เที่ยงวันกลางแดดร้อนระอุในตัวเมืองเชียงใหม่ ผมนั่งดื่มกาแฟริมทาง มองดูการใช้ชีวิตของผู้คนบนท้องถนน สายตาก็บังเอิญเห็นกลุ่มคนสวมชุดฟอร์มสีคุ้นตาพร้อมกระเป๋าใบใหญ่ท้ายรถจักรยานยนต์คู่ใจ วิ่งวุ่นส่งอาหารทั่วทั้งเมืองในช่วงเวลาแห่งความหิว พลันก็ฉุกคิดสงสัยว่า บริการดิลิเวอรีในเชียงใหม่ จะมีบริการเจ้าไหนที่เป็นของคนท้องถิ่นบ้าง ด้วยความไวของนิ้วมือที่สั่งการโดยสมองอย่างรวดเร็ว ผมกดหน้าจอโทรศัพท์มือถือเพื่อค้นหาข้อมูลดิลิเวอรีท้องถิ่นของจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้พบกับข้อมูลที่น่าสนใจมากมาย และนี่คือจุดเริ่มต้นของผมในการไปพบกับพวกเขาชาว “เดลิเวอรีท้องถิ่น”
ธุรกิจที่ตั้งใจช่วยชุมชนให้ก้าวต่อไป
หลังพ้นช่วง Lock Down จากสถานการณ์ COVID-19 มาไม่นาน พื้นที่บริเวณชุมชนล่ามช้าง จุดเริ่มต้นของการท่องเที่ยวในยุคแรกเริ่มของเมืองเชียงใหม่ที่เต็มไปด้วยเหล่านักท่องเที่ยวจากหลายชนชาติทั่วโลก กลับต้องพบกับความเงียบเหงา เพราะนโยบายที่ยังไม่เปิดรับชาวต่างชาติเข้ามา แน่นอนว่าธุรกิจด้านการท่องเที่ยวล้วนแต่ได้รับผลกระทบกันอย่างหนัก สิ่งที่พอจะช่วยให้พวกเขาก้าวต่อได้ คือการพยายามปรับตัวเองในหลากหลายรูปแบบ รวมถึงการค้าบนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะการขายอาหารผ่านแพลตฟอร์มบริการรับส่งอาหาร แต่ข้อจำกัดด้านค่าบริการที่ค่อนข้างสูง ทำให้หลายคนไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นได้
Locall.chiangmai แฟลตฟอร์มที่ยกโมเดลความสำเร็จมาจาก Locall.BKK หรือ ชื่อในปัจจุบันคือ Locall Thailand มาปรับใช้กับเมืองเชียงใหม่ โดยมีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือร้านค้าท้องถิ่นให้สามารถเดินต่อได้ โดยไม่ต้องปวดหัวกับค่าบริการจากแฟลตฟอร์มอื่น ผมสนใจในแนวคิดนี้ และได้มีโอกาสพูดคุยกับ แป้ง อาคิรา ศิริวัฒนานุกุล สถาปนิกรุ่นใหม่ ผู้ใส่ใจกับความเป็นไปของเมืองและผู้คน เธอเล่าให้ฟังถึงสาเหตุว่าทำไมถึงเลือกหยิบแฟลตฟอร์มนี้มาใช้
