กอ.รส.แจงดำเนินคดีคนชูป้าย นักวิชาการโต้ทหารจุ้นเวทีวิชาการ

กอ.รส.แจงดำเนินคดีคนชูป้าย นักวิชาการโต้ทหารจุ้นเวทีวิชาการ

กอ.รส.ร่อนหนังสือ ชี้แจงดำเนินคดีคนชูป้ายไม่เกี่ยวการจัดงานประชุมไทยศึกษา ระบุกลุ่มบุคคลเตรียมการเข้ามาในงานเพื่อชูป้าย “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ขณะที่นักวิชาการโต้กลับ กลุ่มทหารเข้ามาสอดแนมวุ่นวายงานวิชาการนานาชาติที่ต้องลงทะเบียนล่วงหน้าจนผู้ร่วมสัมนาอึดอัด หาวิธีเขียนป้ายบอกแบบสุภาพให้ยุติพฤติกรรม

ความคืบหน้ากรณี อ.ดร. ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และนักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้ถูกกล่าวหาในคดีชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากคสช. ประกอบด้วย นายธีรพล บัวงาม นายนลธวัช มะชัย นายชัยพงษ์ สำเนียง และน.ส.ภควดี วีระภาสพงษ์ ไปรับทราบข้อกล่าวหาจากพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจภูธรช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เวลา 13.00 น.วานนี้ (21 ส.ค.2560) โดยระบุเหตุที่นำมาสู่การตั้งข้อกล่าวหา คือ เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2560 ผู้ต้องหาได้ร่วมกันติดแผ่นป้ายมีข้อความ “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” ที่ฝาผนังห้องประชุม และถ่ายภาพกับแผ่นป้าย ซึ่งเป็นการแสดงความเห็นเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านทางการเมือง ประชาชนทั่วไปผ่านมาพบเห็นโดยง่าย และอาจนำไปเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต เพื่อให้กลุ่มบุคคลที่ต่อต้านรัฐบาลรับรู้รับทราบ เป็นการต่อต้าน ยุยง ปลุกปั่น หรือปลุกระดมทางการเมือง อาจก่อให้เกิดกระแสต่อต้านรัฐบาลในเชิงลบ ซึ่งทั้ง 5 คน ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยจะยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรและนัดมาพบพนักงานสอบสวนอีกครั้งวันที่ 1 ก.ย. 2560

ในช่วงค่ำวันเดียวกัน เวลา 21.00 น. กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงใหม่ ได้ออกหนังสือชี้แจงว่าไม่ได้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้จัดงานประชุมไทยศึกษา แต่เนื่องจากมีกลุ่มบุคคลเข้ามาภายในงานและชูป้ายซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ทางการเมือง รายละเอียด ดังนี้

“ตามที่ได้มีการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ ไทยศึกษา ครั้งที่ 13 ที่ได้ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 15-18 กรกฎาคม 2560 ณ ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และต่อมาได้มีการเผยแพร่ทางสื่อต่างๆ ว่า กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้เกี่ยวข้องในการจัดกิจกรรมประชุมวิชาการนานาชาติฯ ดังกล่าว

ทั้งนี้กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงใหม่ ขอชี้แจงข้อเท็จจริงดังนี้

1. กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จังหวัดเชียงใหม่ ได้ให้ความสำคัญการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ ไทยศึกษา ครั้งที่ 13 รวมถึงการจัดกิจกรรมทางวิชาการอื่นๆ ของนักวิชาการ เพราะเป็นการดำเนินการที่เกิดประโยชน์ นำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้ ในหลายๆ ด้านอันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศชาติต่อไป รวมทั้งยินดีสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการต่างๆ และไม่ได้มีการแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้เกี่ยวข้อง กรณีการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา ครั้งที่ 13 แต่อย่างใด

2. ในระหว่างการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ ไทยศึกษานั้น เมื่อวันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม 2560 เวลา 15.00 นาฬิกา ได้ปรากฏกลุ่มบุคคลเข้ามาภายในงานการจัดงานประชุมและได้มีการแสดงชูป้ายที่บริเวณหน้าห้องประชุม 2 ข้อความว่า “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ ค่ายทหาร” ซึ่งกลุ่มบุคคลกลุ่มนี้ ได้มีการจัดเตรียมแผ่นป้าย อุปกรณ์ เครื่องมือในการเผยแพร่ทางสื่อต่างๆ หลังจากนั้นได้มีการนำมาติดบริเวณหน้าห้องประชุม หมุนเวียนกันเข้าไปถ่ายภาพกับป้ายข้อความ “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ ค่ายทหาร” และนำไปลงเผยแพร่สื่อต่างๆ โดยการดำเนินการของกลุ่มบุคคลดังกล่าว เป็นการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ ทางการเมือง ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ ไทยศึกษา ครั้งที่ 13 แต่อย่างใด ซึ่งหน่วยงานด้านความมั่นคงได้ร้องขอกับกลุ่มบุคคลดังกล่าวให้ยุติการดำเนินการ ณ จุดนั้น แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ

กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จังหวัดเชียงใหม่ จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการตามกรอบอำนาจหน้าที่ แจ้งความดำเนินคดีต่อกลุ่มบุคคลที่เข้าไปเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ทางการเมือง ทั้ง 5 คน ซึ่งมิใช่เป็นการแจ้งความดำเนินคดีต่อกรณีการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ ไทยศึกษา ครั้งที่ 13 ตลอดจนการแจ้งความดำเนินคดีดังกล่าว จะเป็นการดำรงรักษาเกียรติยศชื่อเสียงของสถาบันการศึกษากับการดำเนินงานทางด้านวิชาการ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อมิให้บุคคล/กลุ่มบุคคลมาแอบแฝงแสวงหาโอกาส ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตนอีกด้วย”

