คนรุ่นใหม่ “ขนส่ง ขนสุขสาธารณะ” พบชัชชาติ ยื่น 3 ข้อเสนอ ปมปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว

คนรุ่นใหม่ “ขนส่ง ขนสุขสาธารณะ” พบชัชชาติ ยื่น 3 ข้อเสนอ ปมปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว

ภาคีเครือข่ายขนส่ง ขนสุขสาธารณะ ยื่น 3 ข้อเสนอ กำหนดเพดานราคาค่าโดยสารที่เป็นธรรม-เปิดสัญญาการจัดจ้างรถไฟฟ้ากับเอกขน-ออกแบบระบบขนส่งสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงได้ ด้านชัชชาติ เผยรถไฟฟ้ายังไม่เป็นสาธารณะ 100% เพราะกับดักราคาแพง ชี้ต้องแก้ทั้งระบบ

1

10 ส.ค. 2665 – เครือข่ายคนรุ่นใหม่ “ขนส่ง ขนสุขสาธารณะ” นำผลโพลสำรวจความคิดเห็นประชาชนในประเด็นรถไฟฟ้าสายสีเขียว เข้าเสนอกับ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  เพื่อสะท้อนเสียงคนรุ่นใหม่และคนกรุงเทพฯ ต่อกรณี รถไฟฟ้าสีเขียวที่กำลังพิจารณาปรับอัตราค่าโดยสาร และเกี่ยวพันถึงการเปิดสัญญาของบริษัทกรุงเทพธนาคม กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)  หรือ BTSC ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เมื่อวัตนที่ 5 ส.ค. 2565

การแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็น มีศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารสำนักการจราจรและขนส่ง เข้าร่วมด้วย เพื่อหาแนวทางพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะอย่างมีส่วนร่วม เพื่อให้เมืองน่าอยู่และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

โพลสำรวจความคิดเห็น เป็นกิจกรรมที่ภาคีเครือข่ายขนส่งขนสุขสาธารณะ ประกอบด้วย สภาเด็กเยาวชนกรุงเทพฯ SYSI เครือข่ายนวัตกรรมคนรุ่นใหม่ FeelTrip สหภาพคนทํางาน บางกอกนี้ดีจัง Youthwell เครือข่ายสลัมสี่ภาค สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) กลุ่มดินสอสี ร่วมกับ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ร่วมมือกันทำขึ้น โดยกระจายกันสำรวจ บริเวณสถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียว จำนวน 21 สถานี ตั้งแต่สถานีคูคต จนถึงสถานีเคหะ มีประชาชนเข้าร่วม 3,204 คน 9,574 ความคิดเห็น โดยมีผลการสำรวจจากคำถามตั้งต้น 3 ประการ คือ 

1.เห็นด้วยหรือไม่ว่ารถไฟฟ้ามีราคาแพง?

96% เห็นด้วยว่า รถไฟฟ้าราคาแพง เมื่อเทียบกับค่าโดยสารรถไฟฟ้าทั่วโลกส่วนใหญ่จะไม่เกิน 10 % ของค่าแรงขั้นต่ำ 

2. รถไฟฟ้าควรเป็นบริการสาธารณะหรือไม่?

กว่า 97% เห็นด้วยว่า รถไฟฟ้าควรเป็นบริการสาธารณะ ระบบขนส่งสาธารณะสำหรับทุกคน รัฐควรสนับสนุนให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม

3. ควรเปิดสัญญา รถไฟฟ้าให้ประชาชนเข้าถึงหรือไม่ ?