“เราก็เห็นสิ่งที่เพื่อนทำอยู่แล้วเราก็คิดว่า มันเป็นอะไรที่เอามาปรับใช้กับเชียงใหม่ได้ ก็เลยลองติดต่อดูว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะเอามาทำที่นี่ ซึ่งเค้าก็ให้ความร่วมมือช่วยเหลือเป็นอย่างดี เชียงใหม่จะต่างกับของกรุงเทพนิดหน่อย ตรงที่ว่ากรุงเทพมีพื้นที่ตั้งแน่ชัดอยู่แล้ว ส่วนของเราไม่มี เรามีแต่ใจที่อยากทำ เพราะฉะนั้นเราก็พยายามตามหาพื้นที่ที่มันจะทำสิ่งนี้ได้ ก็มาเจอกับ thunder bird hostel ก็คือพี่ฟ้า ซึ่งพี่ฟ้าเองก็เอาของสิ่งของ อาหาร มาขายออนไลน์ให้กับคนอื่นอยู่แล้ว เราก็คิดว่าด้วยแนวคิดนี้มันตรงกัน”
ฟ้า ณัฐวดี ยืนธรรม เจ้าของกิจการโรงแรมขนาดเล็กย่านชุมชนล่ามช้าง เป็นอีกหนึ่งกิจการที่ได้รับผลกระทบในช่วงที่ผ่านมา นอกจากจะต้องปรับกิจการของตนเองมาขายอาหารออนไลน์ สิ่งที่ฟ้าทำควบคู่ไปด้วยคือชักชวนผู้ประกอบการในย่านมาฝากขายอาหารผ่านหน้าร้านของฟ้า เพื่อลดข้อจำกัดของพวกเขา
“ตอนแรกก็ทำ hostel ค่ะ แล้วก็มีร้านอาหาร ร้านกาแฟ อยู่ข้างในบริเวณ hostel แต่ว่าพอเกิดโควิด ลูกค้าก็หายหมดเลย รายได้เดียวของเราก็คือร้านอาหาร พอดีว่าเราอยู่ในระบบแอพพลิเคชั่นอยู่แล้วเราคิดว่าเราลงได้ก่อน ชาวบ้านเขาไม่ทัน เราก็เลยไปชวนเขามา เข้ากับของน้อง เดี๋ยวได้เท่าไร ป้าก็เอาไปนะ หลังจากนั้น แป้งคงเห็นว่ามีความคิดไปในทางเดียวกัน ก็เลยชวนมาทำ locall ค่ะ”
Locall.chiangmai มีจุดเด่นในเรื่องของการสั่งอาหารจากร้านค้าท้องถิ่นรวมกันครั้งเดียวหลายร้านได้ และที่สำคัญไม่มีการหักค่าบริการจากร้านค้า เพราะต้องการให้ร้านค้าท้องถิ่นได้รับค่าอาหารตามสัดส่วนที่ควรจะได้ ด้วยความหวังว่าพวกเขาจะสามารถฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่แบบนี้ได้
ธุรกิจแนวใหม่ มองหาคู่ค้า ไม่ใช่คู่แข่ง
เชียงใหม่ไม่ได้มีเพียงบริการดิลิเวอรีส่งอาหารเท่านั้น Busy Rabbit คืออีกหนึ่งบริการที่ผมมีโอกาสได้พูดคุยด้วย เป็นบริการรับส่งของตามสั่ง ไม่ว่าจะชิ้นเล็กชิ้นใหญ่ แม้แต่การจองคิวร้านอาหารหรือถึงขั้นช่วยส่งดอกไม้เพื่อง้อแฟน พวกเขาก็ยินดีบริการทั้งสิ้น แนวทางการบริการนี้ เกิดขึ้นจากแนวคิดของ โสภณ ศุภมั่งมี คนรุ่นใหม่ไฟแรง อดีตโปรแกรมเมอร์จากบริษัทซอฟท์แวร์ยักษ์ใหญ่ระดับโลก ผู้เป็นทั้งเจ้าของสตาร์ทอัพหลายแห่งและยังเป็นนักเขียนมือฉมังอีกด้วย เขาเลือกกลับมาบ้านเกิดเพราะต้องการกลับมาดูแลแม่ และมีโอกาสได้ทดลองทำงานส่งของเอง จนเกิดไอเดียในการสร้างแพลตฟอร์มบริการรับส่งของที่ทุกฝ่ายได้รับความคุ้มค่าและเป็นธรรมไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการอย่างคนส่งของหรือลูกค้าก็ตาม
