สนธิสัญญาพลาสติกโลก กระดุมเม็ดแรกของการยุติมลพิษที่เริ่มจากต้นทาง

สนธิสัญญาพลาสติกโลก กระดุมเม็ดแรกของการยุติมลพิษที่เริ่มจากต้นทาง

ปัญหามลพิษพลาสติกกำลังเข้าขั้นวิกฤต เนื่องจากแนวโน้มการเกิดขยะพลาสติกมีจำนวนมากขึ้นทุกปี งานวิจัยที่ผ่านมาพบว่ามีปริมาณขยะพลาสติกรั่วไหลสู่ท้องทะเลมากกว่า 13 ล้านตันต่อปี โดยในปัจจุบันสภาพพื้นที่ของสังคมในหลาย ๆ ประเทศกำลังถูกยึดครองด้วยกองขยะไม่มีการจัดการที่ดีจนนำมาสู่การก่อมลพิษจากขยะพลาสติก

สำหรับประเทศไทยก็ประสบปัญหาดังกล่าวไม่น้อยกว่าประเทศอื่น ประเทศไทยสร้างปริมาณขยะทางทะเลและขยะมูลฝอยสูงเป็นอันดับ 6 ของประเทศที่มีประมาณขยะเยอะที่สุดในโลก มีขยะมากถึง 27.40 ล้านตันต่อปี และในจำนวนนี้เป็นขยะพลาสติกมากถึง 2 ล้านตัน

ภาพเศษพลาสติกลอยในทะเล ข่าวเต่าทะเลที่เผลอกินเศษพลาสติก หรือแม้แต่ปลาที่ถูกจับโดยอวนผี เป็นเพียงส่วนหนึ่งของมลพิษพลาสติกเท่านั้น ซึ่งยังมีไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าอีก สารมลพิษที่ตกค้างยาวนานที่อยู่ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และสารมลพิษที่ปลดปล่อยในกระบวนการคัดแยกรื้อถอนรีไซเคิล ไปจนถึงสารมลพิษที่เกิดจากการเผาพลาสติกกลางแจ้ง หรือองค์ประกอบสารเคมีในฝุ่น PM 2.5 ที่ปลดปล่อยมาจากเตาเผาขยะและโรงไฟฟ้าขยะ

บ่อขยะ จ.อยุธยา

มลพิษพลาสติก

พลาสติก 99% ผลิตจากน้ำมันและก๊าซ โดยบริษัทใหญ่ มีส่วนทำให้เกิดการผลิตพลาสติกในปริมาณมหาศาลในแต่ละปี ข้อมูลจากกรีนพีชพบว่า จำนวนพลาสติกที่ใช้ในกลุ่มประเทศ G20 จะเพิ่มขึ้นอีกสองเท่าภายในปี 2593 หากอุตสาหกรรมการผลิตพลาสติกยังคงการผลิตแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ 

ปัจจุบันมลพิษพลาสติกในรูปแบบของเศษพลาสติกหลากหลายขนาดสารเคมีจากพลาสติกมลสารและผลพลอยได้จากอื่นๆ ของพลาสติกได้ปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมแทรกแซงห่วงโซ่อาหารและเข้าไปยังร่างกายมนุษย์แล้ว

มลพิษพลาสติกเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย คนไทยทุกคนประสบปัญหาจากมลพิษพลาสติกไม่ว่าทางตรง ชุมชนประมงสูญเสียทรัพยากรทางทะเล หรือทางอ้อม ประชาชนต้องสูดอากาศปนเปื้อนฝาน PM2.5 ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมผลิตพลาสติกขนาดใหญ่ มีเครือข่ายอุตสาหกรรมรีไซเคิลพลาสติก มีชุมชนจำนวนมากที่มีรายได้มาจากการขายพลาสติก สังคมไทยมีความเชื่อมโยงกับวงจรชีวิตพลาสติกในทุกขั้นตอน การเจราจาเพื่อจัดตั้ง “สนธิสัญญาพลาสติก” จึงมีนัยยะสำคัญต่อสังคมไทยอย่างมาก

