ชุมชนป้อมมหากาฬ: ความชอบธรรมของชุมชน และทางเลือกการแก้ปัญหาที่ดินชุมชนป้อมฯ

ชุมชนป้อมมหากาฬ: ความชอบธรรมของชุมชน และทางเลือกการแก้ปัญหาที่ดินชุมชนป้อมฯ

แถลงการณ์ชุมชนป้อมมหากาฬ : ความชอบธรรมของชุมชนและทางเลือกในการแก้ไขปัญหาที่ดินบริเวณชุมชนป้อมมหากาฬ

20162406234713.jpg

ชุมชนป้อมมหากาฬ
24 มิถุนายน พ.ศ.2559

สืบเนื่องจากเวทีแลกเปลี่ยนพูดคุยระหว่างชุมชนป้อมมหากาฬและกรุงเทพมหานคร ที่เกิดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน พ.ศ.2559 ตลอดจนการที่กรุงเทพมหานครได้นัดประชุมเพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหากับชุมชนป้อมมหากาฬ ในวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2559 นี้นั้น การแลกเปลี่ยนพูดคุยดังกล่าวระหว่างชุมชนและกรุงเทพมหานครต่างเป็นไปด้วยบรรยากาศและท่าทีที่พยายามจะหาทางออกร่วมกัน 

โดยประเด็นต่างๆ ที่ทางกรุงเทพมหานครได้นำเสนอในเวทีแลกเปลี่ยนเมื่อวานและในวันนี้นั้น ไม่ว่าจะเป็นข้อติดขัดทางกฎหมาย กรณีพระราชกฤษฎีกาเวนคืน พ.ศ.2535 คำพิพากษาของศาลปกครอง ปี พ.ศ.2547 การตีความของกฤษฎีกา ปี พ.ศ.2548 ประเด็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ ประเด็นการใช้ประโยชน์ในพื้นที่สาธารณะ รวมทั้งข้อห่วงใยว่าหากมีการดำเนินการแก้ไขปัญหานี้แล้วจะนำไปสู่กรณีปัญหาลักษณะเดียวกันนี้ในพื้นที่อื่นๆ นั้น 

20162406234733.jpg

ภาพ: วงเจรจาพูดคุยกรณีการไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ เมื่อ 23 มิ.ย. 2559 โดยมี พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร เป็นตัวแทนกรุงเทพฯ ในการเจรจา

ชุมชนป้อมมหากาฬได้ตระหนักถึงข้อติดขัดเหล่านี้มาโดยตลอด และมีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะนำเสนอแนวทางเพื่อปลดล็อคข้อติดขัดเหล่านี้ รวมทั้งได้มีการเสนอแนวทางการพัฒนาสวนภายใต้แนวคิดมหากาฬโมเดล ที่ในเบื้องต้นนั้น ชุมชนป้อมมหากาฬพร้อมให้กรุงเทพมหานครเข้าดำเนินการพัฒนาพื้นที่สวน เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน บริเวณทิศใต้ของชุมชน พร้อมทั้งขอมีส่วนร่วมในการพัฒนาสวนด้วยการพัฒนาปรับปรุงภูมิทัศน์และสิ่งปลูกสร้างภายในชุมชน ควบคู่ไปด้วย อีกทั้งจะดำเนินการจัดกิจกรรมวัฒนธรรม ประเพณีเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เรียนรู้ของสังคมอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในหลายประเด็น แต่ก็ล้วนเป็นประเด็นในเชิงกฎหมายทั้งสิ้น ทั้งๆ ที่นอกเหนือไปจากประเด็นทางกฎหมายนั้น ชุมชนป้อมมหากาฬ ยังเชื่อว่า ประเด็นเรื่องสิทธิความเป็นมนุษย์ อันครอบคลุมถึงเรื่องสิทธิ เสรีภาพ การได้รับการปกป้องคุ้มครองในชีวิต (ร่างกาย จิตใจ สุขภาวะ) และทรัพย์สิน และประเด็นเรื่องสิทธิความเป็นชุมชน สิทธิทางสังคมและวัฒนธรรม ก็เป็นประเด็นสำคัญที่ไม่อาจจะละเลย หรือไม่กล่าวถึงได้ เพราะประเด็นเหล่านี้จะชี้ให้เห็นว่า ชุมชนป้อมมหากาฬ ตามที่มีการกล่าวถึงว่า เป็นผู้บุกรุกก็ดี เป็นชุมชนประวัติศาสตร์จัดตั้งก็ดี แท้จริงนั้น ชุมชนป้อมมหากาฬมีวิถีชีวิตที่ดำรงอยู่บนพื้นที่บริเวณนี้อย่างชอบธรรม อีกทั้งชุมชนป้อมมหากาฬยังมีบทบาทสำคัญในมิติทางสังคม วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ กับการพัฒนาย่านเมืองเก่าแห่งนี้ เช่นเดียวกัน 

