วันที่ 31 ก.ค. 2565 ณ ห้องประชุมเทศบาล ต.ม่วงยาย อ.เวียงแก่ง จ.เชียงราย นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของได้จัดเวทีให้ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นในเรื่องการสร้างเขื่อนปากแบบ จากผู้นำท้องที่ท้องถิ่น ในพื้นที่ ต.ม่วงยาย ที่มีพื้นที่ห่างจากจุดสร้างเขื่อนปากแบบใน สปป.ลาว เพียง 97 กม. ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่มีความกังวลต่อผลกระทบข้ามพรมแดน หากมีการสร้างเขื่อนปากแบงจะทำให้น้ำเท้อมาถึงบ้านห้วยลึก บ้านแจมป๋อง ต.ม่วงยาย อ.เวียงแก่น เป็นพื้นที่ราบก่อนที่น้ำโขงจะเข้าไปยัง สปป.ลาว และอาจส่งผลต่อพื้นที่ลุ่มน้ำงาว และแม่น้ำอิง ในเขต อ.เทิง อ.เชียงของ ด้วย
นายพรสวรรค์ บุญทัน ประธานสภาเทศบาลตำบลม่วงยาว กล่าวว่า ขณะนี้ทราบว่ามีการดำเนินการเคลียร์พื้นที่ใน สปป.ลาว เพื่อสร้างเขื่อนปากแบงแล้ว จึงกังวลว่าน้ำจะท่วมพื้นที่ ตำบลม่วงยาย น่าแปลกที่รัฐบาลไม่สนใจ ขณะที่ชาวบ้านเดือดร้อน เพราะไม่สามารถคำยืนยันชัดเจนว่าน้ำจะเท้อมาถึงพรมแดนไทยหรือไม่ ต้องการให้รัฐบาลเข้าศึกษาให้คำตอบที่ชัดเจนกับประชาชน ที่ผ่านมาการเข้ามาให้ข้อมูลของบริษัทรับเหมาก็ไม่สามารถมีคำตอบที่ชัดเจนชี้แจงรายละเอียดผลกระทบให้กับชาวบ้านได้
“เขื่อนสร้างในลาว จะเห็นว่าเขื่อนไซยะบุรีก็ได้ส่งผลกระทบให้เห็นชัดเจน การสร้างสันเขื่อนสูงถึง 340 เมตร ชาวบ้านจึงกังวลจะสูญเสียที่นา พื้นที่เกษตรในฤดูน้ำหลาก และเมื่อแม่น้ำอยู่ระดับสูงแก่งผาไดที่เชื่อมกับฝั่งไทยก็จะกลายเป็นเกาะ แล้วเรื่องเขตแดนจะเป็นอย่างไร” นายพรสวรรค์กล่าว
นายธีรพงษ์ จันต๊ะ ข้าราชการบำนาญ กล่าวว่า จากการล่องเรือไปหลวงพระบาง ได้สังเกตพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำโขง จะเห็นว่าเป็นช่องเขาเป็นส่วนมากซึ่งกระแสน้ำไหลแรง มีเพียงที่ราบปากทา หากมีการสร้างเขื่อนจากน้ำไหลแรงกลายเป็นน้ำนิ่ง และเมื่อน้ำไม่มีที่ไหลบ่าไป ระดับน้ำจะเป็นอย่างไร จะดันเอ่อเท้อไหลบ่าเข้าท่วมลุ่มแม่น้ำงาวหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นสวนส้มโอและที่นาก็คงไม่เหลือ และถ้าเป็นอย่างนั้นจะเอ่อไปตามลุ่มน้ำอิงท่วมพื้นที่ได้เช่นกัน ดังจะเห็นในปี 2538 ที่น้ำหลากและท่วมไปหลายอำเภอลุ่มน้ำอิง
นายเพชรรัตน์ กองมงคล กำนันตำบลม่วงยาย กล่าวว่า หากสร้างเขื่อนปากแบงมีผลกระทบแน่ จึงอยากให้รัฐบาลได้รับรู้ จึงขอให้หน่วยงานและองค์กรในพื้นที่ช่วยส่งเรื่องให้ทางราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ มาศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อชาวบ้าน 2 อำเภอให้ชัดเจน ตนในฐานะคนพื้นที่พร้องที่จะสนับสนุนเพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องนี้
