ชีวิตนอกกรุง : โคขุนเกรดพรีเมียม อนาคตที่สดใสของโคบาลดอกคำใต้

ชีวิตนอกกรุง : โคขุนเกรดพรีเมียม อนาคตที่สดใสของโคบาลดอกคำใต้

โคขุนเกรดพรีเมียมจากสหกรณ์โคขุนดอกคำใต้ ผู้ผลิตเนื้อโคขุนที่มีทิศทางการตลาดที่น่าจับตา

“ตามสถิติความต้องการของภายในประเทศก็ไม่เพียงพออยู่แล้ว บริษัทที่รับซื้อบอกว่า ถ้าระดับเกรด 3 ขึ้นไป มีเท่าไรรับหมด”

นี่เป็นคำกล่าวของพี่ยะ สุริยะ ทองสา เกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุนเกรดพรีเมียม หนึ่งในกรรมการสหกรณ์โคขุนดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นเกษตรกรกลุ่มแรก ๆ ของจังหวัดที่ทดลองเลี้ยงโคเนื้อแบบยืนโรงเพื่อขุนให้มีลักษณะของไขมันแทรกหรือที่เรียกว่าโคขุนนั่นเอง

สุริยะ ทองสา หนึ่งในเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุน สหกรณ์โคขุนดอกคำใต้ จ.พะเยา

“ผมไปขึ้นทะเบียนเขาประกาศเปิดรับสมัครสมาชิกดอกคำใต้ ก็รีบไปเลย ขนาดรีบไปยังได้อันดับที่ 51 ไปเป็นสมาชิกเขา จากเอาวัวมา 4 ตัวมาเลี้ยง แฟนก็ไม่ชอบ แกว่าเหม็น เหม็นติดตัว ทำงานออฟฟิศกลิ่นพวกอาหารวัวขี้วัวติดตัวไปทำงานก็เหม็น เขาก็บอกว่าไม่ช่วยนะ ไม่เป็นไรผมเลี้ยง 4 ตัวคนเดียวก็ได้ พอมาถึงที่ฟาร์มผมแกก็จะนั่งดูผมเลี้ยง ผมก็ทำความสะอาดคอก ให้อาหารเรียบร้อย วันหลังมาก็เห็นแกจดค่าใช้จ่ายที่ผมเอามา ซื้ออะไรมาบ้างจะได้ช่วยจดให้ ผมก็เลยว่าจดก็ดีเหมือนกันนะ จะได้รู้ว่าเราลงทุนไปเท่าไร ชุดแรกผมก็เอาไปส่งก็ยังพูดกันว่าจะได้ตัวซักกี่บาทนะ 60,000 – 70,000 บาท ก็เต็มที่ละมั้ง คูณ 4 ตัว น่าจะได้ประมาณซัก 240,000 บาท ปรากฎว่า อีก 7 วันเขาก็โทรมาบอก เลี้ยงได้เกรดไขมันระดับ 3.5 2 ตัว ได้เกรดไขมันระดับ 3 2 ตัว รวมเป็นเงิน 380,000 โอ้โห รีบโทรบอกเมียผม รีบไปดูข้อมูลที่แกจดไว้ต่อเดือนว่าลงทุนไปเท่าไร เสียอะไรไปเท่าไร ปรากฏว่าได้กำไรเยอะ ตั้งแต่นั้นมา เดี๋ยวนี้จอดรถปุ๊บลงรถก่อนผม เอากระเป๋าแขวน เสื้อแขวน เข้าไปเลี้ยงวัว ทำความสะอาดขี้อย่างที่เห็น เราก็แซว อ้าว ไม่กลัวมันกลิ่นเหม็นแล้วเหรอ เหม็นช่างมันเถอะ เหม็นบนตึกเขาแซวเอานะเหม็นขี้วัวนะ เหม็นช่างมัน เหม็นได้เงินเอาเถอะ (หัวเราะ) ตั้งแต่นั้นมาแกก็เลยช่วยผมมาตลอด”

พี่ยะและภรรยาร่วมมือกันเลี้ยงโคขุนจากการทดลองเริ่มแรกเพียง 4 ตัว และผลตอบแทนที่ได้อยู่ในระดับที่ดีมาก

