ทุ่งกุลา Never cry

ทุ่งกุลา Never cry

“ชนเผ่ากุลาอพยพฝูงควายไล่ต้อนเพื่อนำไปขาย  สมัยนั้นโจรเยอะมาก  พ่อค้าชนเผ่ากุลาจำเป็นต้องมีอาวุธคุ้มกัน  แต่ถึงกระนั้นก็ยังป้องกันไม่อยู่  จึงถูกปล้นควายไปทีละตัวสองตัว  เมื่อเป็นเช่นนี้พ่อค้ากุลาจึงแจ้งไปยังเจ้าเมืองแต่เจ้าเมืองไม่ช่วยจนทำให้เสียใจร้องไห้ นั่นหละจึงเป็นที่มาของทุ่งกุลาร้องไห้ที่รัฐใช้เรียกเอ่ยถึงพื้นที่แห่งนี้ทั้งหมดแบบเหมารวม”  ประโยคบอกเล่าจาก ผศ.ดร.ไชยณรงค์  เศรษฐเชื้อ  อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา (สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ที่ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ทุ่งกุลาโดยการการันตีจากชาวบ้านหลายชุมชน  ประโยคดังกล่าวอาจสะท้อนความหมายได้หลายแง่มุม  แน่นอนว่าหลายคนอาจมองว่าทุ่งกุลาคือดินแดนที่แห้งแล้ง  แดดร้อน แผ่นดินแทบไหม้  แต่หลังจากที่พวกเราลงพื้นที่หลายรอบ  ทั้งการไปเช้าเย็นกลับ  การนอนข้ามคืนและนอนหลายๆคืน  เพื่อร่วมวงสนทนาและลงลึกไปในพื้นที่ทั้งในเชิงภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ เราก็ย่อมช่วยการันตีให้ด้วยเช่นกันว่าทุ่งกุลาไม่แห้งแล้ง  และชาวบ้านที่นั่นก็ไม่ได้ร้องไห้เหมือนอย่างที่ใครกล่าวอ้าง

ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ

วาทกรรมหรือชุดความคิดที่คนนอกโดยเฉพาะจากมุมมองของผู้กำหนดนโยบายอย่างฝ่ายรัฐมักมองว่า  ทุ่งกุลาคือเขตพื้นที่ซึ่งมีความจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขปัญหา  ทั้งการสร้างโรงงานอุตสาหกรรม  การทำเป็นแหล่งบันเทิงท่องเที่ยว  การใช้เป็นพื้นที่ปลูกไม้เศรษฐกิจอย่างยูคาลิปตัส หรือแม้กระทั่งการมองว่าที่นี่ต้องเป็นที่ทิ้งขยะเพราะขยะในกรุงเทพมหานครล้นเมือง  จำเป็นต้องนำขยะขยะจากที่นั่นขนใส่รถไฟมาทิ้งที่นี่  ประโยคเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า  คนคิดนโยบายไม่ได้เข้าใจพื้นที่  หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นการคิดแบบไม่มีข้อมูล  ที่อาจเป็นการจิตนาการแบบลอยๆว่าดินแดนทุ่งกลาคือที่ซึ่งไม่มีคนอยู่  ไม่มีต้นไม้  ไม่มีภูมิปัญญาและวัฒนธรรม  ที่จะว่าไปก็ดูจะเป็นการยัดเยียดความเศร้าหมองของคนและสรรพสิ่งในพื้นที่ยิ่งนัก