ความชอบธรรมในแง่ประวัติศาสตร์ กล่าวได้ว่า ชุมชนได้ทำหน้าที่ในการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ โบราณสถานป้อมมหากาฬ เรือนไม้โบราณมาโดยตลอด รวมทั้งได้จัดให้มีกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวตลอดทั้งปีมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้พื้นที่ชุมชนป้อมมหากาฬเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของเมือง ที่มีผู้คนจำนวนมาก ทั้งนักเรียน นักศึกษา สื่อมวลชน ประชาชนทั่วไป และนักท่องเที่ยวสัญจรแวะเวียนเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชนอย่างไม่ขาดสาย

ความชอบธรรมในแง่สิ่งแวดล้อม กล่าวได้ว่า ชุมชนมีบทบาทในการร่วมอนุรักษ์ดูแลสิ่งแวดล้อมของสวนสาธารณะป้อมมหากาฬ ขณะที่ ภายในบริเวณชุมชนป้อมมหากาฬนั้น ก็ได้มีการจัดทำพื้นที่แปลงเพาะปลูกในครัวเรือน อีกทั้งชุมชนยังร่วมกันอนุรักษ์ดูแลต้นไม้ เช่น ต้นโพธิ์ ต้นไซร ต้นไกร ต้นกร่าง ภายในชุมชน จนต้นไม้เหล่านี้ได้แผ่ขยายกิ่งก้านสาขาจนกลายเป็นต้นไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงาแก่ชุมชน และในอนาคตชุมชนยังมีแนวทางที่จะจัดทำเรือนเพาะชำกล้าไม้อีกด้วย

ความชอบธรรมในแง่สังคม กล่าวได้ว่า ด้วยสภาพภูมิทัศน์บริเวณหัวป้อมมหากาฬที่มีกำแพงทอดยาวขนานคลองซึ่งเป็นพื้นที่สวนปัจจุบัน บริเวณทิศเหนือของชุมชนนั้น ความอับทึบเช่นนี้ส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้ใช้สวน รวมทั้งผู้คนที่สัญจรไปมาระหว่างทาง จนนำไปสู่การเกิดอาชญากรรมต่างๆ ในพื้นที่บริเวณสวน ดังปรากฏข้อมูลในสถิติอาชญากรรม ของสถานีตำรวจสำราญราษฎร์ 

หากแต่ที่ผ่านมา ชุมชนป้อมมหากาฬ ได้มีส่วนร่วมในการทำหน้าที่เป็นเวรยาม สอดส่องดูแลความปลอดภัยของผู้ใช้สวน และป้องกันอาชญากรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นภายในบริเวณสวน แม้จะติดขัดในเรื่องสิทธิและหน้าที่โดยชอบธรรมที่จะปฏิบัติการ แต่ชุมชนก็อาสาปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน

ความชอบธรรมในแง่สิทธิชุมชน ประกอบด้วย 

1.ชุมชนมีการตั้งถิ่นฐานกันมายาวนานตั้งแต่ ปี พ.ศ.2325 และชุมชนมีการเติบโตพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ครัวเรือนในชุมชนจึงมีความหลากหลาย ผสมผสานทั้งครัวเรือนตระกูลดั้งเดิมมียังคงสืบสานอัตลักษณ์ องค์ความรู้ ภูมิปัญญาของบรรพชนมาอย่างต่อเนื่อง และครัวเรือนต่างถิ่นที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่อาศัยในชุมชน โดยระยะเวลาที่เข้ามาอยู่นั้น ไม่ต่ำกว่า 50 ปี

ทั้งนี้ ในความพลวัตของชุมชนเช่นนี้ แม้จะมีคนใหม่เข้ามาอยู่อาศัยภายในชุมชน หากแต่ก็ไม่ได้ส่งผลให้ชุมชนละทิ้งการสืบสานวัฒนธรรม สืบสานเจตนาความเป็นชุมชนป้อมมหากาฬดั้งเดิม โดยชุมชนยังคงมีการสืบสานวิถีความเป็นชุมชนเช่นนี้สืบต่อมายังลูกหลาน ดังปรากฏชัดในงานกิจกรรมประเพณีประจำปีของชุมชน และการสืบทอดอัตลักษณ์ องค์ความรู้ และภูมิปัญญาท้องถิ่น 

