ชีวิตนอกกรุง : เมื่อทายาทแม่สลองต้องกลับบ้าน

ชีวิตนอกกรุง : เมื่อทายาทแม่สลองต้องกลับบ้าน

แม่สลอง ชุมชนจีนบนพื้นที่สูงของจังหวัดเชียงราย เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวมาหลายสิบปีแล้วเสน่ห์ของที่นี่คือ มีความสวยงามของพื้นที่ เป็นดอยงสูง หนาวเย็น มีชุมชนเป็นแบบชาวจีน และมีอาหารจีนที่อร่อยให้ชิม แต่เวลาผ่านไปคนรุ่นใหม่เริ่มออกไปเรียนและทำงานนอกบ้าน แต่เมื่อถึงเวลาที่คนกลุ่มนี้ต้องกลับบ้านเขาจะมีแนวคิดในการใช้ชีวิตในพื้นที่ของรุ่นพ่อแม่อย่างไร เรามีโอกาสได้คุยกับ เอกรัฐ เป็นลูกชายอาจารย์ทำชา ที่จากบ้านไปอยู่กรุงเทพฯ หลายปีแล้วต้องกลับมาอยู่บ้าน

เอกรัฐเล่าว่าคนกลุ่มเขาถือว่าเป็นรุ่นที่สาม เพราะว่าบรรพบุรุษเรามาจากเมืองจีนจะเป็นรุ่นปู่ รุ่นที่สองเป็นรุ่นพ่อจะเป็นรุ่นบุกเบิก รุ่นที่สามคือรุ่นเอกรัฐจะเป็นรุ่นต่อยอด ทุกวันนี้วิถีชีวิตเปลี่ยนการซื้อขายทุกอย่างมันเปลี่ยน การมองธุรกิจมันก็เปลี่ยน ยุคนี้เราต้องไปกับคนรุ่นใหม่เขาซื้อยังไง เขาขายยังไง เราต้องบุกตลาดยังไง เราก็ต้องคุยกันในกลุ่มคนรุ่นเรา รุ่นเก่าก็ต้องดูแลข้างหลัง สนับสนุนคอยดูแลเราว่า เราเดินไปถูกหรือผิด

คนรุ่นปู่เป็นรุ่นปลูกผลไม้แต่ปัญหาหลักคือทุกบ้านปลูกผลไม้ ผลผลิตออกมาล้นตลาด ราคาไม่ดี สมัยนั้นเรายังไม่รู้จักการเก็บแห้ง รุ่นแรกมีปัญหาเรื่องการแปรรูป ในรุ่นสองชาเริ่มเข้ามา เราเป็นกลุ่มเดียวกับก๊กมินตั๋งไต้หวัน ไต้หวันสนับสนุนต้นกล้าชาอู่หลง รัฐบาลไทยสนับสนุนต้นกล้าชาอู่หลงมาปลูกที่นี่ ผลผลิตเก็บเกี่ยวได้ตลอดปีเก็บรักษาได้นาน ตอนนั้นก็เริ่มเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวทุกหน่วยงานที่สนับสนุนเราเปิดโรงแรม ร้านอาหาร ค้าขาย วางของขายข้างทาง ทำโรงงานชา ทำโรงงานกาแฟ สารพัดอย่าง แต่คนรุ่นสามพ่อแม่นิยมส่งไปเรียนข้างนอก ออกไปเรียนรู้โลกกว้างซึ่งเอกรัฐคืออีกคนหนึ่งที่ได้ออกไปเรียนและทำงานข้างนอก