 

หลังหนังสือชี้แจงเผยแพร่ นักวิชาการที่ร่วมในเวทีประชุมวิชาการไทยศึกษาได้ออกมาชี้แจงพฤติกรรมของทหารที่เข้าไปแทรกแซงรบกวนการประชุมตลอดทั้ง 3 วัน จนผู้ร่วมประชุมอึดอัด เอือมระอา และแสดงป้ายเพื่อสื่อสารให้เจ้าหน้าที่ทหารยุติพฤติกรรม

โดย ผศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์เฟซบุ๊คในคืนเดียวกัน ตั้งข้อสังเกตุหนังสือชี้แจงของ กอ.รส.เชียงใหม่ ว่าใช้ยุทธวิธีแยกมหาลัยออกจากตัวผู้ถูกกล่าวหา 5 คน เพื่อลดแรงกดดันจากประชาคมวิชาการไทยและนานาชาติ บิดเบือนข้อเท็จจริงเรื่องป้าย “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” และผลักความผิดไปให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 5 คน และปัดความรับผิดชอบที่ตัวเองมีส่วนทำให้เกิดเหตุการณ์ที่เป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้

โดย ผศ.ดร.ปิ่นแก้ว ระบุรายละเอียดว่า ป้าย “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” ถูกนำมาติดในวันสุดท้าย เป็นผลมาจากการที่ทหารเข้ามาป่วนในงาน แย่งเก้าอี้ หูฟังแปลภาษาอังกฤษ-ไทย ถ่ายรูปสอดแนมผู้เสนอบทความ ตลอดสามวันของการประชุม ขณะที่เหล่าทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบที่เข้ามา ไม่มีการลงทะเบียน ไม่มีการแจ้งผู้จัดงาน ทั้งที่งานประชุมครั้งนี้ ไม่ใช่งานเปิดสาธารณะ เป็นงานประชุมนานาชาติที่ผู้เข้าร่วมทั้งไทยและเทศต้องจ่ายเงินลงทะเบียนมาเข้าฟัง หากไม่ได้รับเชิญจากผู้จัด ซึ่งตลอดสามวัน ผู้เข้าร่วมประชุมต่างเอือมระอาต่อการกระทำของทหารเหล่านี้ การมาถ่ายรูปกับป้ายดังกล่าว และเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ในวันสุดท้าย ก็เพื่อจะสื่อสารไปยังทหาร ให้ยุติการกระทำนั้น

อ่านรายละเอียด

https://www.facebook.com/arunothai.ruangrong/posts/1456074931106230

น.ส.ภควดี วีระภาสพงษ์ นักแปล หนึ่งในผู้ถูกแจ้งความดำเนินคดี เล่าองศาเหนือว่า พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาว่ามั่วสุม ชุมนุมทางการเมือง โดยอ้างว่า ตนได้ถือป้าย “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” และถ่ายรูปลงไปโซเชียลมีเดีย อาจทำให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับคสช. แต่ตนปฏิเสธข้อกล่าวหา เพราะโดยข้อเท็จจริงมันไม่ใช่เช่นนั้น ไม่ได้เป็นการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ไม่ใช่การมั่วสุมแต่อย่างใด

“เหตุการณ์ชูป้ายดังกล่าว เกิดในวันสุดท้ายของการประชุมคือวันที่ 18 ส.ค.เวลา 15.00 น. ซึ่งจะมีพิธีปิดตอน 14.00 น. เนื่องจากความอึดอัดกับการที่มีเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบเข้ามาในงานประชุมจำนวนมากตลอดระยะเวลา 3 วันที่ผ่านมา และค่อนข้างมีพฤติกรรมรบกวนผู้มาร่วมประชุม การแสดงป้ายคือความพยายามจะบอกกับเจ้าหน้าที่อย่างสุภาพว่า เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร ซึ่งเป็นไปตามข้อเท็จจริง เมื่อถือป้ายถ่ายรูปแล้ว ก็เอาปิดไว้ตรงผนังห้องสัมมนาเพื่อแจ้งเจ้าหน้าที่ด้วยความสุภาพแต่อาจจะตีความว่าเป็นการแบบอื่นจึงมาฟ้อง และหลังจากนั้นก็มีผู้มาถ่ายรูปกับป้ายโดยที่ตนก็ไม่ได้ทราบว่ามีใครมาถ่ายรูปบ้าง แต่เจตนาคือพยายามบอกกับเจ้าหน้าที่อย่างสุภาพว่า การมีเจ้าหน้าที่ในและนอกเครื่องแบบมาตามงานสัมมนาทางวิชาการบ่อยเป็นการรุกล้ำ สร้างความรบกวนการประชุมสัมมนา”

เว็บไซด์ประชาไทย ได้เผยแพร่ ภาพทหารในเครื่องแบบเข้ามาในบริเวณที่มีการจัดการประชุมไทยศึกษา ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ (CMECC) จ.เชียงใหม่ โดยระบุว่าเป็นภาพที่ อ.ยุกติ มุกดาวิจิตร นักวิชาการคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอในช่วงสรุปการประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 3 เมื่อ 18 ก.ค.2560

 

https://prachatai.com/journal/2017/08/72920

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