มากถึง 99% เห็นด้วยว่า ควรเปิดสัญญารถไฟฟ้า โดยเฉพาะสัญญาว่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง คู่สัญญาคือ บริษัทกรุงเทพธนาคม กับ บีทีเอส

2

จากผลสำรวจดังกล่าว เครือข่ายคนรุ่นใหม่ขนส่งขนสุขสาธารณะจึงสรุปเป็น 3 ข้อเสนอ ยื่นต่อผู้ว่าฯ ชัชชาติ ดังนี้  

1.กำหนด เพดานราคาค่ารถไฟฟ้าที่เป็นธรรมที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างทั่วถึง

2.ผลจากสัญญาการจัดจ้าง กับบริษัทเอกชน ส่งผลกระทบต่อราคาค่าโดยสาร ดังนั้น กรุงเทพมหานครควรพยายามเปิดสัญญาดังกล่าวนี้แก่สาธารณะ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลงบประมาณค่าใช้จ่ายและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน

3.ระบบขนส่ง สาธารณะทั้งระบบควรเป็นบริการสาธารณะ ที่รัฐต้องสนับสนุนและดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม

วรรณิกา ธุสาวุฒิ สมาชิกกลุ่มบางกอกนี้ดีจัง

3

วรรณิกา ธุสาวุฒิ จากบางกอกนี้ดีจัง กล่าวว่า เสียงโหวตและข้อคิดเห็นจากคนที่เข้ามามีส่วนร่วมมีทั้งคนในพื้นที่ชุมชนใกล้รถไฟ้า และคนในพื้นที่ชานเมือง สะท้อนออกมาในลักษณะ คนอยู่ใกล้ไม่ได้ใช้ คนอยู่ไกลไม่ได้รู้สึกว่าทำไมต้องจ่ายแพง ถือเป็นการรับรู้ปัญหาการใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น

“คนเขาเข้ามาทำโพลกับเรา ทำให้รับรู้ปัญหามากขึ้นว่า บางทีคนที่อยู่บริเวณแถวบีทีเอสก็จริง แต่ก็ไม่ได้มีโอกาสที่จะขึ้น เพราะรู้ว่ามันแพงไม่สามารถขึ้นได้ หรือบางคนอยู่บริเวณชานเมือง นอกพื้นที่ก็ได้ใช้บริการโซนรถไฟฟ้าที่นั่งฟรี แต่ไม่ได้สัมผัสถึงรถไฟฟ้าที่ต้องจ่ายค่าครองชีพที่สูงขึ้น” วรรณิกา กล่าว 

วรรณิกา อธิยายถึงคำว่า “สาธารณะ” จากคำถามที่ว่ารถไฟฟ้ายังเป็นสาธารณะอยู่หรือไม่ ว่าเป็นสิ่งที่คนทุกคนควรเข้าถึงได้ ไม่ใช่แค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มีเงินเท่านั้น แต่ควรหมายถึงคนทุกคนที่ได้รับบริการจากรถไฟฟ้าด้วยราคาที่ถูกลง หรือต่อยอดไปสู่เป็นสวัสดิการพื้นฐานที่ไม่ว่าเด็ก หรือผู้สูงอายุได้มีโอกาสนั่งฟรี 

“บางทีเขาอ่านโจทย์ของเรา ข้อที่บอกว่า รถไฟฟ้าควรเป็นบริการสาธารณะใช่หรือไม่? เขาอ่านโจทย์ซ้ำแล้วถามกลับเรามาว่า แล้วทุกวันนี้ไม่เป็นสาธารณะยังไง แสดงว่า คำว่าสาธารณะของเรามันไม่ตรงกันหล่ะสิ”  คนรุ่นใหม่จากกลุ่มบางกอกนี้ดีจังกล่าว 

วรรณิกา กล่าวว่า มีความคาดหวังหลังจากมายื่นผลโพลสำรวจความคิดเห็นประชาชนในประเด็นรถไฟฟ้าสายสีเขียว กับผู้ว่าฯ กทม.ด้วยกัน 2 ข้อ คือ 1.คาดหวังว่าทางทีม กทม. จะมี feedback กลับมาให้ เครือข่ายคนรุ่นใหม่ “ขนส่ง ขนสุขสาธารณะ” และ 2.หวังว่า กทม.จะนำข้อสรุปความคิดเห็นของประชาชนไปสู่ข้อปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง

