คุยเบื้องหลัง : เพราะอะไร ทำไม หุ่นกระบอกและดนตรีไทยต้องไปญี่ปุ่น

คุยเบื้องหลัง : เพราะอะไร ทำไม หุ่นกระบอกและดนตรีไทยต้องไปญี่ปุ่น

20162809163810.jpg

“เราแยกคนกับวัฒนธรรมออกจากกันไม่ได้ คอมพิวเตอร์มีแต่ Hard ware ไม่มี Soft ware ก็ใช้งานไม่ได้ วัฒนธรรมก็เช่นกัน..”  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุดสันต์ สุทธิพิศาล อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปะวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมมิตรภาพระหว่างไทยและญี่ปุ่น  ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการบริการ การท่องเที่ยว  และโลจิสติกส์  มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต  ให้มุมมองเมื่อเริ่มแลกเปลี่ยนพูดคุยถึงการนำเอาศิลปะการแสดงของไทยไปจัดแสดงในงาน Thai Culture Fair  ที่ประเทศญี่ปุ่น  ร่วมกับทางสมาคม Japan-Thailand Exchange Society ในวันที่ 9 ตุลาคม 2559

20162809162403.jpg

“เราเป็นผู้รับมา เพียงแต่ว่าสิ่งนี้เราจะเห็นคุณค่าไหม หรือเราจะต้องการหยุดมันในวันนี้ แล้วไม่ส่งต่อเรามีสิทธ์ขนาดนั้นหรือ”    อีกประโยคคำถามชวนคิด  เมื่อแลกเปลี่ยนกับอาจารย์ว่าทำไมต้องมีการเปลี่ยนแปลงและส่งต่อวัฒนธรรม?

“วัฒนธรรมมันเป็น Soft ware ตั้งต้น และเราเป็นผู้ผลิตวัฒนธรรม มันทำให้วัฒนธรรมเติบโตตลอดเวลา เราไม่สามารถย้อนเวลาได้ ผู้คนทั้งหลายที่สั่งสมวัฒนธรรมร่วมกันมา เขาก็ได้ทำไปตามบริบท ณ วันนั้น อยู่แล้ว เราย้อนกลับไปไม่ได้

ความแท้ ข้อหนึ่งที่เป็นพื้นฐาน คือ วัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา นี่คือสัจจะ แต่มันอาจจะเปลี่ยนด้วยอัตราเร็ว หรือ อัตตราเร่งที่ต่ำมากๆ ถ้าไม่มีใครไปกระตุ้นมันจะค่อยๆเปลี่ยน เพราะมันต้องการอาศัยข้อตกลงร่วมกัน ต้องอาศัยเรื่องของความคิดเห็นจากทุกคนในสังคม”

ทำไมต้องมีผู้เรียน  ผู้เล่น หรือ ผู้แสดง ศิลปะ วัฒนธรรมเหล่านี้?

“เรายังไม่มีเทคโนโลยีในการจัดการวัฒนธรรม หรือ ภูมิปัญญามาเก็บอยู่ในฐานข้อมูลได้อย่างความรู้ เรามี Knowledge Management แต่เราไม่มี Wisdom management  เรายังทำไม่ได้ การที่จะเก็บไว้เราต้องเก็บไว้ในคน นั่นแปลว่าเราต้องเก็บทั้งคนเอาไว้ ซึ่งอันนี้อธิบายยาก

ยกตัวอย่าง ถ้าเราเก็บเครื่องดนตรี แล้วเก็บโน๊ตดนตรีเอาไว้ เราจะมีโน๊ตดนตรีอยู่ในพิพิธภัณฑ์ แต่เราจะไม่มีใครเล่นดนตรี  เพราะคุณแน่ใจหรือว่า มีโน๊ต มีเครื่องดนตรี แล้วเราจะจับมาเล่นได้เลย  เพราะนอกจากจะอาศัยความรู้แล้วต้องอาศัยทักษะ และคุณสมบัติอะไรบางอย่างซึ่งมันรวมอยู่ใน มรดกทางภูมิปัญญาและวัฒนธรรม มันไม่สามารถแยกกันได้”

ผมอาจจะมีความรู้เรื่องงดนตรี แต่ผมอาจจะเล่นไม่ได้ ผมอาจจะมีความรู้เรื่องหุ่น แต่อาจจะเล่นไม่ได้ เพราะความรู้เป็นเรื่องของความรู้ แต่ภูมิปัญญา หรือมรดกทางวัฒนธรรมแบบจับต้องไม่ได้มันเป็นเรื่องขององค์รวมอะไรบางอย่าง”

20162809162509.jpg

เอาอะไรไปโชว์บ้าง?  

“การแสดงชุดนี้เป็นเรื่องของการผสานความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น เป็นการใช้ดนตรีในการเปิดประตูความสัมพันธ์ ซึ่งเขาบอกว่าประตูที่สำคัญที่สุด คือ ประตูของหัวใจ คือ โสต ทัศนศิลป์ ประตูนี้จะไม่แบ่งแยก เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ทุกคนสามารถเสพศิลปะของดนตรี หรือ การแสดง ได้ด้วยกันทั้งหมด ไม่ว่าชนชาติใด”  อาจารย์ศรุต แจ้งอนันต์  ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการบริการ  การท่องเที่ยว และโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต หนึ่งในทีมนักแสดงลำดับที่มาและอธิบายแนวคิดของกการแสดงในครั้งนี้ซึ่งมีทั้งการแสดงของคณะหุ่นปัญจสิกขรา และดนตรีไทย

20162809162536.jpg

20162809162555.jpg

เครื่องดนตรีไทยที่นำไปเล่นในการแสดงครั้งนี้มีอะไรบ้าง?

