ชาวป้อมขอ ‘โต๊ะเจรจาสาธารณะ’ หลังกทม.ยื่นคำขาดเคลียร์พื้นที่ ‘ป้อมมหากาฬ’ ใน เม.ย.นี้

ชาวป้อมขอ ‘โต๊ะเจรจาสาธารณะ’ หลังกทม.ยื่นคำขาดเคลียร์พื้นที่ ‘ป้อมมหากาฬ’ ใน เม.ย.นี้

20162903232617.jpg

29 มี.ค. 2559 จากกรณี พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นำเจ้าหน้าที่จากสำนักการโยธา (สนย.) ลงพื้นที่ชุมชนป้อมมหากาฬ เขตพระนคร ติดประกาศให้รื้อย้ายชุมชนป้อมมหากาฬเมื่อวานนี้ (28 มี.ค. 2559) โดยอ้างถึง พ.ร.ฎ.เวนคืนในท้องที่แขวงบวรนิเวศเขตพระนคร กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2535 มติคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2545 และคำพิพากษาศาลปกครอง ซึ่งยืนยันให้ กทม.มีอำนาจเข้ารื้อถอนชุมชนเพื่อทำการอนุรักษ์ป้อมและกำแพงเมือง 

“ในปี 2547 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้ กทม.สามารถเข้ารื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างได้ อีกทั้งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาต่างก็มีความเห็นว่า กรุงเทพมหานครต้องดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืน ทั้งนี้ กทม.ได้ดำเนินการจ่ายค่าทดแทนและรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งหมดเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยได้หาลู่ทางในการดำเนินการให้เกิดประโยชน์ของทุกฝ่ายมาโดยตลอด” ส่วนหนึ่งจากประกาศ กทม.ระบุ

บอร์ดประกาศขนาดใหญ่ของ กทม.ระบุ ขอความร่วมมือให้ผู้อยู่อาศัยในพื้นที่รื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างออก ภายในวันที่ 30 เม.ย. 2559 และ กทม.ร่วมกับการเคหะแห่งชาติจะเปิดให้บริการเกี่ยวกับการจัดหาที่อยู่อาศัยให้ชุมชนที่บริเวณลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ในวันที่ 19 เม.ย.นี้ ตั้งแต่เวลา 10.00 น.เป็นต้นไป ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่จากสำนักพัฒนาสังคมและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูลและอำนวยความสะดวก เพื่อให้ชาวชุมชนสามารถหาที่อยู่ที่เหมาะสมและมีความสะดวกมากขึ้น

20162903232747.jpg

พรเทพ บูรณะบุรีเดช รองประธานชุมชนป้อมมหากาฬ ซึ่งอยู่อาศัยในชุมชนมากว่า 52 ปี กล่าวว่า การดำเนินการของ กทม.ในครั้งนี้ ชาวชุมชนไม่เคยได้รับข้อมูลหรือการพูดคุยจากทาง กทม.โดยตรง ได้รับทราบแต่ข่าวผ่านสื่อมวลชน ชุมชนจึงมีข้อเสนอให้มีการเปิดโต๊ะเจรจาอย่างเป็นสาธารณะ ผ่านการมีส่วนร่วมของ กทม. โดยผู้ว่าราชการ กทม. เป็นประธาน ชาวชุมชนป้อมมหากาฬ สื่อมวลชน และนักวิชาการ เพื่อหาทางออกให้กับชุมชนผ่านการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงและเป็นธรรม

รองประธานชุมชนป้อมมหากาฬ ยืนยันด้วยว่า ชาวชุมชนยังคงมีข้อเรียกร้องคงเดิม ตามแถลงการณ์ของชุมชนที่จะอยู่ร่วมกับสวนสาธารณะ โดยอาสาดูแลความสะอาด รักษาความปลอดภัย และพัฒนาชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยไม่ลังเลในเจตนารมณ์ที่ยืนยันจะไม่ออกจากพื้นที่ และมองว่าการเจรจาอย่างเป็นสาธารณะจะทำให้ทุกฝ่ายสามารถหารือถึงทางออกร่วมกัน