“ก่อนที่จะทำบริการรับส่งของ ผมไม่รู้เลยว่าอาชีพนี้มันลำบากขนาดไหน จนได้มาทำมาสัมผัส เรารู้ว่าแต่ละบาทที่ได้มามันค่อนข้างที่จะลำบาก อีกอย่างคือมันเป็นอาชีพที่คนจะดูถูกค่อนข้างง่าย เพราะดูเหมือนเป็นอาชีพที่ทำง่าย ๆ ไม่ต้องใช้วิชาชีพอะไร แค่ขับรถได้จบ แต่ที่จริงแล้วมันไม่ใช่ ที่จริงมันมีงานบริการที่แบบแฝงลึกเข้าไปในนั้นอีก ต้องมีทั้งการดูแลลูกค้า การบริการ การควบคุมอารมณ์ ความอดทน หลาย ๆ อย่างเราไม่เคยรู้เลยว่า อาชีพนี้เป็นอาชีพที่ค่อนข้างหนักมาก ๆ เพราะฉะนั้นเนี่ยผมก็เลยคิดว่า ถ้าคนที่ทำงานกับเรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้เนี่ย เราก็ควรจะทำ นั่นเป็นสาเหตุที่ผมคิดค่าบริการแพงกว่าเจ้าอื่น แต่ก็แลกด้วยความใส่ใจมอบกลับไปให้ลูกค้ามากกว่าด้วย”
หมวย นวพร โพธิ์มาก คือพนักงานขับรถรับส่งของให้กับ Busy Rabbit มากว่า 1 ปีแล้วครับ เป็นคนกรุงเทพโดยกำเนิด ย้ายตามครอบครัวมาอยู่เชียงใหม่กว่า 19 ปีแล้ว ก่อนหน้านี้เคยทำงานในนิคมอุตสาหกรรมมาก่อน และเลือกมาขับรถส่งของให้ที่นี่ ด้วยเหตุผลด้านสวัสดิการและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าที่อื่น
“ของต่างชาติเนี่ยคือเค้ามีคนเยอะอยู่แล้ว เราก็เลยรู้สึกว่าแฟลตฟอร์มท้องถิ่นเนี่ย มันใกล้ชิดกับเรามากกว่า คนทำงานก็คนไทยด้วยกันก็น่าจะคุยอะไรกันง่าย ผลตอบแทนที่ได้ก็อยู่ในระดับที่ค่อนข้างดีเลยทีเดียว ในเรื่องสวัสดิการก็จะเป็นสวัสดิการของคนทั่วไปก็ ประกันสังคม ประกันอุบัติเหตุ ทางบริษัทเขาก็ทำให้”
“มันคือการทำงานด้วยกันแหละ มีปัญหาอะไรมาพูดกัน นี่คือสิ่งที่เราสามารถที่จะให้กับพนักงานของเราได้ อย่างเช่น ลูกผมไม่สบาย ผมขอหยุดซัก 2-3 วันได้ไหม อะไรแบบนี้ คือมันเป็นในรูปแบบของบริษัทที่ทำงานจริงๆ แต่ถ้าอยู่ในบริษัทใหญ่หรือของ partner อื่น เขาไม่รู้หรอกว่าไม่สบายป่วยไข้ ไม่มีใครสนใจ”
การดำเนินธุรกิจของโสภณ เลือกแนวคิดที่จะมองหาเพื่อนร่วมงานหรือเพื่อนร่วมอาชีพมาทำงานร่วมกัน มากกว่าจะอัดโปรโมชั่นเพื่อแข่งการบริการกับผู้ให้บริการเจ้าอื่น ๆ ผมสังเกตจากวันที่เราพูดคุยกัน โสภณกำลังชักชวนผู้ให้บริการเจ้าอื่นในประเภทเดียวมารับงานต่อจากเขาด้วย โสภณบอกกับผมว่า ทุกวันนี้มีแพลตฟอร์มใหม่เกิดขึ้นมามากมาย แต่การจะแข่งขันกันเพื่อสู้กับรายใหญ่ยิ่งจะทำให้เกิดปัญหากับตัวผู้ให้บริการรายนั้นเอง