“ป่านี้สมุนไพรมากหลายๆ จะมาบรรยายให้ฟัง  มีทั้งต้นพังคีต้นสมานส่องฟ้า  เฮาเก็บมาเป็นยามารักษาได้ทุกวัย  ยามเก็บยามป่วยยามไข้เฮาขุดมันเอามาเป็นยา  สรรพคุณมันดีเด้อท่านๆ  เฮาพากันอนุรักษ์ไว้แหน่  ยามเป็นลงเฮาสิได้แก้  ยามเฮาแย่มันสิรักษา  ต้นบีคนกะมีเด้อจ้า  มีต้นเจียงปืนมีต้นขี้ตุ่น  ขาวจุ่นผุ่นคือดอกคัดเค้ายามมื้อเช้าจั่งแม่นหอม  ดอกกะยอมกะมีเด้อจ้า  มีดอกมันปลาเป็นสีบานแบ่ง  ดอกสะแบงแมงแคงหมู่นั่นล้วนแล้วแต่เป็นยา  เหลียวขึ้นฟ้าเป็นสีจ่วนห่วน  หมากผีผ่วนสีแดงจ่ายหว่าย  พวกเฮาอย่าทำลายรักษาไว้  รักษาไว้”  นี่คือกลอนลำของแม่หมุน ลุนสอน  ชาวบ้านขัวโคก  ต.สระบัว  อ.ปทุมรัตน์  จ.ร้อยเอ็ด  ผู้เป็นปราชญ์ในพื้นที่และมีความเป็นศิลปินจนสามารถแต่งกลอนลำเพื่อสะท้อนให้เห็นความอุดมสมบูรณ์  โดยเฉพาะเรื่องป่าที่มีความเชื่อมโยงกับยาสมุนไพร  กลอนลำที่แม่หมุนบรรยายให้ฟังข้างบนดูเหมือนจะมีความขัดแย้งกับชุดความคิดที่คนทั่วไปมองทุ่งกุลา  เพราะคนที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมภูมิปัญญา  ประเพณี  ความเชื่อและวัฒนธรรมย่อมรู้ดีว่าที่นี่ไม่ได้แล้ง  และไม่ใช่พื้นที่ซึ่งผู้คนที่อาศัยต้องร้องไห้  ตรงกันข้ามพวกเขากลับมีรอยยิ้ม  มีความสุขอย่างมากล้นที่ได้อยู่ที่นี่  และก็ดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้นจริงๆเพราะพิสูจน์ได้จากปลาตัวใหญ่หลายชนิดที่ชาวบ้านนำมาต้อนรับในทุกครั้งที่พวกเราไปเยี่ยมเยียน

แม่หมุน ลุนสอน ปราชญ์ชาวบ้านขัวโคก  ต.สระบัว  อ.ปทุมรัตน์  จ.ร้อยเอ็ด  

“นักการเมืองหรือรัฐบาลแต่ละยุคก็ช่วยกันผลิตซ้ำวาทกรรมทุ่งกุลาแล้ง  ซึ่งการมองแบบนี้แปลว่าเป็นการมองว่าที่ทุ่งกุลาไม่มีคนหรือชุมชนอยู่  หรือสื่อเองก็เป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญมากๆในการประโคมข่าวว่าหมู่บ้านนั้นหมู่บ้านนี้เพื่อช่วยกันสะท้อนให้เห็นความแล้ง  พยายามไปเจาะภาพแม่ใหญ่ไปขุดปูที่เห็นดินแตกระแหง  และจุดที่เป็นทุ่งกุลาจริงๆมันจะเป็นจุดเล็กๆอยู่ที่สุวรรณภูมิ  ซึ่งเป็นหนึ่งในทุ่งที่อยู่ในพื้นที่ 2.1 ล้านไร่ที่รัฐไทยมองว่านี่คือทุ่งกุลา  แต่จริงๆจะมีทุ่งอื่นๆอยู่เชื่อมกันเต็มไปหมดเลย  และชาวบ้านก็มีชื่อเรียกของเขาในแต่ละจุดที่ต่างกันไป”  อ.ไชยณรงค์  เล่าให้ฟังถึงที่มาของคำว่าทุ่งกุลา  ซึ่งเดิมทีที่นี่ไม่ได้ชื่อทุ่งกุลาร้องไห้  หากแต่ทุ่งกุลาเป็นแค่จุดเล็กๆแห่งหนึ่งที่ชาวบ้านเรียกภายใต้ทุ่งกว้างที่ครอบคลุม 5 จังหวัดในพื้นที่ภาคอีสาน

