อยู่ดีมีแฮง : เสียงสะท้อนการจัดการน้ำโดยชุมชน คนลุ่มน้ำพอง

อยู่ดีมีแฮง : เสียงสะท้อนการจัดการน้ำโดยชุมชน คนลุ่มน้ำพอง

เดชา  คำเบ้าเมือง  เขียน

มิ่งขวัญ  ถือเหมาะ  ภาพ

แม่น้ำพองมีต้นกำเนิดมาจากน้ำตกขุนพองบนยอดเขาภูกระดึง จังหวัดเลย ไหลผ่านจากทางตะวันตกมาทางตะวันออก บริเวณผานกเค้าทิวเขาภูเปือย อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น แล้วไหลต่อไปยังอำเภอภูเวียง ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ อำเภอน้ำพอง และอำเภอเมืองขอนแก่น มีความยาวประมาณ 275 กิโลเมตร ก่อนจะไหลไปบรรจบกับแม่น้ำชีที่บ้านหนองแสง ตำบลโพนงาม อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ผ่านพื้นที่การใช้ประโยชน์ทางการเกษตรประมาณ 10 ล้านไร่ แม่น้ำสายนี้จึงเปรียบเสมือนกับเส้นเลือดใหญ่ ที่คอยหล่อเลี้ยงและหล่อหลอมวิถีชีวิตคนขอนแก่นมาช้านาน   

อยู่ดีมีแฮง ตอนนี้เราได้สนทนากับชายร่างท้วมสูงใหญ่ นัยน์ตาคมขำ นามว่า “สวาท  อุปฮาด” ในวัย 62 ปี ประธานเครือข่ายการบริหารจัดการน้ำชุมชนลุ่มน้ำพอง เพื่อให้เห็นแนวคิด มุมมอง และองค์ความรู้ รวมถึงข้อเสนอเกี่ยวกับการจัดการน้ำโดยชุมชนคนลุ่มน้ำพอง

ลุ่มน้ำพอง นองน้ำเขื่อน

ลุ่มน้ำพองจะมีลำห้วยสาขามากมายเล็กบ้าง ใหญ่บ้างสลับกันไปสองข้างทางของลำน้ำพอง มีนิเวศโคก ดอน ตามนิเวศของพื้นที่อีสาน ซึ่งบริเวณที่อยู่ตรงนี้ เรียกว่า “ลำห้วยหนองปลา” บ้านโนนหนองลาด ตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น นับว่าเป็นนิเวศที่ต่ำที่สุดของลำน้ำสาขาในลุ่มน้ำพอง และจะประสบกับปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากมาเป็นเวลานานหลายปี

ภายหลังมีการก่อสร้างเขื่อนอุบลรัตน์ ในปี พ.ศ.2511 เราวัดจากท้ายเขื่อนไปจนสุดสายน้ำบริเวณที่เชื่อมต่อกับลำน้ำชี เป็นระยะทางกว่า 110 กว่ากิโลเมตร แต่บริเวณที่เรียกว่าลุ่มน้ำพองจะนิยามเอาช่วง 80 กิโลเมตร จากท้ายเขื่อน สังเกตว่าเวลาที่เขื่อนปล่อยน้ำ น้ำจะเอ่อท่วมขึ้นมาตรงบริเวณนี้ก่อนจุดอื่น ซึ่งปริมาณที่ลุ่มน้ำพองสามารถรับน้ำจากการปล่อยน้ำของเขื่อนอุบรัตน์ได้คือ 22-24 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อ แต่มีบางครั้งที่เขื่อนอุบลรัตน์ปล่อยน้ำมากถึง 31 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงทำให้น้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มน้ำพอง

“เราเรียกว่าน้ำเอ่อ คือไม่ได้ท่วมมาในครั้งเดียวแต่เป็นการค่อยๆ เอ่อท่วมขึ้น หลังเขื่อนปล่อยน้ำ แล้วระยะทางการไหลของน้ำตามเส้นทาง 80 กิโลเมตร ถึงลำน้ำชีต้องใช้เวลา ซึ่งเป็นการท่วมขังในช่วงที่กำลังจะเก็บเกี่ยวผลผลิต ทำให้ข้าวที่กำลัง ออกรวง พืชพรรณกำลังออกดอก ออกผล ไม่สามารถกลับมาฟื้นตัวได้ ตรงนี้เกิดการสูญเสีย 100 เปอร์เซ็นต์”