พี่ยะ สุริยะ ทองสา เป็นข้าราชการประจำในศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์พะเยา มีความชอบและใฝ่ผันอยากจะเลี้ยงวัวมาตั้งแต่เด็ก แต่การจะให้ไปเดินตามวัวแบบการเลี้ยงไล่ทุ่งในอดีตก็คงจะไม่เหมาะกับอาชีพประจำที่ทำอยู่ พอมีการรับสมัครสมาชิกสหกรณ์โคขุนดอกคำใต้ พี่ยะจึงไม่ลังเลที่จะเข้าร่วม เพื่อเตรียมอาชีพไว้สำรองยามเกษียณจากราชการ

“พอผมเกษียณอายุราชการไป ผมก็ต้องหาอาชีพ แต่ทีนี้เราควรจะเตรียมอาชีพที่เรารัก เราใช้เวลานอกราชการ สามารถที่จะมาเลี้ยงวัวแบบนี้ได้มั๊ย ทีแรกผมก็เริ่มเลี้ยง 4 ตัว มันก็พอไปได้ มันใช้เวลาไม่นาน ช่วงเช้าก่อนไปทำงานหรือช่วงเย็นหลังจากทำงาน ก็สามารถจะจัดการการเลี้ยงได้ ผมก็ค่อย ๆ ขยายมาเรื่อย ๆ ตอนนี้มีอยู่ 20 ห้อง”

มานิต อินต๊ะสาร ที่ปรึกษาและผู้ก่อตั้งสหกรณ์โคขุนดอกคำใต้

ทำไมการเลี้ยงโคขุนเกรดพรีเมียมจึงสามารถสร้างมูลค่าได้มากกว่าโคเนื้อโดยทั่วไป พี่ มานิต อินต๊ะสาร ที่ปรึกษาและผู้ก่อตั้งสหกรณ์โคขุนดอกคำใต้ เล่าให้ฟังว่า หากย้อนอดีตไปในยุคเริ่มแรกนั้น ชาวบ้านในพื้นที่นิยมเลี้ยงวัวแบบไล่ทุ่ง นั่นคือเช้ามาก็ต้องปล่อยวัวออกบ้าน พกอาหารแห้งที่สามารถกินได้ง่าย ๆ แล้วเดินตามวัวทั้งวัน ไม่สามารถจะทำภารกิจอย่างอื่นได้เลย และยังต้องระวังวัววิ่งเข้าสวนของเพื่อนบ้าน หากเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้พืชพันธุ์เสียหายนั่นหมายความว่าต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กันตามสมควร

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเห็นว่าเรายังทำไหว ก็ให้ไปศึกษาดูงาน ไปดูงานที่ยโสธร ทางนู้นเขาเลี้ยงวัวไม่เหมือนบ้านเรา แทนที่จะปล่อย เขาจำกัดพื้นที่การเลี้ยง อย่างวัวแม่พันธุ์เนี่ยเลี้ยง 10 ตัว ก็กักบริเวณตัดหญ้าให้กิน เอาอาหารให้ซึ่งประหยัดค่าใช้จ่าย ประหยัดแรงงาน เราเลี้ยงวัวฝูงเนี่ย ห่อข้าวเป็นน้ำก็ไม่ได้ ต้องห่อเป็นของแห้ง วัววิ่งไปก็กินตามทาง กลายเป็นว่าคนเลี้ยงผอม ตากแดดทั้งวันครับ หลังจากไปดูงาน ก็มาเปลี่ยนพฤติกรรมการเลี้ยง แทนที่จะปล่อยก็เปลี่ยนเป็นแบบกักบริเวณ จำกัดพื้นที่การเลี้ยง”

แรกเริ่มจากการปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงเป็นการเลี้ยงแบบจำกัดพื้นที่ ทางสหกรณ์เลี้ยงเพื่อส่งขายให้กับเครือข่ายของสหกรณ์โคขุนโพนยางคำ แต่ด้วยอุปสรรคด้านระยะทางที่ค่อนข้างไกล จึงเริ่มมีแนวคิดในการสร้างโรงแปรรูปขึ้นมาเป็นเป็นของตัวเอง