“ อาจจะเป็นมุมมองของผมเอง ผมรู้สึกว่าข้อดีคือมีการตื่นตัวของธุรกิจที่อยู่ในเมืองไทยเอง หรือคนที่อยู่ในท้องถิ่นเองเห็นโอกาส เพราะว่าแฟลตฟอร์มต่างชาติหรือว่าเจ้าใหญ่ก็ไม่ได้ดีทุกอย่าง แต่ว่าแฟลตฟอร์มที่เกิดมาเป็นดอกเห็ดก็ไม่ได้หมายความว่าจะมาสู้กับเขาได้ เพราะถ้าเราจะไปแข่งเรื่องราคากับเขา หรือจะไปแข่งเรื่องแค่ว่าเอาหลายร้านมารวมกัน ไม่มีคอมมิชชั่นนู่นนั่นนี้เนี่ยครับ มันกลายเป็นว่ามันไม่มีจุดดึงดูดที่มากพอ เหมือนคล้ายกับว่าดันด้วยตนเองโดยที่ไม่มีเครือข่ายไม่มีคนมาช่วย กลายเป็นว่ามาแข่งกันเอง ไม่ได้มีการมารวมตัวกัน ไม่ได้มีการมาแบบ เฮ้ย เรามาทำตรงนี้ด้วยกันไหม เหมือนต่างคนต่างทำ “
การรวมกลุ่ม รวมเครือข่ายคนให้บริการดิลิเวอรีท้องถิ่นเข้าไว้ด้วยกัน ดูจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับคนท้องถิ่นด้วยกัน เพื่อต่อสู้กับคู่แข่งรายใหญ่หรือกลุ่มทุนใหญ่ ด้วยศักยภาพและข้อแตกต่างอันเป็นเอกลักษณ์ของคนท้องถิ่น น่าจะช่วยให้เกิดความน่าสนใจและเป็นตัวเลือกที่ดีให้กับท้องถิ่น
ธุรกิจที่ชวนชาวบ้านขายผักบนโลกออนไลน์
“ ผมสอนให้ชาวบ้าน ถ่ายรูป ถ่ายคลิปวิดีโอ แล้วส่งมาให้แอดมินช่วยโพสต์ขายให้ ”
วีระชัย ไชยมงคล หรือกำนันโหน่ง กำนันตำบลป่าแดด อ. เมือง จ. เชียงใหม่ เล่าให้ผมฟังถึงแนวคิดในการนำเอาวิถีของชาวบ้านที่ปลูกผักสวนครัวหลังบ้านมาปรับขายบนโลกออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์ม Food Chiang Mai ซึ่งกำนันรวบรวมกลุ่มชาวตำบลป่าแดดมาร่วมกันทำเพื่อเป็นช่องทางในการกระจายรายได้ให้กับพี่น้องชาวตำบลป่าแดดด้วยกันเอง
“เราไม่ได้ทำมาเพื่อจะมาแข่งขันกับแบรนด์ต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้ว แต่เพียงเรามาอุดช่องโหว่ หมายความว่า กรณีชาวบ้านที่มีเงินทุนแค่ 5,000 บาท ก็สามารถจะทำอาหาร ทำกับข้าว ปลูกผัก ปลูกสวนครัวอยู่หลังบ้าน และสามารถจะแบ่งปันทำอาหารในครัวเรือนของเขา แล้วก็สามารถจะขายได้ ให้เป็นรายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ อันนี้คือเป้าหมายของเรา ชุมชนของผม เดี๋ยวนี้มันเป็นกึ่งเมืองกึ่งชนบท การออกบ้านไปซื้อของบางทีก็ไกล รถก็ติด เพียงแค่ท่านดูในกลุ่มไลน์ ดูในเพจของผม ท่านก็สามารถจะซื้อของสดเลยตรงจากสวน “