4

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวในการพูดคุยกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ฯ ว่า ในส่วนสัญญาคู่ระหว่าง กทม. กับ บริษัทกรุงเทพธนาคม ตรงนี้ กทม. ได้ใช้อำนาจดำเนินการเปิดเผยสัญญาต่อสาธารณะบนออนไลน์แล้ว ส่วนสัญญาระหว่าง บริษัทกรุงเทพธนาคม กับเอกชน ยังมีเนื้อหาบางส่วนที่เขียนว่าห้ามเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะชน ตรงนี้ยังต้องทีกระบวนการที่รอบคอบ แต่ยืนยันว่าขณะยังเร่งรัดให้อยู่ 

ส่วน ประเด็นที่ถามว่า รถไฟฟ้าควรเป็นบริการสาธารณะหรือไม่? ชัชชาติ ระบุว่า บริการสาธารณะควรเป็นบริการที่ทุกคนเข้าถึงได้ในราคาที่เหมาะสม แต่ทุกวันนี้ยังไม่ได้สามารถเป็นขนส่งสาธารณะได้ 100% เพราะยังมีคนส่วนใหญ่เข้าถึงไม่ได้ เพราะราคาที่แพงมาก ซึ่งมันเป็นเรื่องเกี่ยวโยงกัน 

“ผมต้องขอบคุณน้อง ๆ ที่ชูประเด็นนี้ เพราะสุดท้ายคนรุ่นใหม่เหล่านี้ก็ต้องเป็นคนจ่ายและใช้โครงการนี้ในอนาคต ดังนั้น เขาจึงต้องการมีส่วนร่วม มีส่วนให้ความเห็น และพยายามหาคำตอบ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี” ชัชชาติ กล่าว 

ชัชชาติ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า จากโพลสำรวจที่เครือข่ายขนส่ง ขนสุขสาธารณะ เสนอมานั้น ในเรื่องรถไฟฟ้าเป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่จริง ๆ แล้วอาจต้องรวมถึงรถเมล์ รถสองแถว ทางเท้า ฯลฯ  เพื่อมองให้เป็นระบบเดียวกัน  

ด้าน สุรนาถ แป้นประเสริฐ จากเครือข่ายบางกอกนี้ดีจัง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงกิจกรรมที่จะขับเคลื่อนต่อหลังจากยื่นหนังสือวันนี้ ว่า เครือข่ายคนรุ่นใหม่ ขนส่งขนสุขสาธารณะ จะติดตามการดำเนินการของกรุงเทพมหานครในการพิจารณาข้อเสนอของเรา อย่างใกล้ชิด หลังจากนี้ เครือข่ายฯ จะร่วมกันจัดกิจกรรมสาธารณะเพื่อสื่อสารสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และสร้างการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนระบบขนส่งขนสุขสาธารณะอย่างต่อเนื่อง 

ทั้งนี้ กิจกรรมต่อเนื่องของ เครือข่ายคนรุ่นใหม่ “ขนส่ง ขนสุขสาธารณะ” มีทั้งการรายงานข้อมูลผลสำรวจกับสาธารณะ ตามสถานที่รถไฟฟ้าสายสีเขียวหลัก 8 สถานี ในวันที่ 8-9 ส.ค. 2565 และกิจกรรมรวมกลุ่มชุมชน คนจนเมือง เดินทางท่องกรุงเทพฯ โดยใช้เส้นทางรถไฟฟ้า ในวันที่ 10 ส.ค. 2565 

ปิดท้ายด้วยกิจกรรมด้วยเทศกาลขนส่ง ขนสุขสาธารณะ ในวันที่ 12 ส.ค. ที่จะถึงนี้ ณ หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะมีทั้งการล้อมวงพูดคุยของคนรุ่นใหม่เพื่อสรุปบทเรียน มีเสวนา “รถไฟฟ้าของทุกคน” โดยเครือข่ายผู้บริโภค ตัวแทนคนจนเมือง ตัวแทนสหภาพคนทำงาน และคนรุ่นใหม่ การแสดงดนตรีและลิเกเร่  นอกจากนั้น ยังจะมีการตั้งโต๊ะร่วมลงชื่อให้เปิดสัญญากับบีทีเอส เพื่อความโปร่งใสและค้นหาต้นตอของปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว ก่อนจะต่อสัมปทานใหม่ใน พ.ศ.2572

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