แม้จะเป็นช่วงหน้าแล้ง แต่ปลาในน้ำก็ยังมีให้จับ

ที่สำคัญการมาของโครงการอีสานเขียวในปี 2530 ที่มีจุดมุ่งหมายให้ภาคอีสานมีการพัฒนาให้เกิดความชุ่มชื้น  เพราะความเชื่อที่ว่าอีสานแล้งได้ฝังแน่นในความคิดของนักการเมือง  ดังนั้นการออกแบบนโยบายจึงต้องพยายามทำให้อีสานเป็นพื้นที่หายแล้ง  จึงเป็นที่มาของการสร้างโครงการต่างๆมากมากมายทั้งการสร้างเขื่อน  การปลูกต้นไม้  และช่วงหนึ่งรัฐพยายามส่งเสริมให้มีการปลูกต้นยูคาลิปตัส  แต่พอมาดูพื้นที่จริงกลับพบว่าในพื้นที่มีต้นไม้เต็มไปหมด  จึงเป็นที่มาของการตัดต้นไม้ใหญ่แล้วส่งเสริมปลูกต้นยูคาลิปตัสจนเกิดการประท้วงในหลายพื้นที่ของภาคอีสานรวมถึงทุ้งกุลาแห่งนี้ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน  ทั้งที่ในความเป็นจริงจะพบว่าในพื้นที่มีแหล่งน้ำตามธรรมชาติกระจายเต็มไปหมด  และบางจุดก็จะมีพื้นที่ทามและดินเอียด  พอถึงช่วงน้ำลดก็จะเกิดการระเหยและเกิดเกลืออยู่ตามผิวดิน  ชาวบ้านในพื้นที่ก็จะขูดเอาผิวดินที่เป็นเกลือมาต้มเกลือซึ่งเป็นอารยธรรมที่มีมานาน  ซึ่งลักษณะการต้มเกลือจะพบเห็นในหลายพื้นที่  เช่น  อ.รัตนบุรี  จ.สุรินทร์  อ.ราษีไศล  จ.ศรีสะเกษ  เป็นต้น

เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า  พอมาถึงวันนี้ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลานั้นเป็นข้าวที่ขึ้นชื่อของเมืองไทยและอาจเรียกว่าเป็นนครหลวงแห่งข้าวหอมมะลิโลกโดยเฉพาะสายพันธุ์ 105 และโดยความเป็นจริงสินค้าในทุ่งกุลาจะมีมากกว่านั้น  ไม่ว่าจะเป็นผ้าไหมแถว อ.ปทุมรัตน์ จ.ร้อยเอ็ด  ส่วนเกลือเรายังพบเห็นในพื้นที่บ่อพันขัน อ.สุวรรณภูมิ  จ.ร้อยเอ็ด  ที่ว่ากันว่านี่คือทองคำขาวแห่งทุ่งกุลา

“ธรรมชาติมันมีวัฏจักร  ความแห้งแล้งไม่ใช่ปัญหาของคนอีสาน  แต่เป็นปัญหาของคนอยากแก้ปัญหาและรวมถึงสื่อเองก็เช่นกัน  ซึ่งทุกส่วนล้วนเป็นคนนอกที่อยากจะทำนั่นทำนี่  และมองว่าทุ่งกุลาเป็นพื้นที่ที่มีความแห้งแล้ง  เพราะที่นี่เป็นที่ราบสูง  ซึ่งหน้าฝนจะมีน้ำฝนที่อุดมสมบูรณ์  และพอหน้าแล้งมันก็เป็นเรื่องปกติ  แต่ในข่าวเราจะเห็นว่านักการเมืองพยายามให้ข่าวว่าหน้าแล้งวัวทุ่งกุลาขาดแคลนน้ำ  ทำให้เกิดความน่าสงสาร  แต่ในความเป็นจริงมันก็คือหน้าแล้ง  และฤดูแล้งก็จะมีการผลิตอาหารอีกแบบหนึ่งที่เป็นเงื่อนไขทางธรรมชาติ  ซึ่งทุกอย่างล้วนเป็นมุมมองของคนนอกทั้งหมด”  อ.ไชยณรงค์  ให้ข้อมูลเพิ่มเติมที่พยายามอธิบายให้เห็นนิยามความแล้งแบบทุ่งกุลา  ซึ่งก็คือความแล้งในฤดูกาลทั่วไปที่เป็นวัฏจักร  

