เวียงหนองหล่ม จัดงานวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก 1 กุมภาพันธ์ 2558 หวังผลักดันแนวทางการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ชุ่มน้ำเวียงหนองหล่มอย่างชาญฉลาด และเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวที่มีความสมดุลในการอนุรักษ์พัฒนาและการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืน ขับเคลื่อนพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวในพื้นทีอำเภอเชียงแสน-เวียงหนองหล่ม อำเภอแม่สาย และอำเภอเชียงของ
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปี สำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำกำหนดให้เป็นวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลกอัน เนื่องมาจากเป็นวันลงนามอนุสัญญาว่าด้วยการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ ณ เมืองแรมซาร์ ประเทศอิหร่าน ที่ผ่านมาประเทศไทยและนานาประเทศได้ร่วมจัดงานนี้เพื่อปลูกจิตสำนึกและเสริมสร้างให้ประชาชนและเยาวชนมีแนวคิดในการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ
ในปี พ.ศ. 2558นี้ สำนักงานเลขาธิการ อนุสัญญาฯ ได้กำหนดประเด็นคือ “พื้นที่ชุ่มน้ำคือชีวิต” เนื่องจากพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นแหล่งให้บริการทางนิเวศที่สนับสนุนการดำรงชีวิตของทุกสรรพชีวิตทั้งพืช สัตว์ และมนุษย์ที่ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ชุ่มน้ำในการดำรงชีวิต ก่อร่างสร้างชุมชนมายาวนาน ดังนั้นการทำความเข้าใจถึงคุณค่าและประโยชน์ของพื้นที่ชุ่มน้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ พัฒนาและใช้ประโยชน์จากพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างชาญฉลาดและยั่งยืน ท่ามกลางสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชุ่มน้ำทั่วโลกที่กำลังได้รับผลกระทบจากการพัฒนาและถูกคุกคามด้วย “ความไม่รู้” ภายใต้ความต้องการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมสูงขึ้น
นายดุสิต จิตรสุข ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมลุ่มน้ำกก จ.เชียงราย กล่าวว่า พื้นที่ชุ่มน้ำ “เวียงหนองหล่ม” เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่อยู่ในลุ่มน้ำสาขาหนึ่งของลุ่มน้ำกก เป็นส่วนหนึ่งของแอ่งเชียงแสน จังหวัดเชียงราย มีเนื้อราว 15,000 – 20,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 4 ตำบลใน 2 อำเภอ ประกอบด้วย ตำบลจันจว้าใต้ ตำบลจันจว้า และตำบลท่าข้าวเปลือก (อำเภอแม่จัน) รวมไปจนถึงตำบลโยนก (อำเภอเชียงแสน) มีชุมชนที่ตั้งอยู่โดยรอบทั้งสิ้น 20 ชุมชน เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำระดับท้องถิ่นที่ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องได้รับการคุ้มครอง ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2543 และวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 นอกจากนี้มติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2553 เห็นชอบในการรับรองข้อตกลงการเป็นพันธมิตรสำหรับการอนุรักษ์นกอพยพและการใช้ประโยชน์ถิ่นที่อยู่อาศัยของนกอพยพอย่างยั่งยืนในเส้นทางการบินเอเชียตะวันออก – ออสเตรเลีย (Partnership of the Conservation of Migratory Water birds and Sustainable Use of their Habitat in the East Asian – Australasian Flyway) โดยเห็นชอบตามความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการเสนอพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติของประเทศไทย ตามมติคณะรัฐมนตรี ให้เป็นเครือข่ายอนุรักษ์นกอพยพตามโครงการความร่วมมือดังกล่าวข้างต้น ส่งผลให้ แอ่งเชียงแสนและเวียงหนองหล่ม จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำหลักที่ควรได้รับการสนับสนุนการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชนและส่วนราชการ ในการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยและชนิดพันธุ์ของนกอพยพ
แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ชุ่มน้ำเวียงหนองหล่มในปัจจุบัน พบแนวโน้มที่เป็นการบุกรุกคุกคามพื้นที่ชุ่มน้ำเวียงหนองหล่มในหลายรูปแบบ เช่น
(1) การบุกเบิกที่ทำกิน นำพื้นที่หนองน้ำสาธารณะไปจัดสรรเป็นที่ทำกินให้กับประชาชน
(2) บริเวณเชิงเขาพบการปลูกพืชเชิงเดี่ยวและขุดอ่างเก็บกักน้ำปิดกั้นลำห้วยสาธารณะที่เคยเป็นแหล่งน้ำต้นทุนของพื้นที่ชุ่มน้ำเวียงหนองหล่ม
(3) การขุดคู/ร่องน้ำ เพื่อนำน้ำไปใช้สำหรับการเกษตร
(4) การขาดแคลนน้ำต้นทุนในฤดูแล้ง ทำให้เกิดภัยแล้งอย่างรุนแรงจนดินแตกระแหง นำไปสู่การทำลายป่าอั้นและปึ๋งซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่ทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ชุ่มน้ำเวียงหนองหล่ม
(5) คุณภาพน้ำในพื้นที่ชุ่มน้ำเวียงหนองหล่มในช่วงฤดูแล้ง จัดอยู่ในเกณฑ์ต่ำเป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ (6) ความแห้งแล้งทำให้ต้นไมยราบยักษ์แพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้างและทำให้พื้นที่ทุ่งหญ้าอาหารควายลดลงอย่างต่อเนื่อง
(7) การสูญเสียควายไปจากพื้นที่ชุ่มน้ำเวียงหนองหล่มดังที่เคยเกิดขึ้นกับเขตตำบลท่าข้าวเปลือกที่สูญเสียควายกว่า 4,000 ตัว ไปจากตำบลท่าข้าวเปลือกอันเนื่องจากการไม่มีพื้นที่เลี้ยงควาย และมีแนวโน้มการขายควายของปางควายในพื้นที่ชุ่มน้ำเวียงหนองหล่มอย่างต่อเนื่อง
(8) พบการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรต่าง ๆ อย่างไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการใช้ไฟฟ้าช๊อตปลา การเผาป่าอั้นเพื่อหาของป่า การขุดต้นเอื้องพร้าวซึ่งเป็นกล้วยไม้ป่าประจำถิ่นออกไปจำหน่ายจนเกือบสูญพันธุ์ การดัก และยิงนกอพยพมาจำหน่ายและบริโภค เป็นต้น
(9) พื้นที่ชุ่มน้ำเวียงหนองหล่มมีคุณลักษณะพิเศษที่พบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ล้านนาตามพงศาวดารโยนกและยังพบซากโบราณสถานและโบราณวัตถุกว่า 77 แหล่งกระจายอยู่ทั่วไปรอบพื้นที่ชุ่มน้ำเวียงหนองหล่ม แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจถึงคุณค่าที่แท้จริง ว่ามีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ล้านนา มีความสำคัญอย่างไรต่อชุมชนสังคม และต่อตนเองอย่างไร
คณะทำงานวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก กรณีพื้นที่ชุ่มน้ำเวียงหนองหล่มจึงได้กำหนดจัดกิจกรรม “วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก”ขึ้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดความรู้ความเข้าใจต่อคุณค่าบทบาทความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำโดยการจัดการแข่งขันจักรยานในเส้นทางรอบพื้นที่ชุ่มน้ำเวียงหนองหล่ม และนำเสนอแนวทางการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ชุ่มน้ำเวียงหนองหล่มอย่างชาญฉลาด เช่น กรณีศึกษาทะเลสาบอินเล พื้นที่ชุ่มน้ำหนองหาร จังหวัดสกลนคร รวมทั้งการขับเคลื่อนให้พื้นที่ชุ่มน้ำเวียงหนองหล่มเป็นเส้นทางจักรยาน และเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวที่มีความสมดุลในการอนุรักษ์พัฒนาและการใช้ประโยชน์ที่ชาญฉลาดและยั่งยืนตามลำดับ
งาน เวียงหนองหล่ม วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 13.00 น. – 22.00 น ณ พื้นที่ชุ่มน้ำเวียงหนองหล่ม บริเวณหนองหลวงบ้านแม่ลัวหมูที่ 1 ตำบลท่าข้าวเปลือก อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย
ภายในงานประกอบด้วย