พ่อสวาท เล่าให้ฟังพร้อมพาเดินสำรวจพื้นที่ และชี้ให้ดูผลผลิตทางการเกษตรที่ได้รับความเสียหายจากสีเขียวกลายเป็นสีน้ำตาล-ดำ ข้าวจมอยู่ในน้ำตายวันตายพรุ่ง ส่วนพืชผักที่ปลูกไว้รอบคันคู มาถึงวันนี้คาดว่าเหลือรอดในราว 5-10 เปอร์เซ็นต์ เป็นจำพวกไม้ทนน้ำไม่กี่ชนิด เช่น ไผ่ มะพร้าว และมะตูมซาอุ

เมื่อปีพ.ศ.2560 น้ำท่วมหนักมากกว่าปี พ.ศ.2564 เนื่องจากเขื่อนปล่อยน้ำมามากถึง 55 ล้านลูกบาศก์เมตร  ทำให้หมู่บ้านนี้ มีสภาพเหมือนเป็นเกาะมีน้ำล้อมรอบ ต้องนั่งเรือออกไปเป็นระยะทาง 5 กิโลเมตร  เมื่ออ่านถึงตรงนี้อาจจะเข้าใจว่า ปัญหาน้ำท่วมเกิดจากปริมาณฝนที่ตกลงมาอย่างหนักจนเกิดภัยพิบัติ  แต่ชาวบ้านตั้งข้อสังเกตว่าปริมาณน้ำฝนในพื้นที่มีไม่มากแต่ทำไมน้ำท่วม

ปี พ.ศ.2560 มีการปล่อยน้ำปริมาณมากและไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า ทำให้ชาวบ้านคาดเดาไม่ได้ว่าน้ำจะมากี่วันและปล่อยปริมาณแค่ไหน เรียกว่าเป็นการปล่อยน้ำแบบก้าวกระโดด แต่ปี พ.ศ.2564 มีการปล่อยน้ำแบบขั้นบันไดคือปล่อยเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ชาวบ้านสามารถขนของและจัดการของตนเองได้ทัน

“ปี 2560 เขาปล่อยน้ำมาเลย ทำให้น้ำท่วมทั้งรถยนต์ รถไถ เครื่องมือทำมาหากิน ข้าวในเล้าก็ถูกทิ้งหมด สัตว์เลี้ยง เป็ด ไก่ หมู หมา ก็ลอยหายไปกับน้ำ พี่น้องไม่มีโอกาสได้เก็บของ สมบัติทุกอย่างถูกแช่น้ำไว้อยู่อย่างนั้น หนีเอามาได้แต่ชีวิต ข้าวของถูกแช่น้ำเป็นเวลากว่า 2 เดือนเต็ม แต่ความเสียหายที่เหมือนกันทั้งสองปี คือความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผลผลิตทางการเกษตรแช่น้ำแล้วเน่าเสียหาย” พ่อสวาท เล่าย้อนถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้น

ชุมชนกำพร้า กับปัญหาน้ำท่วม

บ้านโนนหนองลาด มีจำนวนกว่า 40 หลังคาเรือน เป็นหมู่บ้านที่ไม่ได้จัดตั้งอย่างเป็นทางการ โดยไปขึ้นกับหมู่บ้านอื่น มีการปกครองกันเอง ไม่มีผู้ใหญ่บ้าน มีเพียง อสม. ดูแลคนในชุมชนเวลาเจ็บป่วย ส่วนที่ดินตรงนี้เนื้อที่กว่า 1,300 ไร่ อยู่อาศัยและทำมาหากินมายาวนานกว่า 50 ปีแต่ไม่มีเอกสารสิทธิ  

พอเป็นแบบนี้จึงต้องพึ่งพาตนเอง เพราะการเข้าถึงหน่วยงานราชการข้อนข้างยาก แม้จะมีหน่วยงานราชการแต่ก็ไม่สามารถรายงานโดยตรงได้ ที่ผ่านมาแม้จะได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการก็ยังนับว่าไม่เพียงพอ สำหรับคนที่พอมีกำลังดูแลตัวเองได้ก็นับว่าไม่เดือดร้อนอะไร แต่คนที่ไม่มีกำลังก็ต้องดูแลกันไปตามสภาพกำลัง