“รูปแบบ คือ เครื่องสายประสมระนาดเอก แต่เราจะขาดจะเข้ เนื่องจากความจำกัดของผู้แสดงที่ไป เราก็ใช้อย่างครบถ้วนที่สุด ในส่วนของการแสดงก็จะมี ชุดแรก คือ ระบำเบิกโรง ชุดนี้เราประพันธ์เนื้อขึ้นมาใหม่ โดยใช้พระปัญจสิงขร เป็นตัวแสดงเบิกโรง และลงท้ายเพลงวา เข้าสู่เพลงหุ่น แล้วก็ต่อด้วยเพลงของญี่ปุ่นซึ่งเป็นเรื่องราวที่ร้อยเรียงกัน เกี่ยวกับพลังของดวงดาว แล้วก็ดนตรีที่เป็นสื่อของความรักทุกเชื้อชาติ

แล้วหุ่นที่นำไปแสดงมีตัวไหนบ้าง?

“มีทั้งหมด 5 ตัว พระปัญจสิงขร  เงาะ และรจนา ชุดรจนาเสี่ยงพวงมาลัย  มีหนุมานจับนางเบญกาย และมีชุดศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้าน คือ โนห์รา”

ทำไมถึงมีหุ่นที่เป็นคู่รักถึงสองคู่?

“ความรักเป็นภาษากายพื้นฐานของมนษย์ ของสิ่งมีชีวิตทุกอย่างในโลก ที่เป็นภาษาท่าธรรมชาติ แล้วก็สื่อความหมายได้ชัดเจน ผู้เสพสามารถเสพงานของเราได้ และตีความหมายไม่ยากจึงคัดสองชุดนี้มา

เงาะและรจนาจะชัดเจนเรื่องความรัก ส่วนเบญกาย และหนุมานจะเป็นลักษณะของคู่รักที่ค่อนข้างโลดโผน แต่ภาพลักษณ์ของเขาจะเป็นที่รู้จักของคนทุกเชื้อชาติ จึงเลือกหนุมานและเบญกายเป็นสื่อ”

ศิลปะเป็นเสมือนฑูตเชื่อมสัมพันธ์ทุกเชื้อชาติ?

“เพราะความงามเรามองจากจุดเดียวกัน เริ่มแรก คือ ธรรมชาติ จากนั้น คือ ความศรัทธา  และในความศรัทธาก็จะมีแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งาน ผู้ที่เสพศิลปะเข้าไปถึงเนื้อในแก่นของมันก็จะทราบว่า สิ่งเหล่านี้อยู่ร่วมกันได้

บางทีเราไม่ต้องพูดได้ทุกภาษา เราสามารถใช้ภาษากาย จับมือ การสวมกอด เพื่อให้รู้ว่ารัก สีหน้า แววตา เป็นตัวบ่งบอก อันนี้เป็นศาสตร์ของความงามที่เราสามารถสื่อสารกันได้ บางทีมนุษย์เกิดมาไม่ได้พูดเป็นทันที เป็นคนไทยก็ได้แต่ถ้าไปอยู่ฝรั่งเศศก็จะคุยภาษาฝรั่งเศส ไปอยู่ญี่ปุ่นพูดญี่ปุ่น อยู่ไทยพูดไทย อยู่จีนพูดจีน  แต่ถ้าสลับที่กันเขาก็สามารถเรียนรู้เรื่องนี้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานของศาสตร์ทั้งสามเรื่อง ทั้ง เรื่องทัศนศิลป์  โสตศิลป์ และโสตทัศนศิลป์”

ทำไมต้องเป็นหุ่นกระบอก?

“เรามองว่าตุ๊กตาเป็นของที่คนเข้าถึงง่าย  ทุกคนเคยเล่น  เคยจินตนการอยู่กับตุ๊กตา ไม่ว่าจะเป็น Robot   ตุ๊กหมี หรืออะไรก็ตาม ที่เราเคยเล่นในสมัยเด็ก เป็นเรื่องที่อยู่ในวิถีชีวิตของเรา เพราะฉะนั้นเวลาที่เราจะไปให้สัมผัสมันเข้าถึงง่าย เพราะเราจะผ่านอุปกรณ์ที่เป็นของใช้ใกล้ตัวของทุกคน”

จุดเด่นของการแสดงชุดนี้ที่จะสร้างความประทับใจ?

“คงจะบอกว่าเป็นชุดของพระปัญจสิงขร ชุดนี้ระบำเบิกโรงเป็นจุดรวมผสานสองชาติเข้าด้วยกันอย่างชัดเจน อย่างที่เรียนมาเบื้องต้น คือใช้ลักษณะของการเรียบเรียงเพลง ช่วงต้น คือ เพลงวา ช่วงกลางใช้เพลงหุ่น แล้วก็มาช่วงท้ายจะเป็นเพลงซุบารุของญี่ปุ่น ซึ่งเนื้อเรื่องจะร้อยเรียงเป็นเรื่องราวเดียวกัน เนื้อหาที่ประพันธ์ขึ้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสองชาติ เทพของดนตรี คือ พระปัญจสิงขร แทนเรื่องเส้นเสียง และกำลังของดวงดาวที่จะคอยเป็นกำลังใจให้ซึ่งกันและกัน และเป็นประตูสำคัญที่มนุษย์ควรเข้าไปเสพในความงามนั้น”

20162809162652.jpg

20162809162720.jpg

 

 

author

เรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง related posts

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