นายชาญสมร ศรีไกรรส รองนายกเทศบาลมนตรี เทศบาลตำบลหล่ายงาว กล่าวว่า หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องไม่ค่อยให้ความสนใจ จากที่ตนได้ติดตามมาตลอด เสนอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้รับการตอบสนองต่ำมากในเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นนี้ คนพื้นที่ต้องการข้อมูลที่ชัดเจนว่าระดับน้ำจะอยู่ระดับไหนกันแน่ ตอนนี้ไม่รู้อะไรเลยไม่มีการยืนยัน ให้เห็นทั้งด้านบวกและด้านลบให้ชัดเจน ส่งเจ้าหน้าที่ศึกษาวิจัยให้รู้ทั้งโทษและประโยชน์ เพราะตอนนี้ฝ่ายสร้างก็สร้างไปไม่สนใจฟังชาวบ้านเลย
นายธีรพล โพธิ สท. เทศบาลตำบลม่วงยาย กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลและบริษัทมุ่งกำไรสูงสุด ไม่สนใจผลกระทบต่อประชาชนเลย นอกจากเสียอย่างเป็นรูปธรรม ในเรื่องปลา สัตว์น้ำ สภาพแวดล้อม พื้นที่อาศัย ชาวบ้านยังสูญเสียสิ่งที่เป็นนามธรรม ทั้งประเพณี วัฒนธรรม ที่สะสมมาเป็นวิถี เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยน จำเป็นต้องแยกกันอยู่ ต้องทิ้งบ้านไปทำงาน ต้องย้ายออกจากพื้นที่วิถีชีวิตเดิม ความเสียหายที่เกิดขึ้นต้องมีการชดเชย ต้องช่วยกันคิดก่อนสร้าง เพราะสร้างแล้วจะทำอะไรไม่ได้เลย
นายสมหมาย อินต๊ะปัญญา ผู้ใหญ่บ้าน บ้านห้วยลึก ต.ม่วงยาย กล่าวว่า การสร้างเขื่อนปากแบงคงห้ามไม่ได้ ทางฝ่ายลาวบอกว่าจะสูงถึงบ้านปากคอบในลาว เพราะมันเป็นระดับแม่น้ำที่ต่ำลงไป แต่ถ้าเกิดสูงขึ้นมากว่านั้น พื้นที่ราบบ้านเราก็จะไม่เหลือ ได้แต่หวังว่าจะไม่ถึงขนาดนั้น อยากให้ช่วยกันประสานบริษัทลดความสูงของสันเขื่อนให้ได้
นายอภิสม อินทรลาวัณย์ อาจารย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า ขณะนี้ไทยสำรองไฟฟ้าสูงมากถึง 60 เปอร์เซ็นต์ แม้ไม่สร้างโรงไฟฟ้า 5 ปีก็มีไฟฟ้าใช้งานเพียงพอ ในขณะที่การสำรองไฟมีต้นทุนค่าใช้จ่ายทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระราคาต้นทุนค่าไฟที่แพงขึ้น
นอกจากนี้การผูกมัดสัญญาซื้อไฟฟ้าถึง 29 ปี ในขณะที่ปัจจุบันการพัฒนาเทคโนโลยี และต้นทุนการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เริ่มถูกลง และผลกระทบน้อยกว่า เช่นนั้นอาจทำให้ประเทศสูญเสียในสัญญาผูกพันระยะยาว เพราะแม้ว่าจะใช้และไม่ใช้ไฟฟ้าที่เซ็นสัญญารับซื้อนั้นก กฟผ.ก็ต้องจ่าย เช่นช่วงการระบาดโควิดที่ผ่านมามีการใช้ไฟฟ้าน้อยลงมาก แม้ไม่ได้ใช้ก็ยังต้องจ่ายให้กับเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้า ขณะประชาชนลุ่มน้ำได้รับผลกระทบ จากข้อมูลการสร้างเขื่อน 1 เขื่อนในประเทศเพื่อนบ้าน ต้องอพยพโยกย้ายกว่า 6,900 ครอบครัว ต้องทิ้งถิ่นที่อยู่อาศัยผูกพันมา