ร้านอาหารตามสั่งในชุมชนคือเป้าหมายแรกที่กำนันโหน่งวางไว้ให้เป็นร้านค้าแรก ๆ ในแพลตฟอร์ม เพราะต้องการให้คนกลุ่มนี้มีรายได้เพิ่มขึ้น จากการว่างเว้นช่วง Lock down ในสถานการณ์ COVID-19 ที่ผ่านมา กำนันบอกว่า เมื่อคนกลุ่มนี้มีรายได้ที่มากขึ้น ก็ย่อมต้องการวัตถุดิบในการมาปรุงอาหาร ถึงตอนนี้ ผักหลังบ้านที่กำนันชวนชาวบ้านปลูกไว้ ก็จะเริ่มมีช่องทางขายมากขึ้นตาม
“พอร้านอาหารตามสั่งเหล่านี้ เริ่มมีลูกค้าเริ่มค้าขายได้ เขาก็ต้องการวัตถุดิบใช่ไหมครับ ถ้าสมมุติเขาสั่งผัดผักรวมเขาก็ต้องถามกลับมาว่าตอนนี้ขายดีขึ้นละนะกำนัน แล้วผักเนี่ยจะให้ไปซื้อที่ไหน เราก็จะมาบอกชาวบ้านเราที่ปลูกผักหลังบ้าน เอาไปส่งให้ร้านอาหารตามสั่ง เนี่ยสอดคล้องกันเป็นลูกโซ่วนกันไป อันนี้คือสิ่งที่เรามุ่งหวังในชุมชนเราที่มันจะก่อเกิดขึ้นได้”
ทีมงานในแพลตฟอร์มที่กำนันโหน่งชักชวนมาก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ล้วนแต่เป็นคนในชุมชนทั้งสิ้น คนประสานงานหรือแอดมินก็จ้างงานคนพิการในชุมชน หรือผู้ช่วยงานที่ดึงคนไร้บ้านเข้ามาดูแล คนขับรถรับส่งของก็เป็นลูกหลานชาวตำบลป่าแดดทั้งหมด ทั้งนี้เพื่อให้ธุรกิจนี้สร้างรายได้หมุนเวียนในชุมชนอย่างยั่งยืน
“ทีมงานของเรา เราใช้ชาวบ้านของเราทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องทำงาน 8 โมงเช้า ถึง 5 โมงเย็น ใช้เวลาช่วงไหนก็ได้ ชุดเราก็ซื้อให้ ลงทุนให้ก่อน น้องแอดมินก็เป็นคนพิการซึ่งมีความตั้งใจ เรียนจบปริญญาตรีแล้วนะ รายได้น้องก็มาจากค่าเปอร์เซ็นต์อาหารนี่แหละ น้องข้างหลังนี่ก็คนไร้บ้านที่เราช่วยดูแล ทั้งหมดนี้คือชุมชนทั้งหมดเลย เอาความผูกพันเป็นหลัก เนี่ยครับมันถึงจะอยู่ได้และยั่งยืน”
แม้ธุรกิจนี้จะเพิ่งเริ่มต้น แต่โมเดลแนวคิดแบบนี้ค่อนข้างน่าสนใจ สามารถจะต่อยอดนำไปปรับใช้กับพื้นที่อื่น ๆ ได้ทั่วประเทศเลยทีเดียว เพราะถือเป็นหลักคิดในการพึ่งพาตัวเองของสังคมบ้านเราให้สามารถลดการพึ่งพาวัตถุดิบที่มาจากนอกชุมชนได้มากเลยล่ะครับ
จากการพูดคุยกับทั้ง 3 โมเดลธุรกิจดิลิเวอรีท้องถิ่น ผมเริ่มมองเห็นทิศทางความเคลื่อนไหวของคนท้องถิ่นชัดเจนขึ้น นี่คืออนาคตของท้องถิ่นที่ไม่ได้หยุดอยู่กับที่ หรือรอการชี้นำจากหน่วยงานภาครัฐส่วนกลาง พวกเขาพร้อมก้าวไปกับโลกที่หมุนไปข้างหน้าด้วยตนเอง เพราะโลกไม่เคยหยุดหมุน