คณะพระภิกษุ ภิกษุณี แม่ชี สามเณรและอุบาสกอุบาสิการ่วมกันเดินธรรมยาตราเพื่อบ่งบอกกับทุกคนว่าให้กลับมาดูแลสุขภาพโดยใช้การเดิน เดินด้วยความสงบ เป็นการปฏิบัติธรรมและเป็นการดูสุขภาพร่างกาย และร่วมผลักดันธรรมนูญสุขภาวะพระสงฆ์ล้านนา และถวายเป็นธรรมบูชาเนื่องในวันมาฆบูชา (24 ก.พ. 2567) จากพระอุโบสถวัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร ไปสู่วัดพระธาตุช่อแฮพระอารามหลวง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่
สาเหตุที่ต้องมีการธรรมนูญสุขภาวะพระสงฆ์ล้านนานั้น พระวิสิทธิ์ ฐิตวิสิทโธ ผส.,ดร.คณะอนุกรรมการวัดส่งเสริมสุขภาพ และอาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ กล่าวว่า ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติไม่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย เน้นพระสงฆ์ที่อยู่ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2561 เท่านั้น คือเฉพาะพระสงฆ์ที่มีสัญชาติไทย ที่ขึ้นทะเบียนเท่านั้น ทำให้พระสงฆ์ที่ไม่สถานะทางทะเบียนหลุดออกไป เข้าไม่ถึงสถานการณ์รักษาพยาบาล และยังไม่ครอบคลุมกลุ่มภิกษุณี ซึ่งไม่ถือว่าเป็นสงฆ์ใน พ.ร.บ.คณะพระสงฆ์ เนื่องจากเป็นนักบวชผู้หญิง กลุ่มนี้ก็ตกหล่นไป แม้ว่าจะเป็นคนไทยก็ตาม หรือกระทั่งแม่ชีก็ตกหล่นไป ในเมื่อธรรมนูญไม่ครอบคลุมกับกลุ่มเป้าหมายนักบวชทั้งหมด จึงต้องมีธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ล้านนาเพราะในล้านนา 8 จังหวัด เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน และแม่ฮ่องสอน มีกลุ่มนี้อยู่ในพื้นที่ กลุ่มเป้าหมายจึงเป็นกลุ่มเฉพาะขึ้น
จากการทำงานที่ผ่านมาเมื่อพระสงฆ์ไปดูแลกันพบว่ามีภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งเรื่องของแพทย์แผนโบราณ หมอเมือง เรามีศาสตร์ต่าง ๆ ในการดูแลสุขภาพ แต่พระไม่สามารถไปเรียนได้ เรียนเสร็จแล้วก็ไม่ได้ใบรับรอง หรือหลักสูตรพระคิลานุปัฏฐากเอง พระที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนก็ไม่สามารถไปเรียนได้ แม่ชีก็เรียนไม่ได้ ไม่มีใบรับรองให้ ในที่สุดก็ไม่สามารถไปทำงานได้ ทำให้ต้องปรับเป็นธรรมนูญเชิงพื้นที่ โดยไม่ต้องเอากรอบของรัฐธรรมนูญชาติมาเป็นกรอบทั้งหมด
อีกประเด็นคือเรื่องความเท่าเทียม เรื่องสิทธิ เรื่องการศึกษา โดยเฉพาะในส่วนของการศึกษาของเด็กระดับประถมศึกษาในพื้นที่ห่างไกล พื้นที่ชายขอบก็หลุดออกจากระบบโรงเรียนขั้นพื้นฐานของสพฐ. แล้วกลุ่มนี้จะไปไหนต่อ เพราะการเรียนนักธรรมก็ไม่ตอบโจทย์ในการเข้าถึงการศึกษาได้ ที่ผ่านมามีการผลักดันให้มีศูนย์การเรียนของระดับประถมศึกษาขึ้นมา และทำขึ้นมาแล้ว มีบทเรียนที่เกิดขึ้นจากการทำงานมาก่อนหน้านำมาเป็นส่วนหนึ่งของการประกาศธรรมนูญสุขภาวะพระสงฆ์ล้านนา ที่เกิดจากการรับฟังความคิดเห็นและพยายามแก้ไขปัญหากันมา เปิดศูนย์การเรียนมาแล้ว แต่ก็ไม่มีทุกจังหวัด แล้วจะทำอย่างไร จะขยับอย่างไรให้ตอบโจทย์ทั้งหมด และทุกคนต้องมีส่วนร่วม โดยมีธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ล้านนาเป็นเครื่องมือ