น้ำท่วม-น้ำลด เราก็ไม่ได้รับการดูแลจากหน่วยงานรัฐ ทำให้เราเรียกชุมชนของเราว่า “ชุมชนกำพร้า” พอไม่ได้รับการช่วยเหลือคนในชุมชนก็แตกกระจายไปทำมาหากินแบบตัวใครตัวมันเพื่อหาทางรอดให้ตนเอง

พ่อสวาท บอกว่า อยู่ที่นี่มา 20 ปี เจอกับน้ำท่วมมา 4-5 ครั้ง และสิ่งที่เห็นชัดเจน คือ

1.) ความล่มสลายของครอบครัว คือ รักษาที่ดินของตนเองไม่ได้ รักษาครอบครัวไม่ได้ ต่างคนต่างแยกกันไปเพื่อหาทางรอดให้ตนเอง เพราะต้องไปรับจ้างหรือทำทุกทางเพื่อให้ตนเองอยู่รอด บางคนไปรับจ้างก็รอดได้กลับมาบ้านได้รักษาทรัพย์สมบัติตรงนี้ไว้ บางคนไปไม่ได้ก็ต้องขายทรัพย์สมบัติเพื่อจ่ายหนี้สินเพราะไม่มีทุนมาฟื้นฟูใหม่ เนื่องจากไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดินทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิต่างๆ ส่งผลให้ไม่มีศักยภาพมากพอที่จะฟื้นฟูทรัพย์ของตนเอง

2.) การหมดไปของทรัพยากรทางธรรมชาติ คือเมื่อก่อนชาวบ้านสามารถเก็บหาทรัพยากรทางธรรมชาติได้ เรียกว่าทำให้พอมีกำลังในการฟื้นฟูทรัพย์ของตนเอง เพราะเมื่อก่อนน้ำไม่ท่วมถี่ขนาดนี้ พอปัจจุบันน้ำท่วมถี่ขึ้นทรัพยากรก็ไม่สามารถฟื้นฟูตนเองได้ ทำให้พี่น้องไม่สามารถเก็บหาได้เช่นเหมือนในอดีตที่ผ่านมา พี่น้องจึงไม่มีกำลังในการฟื้นฟูตนเองภายหลังน้ำท่วม

ตรงนี้คือปัญหา หากยังปล่อยไว้แบบนี้อาจจะล่มจมทั้งชุมชน ทว่าภาครัฐมองเห็นความสำคัญและช่วยแก้ไขปัญหาตรงนี้ก็จะกลับมาฟื้นฟูสภาพของชุมชนและพื้นที่ได้ ถ้าสามารถทำการฟื้นฟูได้ชาวบ้านจะไม่อยากออกไปนอกพื้นที่ เพราะที่ตรงนี้มีทั้งทรัพยากรทางน้ำและทางบกที่มีให้ทำมาหากินตลอดทั้งปี ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่ากำลังของพี่น้องไม่เพียงพอ ทั้งในเรื่องของงบประมาณและศักยภาพที่จะมาฟื้นฟูตนเอง จำเป็นต้องอาศัยแรงหนุนมาช่วยคนในชุมชนจำเป็นต้องขับเคลื่อนเพื่อให้คนในชุมชนได้มาอยู่ในชุมชนของตนเองต่อไป

“พื้นที่แบบนี้ถูกกล่าวหาตลอด โอ้ย คนพวกนี้รู้ว่าเป็นที่น้ำท่วมทำไมไม่ย้ายหนี ทำไมไม่ไปอยู่ที่อื่น มีคำถามแบบนี้ ทั้งๆ ที่ อีกด้านหนึ่งก็คือว่า กว่าเขาจะมาสร้างชุมชนที่นี่ได้ ต้องใช้เวลามหาศาล มันไม่ได้มีปัญหาโดยทรัพยากรที่มันมี แต่มันเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรแล้วมาเกิดปัญหากับคนอื่น เพียงแต่ว่าคนจัดการที่ผ่านมาไม่ได้ตามไปดูแลเขา” พ่อสวาทกล่าว ขณะที่สายตากวาดมองดูความสูญเสีย

การเยียวยาไม่พอ ต้องสร้างความร่วมมือฟื้นฟูแก้ปัญหา

พ่อสวาท ยืนจ้องมองต้นข้าวที่กำลังแช่น้ำอยู่ตรงหน้า แล้วอธิบายว่า ข้าวที่ลงทุนไปประมาณ 5,000 บาทต่อไร่ ต่อรอบ หากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วได้ 5,000 บาทต่อไร่ คือเท่าทุน แต่ในระบบเกษตรกรจะได้เพียงทุนนั้นถือว่าไม่เพียงพอเพราะไม่สามารถต่อยอดและเติบโตไปข้างหน้าได้