โรงงานแปรรูปเนื้อโคขุนของสหกรณ์โคขุนดอกคำใต้

“เราก็ตั้งสหกรณ์เมื่อวันที่ 5 กพ. 2557 ตั้งขึ้นมาปุ๊บก็สร้างโรงแปรรูปมาชำแหละเอง แปรรูปเอง ส่งเอง ตอนนี้ก็มีสมาชิกอยู่ประมาณ 498 ราย ก็ขับเคลื่อนโดยเลี้ยงส่งมาที่สหกรณ์เรา เราจะทำ 2 อย่าง 1.ขายเองที่ในพื้นที่ 2.ส่งเป็นซากเข้าตลาด ก็เป็นลักษณะแบบนี้มาอยู่หลายปีแล้วครับ ก็ปรากฏว่าสามารถขับเคลื่อนได้”

ปัจจุบัน สหกรณ์โคขุนดอกคำใต้มีสมาชิกที่ขึ้นทะเบียนอยู่กว่า 400 คน กระจายตัวใน 9 อำเภอของจังหวัดพะเยา โดยข้อมูลในปีบัญชี พ.ศ.2561 มีจำนวนโคขุนรวม 246 ตัว  มูลค่ากว่า 21 ล้านบาท ในขณะที่โรงแปรรูปของสหกรณ์นั้น มีศักยภาพรับโคขุนเข้าแปรรูปได้ถึงเดือนละ 50 ตัว เฉลี่ย 600 ตัวต่อปี ดังนั้นจากความต้องการผลิตโคขุนคุณภาพของภาคเหนือและประเทศไทยที่มากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงการเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดการค้าเสรีอาเซียนที่จะถึงนี้ ทำให้ในปีบัญชี พ.ศ.2562 เป็นต้นไป สหกรณ์โคขุนดอกคำใต้จึงได้มีการวางแผนเพื่อผลิตโคขุนเกรดคุณภาพมากขึ้น

ระบบการแปรรูปที่สะอาดและทันสมัยของโรงงานแปรรูปเนื้อโคขุนของสหกรณ์โคขุนดอกคำใต้

“เป้าหมายของเราคือการส่งออกคือ 1.เราจะเริ่มจะสร้างจากมาตรฐานการเลี้ยง คือมาตรฐานฟาร์ม เป็นGMP และทำมาตรฐานส่งออก ตอนนี้ผมทำวิจัยกับมหาวิทยาลัยพะเยาจะทำโครงการสหกรณ์โคขุนดอกคำใต้แบบครบวงจร เริ่มตั้งแต่ เริ่มผลิตแม่พันธุ์ เลี้ยงกลางน้ำ ปลายน้ำ แล้วทำระบบโปรแกรมตรวจสอบการเลี้ยง และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่า เนื้อชิ้นนึงคุณไปกินเนี่ย ใครเป็นคนเลี้ยง เลี้ยงที่ฟาร์มไหน มีคุณภาพขนาดไหน สามารถตรวจสอบได้นะครับ แล้วเราอยากจะให้เป้าหมายของสหกรณ์คืออยากให้ผู้บริโภคในเขตพื้นที่ภาคเหนือเนี่ย อย่างเข้าไปที่อิสานต้องคิดถึงโพนยางคำ ถ้าเข้ามาทางเหนือต้องคิดถึงดอกคำใต้ เราอยากให้เป็นอย่างนี้ คือเนื้อเนี่ยเป็นเนื้อคุณภาพตรวจสอบได้ ไม่มีสารเร่งเนื้อแดง ไม่มีสารก่อมะเร็ง ไม่มีกลิ่น เป็นเนื้อที่มีคุณภาพครับ เป้าหมายของสหกรณ์เป็นอย่างนี้ครับ”

เกษตรกรสหกรณ์โคขุนดอกคำใต้ใช้เทคนิคการลดต้นทุนด้านอาหารด้วยงานวิจัยของมหาวิทยาลัยพะเยา