ภาคบ่ายเป็นการแสดงนิทรรศการความหลากหลายทางชีวภาพและการเปลี่ยนแปลง แหล่งโบราณคดีหลักฐานทางประวัติศาสตร์และความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในพื้นที่ชุ่มน้ำเวียงหนองหล่ม การใช้ประโยชน์จากคุณค่าและความงดงามของพื้นที่ชุ่มน้ำเวียงหนองหล่มเพื่อการท่องเที่ยวรองรับการเปิดประชาคมอาเซียน (ไทย ลาว พม่า และการร่วมมือกับKing Roman) แนวทางการใช้ประโยชน์ อย่างชาญฉลาดกรณีศึกษาทะเลสาบอินเลย์ และหนองหาร จังหวัดสกลนคร การแข่งขันจักรยาน กีฬาฮาเฮ และปลูกต้นอั้นร่วมกัน
ภาคกลางคืน: สานเสวนาหาทางการอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก ผ่านกิจกรรมดนตรี กวี ศิลป์ และการจัดเลี้ยงอาหารแบบขันโตก และยังมีการเปิดตัวแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ แพคเกจการท่องเที่ยวในพื้นที่ชุ่มน้ำเวียงหนองหล่มด้วย
การจัดกิจกรรมครั้งนี้คาดหวังว่าจะรณรงค์และสื่อสารสาธารณะถึงบทบาท คุณค่าและความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำ เวียงหนองหล่มโดยการจัดแข่งขันจักรยาน เพื่อเปิดตัวแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ชุ่มน้ำเวียงหนองหล่ม และการขับเคลื่อนพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวในพื้นที่ชุ่มน้ำเวียงหนองหล่ม อำเภอเชียงแสน อำเภอแม่สาย และอำเภอเชียงของ และเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนชุมชนบ้านแม่ลัวหมู่ที่ 1 ตำบลท่าข้าวเปลือก ให้เป็นชุมชนต้นแบบด้านการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างชาญฉลาด
ทั้งนี้ผู้ร่วมงานประมาณ 500 คน จะประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (IUCN, สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.), ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงราย, องค์การบริหาร ส่วนจังหวัดเชียงราย, จังหวัดเชียงราย, พัฒนาที่ดินจังหวัดเชียงราย, เครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงราย, กลุ่มรักษ์เชียงของ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย อำเภอแม่จัน และคณะทำงานวิจัยในพื้นที่ชุ่มน้ำเวียงหนองหล่ม) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว ( 8 ตำบลในอำเภอเชียงแสน ผู้ประกอบการท่องเที่ยวอำเภอเชียงแสน อปท.และผู้ประกอบการท่องเที่ยวในอำเภอแม่สายและอำเภอเชียงของ)ผู้แทนจากอปทคณะกรรมการบริหารท้องถิ่น และประชาชน รอบพื้นที่ชุ่มน้ำเวียงหนองหล่ม
กำหนดการกิจกรรม
13.00 – 13.30 น. ลงทะเบียน
13.30 พิธีกร กล่าวชี้แจงรายละเอียดงาน
– ผู้ใหญ่บ้านแม่ลัว : นายสวิง จันทาพูน รายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน
– ประธานเปิดงาน (นายกอบจ.) กล่าวเปิดงาน ปล่อยตัวจักรยาน
– กิจกรรมฐานเรียนรู้ แข่งขันกีฬาฮาเฮ
15.30 – 16.00 น. นักปั่นจักรยานมาถึงพื้นที่ (พักผ่อนตามอัธยาศัย)
16.00 – 17.00 น. ผู้เข้าร่วมงานร่วมกันปลูกต้น(ไม่)อั้นคืนหนอง
17.00 – 17.30 น. เริ่มลงทะเบียนกิจกรรม กาดมั่ว คัวแลง และขันโตกดนตรี กวี ศิลป์ วิถีถิ่น “คน-เมือง-หนอง”
18.00 – 19.00 น. รับประทานอาหารแบบขันโตก ชมดนตรีโฟล์คซอง
19.00 – 20.00 น. – พิธีมอบรางวัลการแข่งขันจักรยาน – หนังสั้น “คน-เมือง-หนอง”
-นายกสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงรายบรรเลงเพลง เวียงหนองหล่ม และชี้แจงแนวทางการขับเคลื่อนพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวในพื้นทีอำเภอเชียงแสน-เวียงหนองหล่ม อำเภอแม่สาย และอำเภอเชียงของ
20.00 – 21.00 น. ชมดนตรี และการแสดงบนเวที
21.00 – 21.30 น. กิจกรรมปล่อยโคมเปิดตัวแหล่งท่องเที่ยวหนองหลวงชุมชนบ้านแม่ลัว
21.30 – 22.00 น. ชมดนตรี และการแสดงบนเวที
22.00 เสร็จพิธีการ