หลายคนมักมองว่ารัฐชดเชยเยียวยาแล้วแต่ในความเป็นจริงคือไม่เพียงพอ เนื่องจากรัฐบาลเยียวยาค่าน้ำท่วม 1,500 บาทต่อไร่ ซึ่งต่ำกว่าทุนที่ลงไป มูลค่าตรงนี้เป็นเพียงทุนยังชีพในช่วงน้ำท่วมเท่านั้น แต่ไม่เพียงพอต่อการนำไปต่อยอดในฤดูกาลเพาะปลูกต่อไป

“อย่างบางรายมีพื้นที่ 10 ไร่ ได้ชดเชยเยียวยา 15,000 บาท แค่ใช้จ่ายในการส่งลูกไปโรงเรียน เป็นเวลา 1-2 เดือนเงินก็หมดแล้ว นอกจากนี้คนเราก็มีความจำเป็นที่ต้องใช้เงินเพื่อซื้อหาปัจจัยอย่างอื่นอีกมากมาย เช่น เครื่องนุ่งห่ม ค่าเดินทาง ค่ายา ค่าอาหาร และจิปาถะมากมาย ถึงแม้ว่าไม่มีเงินก็ต้องหยิบยืมมาใช้จ่ายส่วนนี้ก่อน”

ถึงอย่างไรชุมชนเขาก็ต้องอยู่ต่อในส่วนที่เป็นชุมชน การฟื้นฟูให้ชุมชนได้เห็นอนาคต เห็นสังคมความเป็นอยู่ รวมถึงวิถีและวัฒนธรรมของตนเอง อันนี้ถือว่าเป็นหลักใหญ่ที่จะต้องเข้ามาทำให้เขาอยู่ได้แล้วฟื้นฟูได้

พ่อสวาท เสนอว่า อันที่หนึ่ง ให้เอาข้อเท็จจริง หรือความเสียหายที่แท้จริงมาเป็นตัวตั้งในการดูแลเยียวยา อันที่สองคิดว่า ทุกภาคส่วนจะต้องสร้างความร่วมมือในการฟื้นฟู แล้วออกแบบการฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาร่วมกัน ภาครัฐเองก็อาจไม่ได้เข้าใจว่าชุมชนมีภูมิปัญญา มีชุดความรู้อะไรบ้าง ทำให้ชุมชนไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องตามโครงสร้างของชุมชน แต่เป็นการแก้ไขปัญหาภาพรวมขนาดใหญ่ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีวงพูดคุยที่เอาคนมาออกแบบร่วมกัน และพี่น้องเองก็ควรมีการสร้างเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากพื้นที่อื่นเป็นการเตรียมความพร้อม เพราะในอนาคตเราจะเจอภัยพิบัติที่ถี่และรุนแรงขึ้น การเตรียมตัวในเรื่องชุดความรู้จึงจำเป็นมาก

“ถ้าได้มีประสบการณ์และเตรียมความพร้อมตรงนี้แล้ว คิดว่าน่าจะลดปัญหาลงได้มากที่สุด คือหลังจากเกิดเหตุการณ์แต่ละครั้ง ถ้าเราไม่ได้ร่วมมือกันอย่างจริงจัง ไม่ได้มีการสนับสนุน หรือไม่ได้ให้ความสำคัญอย่างแท้จริง การแก้ไขปัญหาเรื่องพวกนี้ แบบยั่งยืนมันจะไม่เกิด มันอาจจะเป็นแค่การมาเยียวยาเฉพาะหน้าแบบนี้ แต่ถ้าเราร่วมมือกันในอนาคตเรื่องพวกนี้มันจะบรรเทา แล้วก็จะช่วยลดภาระให้กับคนทั้งสังคม และลดภาระให้รัฐบาลด้วยซ้ำ และสิ่งที่สำคัญก็คือว่าทุกคนมีความสามารถที่จะจัดการตนเองได้ถ้าเขามีความพร้อม” ประธานเครือข่ายการบริหารจัดการน้ำชุมชนลุ่มน้ำพอง เสนอแนวทางแก้ไขปัญหา

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