นายอภิสมกล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ทำข้อมูลคำนวณต้นทุนความสูญเสียของชาวบ้าน ในเรื่องปลา การคำนวณราคาปลากับ MRC ได้กำหนดราคาปลาเพียง กก.ละ 25 บาท ซึ่งความจริงนั้นราคาต่างกันมาก กก.ละ 150 – 350 บาท และยังมีความสูญเสียอีกหลายอย่างที่ไม่ได้คิดคำนวณถึง จะเห็นว่ามูลค่าความเสียหายมันสูงกว่าที่หน่วยงานวิเคราะห์ออกมามาก สำหรับชาวบ้าน วิถี และระบบนิเวศน์ และมีการเสนอดูทางเลือกอื่นในการผลิตพลังงาน ไม่ต้องสร้างเขื่อนเพิ่ม เช่นการวางทุ่นแผงโซลาเซลล์ในเขื่อน ซึ่งขณะนี้ก็มีการทำกันมากขึ้นหลายเขื่อน เพื่อหาทางออกแบบวินวิน
อาจารย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า ในประเทศเวียดนาม ผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านชาวบ้านและสร้างโรงไฟฟ้าชุมชน โดยให้ประชาชนและชุมชนลงทุนเอง โดยรัฐบาลเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากประชาชนในพลังงานไฟฟ้าที่เหลือใช้ในบ้าน
ในประเด็นระดับน้ำเท้อ นายอภิสมกล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีอดีตรัฐมนตรีมาบอกว่าจะไม่มีผลกระทบต่อพื้นที่ชายแดนไทย จึงตั้งคำถามว่าเช่นนั้นจะวางประกันความเสียหายนี้อย่างไร เพราะนอกจากพื้นที่และยังมีสิ่งที่เสียหายแบบประเมินมูลค่าไม่ได้อีกหลายอย่าง การสร้างเขื่อนนั้นเมื่อสร้างแล้วอยู่กับเราไปอีกนาน ขณะที่เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วอาจมีพลังงานอื่นมาทดแทนที่สูญเสียน้อยกว่า
นอกจากนี้การประเมินว่าระดับสันเขื่อนสูง 340 เมตรจะไม่กระทบพื้นที่ราบของไทย แต่นั่นเป็นการประเมินในภาวะปกติ แต่ขณะนี้เรามีปัญหาสภาพอากาศ และการจัดการปล่อยน้ำของเขื่อนในจีน การที่จะคำนวณผลกระทบเช่นนี้ มันควรจะคำนวนจาก Worst-case scenario คือ ภาวะผันผวนหรือเลวร้ายที่สุด
นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว กล่าวว่า ในการพูดคุยรับฟังชาวบ้านและผู้นำท้องที่ท้องถิ่น ต.ม่วงยาย พบว่าชาวบ้านกังวลเรื่องน้ำเท้อ ว่าจะทำให้ระดับน้ำในพื้นที่สูงเท่าไหร่ จะเสียหายแค่ไหน เพื่อให้ความเสียหายเกิดขึ้น รัฐต้องให้นักวิชาการมาศึกษายืนยันข้อมูลที่ชัดเจน นี่คือความเป็นธรรม การมีธรรมาภิบาล และในอีกเรื่องหนึ่งในระดับน้ำที่เปลี่ยนไป จะส่งผลต่อเรื่องเขตแดนของประเทศด้วยหรือไม่ จัดว่าเป็นเรื่องอ่อนไหว ที่ต้องมีการศึกษาให้ชัดเจน
โดยในวันที่ 01 เม.ย.2565 คณะกรรมพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาเห็นชอบ “ร่างสัญญาซื้อไฟฟ้ากรณีเขื่อนปากแบง โดยมีบริษัทต้าถัง (China Datang Overseas Invesment Co.,Ltd. ) และ บริษัทกัลฟ์ (Gulf Energy Development Public Co., Ltd.) เป็นผู้พัฒนาโครงการเขื่อนพลังงานไฟฟ้า และบริษัทกัลฟ์ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่ามีแผนจะเข้าซื้อหุ้น บริษัท Datang (Lao) Pakbeng Hydropower49 เปอร์เซ็นต์
ซึ่งเป็นการเดินหน้าของ บริษัทไทย และกฟผ. รวมทั้งการเตรียมก่อสร้างในพื้นที่แล้ว