2.พื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬ เป็นมรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาติ ที่ผ่านมา ชุมชนป้อมมหากาฬได้มีส่วนร่วมสำคัญในการสืบสานและถ่ายทอดคุณค่าและความทรงจำต่างๆ เกี่ยวกับพื้นที่บริเวณนี้ให้แก่คนรุ่นหลังมาอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ผ่านกิจกรรมทางสังคมและวัฒนธรรมที่ชุมชนดำเนินการ ทั้งกิจกรรมการเป็นพื้นที่เรียนรู้ กิจกรรมการท่องเที่ยวชุมชน รวมทั้งได้ส่งต่อคุณค่าเหล่านี้แก่ลูกหลานโดยผ่านกระบวนการเลี้ยงดู กระบวนการบ่มเพาะขัดเกลาทางสังคม อีกทั้งยังทำหน้าที่ในการสอดส่องดูแลโบราณสถาน ดังเช่นเมื่อมีโครงการของรัฐดำเนินการขุดเจาะบริเวณหัวป้อมมหากาฬจนเกิดรอยแตกร้าว หรือเมื่อมีเจ้าพนักงานของกรุงเทพมหานคร ที่มีหน้าที่ดูแลสวนและเรือนโบราณภายในสวน ได้ปล่อยให้มีผู้บุกรุกเข้าไปอยู่อาศัยภายในเรือนโบราณ จนตัวอาคารได้รับความเสียหายนั้น ชุมชนป้อมมหากาฬก็ได้ดำเนินการร้องไปยังกรุงเทพมหานครเพื่อให้จัดการแก้ไขปัญหา หากแต่ไม่มีการตอบรับหรือแก้ไขปัญหาจากกรุงเทพมหานครแต่อย่างใด

3.กรณีการรับเงินเวนคืนนั้น ข้อเท็จจริงคือ ชาวบ้านรับเงินจริง หากแต่การรับเงินดังกล่าวไม่ได้เต็มใจรับ แต่เป็นการจำใจต้องรับเงินตามที่เจ้าหน้าที่ใช้กฎหมายบังคับ อีกทั้งระหว่างกระบวนการเวนคืนนั้น ชุมชนยังถูกละเมิดสิทธิในด้านต่างๆ เช่น ถูกกีดกันสิทธิทางกฎหมายตามทะเบียนราษฎร์ของบุตรหลาน โดยเขตปฏิเสธที่จะดำเนินการรับแจ้งชื่อบุตรหลานลงในทะเบียนบ้าน เสียสิทธิในการพัฒนาชุมชน เสียสิทธิในการปรับปรุงสิ่งปลูกสร้างต่างๆ เนื่องมาจากความไม่มั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ชาวบ้านรับเงินและเข้าร่วมโครงการบ้านของการเคหะตามที่กรุงเทพมหานครจัดหามาให้ 

หากแต่เมื่อเข้าร่วมโครงการแล้ว ระหว่างทางของการผ่อนชำระเงินนั้นเมื่อไปดูสถานที่จริง กลับพบว่า โครงการฉลองกรุง มีนบุรี ไร้ซึ่งอาคารสิ่งปลูกสร้างในการอยู่อาศัย การสัญจรเดินทางยากลำบาก ไม่มีระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่เอื้อต่อการดำรงชีวิต ด้วยเหตุเช่นนี้ ชุมชนป้อมมหากาฬจึงไม่สามารถย้ายเข้าไปอยู่ในโครงการดังกล่าวได้ โดยปัจจุบัน โครงการฉลองกรุง มีนบุรี ก็ยังไม่ปรากฏอาคารสิ่งปลูกบ้าน หรือสภาพการจับจองอยู่อาศัย ที่แสดงให้เห็นถึงมิติความเป็นชุมชน

จากความชอบธรรมด้านต่างๆ ที่ชุมชนป้อมมหากาฬได้กล่าวถึงนั้น ชุมชนตระหนักดีว่า ความชอบธรรมเหล่านี้หาได้เป็นสิทธิที่จะทำให้ชุมชนเพิกเฉยที่จะปฏิบัติตามกฎหมายแต่อย่างใด หากแต่ ชุมชนป้อมมหากาฬเพียงต้องการชี้ให้เห็นว่า การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนี้ จำเป็นต้องย้อนกลับไปพิจารณาถึงที่มาที่ไป รวมทั้งควรพิจารณาบริบททั้งทางสังคม วัฒนธรรม อย่างรอบด้านและครอบคลุมทุกช่วงเวลา นับเนื่องจากอดีตจนถึงปัจจุบัน 

ท้ายที่สุดนี้ ชุมชนป้อมมหากาฬ ขอยืนยันว่า “เราเป็นเพียงชุมชนเล็กๆ ไม่มีกำลังทรัพย์ใดๆ แต่ชุมชนมีกำลังใจ กำลังกายที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมือง และมีส่วนร่วมในการพัฒนาสวนสาธารณะป้อมมหากาฬแห่งนี้ให้เป็นพื้นที่สีเขียวและพื้นที่เรียนรู้เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม เราพร้อมและเราขอโอกาสพิสูจน์ตัวเอง”

20162406235236.jpg

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