การที่ต้องกลับมาเหตุผลแรกคือจะต้องกลับมาดูแลพ่อแม่ ต้องกลับมาดูแลที่บ้าน เหตุผลที่สองคือเราอยู่กรุงเทพฯ เราทำงานเงินเดือนได้เยอะก็จริง แต่ว่ารายจ่ายเราก็สูงเหลือน้อยพอกลับมาอยู่บ้าน แรก ๆ เราอาจจะรู้สึกว่าเราไม่มีรายได้ แต่อย่างน้อยชาเราก็ปลูก ผลผลิตทุกอย่างเรามีเพราะรุ่นพ่อบุกเบิกไว้แล้ว เอกรัฐเป็นลูกชายคนโตด้วยก็ต้องกลับมาดูแลที่บ้าน ถามว่ากลัวไหมก็ต้องกลัวเพราะเงินเก็บในบัญชีมีนิดเดียว เราออกจากบ้านไปอยู่กรุงเทพฯ 6 ปี ก็เริ่มตั้งแต่พนักงานออฟฟิศ แล้วก็สุดท้ายก็ไปลองเปิดบริษัทขายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ กะว่ารับมาจากเมืองจีนแล้วมาขายส่งในเมืองไทย แต่ว่าปัญหาอย่างหนึ่งคือคุณภาพก็ตามราคา ความเสี่ยงมันสูงเกินไปก็ยอมทิ้ง แล้วก็กลับมาอยู่บ้าน เท่าที่เก็บที่กรุงเทพฯมา 6 ปี ทรัพย์สินส่วนตัวมีแค่ 2 อย่าง โน๊ตบุ๊ค 1 เครื่องกับทีวี 1 เครื่อง เอาตังค์กลับมาประมาณ 2 แสนกว่าบาท กลุ่มทั้งดอยแม่สลองทุกบ้านขายชาแล้วพ่อมีชื่อเสียงเป็นอาจารย์ชงชาผลิตชามันเป็นอาชีพหลักของเรา

กาแฟที่เรามองอยู่คือเราต้องการเป็นอาชีพเสริม เกิดจากเอกรัฐชอบไปถ่ายรูปที่หมู่บ้านอาข่า ตามเขาตามป่า ที่นี่เห็นชาวบ้านขายวัตถุดิบกาแฟ ก็มองเห็นมันน่าจะมีร้านกาแฟที่ช่วยชาวบ้าน ถ้าเรามีโอกาสเปิดร้านกาแฟสด โอกาสที่เราจะเติบโตเรามี ถ้ามีพ่อค้ารายใหญ่เราก็จะช่วยชาวบ้านได้ทุกคน พัฒนาการตอนแรกคิดว่าจะรับมา แล้วก็ไปคั่วที่โรงงานคนอื่นแล้วก็มาตีแบรนด์ตัวเองขาย คือขายในแบรนด์ดอยแม่สลอง แต่พอไปคั่วที่อื่น รสชาติแต่ละครั้งมันไม่เหมือนกัน พอลูกค้าซื้อไปรสชาติไม่เหมือนกันเลย ก็เลยต้องมาทำเองให้ได้ เรามาคั่วเอง เราชงขายเอง เราขายวัตถุดิบเมล็ดกาแฟเอง ซึ่งตรงนี้มันเป็นช่องทางนึงที่เราช่วยเหลือกลุ่มทั้งดอยแม่สลองได้ เพราะว่ากาแฟ ชาเราก็กำลังรวมกลุ่มเพราะว่า เราต้องการดึงนักท่องเที่ยวขึ้นมา

ทั้งรุ่นใหม่รุ่นเก่าทุกคนร่วมมือกันเพราะว่าถ้าไม่มีนักท่องเที่ยวมาทุกเจ้าก็ขายไม่ได้ ปัญหาคือเศรษฐกิจไม่ค่อยดี นักท่องเที่ยวไม่อยากมาเที่ยวถ้าไม่มีอะไรแรงดึงดูด ถ้าได้เที่ยวสวนกาแฟ ได้เที่ยวสวนชา ได้กินอาหารยูนนาน มาเที่ยววิถีชีวิตชาวบ้าน ได้มาชิมชาที่ดีที่สุดในประเทศไทย มาชิมกาแฟของดอยแม่สลอง ก็ดูว่าทิศทางจะไปทางไหนบ้าง ถ้าเกิดว่าเศรษฐกิจดีขึ้น วิถีชีวิตเราก็ดีขึ้น ถ้าผมขายได้เยอะขึ้น ผมก็จะรับซื้อชาวบ้านเยอะขึ้น ทุกคนก็จะขายได้มากขึ้น

ในกลุ่มเพื่อน ๆ รุ่นราวคราวเดียวกัน ตอนนี้ออกไปทำธุรกิจบางคนเขาไปหาช่องทางการตลาดข้างนอก เพราะว่าเราพูดภาษาจีนได้ บางคนส่งผลไม้ บางคนส่งอะไรต่าง ๆ ออกนอกประเทศได้ แต่ว่าก็ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังอยากจะกลับมาหรืออาจจะต้องกลับมาต้องดูแลพ่อแม่ ต้องมาต่อยอดที่ธุรกิจของที่บ้านอย่างนี้ มันก็จะกลายเป็นว่ากลับมาอยู่ร่วมกัน เราก็ต้องช่วยกันดึงนักท่องเที่ยวขึ้นมาบนดอยสร้างรายได้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