อีกแนวทางหนึ่งที่การเลี้ยงโคขุนของสหกรณ์โคขุนดอกคำใต้ประสบความสำเร็จในด้านผลกำไรนั้น มาจากการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยพะเยาในการพยายามลดต้นทุนด้านอาหารโดยใช้จุลินทรีย์ที่มหาวิทยาลัยวิจัยขึ้นมา ผสมกับวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น เปลือกและซังข้าวโพด ฟักทองตกเกรด หรือแม้แต่เปลือกทุเรียนที่ถูกทิ้ง ล้วนแล้วแต่สามารถนำมาหมักให้กลายเป็นอาหารเลี้ยงโคขุนโปรตีนสูงเทียบเท่ากับอาหารเม็ดสำเร็จรูป แต่มีต้นทุนราคาที่ต่ำกว่ามาก

“คือความเข้าใจของเกษตรกรโดยทั่วไปแล้วคิดว่า วัวนี่จะกินแต่หญ้าอย่างเดียว มันไม่ใช่ครับ วัวเนี่ย สามารถกินอาหารที่เรามีในท้องถิ่นได้หลายอย่าง อย่างรำนี่ก็กินได้ เปลือกกล้วยนี่ก็กินได้ ฟักทองนี่ก็กินได้ เป็นฟางก็หมักได้ครับ เปลือกข้าวโพดที่เป็นอาหารหยาบนี่ก็สามารถนำมาให้วัว วัวชอบด้วยครับ คือต้องทำความเข้าใจว่าวัสดุที่วัวกินได้เนี่ยมีเยอะแยะมากมายเลย” พี่ยะ สุริยะ ทองสา กล่าว

“ฟักทอง เราซื้อมากิโลกรัมละ 2 บาท แล้วก็มีถังหมักที่มีฝาปิดได้สนิท พอได้ฟักทองมาเราก็สับลงถัง สับเป็นชิ้นใหญ่ ชิ้นหยาบ ๆ พอผ่านกระบวนการหมักได้ประมาณ 5 วัน หรือ 7 วัน ฟักทองตัวนี้ก็จะเปื่อยยุ่ย ฟักทองเป็นอาหารพลังงาน เป็นแป้งสามารถอัพโปรตีนได้นะครับ พอผ่านกระบวนการหมักเขาก็จะมีโปรตีนขึ้นมาประมาณ 13-15% ซึ่ง 13-15% ถ้าเทียบกับอาหารสำเร็จรูปในท้องตลาดกิโลกรัมละ 9 บาท แต่ของเราลงทุนแค่ 3 บาท ก็ทำให้เกษตรกรเนี่ยลดต้นทุนได้เยอะเหมือนกัน เสร็จแล้วเราก็ใช้ตัวจุลินทรีย์โรยทับแค่นั้นเองครับ ไม่ต้องไปคลุกเคล้าไม่ต้องเติมน้ำ วัตถุดิบที่มีน้ำเยอะอยู่แล้วอย่างฟักทองเราไม่ต้องผสมน้ำเข้าไปครับ โรยจุลินทรีย์เข้าไปแค่นั้นเองจะเป็นกระบวนการที่เรียบร้อยแล้วครับ 1 ถัง ก็ใช้ประมาณครึ่งซองก็พอละ เพราะจุลินทรีย์ตัวนี้เขาจะขยายตัวเอง หลังจากหมักเสร็จแล้ว 7 วัน เริ่มตักกินได้เลย ฟักทองหมักสามารถเก็บได้นานถึง 6 เดือนครับ”

ภาพตัวอย่างการแบ่งเกรดเนื้อโคขุนในประเทศไทย

เมื่อต้นทุนการเลี้ยงถูกลงผนวกกับวิธีการเลี้ยงที่เหมาะสม ทำให้โคขุนเกรดพรีเมียมของสหกรณ์โคขุนดอกคำใต้ สามารถทำเกรดไขมันแทรกได้ในระดับ 3 ขึ้นไป ซึ่งสูงสุดตามมาตราฐานคือระดับ 5 ทำให้เนื้อโคขุนของสหกรณ์โคขุนดอกคำใต้มียอดการจองล่วงหน้าตั้งแต่ยังไม่มีการแปรรูปด้วยซ้ำ นั่นทำให้ตลาดเนื้อโคขุนเกรดพรีเมียมของที่นี่ยังคงโตไปได้อีกไกล

