เมื่อการเสพงานศิลปะสามารถทำให้เราสบายใจได้ แต่ทำไมเดินทางไปยาก ในเมื่อเราอยากผ่อนคลายจากความเหนื่อยหน่ายในชีวิตประจำวัน หากแต่สิ่งที่จะทำให้เราผ่อนคลายได้กลับเดินทางไปยากสะเหลือเกิน
จอร์จ ชายหนุ่มผู้หลงรักในศิลปะและเสพงานศิลป์เป็นประจำ เขาเฝ้ารอที่จะไปงานอาร์ทของศิลปินคนนี้อย่างใจจดใจจ่อ ซึ่งก็คืองาน “Twilight of the Icons” โดยศิลปินคือ อัฐพร นิมมาลัยแก้ว งานนี้ตั้งอยู่ SAC Gallery ซอยสุขุมวิท 39 กรุงเทพฯ ที่ถูกจัดเป็นย่านสุดหรูใจกลางเมือง เต็มไปด้วยทางเลือกในการเดินทางที่แสนง่าย สะดวกสบาย
บ้านของจอร์จอยู่ละแวกซอยกำนันแม้น 7 บางบอน อีกเพียง 10 กิโลเมตรก็จะถึงจังหวัดใกล้เคียงอย่างจังหวัดสมุทรสาคร การเดินทางไปยัง SAC Art Gallery ในฝัน จึงมีระยะทาง 23.6 กิโลเมตร
ก้าวแรกของจอร์จ โอ้มันยอดมาก
- เขาเดินเท้าออกมาจากปากซอย ระยะทาง 550 เมตร ใช้เวลา 8 นาที ถ้าหากนั่งมอเตอร์ไซต์วินจะใช้เวลาเพียง 2 นาที ในราคา 10 บาท แต่จอร์จเลือกเดินเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากการเดินเท้าสามารถช่วยย่นระยะเวลาในการเดินทางได้นิดหน่อย และพอจะสามารถคาดเดาเวลาที่จะถึงหน้าปากซอยได้โดยที่ไม่ต้องเสี่ยงดวงยืนรอวินมอเตอร์ไซต์เป็นเวลานาน
- ต่อด้วยขึ้นรถกระป๊อไปที่ BTS สถานีวุฒากาศ ใช้ระยะเวลา 25 นาที อยู่ที่บางวันคนเยอะบางวันคนน้อย จ่ายไป 7 บาท
- ขึ้น BTS สถานีวุฒากาศ ไปลงที่ BTS สถานีพร้อมพงษ์ ใช้เวลา 30 นาที 59 บาท
- ลง BTS สถานีพร้อมพงษ์ และนั่งมอเตอร์ไซต์เข้าไปในซอยเพื่อไปถึงที่หมาย ต่ออีก 2 นาที จ่ายไปอีก 20 บาท
ช่วยจอร์จนับหน่อย กี่ต่อแล้วนะ จอร์จ ชักเริ่มจำไม่ค่อยได้
โดยรวมจอร์จใช้เวลาในการเดินทางจากบ้านอยู่ที่ซอยกำนันแม้น 7 บางบอน เพื่อไป SAC Art Gallery ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร ใช้เวลาไปเกือบ 1 ชั่วโมง โดยเสียค่าเดินทางทั้งหมด 86 บาท
เห็นได้ชัดว่าการเดินทางไปยังพื้นที่การทำงานของจอร์จดูเหมือนจะเป็นการเดินทางที่ทำให้จอร์จเหนื่อยกว่าเดิม ไม่ว่าจะด้วยการเดินทางที่ดูเหมือนจะไม่ไกลมากแต่แสนยาวนานทั้งแรงกายที่เสียไป ค่าเดินทางที่แสนจะแพง เพียงแค่อยากไปเสพงานศิลปะ
สำหรับจอร์จ การเดินทางที่ซับซ้อนและไม่เชื่อมต่อกันทำให้จอร์จหมดแรงกายอย่างมาก ในทุก ๆ การเดินทางไปยังจุดหมายต่าง ๆ ต้องใช้เวลาในการต่อรถโดยการเดินหรืออะไรก็ตาม ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันเหมือนไม่มีจังหวะให้พักหายใจหรือแม้แต่หยุดพักนิ่ง ๆ ระหว่างการเดินทางเลยแม้แต่น้อย
จอร์จ เล่าว่า “ทุกชั่วขณะระหว่างทางมีแต่จะต้องคิดว่าต้องลงรถตรงนี้แล้วเราต้องไปไหนต่อ ไปยังไง ไปตรงไหนบ้าง เดินไปทางไหน ต่อด้วยอะไร แล้วระหว่างเราต้องพบเจอกับอะไรที่เข้าปะทะกับตัว เช่น คนจำนวนมากที่ยื้อแย่งกันเดินทางไปยังจุดหมายต่าง ๆ เพื่อนร่วมทางที่ไม่ได้เต็มใจอย่างความหนาแน่นของจราจร หรือแม้กระทั่งมลพิษที่ล่องลอยอยู่ในอากาศระหว่างที่เราต้องฝ่าฟันเพื่อต่อรถ”
ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่จอร์จเลือกที่เดินทางในเส้นทางที่มีให้และคิดว่าเป็นเส้นทางที่จอร์จเลือกให้ตัวเองสะดวกสบายที่สุดแล้ว เนื่องด้วยไม่ว่าจะตัวเลือกของโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะที่มีให้เลือกสรรในจำนวนเท่านั้นในเส้นทางที่จอร์จต้องเผชิญนับจากนี้ ซึ่งที่สถานที่ที่จอร์จไปนี้กำลังจะกลายเป็นที่ทำงานของจอร์จ จอร์จจะต้องเผชิญกับการเดินทางไปทำงานแบบนี้ทุก ๆ วัน อีกต่อไป
ท้ายที่สุดแล้วจะเป็นไปได้ไหมถ้าการเดินทางในเมืองจะสามารถเอื้อเฟื้อให้คนในเมืองสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง ขนส่งสาธารณะในเมืองที่เป็นของทุกคนที่ควรให้คนที่ใช้บริการเข้าถึงการใช้งานได้อย่างง่ายที่สุดและไม่ซับซ้อน ให้ประโยชน์ต่อคนใช้งาน และไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงการเชื่อมต่อของการเดินทางที่ 2 หรือ 3 (Feeder) เพราะเพียงวันเดียวกับการเดินทางไปเสพงานศิลป์ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้จอร์จจะรู้สึกผ่อนคลาย แต่กลับทำให้จอร์จเหนื่อยและหมดแรงเกินกว่าจะไปเสพงานศิลป์ที่อื่นนอกจากที่ ๆ ตัวเองทำงานแล้ว
เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2565 มีการถ่ายรายการฟังเสียงประเทศไทย ก้าวต่อก้าว กรุงเทพ (มหานคร) ของคนเดินทาง ที่ชวนมองอนาคตขนส่งมวลชนของเมืองมหานคร ณ สถานีกลางบางซื่อ ถนนเทอดดำริ แขวงจตุจักรเขตจตุจักร กรุงเทพฯ
ก่อนที่จะเริ่มถ่ายทำรายการ ทางทีมสื่อพลเมือง C-Site Your Priorities ชวนผู้เข้าร่วมลองมาทำกิจกรรมโยงเส้นทางจากบ้าน – สถานีกลางบางซื่อ กว่าจะถึงจุดนี้ เราผ่านอะไรกันมาบ้าง !!!! โดยให้โยงเส้นตั้งแต่ออกจากบ้าน มาจนถึงสถานีกลางบางซื่อที่ขึ้นชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการเดินทางของคนเมืองมหานครต้องผ่านการเดินทางกี่ขั้นตอน กี่ยานพาหนะ กี่กิโลเมตร กี่ก้าว ในราคากี่บาท กว่าจะมาถึง
จากการรวบรวมผลการสำรวจกิจกรรมการโยงเส้นทางจากบ้าน – สถานีกลางบางซื่อ พบว่า การเดินทางมายังศูนย์กลางการเดินทางอย่างสถานีกลางบางซื่อ มีการเดินทางตั้งแต่เดินเท้าจากบ้านมายังบางซื่อซึ่งไม่มีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ไปจนถึงเดินทางด้วยรถแท็กซี่ ในราคา 400 บาท
จากตาราง แบ่งเป็นค่าเดินทางโดยเฉลี่ย และขั้นตอนการเดินทาง
ผลสำรวจจำนวน 27 คน
- ค่าเดินทางโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 62.08 บาท ต่ำสุดที่ 0 บาท และสูงสุดที่ 400 บาท
- การเดินทาง 1 ขั้นตอนในระยะทางใกล้ เดินทางด้วยการเดิน จะไม่เสียค่าเดินทาง (0บาท)การเดินทาง 1 ขั้นตอนในระยะทางไกล เดินทางด้วยรถแท็กซี่ เสียค่าเดินทางแพง (400 บาท)
