป็นธรรม
หลังจากนั้นชุมชนในที่ดินการรถไฟฯ ทั่วประเทศ เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ สงขลา ฯลฯ รวม 61 ชุมชนได้ทยอยทำสัญญาเช่าที่ดินกับการรถไฟฯ และพัฒนาที่อยู่อาศัยตั้งแต่ปี 2547 (อัตราค่าเช่าตารางเมตรละ 20 บาทต่อปี) จน รฟท.มีโครงการพัฒนาระบบรางทั่วประเทศในปัจจุบัน ทำให้มีชุมชนที่จะได้รับผลกระทบเพิ่มมากขึ้น เครือข่ายริมรางรถไฟและสลัม 4 ภาคจึงเคลื่อนไหวผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหาในขณะนี้
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)