พี่ยะชี้ให้ดูสูตรอาหารที่ผสมตามสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อให้โคขุนมีชั้นไขมันแทรกตามเกรดที่ต้องการ

“ตามสถิติความต้องการของภายในประเทศก็ไม่เพียงพออยู่แล้ว เรามาดูง่าย ๆ จากบริษัทที่รับซื้อจากสหกรณ์โคขุนดอกตำใต้เนี่ย บริษัทที่รับซื้อบอกว่า ถ้าระดับเกรด 3 ขึ้นไป มีเท่าไรรับหมด ก็แสดงว่าปลายทางของโคขุนเกรดไขมันพรีเมียมเนี่ย ปลายทางมีผู้บริโภคมากกว่า เยอะด้วยนะครับ ตามสถิติแล้วไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศอยู่แล้ว ทุกวันนี้นะครับ”

แม้ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2564 ข้อตกลง FTA หรือ การค้าเสรีระหว่างไทยกับออสเตรเลีย จะทำให้อัตราภาษีของเนื้อโคที่นำเข้าจากออสเตรเลีย เหลือ 0% ซึ่งจะทำให้ราคาเนื้อโคทั่วไปหรือที่เรียกว่าเนื้อแดงกับเนื้อนำเข้าจากออสเตรเลียมีราคาใกล้เคียงกันมาก แต่ด้วยการเลือกที่จะเลี้ยงโคขุนแบบเกรดพรีเมียมของเกษตรกรจากสหกรณ์โคขุนดอกคำใต้ทำให้ตลาดของโคขุนแบบพรีเมียมนี้ไม่ได้รับผลกระทบจากข้อตกลงนี้ ซึ่ง รศ.ดร.โชค โสรัจกุล อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา ก็ได้ให้ข้อคิดและข้อสังเกตต่อเรื่องนี้เช่นกัน

รศ.ดร.โชค โสรัจกุล อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา

ทางออสเตรเลียเองเนี่ย เขาอาจจะทำได้ยากเพราะว่าการเลี้ยงแบบเข้มหรือแบบ intensive ที่เราเรียกภาษาอังกฤษ มันต้องใช้แรงงานแล้วก็ต้องใช้เวลาพอสมควร ซึ่งในออสเตรเลียฟาร์มแต่ละฟาร์มเขามีแรงงานแค่ 2 คน แล้วเขามีวัวเป็นพันเนี่ยเค้าจะมาทำแบบนี้ ค่อนข้างยากนะครับ เขาอาจจะทำได้บ้างแต่ว่าเขาก็มีตลาดเฉพาะเจาะจง เขาไม่ได้มาตีตลาดบ้านเรามากในเนื้อพรีเมียมเนี่ยนะครับ อันนี้คือข้อได้เปรียบที่ผมมองเห็น”

สมาชิกสหกรณ์โคขุนดอกคำใต้บางส่วน ที่ลงมือเลี้ยงโคขุนจนประสบความสำเร็จทางธุรกิจ

นี่คือตัวอย่างของเกษตรกรจากสหกรณ์โคขุนดอกคำใต้ ที่วางแผนปรับตัวเองจากการเลี้ยงโคเนื้อทั่วไปหรือการเลี้ยงวัวแบบไล่ทุ่ง มาสู่การเลี้ยงแบบจำกัดพื้นที่เพื่อให้ได้โคขุนเกรดพรีเมียม อีกทั้งยังนำงานวิจัยมาลดต้นทุนด้านอาหาร ทำให้ทิศทางโคขุนดอกคำใต้นั้นมีอนาคตที่สดใสรออยู่ โดยไม่ต้องกังวลกับข้อตกลงการค้าเสรีที่ใกล้จะมาถึง พวกเขาคาดการณ์สถานการณ์ตลาดของเนื้อโคอย่างเป็นระบบและมีแบบแผน จนสามารถปรับตัวเองให้อยู่รอดท่ามกลางกระแสโลกได้อย่างลงตัว

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