ธรรมยาตรา เป็นสัญลักษณ์แห่งการปฏิบัติภาวนา เมื่อจะพูดถึงเรื่องสุขภาพ การเดินธรรมยาตราเป็นการเดินแบบคนมีสติ พิจารณาลมหายใจตัวเองเป็นเรื่องที่มีการปฏิบัติอยู่ การเดิน นั่ง เป็นการปฏิบัติธรรมแบบหนึ่ง การเดินของเราก็เหมือนการเดินบนหนทางแห่งธรรม การปฏิบัติธรรม และบ่งบอกกับทุกคนว่าให้กลับมาดูแลสุขภาพโดยใช้การเดิน เดินด้วยความสงบ และเดินในมิติการดูแลสุขภาพ การเดินก็เป็นการปฏิบัติธรรมและเป็นการดูสุขภาพร่างกาย พระสงฆ์ก็สามารถทำได้ สามารถที่จะเดินจงกรมปฏิบัติธรรมและออกกำลังกายไปพร้อมกัน ตามสมณสารูปของแต่ละท่านได้ ไม่เป็นการผิดธรรมวินัย ฉะนั้นการเดินของเราจะต้องเดินมาด้วยพุทธบริษัททั้ง4 และรวมถึงกลุ่มที่หลุดออกจาก พ.ร.บ.คณะสงฆ์ และนักบวชทั้งหลายเข้ามาร่วมเดินด้วยกัน เป็นกาสรสร้างการมีส่วนร่วม และเขาจะได้มาอยู่ภายใต้ร่มของธรรมนูญสุขภาวะ
ภิกษุ ภิกษุณี แม่ชี อุบาสก อุบาสิกา และสามเณรที่ออกจากระบบการศึกษาชั้นประถมศึกษามาร่วมเดิน ร่วมเดินธรรมยาตรา รวมถึงเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติมาร่วมด้วย แต่ตอนนี้ก็เป็นการเน้นเรื่องสุขภาพไปก่อน ยังไม่ได้ไปแตะเรื่องเด็กไร้สิทธิ สัญชาติมากนัก ซึ่งทุกกลุ่มที่มาเดินจะเป็นการร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันว่าเราจะดูแลสุขภาพกัน และจะผลักดันธรรมนูญสุขภาวะพระสงฆ์ล้านนา อีกทั้งวันที่ 24 ก.พ. 2567 นี้จะเป็นวันมาฆบูชา เป็นวันที่พระสงฆ์ 1250 รูป มาพบปะกัน เพื่อมาฟังธรรม มาทบทวนธรรมมะของตนเอง มาฟังโอวาทแนวทางเผยแผ่ผระพุทธศาสนา พระทุกรูปก็เดินทางมาเพื่อเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ด้วยการเดินทางมา น่าจะด้วยการเดินเท้ามา เราก็เลยเชื่อมกับการเดินธรรมยาตราเพื่อถวายเป็นธรรมบูชา
การเดินธรรมยาตราในครั้งนี้เริ่มเดินตั้งแต่เช้าวันอาทิตย์ พระอุโบสถวัดพระพาทมิ่งเมืองวรวิหารโดยมีพระโกศัยเจติยารักษ์ รองเจ้าคณะจังหวัดแพร่ และเจ้าอาวาสวัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวงเดินนำขบวน ไปสู่วัดพระธาตุช่อแฮพระอารามหลวงอำเภอเมืองจังหวัดแพร่ พร้อมพิธีลงนามประกาศธรรมนูญสุขภาวะพระสงฆ์ล้านนาโดยมีพระราชเขมากร เจ้าคณะจังหวัดแพร่เป็นประธาน
จากข้อมูลของ HDC พบว่าการเข้ารักษาตัวจากการอาพาธในเขตสุขภาพที่ 1 จังหวัด เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา มีจำนวนเกินหลักหมื่นรูปในช่วง 4 ปี ย้อนหลังที่ผ่านมาเนื่องจากมีการทำงานเรื่องสิทธิในระบบสุขภาพมีความก้าวหน้า ทำให้ภิกษุสามเณรส่วนหนึ่งที่ตกหล่น หรือไร้สัญชาติเข้าถึงการรักษาพยาบาลเพิ่มมากขึ้น และการเก็บข้อมูลเชิงสถิติที่มีมากขึ้น พบว่ากลุ่มโรคที่พระสงฆ์เข้ามารักษาพยาบาลส่วนใหญ่อันดับหนึ่งและสอง คือ เบาหวาน และความดันโลหิตสูง และคิดรวมกันแล้วสูงกว่าร้อยละ 20 ขอพระสงฆ์ที่มารักษาตัวด้วยอาการเจ็บป่วยในทุก ๆ ปี ซึ่งก็เป็นอาการของกลุ่มโรคไม่เจ็บป่วยเรื้อรังหรือกลุ่มโรค NCDs (Non-Communicable Diseases) ที่พบมากในคนไทยและพบในกลุ่มพระสงฆ์เช่นกัน
การมีธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ล้านนาจะเป็นการเอื้อให้มีการใช้ภูมิปัญญาด้านสุขภาพของพื้นที่ในการดูแลคณะสงฆ์ที่ครอบคลุมกับบริบทของภาคเหนือมากยิ่งขึ้น และยังจะเป็นการส่งต่อความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพจากพระสงฆ์ไปสู่ชุมชนและญาติโยมที่มาวัดต่อไปเพื่อให้ทุกคนมีสุขภาวะที่ดีขึ้น
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก พระอาจารย์ยงยุทธ ทีปโก เจ้าอาวาสวัดปางงุ้น จ.แพร่