วัวทุ่งกุลา :  ธนาคารเดินได้ไม่ต้องใช้รีโมทแต่ก็ควบคุมได้ดั่งใจ

จะมีที่ไหนบ้างในประเทศไทยที่ชาวบ้านจะต้องฝูงวัวเป็นร้อยๆตัว  ถ้าใครก็ตามที่เข้าไปในพื้นที่ทุ่งกุลา  เอาแค่ในเขตพื้นที่ อ.ปทุมรัตน์  จ.ร้อยเอ็ด  พอเราขับรถเข้าพื้นที่โดยเฉพาะในช่วงเช้าสายและช่วงบ่ายคล้อยที่เจ้าของรถจะต้องชะลอให้เจ้าที่ซึ่งครอบครองถนน  ครั้นเราจะแสดงอาการหงุดหงิดแล้วบีบแตรไล่ก็ไม่ได้เพราะเขาคือเจ้าของพื้นที่ตัวจริง  

“ปล่อยวัวจะอยู่ในช่วงสามโมงเช้าและวัวจะเข้าคอกตอนสี่โมงเย็น  และในระหว่างวันช่วงที่วัวออกหากินหญ้า  จะเป็นช่วงเวลาดีที่จะได้เก็บเห็ดและหาปลาตามหนอง  เพราะวัวจะหาหญ้าและน้ำกินเอง  เพราะหญ้าจะมีอยู่ทั่วไปและน้ำก็อยู่ในคลองซึ่งไม่ลำบาก  เราแค่ปล่อยวัวออกไปมันก็หากินเอง  เพราะพื้นที่แถบนี้เฉพาะในหมู่บ้านแม่ก็จะมีที่สาธารณะขนาดกว้างประมาณสามร้อยสี่ร้อยไร่ซึ่งจะเหมาะมากในการเลี้ยงวัว  ดังนั้น  การเลี้ยงวัวจึงเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่เป็นเหมือนธนาคารเก็บเงินนอกจากการทำนาที่เป็นอาชีพหลัก”  แม่หนูเผียด  เนื้อจันทรา  ชาวบ้านนาดูน  ต.โนนสวรรค์ อ.ปทุมรัตน์  จ.ร้อยเอ็ด  ผู้เป็นเจ้าของวัวประมาณกว่า 80 ตัว  เล่าให้ฟังถึงกิจวัตรประจำวันที่ทุกเช้าในช่วงปลายฝนจนเข้าสู่หน้าแล้ง  ชาวบ้านแถบนี้จะต้องมีภารกิจหลักร่วมกันคือการเลี้ยงวัว

วัวทุ่งกุลา อีกหนึ่งเอกลักษณ์สำคัญที่สะท้อนวิถีคนที่นี่

ลักษณะพิเศษของวัวหรือบางบ้านจะเลี้ยงควายด้วยก็คือการปล่อยให้วัวออกหากินเอง  โดยในวัวหนึ่งฝูงอาจมีเจ้าของหลายคน  และในทุกๆเช้าชาวบ้านจะต้อนวัวออกจากคอกเพื่อออกมาส่งวัว จากฝูงวัวคอกหนึ่งมารวมกับคอกอื่นๆกลายเป็นฝูงวัวขนาดใหญ่ที่อยู่เกาะกลุ่มกัน  ที่สำคัญคือเจ้าของวัวหลายคนไม่ได้เดินตามวัวทั้งวัน  แต่จะออกมาส่งเฉพาะช่วงสายๆแล้วก็กลับบ้านไปทำอย่างอื่น  กระทั่งบ่ายแก่ๆเกือบเย็นย่ำจึงออกมารับวัวเข้าคอก  ซึ่งวิธีการแบบนี้แหละที่ชาวบ้านเรียกว่าวัวที่นี่เหมือนมีรีโมทที่ไม่ต้องเดินตามทั้งวัน  แค่ออกมาส่งในช่วงเช้าและรอดักในช่วงเย็นแค่นั้น  

