หลังจากที่ กสทช. มีแผนการเปลี่ยนผ่านทีวีระบบอนาล็อกเป็นดิจิตอล และมีแผนการกระจายการถือครองคลื่นความถี่ให้กับภาคชุมชน เป็นโอกาสที่ชุมชนจะสามารถเข้ามาใช้คลื่นความถี่ เพื่อการสื่อสารในชุมชน หรือที่เรียกว่า “ทีวีชุมชน” การเกิดทีวีชุมชนในยุคทีวีดิจิตอล ทำให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากสามารถนำเสนอข่าวสาร กิจกรรม และสาระความรู้ที่เห็นทั้งภาพและเสียง ซึ่งเป็นการผลิตโดยคนในชุมชนเอง ยิ่งไปกว่านั้นเนื้อหาบางเรื่องอาจจะสามารถนำไปเผยแพร่ได้ในระดับประเทศที่ผ่านมาชุมชน ที่สนใจทำทีวีชุมชน ได้มีการพูดคุยเพื่อขยายแนวคิดการทำทีวีชุมชน ซึ่งได้รับความสนใจจากทั้งภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา และสื่อในท้องถิ่น และได้ทดลองลงมือทำ เช่นพะเยาทีวีชุมชน จังหวัดพะเยา
นายชัยวัฒน์ จันทิมา จากสถาบันปวงพญาพะเยา หนึ่งในผู้ที่สนใจและกำลังผลักดันให้เกิดทีวีชุมชน เล่าให้ทีมงานฟังว่า “เหตุผลที่เราต้องมีทีวีชุมชน เพราะทีวีคือสื่อที่พี่น้องประชาชนสามารถเข้าใจได้ง่ายเนื่องจากมีกันทุกบ้าน และเนื่องจากชุมชนแต่ละชุมชนมีอัตลักษณ์เป็นของตัวเอง หากมีทีวีชุมชนก็จะสามารถสื่อสารผ่านสื่อของตัวเองได้ แต่ปัจจุบันข้อมูลในทีวีส่งตรงมาจากส่วนกลางซึ่งบางทีไม่สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมของชุมชน
เรื่องแรกที่ควรจะเกิดทีวีชุมชนก็คือกรณีเกิดภัยพิบัติ ถ้าเราดูจากหลายกรณีพบว่าในพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติการสื่อสารในชุมชนค่อนข้างมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นสื่อวิทยุ การเข้าถึงประชาชนน้อง แต่ถ้าทีวีทุกครัวเรือนมี ก็จะสามารถรับรู้ถึงสถานการณ์
นอกจากภัยพิบัติแล้วน่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ ได้เห็นกิจกรรม ได้ตรวจสอบการทำงานของรัฐ ราชการ หรือคนในชุมชน ซึ่งปัจจุบันจะเห็นว่าผู้ว่าราชการจังหวัดจะได้ออกข่าวก็จะเป็นกรณีเปิ่นๆ ออกสะเก็ดข่าว ซึ่งผมว่าคิดว่าจริงๆชุมชนมีเรื่องดีๆที่จะเล่าให้คนในชุมชนฟัง ผ่านสื่อที่เป็นของชุมชนเอง”
นอกจากจังหวัดพะเยาที่มีความสนใจด้านทีวีชุมชนแล้ว จังหวัดอุบลราชธานี “สื่อสร้างสุข” ภาคประชาชนที่ทำงานด้านสื่อในพื้นที่ ให้ความสนใจและร่วมผลักดันเรื่องนี้ คุณสุชัย เจริญมุขยนันท์ ทีมงานสื่อสร้างสุข อุบลราชธานี เล่าว่า “ทุกวันนี้เรามีทีวีไกลบ้าน การสื่อสารค่อนข้างห่าง ทีวีชุมชนทำให้การสื่อสารผ่านชุมที่ชุมชนเป็นเจ้าของสามารถสนองความต้องการของชุมชนในทุกด้าน ทั้งนี้เรื่องการแสดงความคิดเห็น แก้ปัญหาชุมชน เสนอความต้องการระดับนโยบาย คือสิ่งที่เขาต้องการ ซึ่งต่างจากทีวีกระแสหลักที่ยังห่างกับชุมชน เช่น เรื่องบางเรื่องที่นำเสนออาจจะเป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศ แต่อาจจะเป็นเรื่องเล็กสำหรับชุมชน”
ปัจจุบันมีนโยบายที่บุคลากรและนักศึกษาจะต้องเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ และสามารถพัฒนาท้องถิ่นได้เบื้องต้น ทีวีชุมชนจึงเป็นส่วนหนึ่งที่จะสามารถพัฒนาบัณฑิตให้ตอบโจทย์นโยบายตรงนี้ได้ อาจารย์ยรรยงวรกร ทองแย้ม สาขานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ให้ข้อมูลว่า “ ด้วยนโยบายที่จะให้บุคลากรและบัณฑิตมีคุณภาพและพัฒนาท้องถิ่นนั้น ทางมหาวิทยาลัยเองต้องผลักดันให้นักศึกษาที่จบแล้วมีทักษาทางด้านผลิตรายการหรือทักษาด้านข่าวพลเมือง ที่สามารถนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องตามหลักจรรยาบรรณสื่อ ซึ่งโมเดลทีวีชุมชนสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดได้ ที่ ผ่านมานักศึกษาเองได้มีโอกาสลงชุมชน เพื่อเชื่อมชุมชนกับการสื่อสารเข้าด้วยกัน เพราะฉะนั้นคิดว่าความร่วมมือระหว่างภาคประชาสังคมและสถานศึกษาน่าจะเกิดขึ้นไม่ยาก”
พระอธิการสมชาติ ฐิติปญโญ จากสามเณรชาแนล จังหวัดเชียงราย บอกว่าสังคมปัจจุบันมีการบริโภคสื่อเยอะ แต่ขาดการควบคุม เพราะฉะนั้นใครจะมาควบคุมนอกจากตัวเราเอง เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ควรจะบริโภคสื่อด้วยปัญหา ด้วยเหตุนี้พระอธิการสมชาติจึงจัดตั้งสามเณรชาแนลขึ้น เพื่อทำการสื่อสารภายในชุมชน และเผยแผ่หลักธรรมทางพุทธศาสนาด้วย
“เราเริ่มต้นจากการทำงานเล็กๆ จากสื่อการเรียนการสอนเล็กๆ ต่อมาพัฒนาเข้าสู่สังคมและชุมชน อยากจะให้สื่อและชุมชนได้เรียนรู้สังคมรอบข้างตัวเองว่าในชุมชนมีอะไร แทนทีจะดูสื่อหลัก ก็กลับมาดูพื้นที่ของตัวเอง” ถามว่าอนาคตคิดว่าชุมชนจะได้อะไรจากทีวีดิจิตอล พระอธิการสมชาติบอกว่า ประชาชนได้รู้ได้เห็นความเป็นไปของสังคม และมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมที่เขาอยู่มากขึ้น หากเกิดทีวีชุมชน
หากจะถามว่าทีวีชุมชนจะมีความยั้งยืนแค่ไหน ตอนนี้คงไม่มีใครตอบได้ เพราะมันยังไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าหากทีวีชุมชนเป็นประโยชน์ต่อชุมชน และทุกภาคส่วนให้การสนับสนุน ทีวีชุมชนจะมีความยั้งยืนและให้ประโยชน์กับพื้นที่ของประชาชนอย่างแน่นอน