สนธิสัญญาพลาสติกโลก

การเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลกที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2565 จากการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 5 (UNEA 5) ได้มีมติเห็นชอบร่วมกันกับสมาชิก 175 ประเทศ รวมถึงรัฐบาลไทย ให้มีการจัดทำมาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษจากพลาสติก รวมทั้งสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยตั้งเป้าให้แล้วเสร็จภายในปี 2567

สนธิสัญญาพลาสติกโลกมุ่งเน้นให้หยุดมลพิษพลาสติก และหยุดวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ด้วยหลักการดังนี้

  • ยุติมลพิษพลาสติกตลอดวงจรการผลิต การใช้งาน และการกำจัด เพื่อปกป้องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
  • ลดการผลิตพลาสติก โดยรวมถึงการผลิตพลาสติกบริสุทธิ์ 
  • เปลี่ยนผ่านไปยังเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low-carbon) ขยะเป็นศูนย์ (Zero-waste) และไร้สารพิษ (Toxic-free) โดยมุ่งเน้นไปที่เศรษฐกิจที่มีพื้นฐานเป็นการนำกลับมาใช้ซ้ำ
  • เน้นไปที่การยึดหลักการทางสิทธิมนุษยชน ที่ลดความเหลื่อมล้ำและให้ความสำคัญกับสุขภาพของมนุษย์ ปกป้องสิ่งแวดล้อม และเห็นประโยชน์ต่อส่วนร่วมเป็นหลัก

องค์กรภาคประชาสังคม 3 องค์กร ได้แก่ มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation: EJF) กรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand) และมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) เล็งเห็นถึงความสำคัญของมาตราการของกฎหมายเพื่อแก้ปัญหามลพิษทางกฎหมาย จัดงาน “สนธิสัญญาพลาสติกโลก สู่การยุติมลพิษพลาสติก สำคัญอย่างไรต่อสังคมไทย” เพื่อสร้างความตระหนักรู้ และเพื่อประกาศจุดยืนให้มาตราการทางกฎหมายฉบับนี้ทะเยอทะยาน คำนึงถึงสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมเป็นเป้าหมายสูงสุด และเป็นจุดเริ่มต้นของการยุติมลพิษพลาสติกโลกที่ยั่งยืน สะอาด และเป็นธรรม 

ศลิษา ไตรพิพิธสิริวัฒน์ 
นักรณรงค์อาวุโส/ผู้จัดการโครงการพลาสติกภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ Environmental Justice Foundation : EJF

การยุติมลพิษพลาสติกเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รอไม่ได้ เพราะพลาสติกส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ภาวะโลกรวน และสุขภาพของมนุษย์ทุกคนมากขึ้นทุกวันตามปริมาณ โดยเฉพาะกลุ่มคนอัตลักษณ์ชายขอบ ปัจจุบันแม้ปัญหาจะได้รับการพูดถึง แต่การแก้ปัญหาอย่างจริงจังจากต้นเหตุยังขาดเจตจำนงทางการเมือง สนธิสัญญาฉบับนี้จึงสำคัญมากที่จะทำให้รัฐบาลทั่วโลกต้องหันมาแก้ไขมลพิษพลาสติกจากต้นตอ ลดการผลิตและยกเลิกการใช้พลาสติกที่ไม่จำเป็นและมากเกินควร อย่างมีประสิทธิภาพ ทะเยอทะยาน แต่ยุติธรรม  และมีกรอบเวลาแล้วเสร็จที่ชัดเจน

ศลิษา ไตรพิพิธสิริวัฒน์ 
นักรณรงค์อาวุโส/ผู้จัดการโครงการพลาสติกภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ Environmental Justice Foundation : EJF
พิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย

เราต้องการสนธิสัญญาพลาสติกโลกที่เข้มแข็ง และมุ่งไปที่การลดการผลิตพลาสติกอย่างน้อย 75% ภายในปี 2583 เพื่อให้เรายังคงอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส 

พิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย

ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการต่อกรกับปัญหามลพิษพลาสติกในเวทีเจรจาที่กำลังจะมีขึ้น โดยการให้คำมั่นต่อการปกป้องสิ่งแวดล้อมและกลุ่มเปราะบางโดยยึดโยงกับหลักการสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ยังสามารถเริ่มกำหนดนโยบายที่จะช่วยลดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งในประเทศได้ โดยกำหนดให้มีการพัฒนาและบังคับใช้กฎหมายการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility: EPR) ซึ่งตั้งอยู่บนหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter Pays Principle: PPP) ที่ครอบคลุมตลอดวงจรชีวิตพลาสติกตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ การกระจายสินค้า การรับคืน การสร้างระบบใช้ซ้ำ รวมไปถึงรับผิดชอบต่อผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม – พิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าว

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ

มลพิษพลาสติกเป็นปัญหาที่กว้างใหญ่และซับซ้อนมากกว่าปัญหาขยะพลาสติก โดยที่มลพิษพลาสติกส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและก่อพิษภัยต่อสุขภาพได้ลึกซึ้งและร้ายแรงกว่ามากนัก ทั้งยังมีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมีที่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้คนและสิ่งแวดล้อมในหลายพื้นที่นอกจากนั้นยังเกี่ยวเนื่องกับเรื่องของผลิตภัณฑ์และขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มักมีพลาสติกซึ่งมีการใช้สารเติมแต่งชนิดต่างๆ ปะปนอยู่ด้วย สารเติมแต่งเหล่านั้นเมื่อผ่านกระบวนการผลิต หรือบำบัดหรือย่อยสลาย จะปลดปล่อยสารมลพิษที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสภาพแวดล้อมของโลกใบนี้ รวมถึงสรรพชีวิตบนโลกด้วย

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ

หนึ่งในประเด็นที่มีการโต้เถียงกันมากที่สุดคือการตั้งเป้าลดการผลิตพลาสติก ถึงเวลาแล้วหรือยังที่โลกต้องตั้งเป้าลดการผลิตวัสดุที่ส่งผลกระทบและคงอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้ยาวนาน? นอกจากนี้ยังมีคำถามถึงการมีมาตรการให้ทุกประเทศที่ลงนามเลิกผลิตหรือใช้พลาสติกบางประเภทเช่น พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ไมโครพลาสติกแต่งเติมหรือมาตรการในการเลิกใช้สารเคมีบางประเภทในพลาสติก

นอกจากนี้ยังมีคำถามอีกว่า กฎหมายฉบับนี้ควรต้องบังคับให้ทุกประเทศตั้งเป้าในการจัดตั้งระบบใช้ซ้ำและระบบเดิมหรือไม่ ต้องบังคับให้ทุกประเทศมีระบบการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตหรือไม่ และต้องมีมาตรฐานในการรีไซเคิลและจัดการขยะพลาสติกที่เป็นสากลหรือไม่ด้วย

อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนจนกว่าการจัดทำสนธิสัญญาจะแล้วเสร็จนั้น คณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาล (INC) จะต้องเจรจา ผ่านการประชุม 5 รอบ โดยผลการประชุมครั้งที่ 2 (INC-2) ได้มีการปล่อยร่างเอกสารฉบับแรกออกมา (Zero Draft) การประชุมครั้งที่ 3 (INC-3) ที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อเดือนธันวาคม 2566 ได้มีการเผยแพร่ร่างสนธิสัญญาฉบับแรก ที่เป็นฉบับปรับปรุง (Revised Zero Draft) ซึ่งเป็นร่างที่น่าจับตามองเนื่องจากเป็นร่างที่จะถูกนำมาเจรจาในการประชุมครั้งที่ 4 (INC-4) ที่เมืองออตตาว่า ประเทศแคนาดา ในระหว่างวันที่ 23-29 เมษายน 2567 ซึ่งจะเป็นการเจรจาก่อนการเจรจารอบสุดท้าย (INC-5) ) ที่มีความสำคัญและเป็นที่คาดหวังว่าเอกสารร่างสนธิสัญญาจะต้องแล้วเสร็จและจะกลายเป็นร่างฉบับแรก (First Draft) 

ข้อมูลจาก SDG Move / Greenpeace Thailand

ภาพโดย นราธิป ทองถนอม / มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)

author

เรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง related posts

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