“มีวัวประมาณ 70 ตัว  มีตัวผู้  17 ตัว  นอกนั้นจะเป็นตัวเมีย  วิธีการคือเราจะขายตัวใหญ่ออก  และตัวน้อยก็จะค่อยๆโตตามกันมา  เฉลี่ยปีหนึ่งแม่จะมีวัวขายออกประมาณ 16 – 20 ตัว  ส่วนราคาขายจะมีรายได้ประมาณปีละ 250,000 บาท เพราะถ้าไม่ขายเราจะเลี้ยงไม่ไหว”  แม่หนูเผียดเปิดเผยตัวเลขรายได้แต่ละปีที่เกิดจากการขายวัว  ซึ่งเงินส่วนนี้เป็นเฉพาะเงินขายวัวที่ยังไม่นับรวมกับรายได้ส่วนอื่นๆ  ที่ทำให้แม่มีความอุ่นใจเกี่ยวกับความปลอดภัยทางการเงิน  และไม่ต้องกังวลถึงการสแปมหรือเหล่าบรรดาแฮกเกอร์ในระบบธนาคารจะมาแอบเอาเงินในบัญชี  เพราะดอกเบี้ยจากวัวคือการโตขึ้นทุกวันของวัวจากตัวเล็กสู่ตัวใหญ่  และนั่นคือผลกำไรที่เปรียบเสมือนธนาคารที่มีความมั่นคนคงอย่างมากกับอาชีพการเลี้ยงวัวในพื้นที่ทุ่งกุลา

แม่หนูเผียด เนื้อจันทรา เจ้าของวัวกว่า 80 ตัว

สรุปความจากเรื่องที่กล่าวมาในเบื้องต้น  ถือเป็นแค่น้ำจิ้มส่วนน้อยที่เราได้ประมวลภาพให้เห็นความเป็นมา  และวาทกรรมทุ่งกุลาร้องไห้บัดนี้เราได้พิสูจน์ด้วยตัวเราแล้วว่ามันไม่ได้เป็นแบบนี้ทั้งหมดโดยสิ้นเชิง  “แล้งก็คือแล้งมันเป็นหน้าแล้ง  ส่วนหน้าฝนมันก็มีน้ำจากฟ้าเพราะมันคือหน้าฝน”  ประโยคนี้เรามักได้ยินบ่อยมากทั้งจากคนที่เป็นชาวบ้านในพื้นที่และผู้ที่เข้ามาแวะเวียน  รวมถึงนักพัฒนาหรือนักวิชาการและสื่อมวลชนที่เข้าถึงความเป็นชุมชนในพื้นที่แห่งนี้อย่างลึกซึ้ง  และเราเองก็เป็นอีกหนึ่งเสียงที่สะท้อนออกมาจากใจจริงว่าทุ่งกุลาไม่ได้แห้งแล้ง  จึงเป็นที่มาของคำว่าทุ่งกลาไม่เคยร้องไห้  หรือ “ทุ่งกุลา Never Cry” ส่วนคุณผู้อ่านท่านใดที่อยากเข้ามาสัมผัสเรื่องราวเหล่านี้อย่างลึกซึ้งซึ่งมีอีกมากมาย  ชาวบ้านทุ่งกุลาก็ยินดีต้อนรับในทุกเมื่อ  พวกเขารออยู่ ณ หมู่บ้านเพื่อยืนยันในสิทธิ์ของตนเองและอยากบอกด้วยตัวเองที่ไม่ใช่จะมีใครที่ไหนมาพูดแทน

author

เรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง related posts

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