วันอาทิตย์ที่ 11 มิถุนายน 2560 ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว จ.เชียงใหม่คณะอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์พิจารณาร่างพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ…. เปิดเวทีประชาพิจารณ์ เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติม ร่างพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ…. โดยมี นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ประธานคณะอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์พิจารณาร่างพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ…. กล่าวเปิดเวทีและชี้แจงวัตถุประสงค์ว่า เพื่อจัดกระบวนการให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมระดมสมอง วิพากษ์ หรือให้แสดงความเห็นต่อการปรับแก้ไขร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และการให้บริการด้านสาธารณสุขของคนไทย จำนวน 14 ประเด็นหลัก อาทิ กรอบการใช้เงิน การเหมาจ่ายรายหัว เพื่อรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้จัดทำเอกสารการวิเคราะห์และสรุปความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
โดยการเปิดเวทีนี้ได้มีการลงทะเบียน ผู้ที่จะร่วมอภิปรายแสดงความเห็นจำนวนเกือบ 300 คน กำหนดเวลานำเสนอให้คนละ 3 นาที ทั้งนี้การเปิดเวทีประดำเนินการผ่านไปกว่า 2 ชั่วโมง มาถึงผู้ลงทะเบียนแสดงความเห็นลำดับที่ 61 ได้มีการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์ ตั้งข้อสังเกตในประเด็น เรื่องของการร่วมจ่ายค่าบริการ เนื่องจากประชาชน จ่ายเงินก้อนนี้ผ่านระบบภาษีอยู่แล้ว สุดท้ายจบที่ ประโยค“แก้แล้วแย่ อย่าแก้ดีกว่า” ก่อนที่จะมีเสียงตอบรับจากผู้ร่วมเวที พร้อมกับลุกขึ้นยืนแล้วเดินออกจากห้องประชุมทันที
ผู้ที่เดินออกจากห้องประชุมได้มารวมตัวกันหน้าห้องประชุม และ ให้เหตุผลของการว็อกเอาท์ครั้งนี้ว่าการ แก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพนั้น ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม มากกว่านี้ และขอให้ ((หยุด)) กระบวนการเวทีรับฟังที่จะมีขึ้นอีก และขอให้ตั้งต้นใหม่หากจะมีการแก้ พ.ร.บ. ฉบับนี้
ตัวแทนเครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพภาคเหนือ กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติซึ่งดำเนินมาร่วม 15 ปีแล้วถือเป็นระบบที่ดี ซึ่งเท่าที่ดูข้อเสนอ 14 ประเด็น ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข เนื่องจากมองว่ากำลังทำให้ประชาชนถูกริดรอนสิทธิการเข้าถึงบริการสุขภาพ และจะทำให้ สปสช.กลายเป็นกรมหนึ่งของกระทรงสาธารณสุข อีกทั้งกระบวนการรับฟังความเห็นนอกจากไม่เปิดกว้าง ยังจำกัดเวลามากเพียงแค่ 3 นาที ถึงแม้ว่าจะมีการเปิดช่องทางออนไลน์ แต่ยังเข้าใช้งานยากอยู่ ต้องเข้าใจว่าบริบทสังคมไทยมีคนหลากหลาย ไม่ได้มีคนที่เข้าถึงเทคโนโลยีทั้งหมด
ขณะที่ภายในห้องประชุม เวทีประชาพิจารณ์แก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยังคงเดินหน้าต่อ ตามกรอบเวลาที่ได้วางไว้ ทั้งช่วงเช้า และช่วงบ่าย
ด้านนพ.พลเดช ปิ่นประทีป ประธานคณะอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์ฯ กล่าวว่า กรณีที่เครือข่ายประชาชนออกจากเวทีประชาพิจารณ์ก่อนนั้น นับเป็นการแสดงออกทางประชาธิปไตยและเป็นสันติวิธี แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการ ซึ่งก่อนออกไปพวกเขาได้ส่งกระดาษสีชมพูที่ทางทีมงานจัดเตรียมให้เขียนข้อเสนอแนะ หรือแสดงความคิดเห็น แต่อย่างไรก็อยากฝากไปยังประชาชนว่ายังสามารถแสดงความเห็นผ่านทางระบบออนไลน์ได้ หรือส่งความเห็นผ่านทางไปรษณีย์มาที่กระทรวงสาธารณะสุขก็ได้ โดยยังเปิดกว้างรับฟังความเห็นเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้ดียิ่งขึ้นตามที่มุ่งหวัง
รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธารกรรมการยกร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ กล่าวว่า เดิมทีตามคำสั่งม.44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ออกมาเพื่อแก้ปัญหาข้อติดขัดการทำงานของ สปสช.ต่างๆ เนื่องจากกฎหมายไม่เอื้อ ซึ่งการปรับแก้ก็มีการดำเนินการตามดังกล่าว ส่วนในเรื่องการจัดซื้อยา ก็เช่นกัน เพราะถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการตรวจสอบและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ทักท้วงว่า สปสช.ไม่มีอำนาจในการดำเนินการเรื่องนี้ ก็ต้องมาปรับแก้ เพราะหากสุดท้ายม.44 หมดไปแล้ว ก็จะกลับมาเหมือนเดิม ก็มีปัญหา พ.ร.บ.ที่เราร่างขึ้นมานั้น ขอย้ำว่า กระบวนการปรับแก้กฎหมายทุกอย่างเป็นไปตามรัฐธรรมนูญทั้งหมด และยังมีอีกหลายขั้นตอน วันนี้และเมื่อวาน คือเวทีรับฟังความคิดเห็น ที่เราต้องมารับฟัง ซึ่ง เราจะมีเวที ที่ภาคอีสาน ที่ จ.ขอนแก่น ในวันที่ 17 มิถุนายน 2560 อยากให้ภาคประชาชนทบทวนและดูรายละเอียดให้ดี มีบ้างประเด็นที่เราต้องแก้ไขเพื่อให้เกิดหลักประกันอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตามโดยหลักการทางคณะกรรมการจะพยายามรักษาสิทธิ์ของภาคประชาชนไม่ให้เสียสิทธิ์ไปกว่าเดิม มีแต่จะเพิ่มขึ้น ส่วนความคิดเห็นทั้งหมด เราจะรวบรวมเเละนำเผยเเพร่ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ
สำหรับเวทีประชาพิจารณ์ (Public Hearing) ระดับภูมิภาค ที่เปิดให้ประชาชนที่สนใจทั่วประเทศร่วมแสดงความคิดเห็นนั้นจัดขึ้นจำนวน 4 ครั้ง ครั้งแรกที่จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2560 ซึ่งเกิดการว็อกเอาท์ ด้วยเช่นกัน ครั้ง 2 จัดขึ้นในภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่สามจะจัดในวันที่ 17 มิถุนายน 2560 ที่ จังหวัดขอนแก่น และครั้งสุดท้ายภาคกลางที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 18 มิถุนายน 2560
และจะมีเวทีปรึกษาสาธารณะ (Public Consultation) โดยเชิญตัวแทนของหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ ที่มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้หาแนวทางสร้างประโยชน์ที่ดีให้กับประชาชน ระหว่างวันที่ 20–21 มิถุนายน 2560
14 ประเด็นหลักที่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมเสนอแนะความคิดเห็นในการแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบสุขภาพและการให้บริการด้านสาธารณสุขของคนไทย
1.การจ่ายเงินให้กับหน่วยงาน/องค์กร ที่ไม่มีสิทธิได้รับตามกฎหมาย
2.กรอบการใช้เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
3.การจ่ายเงินโดยตรงแก่บุคคล ไม่จ่ายผ่านหน่วยบริการตามกฎหมายกำหนด
4.เงินเหมาจ่ายรายหัวกับเงินที่ได้จากผลงานบริการให้รับเข้าเป็นรายได้ของหน่วยบริการ เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจำเป็น และใช้ตามระเบียบเงินบำรุงฯ ได้
5.นิยาม “บริการสาธารณสุข” คือ บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขซึ่งให้แก่บุคคล
6.เงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการ ครอบคลุมทุกสิทธิ
7.เงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้รับบริการ ครอบคลุมทุกสิทธิ และยกเลิกการไล่เบี้ย
8.การจัดระบบหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมทุกคนที่อยู่บนแผ่นดินไทย
9.การร่วมจ่ายค่าบริการ
10.การจัดซื้อร่วมยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์
11.องค์ประกอบ จำนวน อำนาจหน้าที่ ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
12.องค์ประกอบ จำนวน อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข
13.แยกเงินค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการในส่วนเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากรส่วนที่จ่ายจากเงินงบประมาณของหน่วยบริการภาครัฐออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวของกองทุนฯ
14.การใช้จ่ายเงินบริหารของ สปสช. ไม่ต้องส่งคืนคลังเพื่อความคล่องตัว และการปรับปรุงคุณสมบัติของเลขาธิการ สปสช.
ทั้งนี้การรับฟังความเห็นผ่านระบบ Online จะดำเนินการผ่านเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และ เว็บไซต์กลางสำหรับการรับฟังความคิดเห็นกฎหมายไทย (www.lawamendment.go.th)