- การเดินทาง 2 ขั้นตอนขึ้นไป ทำให้ราคาถูกลง แต่ต้องเดินทางหลายขั้นตอน ซับซ้อน
- ค่าเดินทางโดยเฉลี่ย 62.08 บาท เทียบเท่ากับ 20% ของค่าแรงขั้นต่ำในเมือง ถือว่าแพงมาก
- ภายใต้การเดินทางไม่ว่ากี่ขั้นตอน จุดเริ่มต้นของการเดินทางโดยเฉลี่ย เริ่มที่มอเตอร์ไซต์ และ รถเมล์เป็นส่วนใหญ่ แสดงให้เห็นว่า การมีอยู่ของมอเตอร์ไซต์และรถเมล์ยังคงเป็น ระบบขนส่งมวลชนเสริม (Feeder) ที่นำคนไปสู่ระบบขนส่งหลักและรองได้อย่างทั่วถึงในรูปแบบผังเมืองแบบกรุงเทพฯ
- จากข้อมูลข้างต้นเป็นที่น่าสนใจว่าไม่มีใครที่นับการเดินออกจากบ้านเป็นการเริ่มต้นการเดินทาง
ดังนั้นจึงมีข้อเสนอจากมูลนิธิผู้บริโภคมีนโยบายขนส่งมวลชนทุกคนขึ้นได้ โดยกำหนดค่าบริการขนส่งมวลชนสูงสุดต่อวันไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ขั้นต่ำ และปรับแก้สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าทุกเส้นทางในปัจจุบัน และสัญญาที่จะทำในอนาคตเพื่อใช้ตารางค่าโดยสารเดียว ลดค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน และเร่งใช้ตั๋วร่วมใบเดียวในการบริการระบบขนส่งมวลชน ดังที่กล่าวมาข้อเสนอของมูลนิธิผู้บริโภคเป็นข้อเสนอที่ควรแก่การได้รับการพิจารณาเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้บริการด้วย
การมีอยู่ของระบบขนส่งมวลชนในเมืองเป็นสิ่งที่ต้องร้อยไปกับเมือง ผังเมืองแบบกรุงเทพฯ หรือแม้แต่ประเทศไทย เป็นผังเมืองที่จำเป็นต้องมีการใช้ระบบ feeder เพื่อให้ระบบขนส่งเข้าถึงผู้คนที่ต้องการใช้บริการ เนื่องจากระบบขนส่งควรจะเป็นของทุกคนเข้าไปอยู่ใกล้คนมากที่สุด ไม่ใช่แค่ใครคนใดคนหนึ่ง
ทั้งนี้การเดินทางเมืองเป็นการเดินทางแบบที่ต้องผ่านยานพาหนะหลายต่อหลายขั้น ดังนั้นเพื่อที่จะลดค่าเดินทางให้ถูกลง และให้ระบบขนส่งมวลชนเชื่อมต่อกันทั้งเมือง เป็นไปในรูปแบบของ Seamless Mobility ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเมืองมหานครของคนเดินทาง
ทุกเส้นทางที่ทุกคนผ่านมาเป็นเพื่อนร่วมทางกับจอร์จ ที่ร่วมเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ ด้วยระบบขนส่งมวลชนของเมือง สูญเสียค่าเดินทางและแรงกายไประหว่างการเดินทาง ไม่ว่าจะการเดินทางหลายต่อ ตั้งแต่ออกจากบ้านต้องเดินออกมาเพื่อไปขึ้นระบบ feeder แรก เพื่อไปยังระบบขนส่งหลักคือรถไฟฟ้า ไปจนถึงค่าเดินทาง 20% ของค่าแรงขั้นต่ำ เส้นทางทั้งหมดเป็นเพียงขาไปเท่านั้น ยังไม่รวมขากลับ นับเป็นการเดินทางที่ยาวนานเหลือเกิน ถ้าหากค่าเดินทางเทียบเท่า 10% ของค่าแรงขั้นต่ำอย่างที่มูลนิธิผู้บริโภคได้เสนอไว้ หรือการเดินทางในเมืองเชื่อมต่อกันแบบไร้รอยต่อ ก็คงน่าเดินทางกว่านี้
ท้ายที่สุด การเดินทางของจอร์จจะมีกี่ต่อ กี่กิโลเมตร ผ่านยานพาหนะกี่ประเภท ผ่านระบบขนส่งกี่สาย จอร์จก็ไม่หวั่น เพื่อแลกกับการได้พักผ่อน..