20162903233707.jpg

20162903232720.jpg

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีชุมชนป้อมมหากาฬ พื้นที่ประมาณ 4 ไร่ 300 ตารางวา มีการเคลื่อนไหวคัดค้านการเวนคืนมายาวนานกว่า 24 ปี ตั้งแต่มีการออก พ.ร.ฎ.เวนคืนในท้องที่แขวงบวรนิเวศเขตพระนคร กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2535 และมีหมายประกาศกำหนดระยะเวลาให้ย้ายออกจากชุมชนมาแล้วหลายครั้ง นับตั้งแต่ปี 2546 จนถึง ปี 2556 ซึ่งได้มีการเวนคืนพื้นที่ส่วนหนึ่งทำเป็นสวนสาธารณะไปแล้ว

ทั้งนี้ การเวนคืนพื้นที่ป้อมมหากาฬเป็นไปตามโครงการอนุรักษ์และปรับปรุงป้อมมหากาฬ หนึ่งใน 20 โครงการแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ โดยจัดอยู่ในกลุ่มโครงการระยะต้น ที่มีความสำคัญสูง และมีความพร้อมมากกว่าโครงการอื่นๆ ซึ่งระบุไว้ว่า ผลที่ได้จากการอนุรักษ์และพัฒนาส่วนใหญ่เน้นการเปิดมุมมองและพื้นที่โล่ง การปรับปรุงโบราณสถาน การสร้างเอกลักษณ์และขอบเขตของกรุงรัตนโกสินทร์ ตลอดจนฟื้นฟูและพัฒนาสภาพแวดล้อมในบริเวณพื้นที่โครงการ 

นอกจากนี้ แผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์  ยังประกอบด้วยโครงการต่างๆ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับชุมชนในเกาะรัตนโกสินทร์ อาทิ โครงการจัดระเบียบย่านพักอาศัยบริเวณหลังอาคารราชดำเนิน ที่จัดอยู่ในโครงการระยะกลาง โครงการปรับปรุงบริเวณท่าพระจันทร์ และโครงการปรับปรุงบริเวณปากคลองตลาด ที่เป็นกลุ่มโครงการระยะยาว เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า การดำเนินการตามโครงการนี้จะส่งผลกระทบต่อประชาชนบริเวณพื้นที่โครงการ และใช้งบประมาณจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องมีมาตรการด้านการบริหารที่สำคัญ 4 ประการ คือ 

1.การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และพัฒนาโครงการ ประกอบด้วย การประชาสัมพันธ์โครงการ และการจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากสาธารณชนกลุ่มอาชีพต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประชาชน ผู้ได้รับความกระทบกระเทือนโดยตรงจากโครงการฯ

2.การจัดหาทุนเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินทุนนอกงบประมาณรัฐ ซึ่งอาจมีแหล่งที่มาจากกองทุนสิ่งแวดล้อม และภาคเอกชน จากการโฆษณาสินค้า การบริจาค และการใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ โดยผนวกราคาการอนุรักษ์และพัฒนาไว้ในในราคาการท่องเที่ยว เป็นต้น

3.การสร้างความเอื้ออำนวยในการอนุรักษ์และพัฒนาโครงการทางด้านองค์กร ได้แก่ การจัดตั้งหน่วยงานโดยเฉพาะ เรียกว่า “สำนักงานคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์” เพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงทั้งในเขตฝั่งพระนคร และธนบุรี

4.การจัดระบบติดตามและประเมินผล เพื่อติดตามความก้าวหน้าของงาน และประเมินผลเป็นระยะๆ นำมาใช้ประโยชน์ในการดำเนินงานโครงการต่อๆ ไป

20162903232801.jpg

ที่มาภาพ: ชุมชนป้อมมหากาฬ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