เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคโวย ผิดหวัง กทค. ผ่านร่างประกาศหลักเกณฑ์ประมูลคลื่น 1800 กำหนดเงื่อนไขคุ้มครองอัตราค่าบริการห่วย แค่บังคับให้ต้องมีแพ็คเกจพื้นฐานที่ถูกกว่าค่าเฉลี่ยอัตราค่าบริการ 3G
20 ส.ค. 2558 จากรณีเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2558 ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เคาะหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ใหม่ ภายหลังจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ โดยที่ประชุมมีมติให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในหลายประเด็น เช่น ปรับเพิ่มราคาตั้งต้นการประมูลจากเดิมที่มีการปรับลดราคาจาก 70 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าคลื่น เป็น 80 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าคลื่น มีการปรับเปลี่ยนอายุใบอนุญาตจาก 19 ปี เหลือ 18 ปี ยกเลิกเงื่อนไขการจำกัดการถือครองคลื่นความถี่ (Spectrum Cap) จากเดิมที่กำหนดไว้ให้ถือครองคลื่นได้รายละไม่เกินรายละ 60 MHz และเพิ่มเงื่อนไขความครอบคลุมของโครงข่ายจากเดิมกำหนดไว้ 40 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรใน 4 ปี เป็น 50 เปอร์เซ็นต์ใน 8 ปี
ส่วนประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องอัตราค่าบริการนั้น พบว่ามีการเพิ่มเติมเงื่อนไขให้ผู้รับใบอนุญาตต้องกำหนดรายการส่งเสริมการขายพื้นฐานที่มีราคาค่าบริการต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 3G ณ วันประมูล แต่ไม่มีข้อกำหนดเรื่องการคิดค่าบริการตามจริงโดยไม่ปัดเศษ ซึ่งเป็นประเด็นที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้เคยเสนอและได้รับเสียงสนับสนุนจากสังคม
นางสาวชลดา บุญเกษม กรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนตั้งข้อสังเกตว่า แม้ร่างประกาศหลักเกณฑ์ประมูลคลื่นที่ผ่านบอร์ด กทค. ฉบับนี้จะมีการปรับปรุงเงื่อนไขบางอย่างดีขึ้น แต่ในส่วนเงื่อนไขการคุ้มครองผู้ใช้บริการกลับเลวร้ายกว่าเงื่อนไขที่กำหนดเมื่อคราวจัดประมูล 3G เสียอีก เพราะการกำหนดอัตราค่าบริการล่วงหน้านั้น กลับเป็นเพียงการกำหนดให้มีรายการส่งเสริมการขายพื้นฐานที่มีราคาค่าบริการต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 3G จึงหมายถึงว่าไม่ใช่การกำหนดอัตราราคาบริการทั่วไป แต่ขอเพียงมีรายการส่งเสริมการขายหรือแพ็คเกจเดียวที่ราคาต่ำกว่าค่าบริการ 3G ส่วนที่เหลือจะเป็นอย่างไรก็ได้
ในขณะที่กรณี 3G นั้นกำหนดให้ราคาค่าบริการทั้งหมดต้องลดลงจากบริการ 2G เฉลี่ย 15% จึงเป็นการกำหนดในลักษณะขีดเส้นว่าอัตราขั้นสูงว่าต้องลดจากเดิม แต่การกำหนดให้มีเพียงแพ็คเกจฐาน เท่ากับการกำหนดอัตราขั้นต่ำ รับประกันเพียงว่าจะมีรายการส่งเสริมการขายที่ไม่เกินบริการ 3G แต่อัตราทั่วไปหรือแพ็คเกจที่เหลือทั้งหมดอาจเกินก็ได้
“หลังจากที่นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้การจัดประมูลคลื่นครั้งนี้ต้องเน้นมิติการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย โดยระบุไว้ชัดว่าให้มีการกำหนดค่าใช้บริการไว้ล่วงหน้า ไม่ให้ขึ้นราคา ไม่ให้ผู้ใช้บริการถูกเอารัดเอาเปรียบ แถมประธาน กทค. และเลขาธิการ กสทช. ก็โฆษณาให้ความหวังกับผู้บริโภคเอาไว้มาก แต่เมื่อมีการพิจารณาร่างประกาศหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นออกมาเป็นเช่นนี้ จึงน่าผิดหวังและลวงโลกเป็นที่สุด อย่างไรก็ตามหวังว่าเมื่อที่ประชุมใหญ่ของ กสทช. พิจารณาเรื่องนี้จะทบทวนและแก้ไขการกำหนดให้เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างแท้จริงยิ่งกว่า กทค.” ชลดากล่าว
ทั้งนี้ ตามปฏิทินการประชุมของสำนักงาน กสทช. คณะกรรมการ กสทช. ชุดใหญ่จะมีการประชุมนัดพิเศษเพื่อพิจารณาเรื่องนี้เป็นการเฉพาะในวันศุกร์ที่ 21 สิงหาคมนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อต้นปีที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เคยมีบัญชามายังสำนักงาน กสทช. เมื่อครั้งที่สำนักงาน กสทช. ขอความเห็นชอบแนวทางเตรียมการในการประมูลคลื่นความถี่ในกิจการโทรคมนาคม โดยเน้นย้ำว่า ผู้ใช้บริการต้องไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ขึ้นราคา และให้มีการกำหนดค่าใช้บริการไว้ล่วงหน้า เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ จึงเป็นเหตุให้ในการปรับปรุงร่างประกาศหลักเกณฑ์ประมูลคลื่น 1800 MHz ครั้งนี้ ที่ประชุมต้องหาข้อสรุปในประเด็นเรื่องการกำหนดค่าใช้บริการไว้ล่วงหน้าด้วย
เรื่องนี้ สอดคล้องกับที่นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ได้เคยให้คำมั่นไว้ระหว่างเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2558 ว่า การประมูลครั้งนี้จะมีการกำหนดไว้ในเงื่อนไขการประมูลโดยให้เอกชนที่สนใจต้องเสนออัตราการคิดค่าบริการทั้งการโทรและอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีสัญจรที่ต้องการให้การประมูล 4G ช่วยคุ้มครองกลุ่มผู้บริโภคให้ใช้บริการในอัตราที่เหมาะสม
ขณะเดียวกัน พันเอก เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธาน กทค. ก็ได้เคยเปิดเผยผ่านสื่อมวลชนในช่วงเวลาเดียวกันว่า เงื่อนไขในของผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในการประมูลคราวนี้ ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบชัดเจนในประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภค อีกทั้งต้องมีมาตรการและเงื่อนไขที่จะต้องควบคุมการคิดค่าอัตราค่าบริการที่เป็นธรรม และมีราคาถูกลง